เดือนพฤษภาคมเป็นอีกเดือนที่ชวนให้เรารำลึกถึงการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และบุคคลที่เราจะลืมไม่ลง บุคคลที่มีความสำคัญระดับประเทศ เป็นทั้งนักปราชญ์ นักเขียนผู้มีอัจฉริยภาพ และนักปฏิวัติ ปรีดี พนมยงค์และจิตร ภูมิศักดิ์
ทั้ง 2 หนุ่มต่อต้านเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นศักดินาอภิสิทธิ์ชน แม้ว่าต่างวาระ ต่างกรรม ต่างบริบทกัน แต่ก็ส่งผลถึงบั้นปลายชีวิตเช่นกัน จิตรถูกล้อมยิงอย่างอำมหิตเสียชีวิตคาที่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2509 ส่วนปรีดีต้องลี้ภัยและเสียชีวิตที่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526
ตัวตายแต่ชื่อยัง ทั้งปรีดีและจิตรกลายเป็นสองหนุ่มเนื้อหอมแห่งวงการวิชาการและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ที่มักถูกหยิบมาพูดถึงไม่ว่าจะมีอุดมการณ์การเมืองแบบใด
ขณะเดียวกันทั้งคู่ยังเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนวาทกรรมเพศสภาพเพศวิถีแห่งยุคสมัย แม้ว่าจะห่างกัน 30 ปี ปรีดีเกิด 2443 จิตรเกิด 2473 แต่ต่างก็อยู่ในฐานะผลผลิตของสังคมที่เพิ่งจะเป็นรัฐสมัยใหม่และกำลังพัฒนาเป็นรัฐประชาชาติ เหมือนกับที่ชื่อ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ก็มาจากการเปลี่ยนชื่อตามความคาดหวังของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีชื่อตามเพศสภาพตรงกับเพศสรีระเมื่อ พ.ศ. 2484 เดิมเขาชื่อ ‘สมจิตร ภูมิศักดิ์’ แต่เพราะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้พลเมืองไทยใช้ชื่อให้ตรงกับ ‘ความเป็นเพศ’ ชื่อสมจิตร จึงเหลือเพียง ‘จิตร’
ส่วนปรีดี พนมยงค์เองก็ปฏิบัติตามขนบเพศวิถีภายใต้สถาบันการแต่งงาน เขาสมรสกับ พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ ลูกสาวข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณ ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ยากร่วมทุกข์ร่วมสุขจนแก่เฒ่า มีลูกถึง 6 คน
แม้จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้มีชีวิตที่ราบรื่นมากนัก แต่ก็มีโมเมนต์รักใสๆ เช่นกัน (อ่าน อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, อัณฑะมาร์กซ ผู้หญิงของจิตร ภูมิศักดิ์ : เรื่องรักและความป่วยไข้ของนักคิดนักเขียน thematter.co/thinkers) และจิตรเองก็ให้สำคัญกับเพศสัมพันธ์เพื่อให้กำเนิด และให้คุณค่าผู้หญิงกับ ‘ความเป็นแม่’ ซึ่งไปปรากฏในการแต่งบทกวี ‘เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน’ ในปี 2496 (ตอนนั้นยังเป็นนิสิตจุฬา อายุ 23 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงแสวงหาของเขา) เชิดชู ‘ความเป็นแม่’ ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูก และโจมตีต่อว่าต่อขานหญิงที่ทำแท้งและทอดทิ้งลูก[1]และการแปลนวนิยายเรื่อง Mother ของ Maxim Gorky ของเขาด้วยชื่อเรื่อง ‘แม่’ ขณะที่เขาตกเป็นนักโทษการเมืองก็แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของแม่คนกับการปฏิวัติ
ในประเด็นเพศ จิตรได้เขียน ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสตรีไทย’ เมื่อ พ.ศ.2500 (ตอนเขียนจิตรมีอายุ 27 ขวบแล้ว) ในนามปากกา ‘สมชาย ปรีชาเจริญ’ ว่าระบบศักดินาทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ จากมนุษย์กลายเป็นดอกไม้ที่ปักประดับแจกันเสริมบารมีของผู้ชาย ความผาสุกของเจ้าขุนมูลนายคือการมีเมียเล็กเมียน้อยเป็นสิบๆ ร้อยๆ เกียรติยศของคนพวกนี้ก็แข่งวัดกันจากจำนวนเมีย ซ้ำร้ายการศึกษาของผู้หญิงเองก็เพื่อไปเป็นทาสผู้ชาย ต้องหมอบคลานสองเท้าสี่เท้าปรนนิบัติรับใช้ผู้เป็นผัว[2]
ว้ายแรงงงงง
จิตรยังได้วิพากษ์เพศวิถีภายในโลกสังคมศักดินาของระบอบสมมติเทพและการใช้แรงงานทาส ใน ‘โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน’ ในปี 2500 ด้วยนามปากกา ‘สมสมัย ศรีศูทรพรรณ’ ว่าพวกอำมาตย์ขุนนางมัก “ได้กินข้าวร้อนนอนสายมีเมียสาวหลายๆ คน”[3] และระบบศักดินาชายเป็นใหญ่นี่เองที่ทำให้เกิดรักเพศเดียวกัน
สตรีและเด็กถูกเหยียดหยาม สตรีในสังคมศักดินาถูกกดขี่เหยียดหยามลงเป็นมนุษย์ที่ต่ำกว่าเป็นชาย ผ้านุ่งผ้าถุงของสตรีก็เป็นของสกปรกต่ำช้าผู้ชายแตะต้องไม่ได้ นอกจากนั้นพวกเจ้าที่ดินทั้งปวงยังบำเรอความสุขของตน โดยการใช้สตรีเป็นเสมือนวัตถุระบายความใคร่ สภาพของสตรีจึงเป็นเสมือนสัตว์ตัวเมียที่คอยรองรับความหื่นกระหายของเจ้าที่ดิน ระบบฮาเร็มหรือสาวสวรรค์กำนัลในราชสำนักและในบ้านผู้ดีเป็นระบบที่แพร่หลายทั่วไป การที่ต้องถูกกักขังจนผิดธรรมชาติทำให้การเล่นเพื่อน (Homosexuality) ในหมู่สตรีในราชสำนัก และฮาเร็มของสำนักขุนนางระบาดทั่วไป ชีวิตทางกามารมณ์ของเจ้าขุนมูลนายเพิ่มความวิตถารขึ้นเป็นลำดับ เป็นต้นว่าการสำเร็จความใคร่ทางเว็จมรรค[4]
ทางฝ่ายปรีดี หลายปีให้หลังก็ได้ออกหนังสือชื่อ ‘ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ’ เมื่อ 2517 ซึ่งตอนนั้นก็เป็นคุณตาแก่ๆ อายุ 74 ปีแล้ว ปรีดีไม่เพียงประชาธิปไตยเปล่าๆ แต่รวมไปถึงอธิบายเพศวิถีรักเพศเดียวกัน ว่าเป็นดั่งลัทธิหนึ่งเสมือนเสรีนิยม ปัจเจกนิยม อนาธิปัตย์นิยมว่า
ลัทธิลักเพศนิยม (Homosexuality) คือการเสพย์เมถุนระหว่างชายกับชายและหญิงกับหญิงซึ่งเป็นเพศเดียวกัน ลัทธิเสพย์เมถุนระหว่างหญิงกับหญิงนั้นยังมีชื่ออีกอย่างว่า “เลสเบียนิสม์” (Lesbianism) “ลักเพศนิยม” ถือว่าเสรีภาพของบุคคลที่จะกระทำการใดตามความพอใจในการเสพย์สุขนั้นมีค่าสูงสุด บุคคลจึงต้องหาความสุขสำราญให้เต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงศีลธรรมอันดีของปวงชน เพราะการเสพย์เมถุนระหว่างคนเพศเดียวกัน ลัทธินี้ถือเอาความเสพย์สุขทางเมถุนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าชาติพันธ์ของมนุษยชาติ โดยไม่คำนึงถึงว่ามนุษยชาติมีเพศชายและเพศหญิง ซึ่งได้แพร่พันธุ์สืบต่อๆ มา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มิฉะนั้นมนุษยชาติก็สูญสิ้นชาติพันธุ์ไปพ้นจากโลกนี้ช้านานมาแล้ว ผู้ประพฤติลักเพศและเผยแพร่ลักเพศในชาติใด ผู้นั้นก็ทำลายชาติพันธุ์แห่งชาติของตนเอง อันเป็นอาชญากรรมอย่างมหันต์[5]
รักเพศเดียวกันสำหรับปรีดีก็เหมือนกับของจิตร ตรงที่สัมพันธ์กับระบบทาสศักดินาและกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ดำรงชีวิตบนระบบศักดินา[6]ปรีดีได้กล่าวถึงกลุ่มอภิสิทธิ์ชนไว้ว่า
ในประเทศอังกฤษนั้น ท่านเจ้าศักดินาหลายท่านที่โปรดลักเพศนิยม ได้พยายามติดต่อกันมาหลายปีในการเสนอทางสภาเจ้าศักดินา (House of Lords) เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายห้ามการลักเพศ แต่ท่านเจ้าศักดินาถูกคัดค้านจากสภาสามัญชน (House of Commons) โดยเฉพาะพรรคแรงงานซึ่งเป็นสังคมนิยมอังกฤษที่ต้องการรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชนไว้ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พรรคจารีตนิยมซึ่งเป็นฝ่ายอภิสิทธิ์ชนได้ชนะการเลือกตั้ง ความปรารถนาของท่านเจ้าศักดินาและอภิสิทธิ์ชนก็ประสบความสำเร็จในการยกเลิกกฎหมายห้ามการลักเพศ[7]
กลายเป็นว่า เพศสัมพันธ์ได้รับการให้คุณค่าอยู่ที่การดำรงเผ่าพันธุ์หรือสืบพันธุ์เป็นสิ่งสำคัญจำเป็น เพราะไม่เพียงประกันว่ามนุษยชาติจะไม่ล่มสลาย แต่ยังเป็นประโยชน์ให้กับรัฐในฐานะกลไกป้อนทรัพยากรมนุษย์ให้กับรัฐ
เมื่อเราหันกลับไปมองผลงานของทั้ง 2 หนุ่ม อาจจะเบ้ปากเหลือกตาใส่ว่าทำไมใจจืดใจดำ หัวโบราณจังไม่เห็นจะก้าวหน้าเลย แต่นั่นมันก็เป็นทรรศนะของคนเมื่อ 2500 กับ 2517 ที่เป็นการตกผลึกและผลผลิตของสังคมยุคนั้น ขนาดชื่อเจ้าตัวยังต้องเปลี่ยนให้ตรงกับเพศสภาพเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ต้องเร่งสร้างชาติสร้างระบอบการปกครองใหม่ ที่ถูกคุกคามแทรกแซงโดยกลุ่มอำนาจเผด็จการและอำนาจเก่า
ทรรศนะต่อรักเพศเดียวกันทั้งปรีดีและจิตรจึงเหมือนกับนักปฏิวัติทั่วไปในโลกสากล หลังจากที่พวกอภิสิทธิ์ชนและพวกศักดินาชั้นสูงเพิ่งล่มสลาย
เช่นเดียวกันกับจีน หลังจากสถาบันจักรพรรดิพ่ายแพ้แก่จักรวรรดิอังกฤษในสงครามฝิ่น จนจีนตกอยู่ในสภาพกึ่งศักดินากึ่งอาณานิคม สาธารณรัฐจีนพยายามฟื้นคืนชีพกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง จึงหันไปสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งและรักต่างเพศ ในฐานะสัญลักษณ์ ความหมาย ความยิ่งใหญ่และพลังของชาติ รักเพศเดียวกันถูกโจมตีว่าเป็นความอ่อนแอขี้โรค อ่อนด้อยทั้งร่างกายและคุณธรรม เป็นหนทางไปสู่ความเสื่อมของรัฐชาติ เป็นผู้ชายที่มีค่าไม่ต่างไปจากผู้หญิง
ซ้ำร้ายยังถูกโยนให้เป็นสัญลักษณ์ของจารีตประเพณีดั้งเดิมของระบอบเก่า เป็นซากเดนศักดินาที่ต้องขจัด
เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มมีอธิปไตยใต้บารมีเหมา เจ๋อ ตง (ค.ศ.1949-1977) ก็ยิ่งต้องการความแข็งแรงของพลเมืองในการสร้างชาติให้แข็งแกร่ง ครอบครัวถูกอธิบายให้เป็นหน่วยสำคัญและรากฐานของสังคม ทำหน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่ให้กับรัฐคอมมิวนิสต์ เพศสัมพันธ์ถูกกำหนดให้เป็นเรื่องของการเจริญพันธุ์เท่านั้นภายใต้สถาบันการแต่งงานภาคบังคับที่มวลชนต้องรักต่างเพศเพื่อให้เกิดการผลิตทรัพยากรแก่รัฐ
เพราะฉะนั้น มิพักต้องไปพูดแต่รักเพศเดียวกันเลย แค่เซ็กซ์ที่ไม่ก่อกำเนิด การหย่าร้างหรือเป็นโสด ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน เป็นภัยต่อความมั่นคงต่อรัฐได้แล้ว
ในทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม ค.ศ. 1966-1976 เพศวิถีรักเพศเดียวกันจึงถูกจัดประเภทให้เป็น 1 ใน 5 บาปหรือความชั่วร้ายของรัฐ ร่วมกับกลุ่มปฏิปักษ์คณะปฏิวัติ พวกเจ้าของที่ดิน พวกฝ่ายขวา และชาวนาที่ร่ำรวย คนรักเพศเดียวกันจึงถูกจัดให้เป็นอาชญากรที่ต้องถูกจับมาลงโทษ ปรับทั้งเงินและทัศนคติด้วยการเข้าอบรมหรือใช้แรงงาน กักขัง บางรายถูกทุบตีจนตาย หรือไม่ก็บีบให้ต้องฆ่าตัวตายเอง นอกเสียจากว่าจะมีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นรักเพศเดียวกันในฐานะโรคเพื่อช่วยผ่อนปรนโทษ แล้วถ้าจับได้ว่าสมาชิกภายในพรรครักเพศเดียวกันก็จะงดให้เงินเดือนและตัดออกจากสมาชิกภาพ[8]
สำหรับประเทศไทยที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นเอกราช พ.ศ. 2481 ที่ถูกอำนาจเก่าระบอบศักดินาอภิสิทธิ์ชนคุกคามเรื่อยมา แต่นักปฏิวัติไทยก็ไม่ได้ถึงขั้นยกระดับความรุนแรงกวาดล้าง ปราบปรามคนรักเพศเดียวกัน มิหนำซ้ำยังยกเลิกกฎหมายที่กำหนดให้รักเพศเดียวกันผิดกฎหมายอีกด้วยใน พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตกค้างจากเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2451ในยุคที่นิยมเรียกว่ายุคปฏิรูป
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เอาเป็นว่าทั้งปรีดีและจิตรจึงเป็นมนุษย์หัวก้าวหน้าที่เมื่อเราสามารถกลับไปมองผ่านผลงานของพวกเขา อาจจะผิดหวังเล็กน้อย ไม่เห็นด้วยเมื่อมองจากโลกทัศน์ในบริบทปัจจุบันของเรา แต่ก็ทำให้เห็นบางแง่มุมของความเป็นมนุษย์ พัฒนาการ การความเปลี่ยนแปลงทางความคิด หรือทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนบริบทสังคมในยุคหนึ่ง ที่การตายของพวกเขาไม่ใช่การสิ้นสุดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สุชีลา ตันชัยนันท์. ผู้หญิงในทัศนะของ จิตร ภูมิศักดิ์. วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 6,3-4(ต.ค. 2531): 116-132.
[2] สมชาย ปรีชาเจริญ (นามแฝง),“อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสตรีไทย”,ใน กุหลาบ สายประดิษฐ์.ประวัติศาสตร์สตรีไทย.กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือแสงดาว, 2519.
[3] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย : บทวิเคราะห์สังคมไทยอันท้าท้ายยุคสมัย. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548,น. 186.
[4] เรื่องเดียวกัน,น. 60.
[5] ปรีดี พนมยงค์, ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: นิติเวชช์, 2517, น. 9-10.
[6] ปรีดี พนมยงค์, น. 3,7.
[7] ปรีดี พนมยงค์, น.10.
[8] Elisabeth L. Engebretsen and William E Schroeder (editors). Queer/Tongzhi China: New Perspectives on Research, Activism, and Media Cultures. Copenhagen: Nordic Institute of Asian Studies Press, 2015. ; Mungello, D. E.. Western queers in China: flight to the land of Oz. Lanham, Md.: Rowman & Littlefield Publishers, 2012.