ถ้าพูดถึงประเทศอาร์เจนตินาในฟุตบอลโลก เราอาจนึกถึงประตูหัตถ์พระเจ้า ของดิเอโก มาราโดนา ในรอบแปดทีมสุดท้ายกับทีมชาติอังกฤษในการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อปีค.ศ.1986 จนนำไปสู่ชัยชนะ และคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกปีนั้นที่ประเทศเม็กซิโกไปครอง ชัยชนะในครั้งนั้นนับเป็นการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกของประเทศอาร์เจนตินาเป็นสมัยที่ 2 นับจากชัยชนะครั้งแรกในปีค.ศ.1978 ที่จัดขึ้นโดยประเทศอาร์เจนตินาเป็นเจ้าภาพ
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีค.ศ.1978 รอบชิงชนะเลิศ ทีมชาติอาร์เจนตินาสามารถเอาชนะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ไปได้ด้วยสกอร์ 3-1 จากการทำประตูในช่วงต่อเวลาพิเศษของ มาริโอ เคมเปส (Mario Kempes) และ ดาเนียล เบอร์โตนิ (Daniel Bertoni) พวกเขาคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยแรก และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ท่ามกลางซากปรักหักพังที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ การอุ้มฆ่าคนเห็นต่าง หรือการคอร์รัปชันที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ที่นำโดยนายพลฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา (Jorge Rafael Videla) ผู้นำประเทศที่ขึ้นมาจากการรัฐประหารโดยไร้ความชอบธรรม
“ผมคิดว่าฟุตบอลโลกปีค.ศ.1978
เป็นหนึ่งในบาดแผล ที่กรีดลึกไปใน
สังคมในประเทศอาร์เจนตินา”
นอร์แบร์โต ลิวสกี้
อดีตนักโทษการเมืองชาวอาร์เจนตินา
ย้อนไปในอดีต ประเทศอาร์เจนตินาต่างต้องพบเจอการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีจบสิ้น พวกเขาผ่านเหตุการณ์ที่ความเจ็บปวดและขมขื่น จนมาถึงในปีค.ศ.1974 อิซาเบล เดอ เปรอง (Isabel de Peron) อดีตรองประธานาธิบดีที่ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีตามกฎหมายของประเทศหลังจากการเสียชีวิตของฮวน เปรอง (Juan Domingo Peron) สามีของเธอและเป็นประธานาธิบดีคนก่อนหน้า
อิซาเบล เดอ เปรอง ปกครองประเทศอยู่ได้เพียงปีเดียวก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปีค.ศ.1976 ซึ่งกระทำโดยนายพลฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา เขาเริ่มจากการไล่ปลดนายทหารที่สนับสนุน อิซาเบล เดอ เปรอง จนไม่มีเสี้ยนมาตำจึงค่อยทำการทำรัฐประหาร โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลของนางอิซาเบลนั้นมีการคอร์รัปชันจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ จากนั้นเขาก็ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาเอง และรัฐบาลนั้นก็ได้เลือก ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปีค.ศ.1976
ประธานาธิบดีวิเดลาได้เปลี่ยนประเทศอาร์เจนตินาจากระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบเผด็จการทหารที่นองเลือดโดยสมบูรณ์ เขาไล่อุ้มผู้คนที่แสดงออกทางการเมืองที่คิดต่างไปจากรัฐบาล มีผู้คนมากมายสูญหายและถูกจับกุม ไม่ว่าจะเป็น ทหาร นักการเมือง ครู หรือแม้กระทั่งแพทย์
ในช่วงเวลาตั้งแต่ปีค.ศ.1976 – ค.ศ.1983 มันได้กลายเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศอาร์เจนตินา รัฐบาลเผด็จการทหารที่โหดร้ายได้สร้างสงครามกับประชาชนที่เรียกกันว่า ‘สงครามสกปรก’ หรือ ‘The Dirty War’ มีทั้งคนถูกจับไปยังค่ายกักกัน หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และเสียชีวิตจากการกระทำไร้มนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลนี้ราว 30,000 คน ศพที่พบมักมีร่องรอยบาดแผลของการถูกทรมานก่อนที่จะทำการสังหาร ร่างของพวกเขามักถูกพบเจอในหลุมไม่มีชื่อบนพื้นที่ชนบทอันห่างไกล
ประชาชนที่ต่างสูญเสียคนในครอบครัวไป สิ่งที่พวกเขาทำได้ในตอนนั้น คือเพียงแค่การยืนถือป้ายที่มีรูปถ่ายและชื่อคนในครอบครัวของพวกเขาที่หายตัวไปอย่างเงียบๆ เพราะการประท้วงที่รุนแรงกว่านั้น มักจะตามมาด้วยการถูกอุ้มหรือจับไปดั่งเช่นที่รัฐบาลเคยทำกับประชาชนมาโดยตลอด
ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1966 อาร์เจนตินาได้รับเลือกจากสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า(FIFA) ให้เป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดฟุตบอลโลกในปีค.ศ.1978 ซึ่งบังเอิญกลายเป็นช่วงเวลาที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองด้วยความหวาดกลัวของประธานาธิบดีวิเดลาพอดิบพอดี
วิเดลาไม่ค่อยดูกีฬา เขาไม่ใช่แฟนฟุตบอล เขาคิดว่ามันเป็นเพียงกีฬาที่โง่และจืดชืด และเป็นเพียง “สัญลักษณ์ของการมีชัยเหนือผู้อื่น” แต่วิเดลารู้ว่ามันได้รับความนิยมอย่างมาก ฟุตบอลคือแหล่งการสร้างความหลงใหลให้กับประชาชนชาวอาร์เจนตินานับล้านคนและอีกนับไม่ถ้วนทั่วโลก หลังจากการก่อรัฐประหารไม่นาน วิเดลาและนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่ก่อรัฐประหารร่วมกัน ก็ทำการประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดฟุตบอลโลกทันที
ในช่วงเวลานั้นประเทศอาร์เจนตินาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นถึง 300% รวมถึงความมั่นคงที่สั่นคลอนและการต่อต้านจากกองโจรฝ่ายซ้ายที่รู้จักกันในนาม ‘มอนโตเนรอส’ (Montoneros) การจัดฟุตบอลโลกในประเทศจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ประชาชนจะเริ่มหันกลับมาสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้นจากความนิยมในฟุตบอลซึ่งมันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงในรัฐบาลเผด็จการทหาร
วิเดลาตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องมีการจัดฟุตบอลโลกในปีค.ศ.1978 โดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง บัดนี้กีฬาลูกกลมๆ ได้กลายเป็นสารฟอกขาวให้รัฐบาลที่กำจัดคนเห็นต่างให้ขาวสะอาดขึ้นมาโดยปริยาย
“การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกจะแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่น่าเชื่อถือ และสามารถดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้ มันจะช่วยต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกที่ส่งผลกระทบกับรัฐบาล”
นายพลเอมิลิโอ มาสเซรา แห่งกองทัพอาร์เจนตินากล่าว
เพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนั้น รัฐบาลเผด็จการทหารก็ได้จัดการประชุมเพื่อเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทันที ประธานาธิบดีวิเดลากำหนดให้ฟุตบอลโลกกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของชาติที่หน่วยงานทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการโดยไม่มีอะไรมากีดขวาง ท่ามกลางความกังวลทางด้านค่าใช้จ่ายในการจัดงานที่สูงมากจนอาจทำให้ประเทศล้มละลายได้
แต่สิ่งที่วิเดลาและรัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น มันผิดกฎเกณฑ์ของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า(FIFA) ที่กำหนดให้รัฐบาลเจ้าภาพห้ามเข้ามาควบคุมและเกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดการแข่งขัน วิธีแก้ของวิเดลาคือให้รัฐบาลสร้างหน่วยงานขึ้นมาใหม่ที่เต็มไปด้วยนายพลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล หน่วยงานใหม่นี้จะมีหน้าที่จัดงานฟุตบอลโลก ซึ่งจะทำให้การแข่งขันนี้ถูกควบคุมและอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างถูกต้องตามระเบียบ
ในช่วงเวลาระหว่างนั้น การจับประชาชนไปยังค่ายกักกันรวมถึงการหายตัวไปในประเทศอาร์เจนตินาก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ศิลปิน นักดนตรี อาจารย์ ไม่เว้นแม้แต่นักกีฬาทีมชาติที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ใครก็ตามที่แสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลนี้มักถูกจับหรือหายตัวไปเพียงไม่กี่วันหลังจากการแสดงออก การหายตัวไปที่โด่งดังที่สุดคือนักกีฬารักบี้สโมสร La Plata Rugby Club ทั้ง 18 คน ในกรุงบัวโนสไอเรสที่แสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจน พวกเขาหายตัวไปในเวลาไล่เลี่ยกัน และค้นพบภายหลังว่าพวกเขาบางส่วนถูกฆาตกรรม และบางส่วนไม่เคยมีใครพบพวกเขาอีกเลย สื่อทุกประเภทในประเทศก็กลับกลายเป็นเครื่องมือปกปิดความผิดและพูดแต่เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่รัฐบาล สื่อลงข่าวการหายตัวหลายหมื่นคนของประชาชนในประเทศนี้ว่าเกิดจาก ”ผู้ก่อการร้าย” หาใช่รัฐบาลไม่
การเรียกร้องให้คว่ำบาตรจากต่างประเทศเริ่มมีการขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส เพียงหนึ่งปีก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มต้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1977 หนังสือพิมพ์ Le Monde ในประเทศฝรั่งเศส กลายเป็นสื่อต่างชาติแรกที่มีการประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอาร์เจนตินา ในเนื้อข่าวระบุว่าประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการทหารนี้ต่างสร้างโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชนและไล่กำจัดคนเห็นต่าง
สื่อมวลชนและประชาชนในฝรั่งเศสได้จัดตั้งหน่วยงานคว่ำบาตรฟุตบอลโลกขึ้น มีคำย่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “C.O.B.A.” พวกเขาจัดตั้งแคมเปญที่ประจานการกระทำอันเลวร้ายของรัฐบาล และโน้มน้าวให้ทีมชาติฝรั่งเศสและทีมชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สเปน อิตาลี สวีเดน ฮอลแลนด์ และสกอตแลนด์ ให้ปฏิเสธการเข้าร่วมการแข่งขัน
“เราไม่ควรเล่นฟุตบอลท่ามกลางค่ายกักกันและห้องทรมาน”
หนึ่งในผู้สนับสนุนการคว่ำบาตรฟุตบอลโลกที่อาร์เจนตินาคนหนึ่งกล่าว
สุดท้ายแล้วถึงแม้ว่าแคมเปญนี้จะไม่สามารถหยุดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ และแทบจะไม่มีประเทศไหนให้ความร่วมมือ แต่มันประสบความสำเร็จในการประณามอาชญากรรมที่เผด็จการอาร์เจนตินาก่อขึ้นให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้รับรู้เสียที
รัฐบาลอาร์เจนตินาตอบโต้การประณามครั้งนี้ด้วยการว่าจ้าง Burson-Marsteller บริษัทประชาสัมพันธ์และการสื่อสารข้ามชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยงบประมาณหลักล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ปลอมๆ ของประเทศขึ้นมา บริษัท Burson-Marsteller พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ โดยกลบปกปิดความจริงที่ว่ารัฐบาลนี้มาจากการรัฐประหารและไล่เข่นฆ่าประชาชน ด้วยการนำการแข่งขันฟุตบอลโลกมาเป็นตัวแปร และไล่ตอบโต้สื่อต่างชาติที่ปล่อยข่าวเชิงลบมากมายทั่วโลก รัฐบาลอาร์เจนตินากล่าวว่ามันคือการส่งเสริมความเชื่อมั่นและความปรารถนาดีสู่ประเทศอื่นๆ ที่ประเทศอาร์เจนตินามีแก่พวกเขา
ในที่สุดพวกเขาก็ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานด้านสื่อ ต้องขอบคุณในยุคสมัยนั้นที่ยังไม่มีสื่อออนไลน์ รัฐบาลเผด็จการทหารจึงสามารถควบคุมข่าวสารได้อย่างอยู่หมัด ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่เริ่มกลับมาสนับสนุนรัฐบาลของวิเดลา พวกเขาต่างหวังว่าฟุตบอลจะทำให้ประเทศกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
เวลายิ่งใกล้เข้ามาเท่าไหร่ การกวาดต้อนคัดกรองประชาชนที่ชังชาติก็ยิ่งมีมากขึ้น ตำรวจและทหารในอาร์เจนตินา ต่างเดินตรวจตราไปตามท้องถนนในเมือง พวกเขาหยุดทุกคนที่ดูสุ่มเสี่ยง ตรวจค้นและดูเอกสารแสดงตัว มีด่านตรวจเกลื่อนถนนไปทั่วประเทศ ยานพาหนะทุกคันต้องหยุดและถูกตรวจค้น ตำรวจและทหารยังทำการกวาดล้างย่านสลัมและคนยากจนที่อาศัยซึ่งอยู่ใกล้กับสนามกีฬาและสนามบิน พวกเขาถูกขับไล่ให้ออกไปจากสายตาชาวต่างชาติที่จะเข้ามาชมฟุตบอลในประเทศ รัฐบาลต้องการสร้างรอยยิ้มบนภาพลักษณ์ปลอมๆ ของอาร์เจนตินาให้โลกได้เห็น
23 พฤษภาคม ค.ศ.1978 ไม่กี่วันก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้น จาว ฮาเวอลางจ์ (João Havelange) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า(FIFA) ชาวบราซิลได้เดินทางมาถึงประเทศอาร์เจนตินา เขาบอกกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่า “ฉันไม่เคยผิดหวังกับการทำงานหนักของประเทศนี้ อาร์เจนตินาสามารถเตรียมการจัดงานได้เป็นอย่างดี ฉันภาคภูมิใจมากที่พวกคุณสามารถฝ่าอุปสรรคความท้าทายมาได้ และฉันก็ภูมิใจที่เป็นชาวอเมริกาใต้เหมือนกันด้วยเช่นกัน”
1 มิถุนายน ค.ศ.1978 พิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกเริ่มต้นขึ้น ณ สนามกีฬาบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินา มีผู้เข้าชมกว่า 67,000 คน รวมถึงบุคคลที่มีอิทธิพลและมีชื่อเสียงมากมายทั่วโลกที่มาร่วมพิธีในครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่ว่ากันว่าเป็นผู้ให้ไฟเขียวแก่รัฐบาลเผด็จทหารอาร์เจนตินาในการทำสงครามสกปรกกับประชาชน บัดนี้คิสซิงเจอร์ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป เขาแสดงออกถึงการสนับสนุนรัฐบาลของวิเดลาอย่างเต็มที่ ท่ามกลางการพากษ์วิจารณ์ของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ประณามรัฐบาลอาร์เจนตินาด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด
ในพิธีมีการปล่อยนกพิราบขาวหลายร้อยตัวเพื่อแสดงออกถึง ‘สันติภาพ’ ก่อนที่จะเชิญประธานาธิบดีวิเดลา และ จาว ฮาเวอลางจ์ ออกมากล่าวสุนทรพจน์
“ชายหญิงหลายพันคนจากหลากหลายภูมิภาคให้เกียรติพวกเราในการมาเยือนที่นี่ ใต้ร่มเงาแห่งบรรยากาศของความรักใคร่และความเคารพซึ่งกันและกัน การแข่งขันในสนามและความผูกพันในตัวมนุษย์ด้วยกัน จะเป็นตัวยืนยันความสามัคคีในสภาพความหลากหลายของมนุษย์ในปัจจุบัน” ประธานาธิบดีวิเดลากล่าวกับผู้ที่เข้ามาชม
แน่นอนว่ามันเป็นสุนทรพจน์จอมปลอม เพราะห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร มันเต็มไปด้วยกลุ่มอาคารที่รัฐบาลกักขังประชาชนคนหลายพันคนอยู่ พวกเขาถูกทรมาน สอบปากคำ คุมขังลืม และต่างทยอยถูกสังหารโดยคำสั่งของรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาผู้ที่กำลังปล่อยนกพิราบขาวนั่นเอง
เหยื่อหลายคนถูกลักพาตัวออกไปต่อหน้าครอบครัวของพวกเขา บางคนเป็นผู้หญิงซึ่งกำลังท้องใกล้คลอด ทำให้พวกเธอต่างต้องคลอดเด็กออกมาในคุกที่เต็มไปด้วยสภาวะอันเลวร้าย แต่ไม่นานหลังจากคลอดออกมา ลูกๆ ของพวกเธอก็ถูกบรรจุใส่กล่อง นำขึ้นไปในเครื่องบินทหาร และโยนเด็กๆ เหล่านั้นออกมาจากเครื่องบิน ให้จมน้ำตายบนแม่น้ำริโอเดอลาพลาตาอันกว้างใหญ่และเย็นยะเยือก
การแข่งขันฟุตบอลโลกดำเนินมาถึงรอบรองชนะเลิศระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินาและทีมชาติเปรู มันเป็นศึกตัดสินว่าประเทศเจ้าภาพอย่างอาร์เจนตินาจะได้เข้าไปเล่นในรอบชิงชนะเลิศหรือไม่ ทีมชาติอาร์เจนตินาต้องชนะเปรูอย่างน้อย 4 ประตูเพื่อผ่านเข้าไปสู่นัดชิงชนะเลิศ
คืนก่อนการแข่งขัน นักฟุตบอลและสตาฟฟ์ทีมชาติเปรูแทบจะไม่ได้นอนหลับ เนื่องจากแฟนบอลชาวอาร์เจนตินาทำการก่อกวนรอบๆ โรงแรมที่พวกเขานอนด้วยเสียงแตรรถและการตะโกนโห่ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนจนถึงเช้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจที่เคยตรวจตราความปลอดภัยในโรงแรมต่างหายไปพร้อมกันโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
วันแข่งขันมาถึง เพียง 20 นาทีก่อนเวลาแข่งขัน นักฟุตบอลทีมชาติเปรูต้องประหลาดใจอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีวิเดลาเดินเข้ามายังห้องแต่งตัวทีมชาติเปรูพร้อมกับเฮนรี คิสซินเจอร์ และทหารอาวุธหนักหลายคน
“สุภาพบุรุษ ฉันแค่อยากจะบอกพวกคุณว่าเกมในคืนนี้เป็นเกมระหว่างพี่น้อง ฉันมาที่นี่เพื่อมาแบ่งปันความหวังว่าทุกอย่างจะออกมาดี ละตินอเมริกากำลังเฝ้าดูคุณอยู่” ประธานาธิบดีวิเดลากล่าวกับนักฟุตบอลเปรูและทีมงาน
ในตอนนั้นประเทศเปรูก็ปกครองด้วยเผด็จการทหารเช่นกัน วิเดลาเปิดอ่านจดหมายที่มาจากนายพลฟรานซิสโก โมราเลส เบร์มูเดซ (Francisco Morales Bermúdez) ประธานาธิบดีเผด็จการทหารแห่งประเทศเปรู ในจดหมายพูดถึงความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศนี้ หลังจากวิเดลาอ่านเสร็จ เขากับคิสซิงเจอร์ก็เดินออกจากห้องไป
ทีมชาติอาร์เจนตินา เอาชนะทีมชาติเปรูไปด้วยสกอร์อันล้นหลาม 6 – 0 เพียงพอที่จะทำให้ประเทศเจ้าภาพผ่านเข้าไปสู่นัดชิงชนะเลิศพบกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ท่ามกลางการแข่งขันที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล นักวิจารณ์หลายคนมองเห็นว่าผู้เล่นทีมเปรูหลายคนมีคุณภาพการเล่นที่ตกไป และขาดแรงจูงใจในการเล่นโดยสิ้นเชิง มีข่าวลือว่าพวกเขาได้รับเงินและที่ดินจำนวนมากเพื่อทำตัวให้แพ้ แต่ก็ถูกรัฐบาลอาร์เจนตินากล่าวปฏิเสธมาโดยตลอด
4 วันต่อมา อาร์เจนตินาเผชิญหน้ากับเนเธอร์แลนด์ในนัดชิงแชมป์ฟุตบอลโลกที่สนามโมนูเมนทัล เจ้าภาพสามารถเอาชนะเนเธอร์แลนด์ไปได้ด้วยสกอร์ 3-1 จากการทำประตูในช่วงต่อเวลาพิเศษของ มาริโอ เคมเปส (Mario Kempes) และ ดาเนียล เบอร์โตนิ(Daniel Bertoni) ในที่สุดอาร์เจนตินาก็เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยแรกตามความฝันของประธานาธิบดีวิเดลา
ในพิธีมอบรางวัล ประธานาธิบดีวิเดลาได้มอบถ้วยรางวัลฟุตบอลโลกนี้ให้กับ ดาเนียล พาสสาเรลลา (Daniel Passarella) กัปตันทีมชาติอาร์เจนตินา ส่วนทางฝั่งเนเธอร์แลนด์ พวกเขาเดินออกไปโดยไม่รับเหรียญเงินเป็นจำนวนมาก และต่างบอกว่าไม่ต้องการจับมือกับพวกเผด็จการ
มันกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของประธานาธิบดีวิเดลาและรัฐบาลเผด็จการทหารของเขา ประชาชนออกมาเฉลิมฉลองถึงความสำเร็จนี้เป็นจำนวนมาก สื่อต่างชาติประโคมข่าวการเป็นแชมป์ครั้งแรกของประเทศอาร์เจนตินา มันได้บดบังสิ่งเลวร้ายที่ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรจากจุดนั้นไปจนหมดสิ้น
อำนาจจากเชื้อร้ายนี้ลุกลามอย่างไร้การขัดขวาง จนมาถึงวันที่ 2 เมษายน ปีค.ศ.1982 เมื่อกองทัพอาร์เจนตินาทำการบุกรุกและยึดครองหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ หนึ่งในอาณานิคมของประเทศอังกฤษ จนกลายเป็นสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ที่กินเวลา 10 สัปดาห์ จนในที่สุดชัยชนะก็เป็นของสหราชอาณาจักร และนั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของการปกครองในประเทศอาร์เจนตินา
ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้กองทัพอาร์เจนตินาและรัฐบาลเผด็จการทหารเสื่อมความนิยมและลดถอยลงอย่างรุนแรง มันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทหารนั้นไม่ได้มีหน้าที่มาบริหารประเทศ และระบอบเผด็จการได้ล่มสลายไปอย่างหมดสิ้นเมื่อปีค.ศ.1983
อดีตประธานาธิบดีวิเดลา อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงนายพลจำนวนมาก ถูกนำตัวขึ้นศาล พวกเขาโดนข้อหาเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นละเมิดสิทธิมนุษย์ชน ฆาตกรรม ลักพาตัว กักขัง และข้อหายิบย่อยอีกจำนวนมาก มีการพยายามให้อภัยโทษวิเดลา แต่เขาก็ถูกตั้งข้อหาด้วยคดีอื่นๆ ที่ตรวจพบในเวลาต่อมา ในที่สุดวิเดลาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปีค.ศ.2012 และเขาก็ได้เสียชีวิตหลังจากชดใช้โทษในปีค.ศ.2013 ด้วยวัย 87 ปี
อ้างอิงข้อมูลจาก