โลกนี้มีทั้งเผด็จการที่โง่และฉลาด
เผด็จการที่ฉลาดมักไม่แสดงออกถึงความเป็นเผด็จการของตัวเองออกมาโต้งๆ ตรงๆ ให้คนเห็นและจับไต๋ความเป็นเผด็จการของตัวเอง แต่เผด็จการโง่นั้นกลับกัน คือมักเป็นเผด็จการที่ชอบใช้อำนาจในการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ฟังเสียงของใคร แม้แต่คนที่เคยสนับสนุนเผด็จการนั้นๆ และพากันแห่แหนเข้ามารับใช้เผด็จการอย่างใกล้ชิดก็ยังรู้สึกเอือมระอากับเผด็จการ เผด็จการประเภทนี้มักมีอคติต่างๆ บดบัง ทั้งอคติแง่ลบเลวร้ายต่อผู้อื่น และอคติแสนดีที่มอบให้ตัวเอง จนที่สุดก็ไร้ความสามารถในการวิเคราะห์ความบกพร่องในตัว เห็นได้แต่ความดีหนาเตอะเป็นคืบเป็นศอก
ทุกวันนี้ ใครๆ ก็ยอมรับว่า โลกมุ่งหน้าไปหา ‘ประชาธิปไตย’ กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) เคยแบ่งประชาธิปไตยออกเป็นคลื่นสามลูก ลูกแรกเกิดในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังยุครู้แจ้งกับการเกิดประชาธิปไตยในอเมริกา แต่มาสะดุดเพราะฟาสซิสม์ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สองเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อหลายประเทศได้รับเอกราชและหันมาปกครองแบบประชาธิปไตย ทำให้ในปี 1962 มีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเป็น 36 ประเทศ แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดลง ก่อนจะมาถึงคลื่นลูกที่สามที่ ‘บูม’ ขึ้นตั้งแต่กลางยุคเจ็ดศูนย์ ทำให้มีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าร้อยประเทศในปัจจุบัน
ที่น่าสนใจก็คือ หลังปี 2008 มีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีหลายประเทศที่มีทีท่าเหมือน ‘ถดถอย’ ในความเป็นประชาธิปไตย เช่น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ตุรกี ฮังการี โปแลนด์ ฮอนดูรัส และมัลดีฟส์ (รวมทั้งไทยด้วย) แต่ต่อให้ถดถอยและมีความเป็นเผด็จการแทบตายแค่ไหน ผู้นำเผด็จการในหลายประเทศก็ยังประกาศว่า ‘จะเลือกตั้ง’ อยู่ดี เพราะแม้ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งคือเครื่องหมายสำคัญของการเป็นประชาธิปไตย
ดังนั้นถ้าจะให้ ‘คนอื่น’ เห็นว่าตัวเองไม่ได้เป็นเผด็จการอะไรนักหนาอย่างที่พวกปากหอยปากปูชอบกล่าวหา เผด็จการในหลายประเทศทั่วโลกก็ต้อง ‘จำใจ’ ประกาศว่าตัวเองจะจัดการเลือกตั้งให้โลกเห็น
ที่ต้องอยู่ในภาวะ ‘จำใจ’ ก็เพราะมีตัวอย่างมาแล้วมากมาย ว่าพอเลือกตั้งปุ๊บ เผด็จการจำนวนมากตกอยู่ในภาวะขาลง (Downfall) หรือไม่ก็ล่มสลายไปโดยเร็ว ในงานวิจัยชื่อ Autocratic Elections: Stabilizing Tool or Force for Change? ของ Carl Henrik Knutsen และคณะ จากมหาวิทยาลัยออสโลในนอร์เวย์ (อ่านฉบับเต็มที่มีความยาว 36 หน้า ได้ที่นี่ folk.uio.no) บอกว่า ราวครึ่งหนึ่ง (50%) ของเผด็จการ มีอาการเสื่อมสลายล้มหายตายจากไปในช่วงปีที่มีการเลือกตั้ง (Election Years) แม้ว่าช่วงปีที่มีการเลือกตั้งจะมีปริมาณแค่ราว 22% ของช่วงปีที่ปกครองแบบเผด็จการไร้การเลือกตั้ง (Dictatiorship Years) ก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 7 มีนาคม 1982 เคยมีการเลือกตั้งในกัวเตมาลา ซึ่งตอนนั้น กัวเตมาลาปกครองโดยประธานาธิบดีอย่าง เฟอร์นานโด โรมีโอ ลูคัส การ์เซีย (Fernando Romeo Lucas Garcia) ซึ่งแม้จะได้รับเลือกตั้งมา แต่ก็มีการใช้อำนาจกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถูกมองว่าเป็นเผด็จการ เขาได้ ‘เลือก’ เอาไว้แล้วว่าจะให้ใครมาเป็นทายาทสืบทอดทางการเมืองต่อไป แต่ด้วยช่วงต้นทศวรรษแปดศูนย์ กัวเตมาลาเกิดความขัดแย้งภายในรุนแรง เขาจึง ‘จำใจ’ ต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นมา โดยคนที่ชนะเลือกตั้งก็คือ นายพลแองเกล เกวารา (Angel Guevara) ซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบทอดที่ได้รับการเลือกกับมือ (Hand-Picked Successor) ของการ์เซียมาเลย แต่ผลลัพธ์ก็คือ หลังเลือกตั้งแล้ว เกิด ‘ความไม่สงบ’ ขนานใหญ่ในประเทศขึ้น มีการประณามการเลือกตั้งว่าสกปรก โกง แล้วในที่สุด ทหาร (อีกฝ่าย) ก็ยอมไม่ได้ เพราะหวั่นเกรงว่าความขัดแย้งจะลุกลามไปเป็นสงครามกลางเมืองที่ต่อเนื่องยาวนาน (โดยมีบางกระแสบอกว่า ก็เป็นพวกทหารอีกกลุ่มนี่แหละที่อยู่เบื้องหลังความปั่นป่วน เป็นกลุ่มฉวยโอกาสช่วงที่การเมืองเปราะบางสร้างสถานการณ์ขึ้นมา) ที่สุดก็เกิดรัฐประหารด้วยข้ออ้างว่าจะ Restore Order หรือ ‘รักษาความสงบเรียบร้อย’ (แหม! ช่างทันสมัยเสียจริงนะครับ) เป็นอันยุติยุคเผด็จการยุคหนึ่งลง แต่ก็สร้างเผด็จการยุคใหม่ขึ้นมาด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นตัวอย่างที่เผด็จการในเอเชียมักจะปรายตามองด้วยความหวาดหวั่นมาตลอดประวัติศาสตร์ นั่นคือการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ ในปี 1986 เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เผด็จการอย่างประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ผู้มีภริยาแสนอื้อฉาวอย่างนางอิเมลดา มาร์คอส ต้องถูกโค่นจากตำแหน่งและหนีออกนอกประเทศ
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ครองอำนาจในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1965 โดยเริ่มแรกก็ใช้นโยบายประชานิยมนี่แหละครับในการขึ้นสู่อำนาจ เขาปกครองประเทศสองสมัยจนถึงปี 1972 แต่ก็เริ่มมีคนไม่พอใจ มีการประท้วง เขาส่งกองกำลังไปปราบผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตและเกิดความไม่สงบขึ้น ทำให้ร่ำๆ ว่าจะมีรัฐประหารยึดอำนาจจากฝ่ายทหาร (ซึ่งก็มีข่าวว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังด้วยนะครับ) และมีปัญหาเรื่องลัทธิคอมมิวนิสม์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่างหาก ปัญหาจึงซับซ้อนมาก สุดท้ายประธานาธิบดีมาร์คอสเลยชิงประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ฟิลิปปินส์ตกอยู่ใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึกยาวนานตั้งแต่ปี 1972 ถึง 1981
พอมาถึงปี 1986 มาร์คอสต้านแรงเสียดทานต่างๆ ไม่ไหว ต้องจัดการเลือกตั้งก่อนเวลาที่กำหนดไว้ (เรียกว่า Snap Election) ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือเขาชนะการเลือกตั้งเหนือนางคอราซอน อาควิโน แต่เป็นการชนะที่เฉียดฉิวมาก ทำให้ชาวฟิลิปปินส์และสื่อต่างๆ ลุกขึ้นต่อต้านประท้วงว่านี่เป็นการ ‘โกง’ การเลือกตั้ง ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือเกิดความวุ่นวายจนมาร์คอสต้องหนีออกนอกประเทศ และนางอาควิโนได้ขึ้นครองอำนาจจากการเลือกตั้งแทน เป็นอันสิ้นสุดยุคแห่งการปกครองของเผด็จการกันไปตามเพลง
ความล่มสลายที่เกิดกับเผด็จการหลังเลือกตั้งหลายต่อหลายหน จึงอาจทำให้หลายคนคิดว่านี่คือเหตุผลที่พวกเผด็จการไม่ค่อยอยากให้มีการเลือกตั้งเท่าไหร่ เพราะเห็นชะตากรรมมาจากประวัติศาสตร์ว่าการเลือกตั้งทำให้เผด็จการต้องตกกระป๋อง
แต่คำถามก็คือ – มันเป็นอย่างนั้นเสมอไปจริงหรือ?
คำตอบจากงานวิจัย Autocratic Elections: Stabilizing Tool or Force for Change? บอกเราว่าไม่จริงอย่างนั้นเสมอหรอกครับ เพราะเอาเข้าจริง นอกจาก ‘เหตุผล’ ที่เผด็จการจะต้องจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องซับซ้อนแล้ว การที่เผด็จการจะ ‘อยู่’ หรือ ‘ไป’ หลังการเลือกตั้ง ก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอีกด้วย
งานวิจัยนี้ยกตัวอย่างเม็กซิโกในทศวรรษแปดศูนย์ เมื่อเม็กซิโกปกครองโดยพรรคการเมืองที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการ คือพรรคชื่อ Institutional Revolutionary Party หรือ PRI ซึ่งครองอำนาจทางการเมืองในเม็กซิโกยาวนานมากถึง 71 ปี คือตั้งแต่ปี 1929 ถึงปี 2000 ในงานวิจัยนี้บอกว่าการปกครองของ PRI เป็นการปกครองแบบ Autocracy หรือการปกครองโดยคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1982 พรรค PRI จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นมา ผลปรากฏว่า พรรค PRI ได้คะแนนเสียงสูงลิบลิ่วถึง 74.4% โดยพรรคที่ตามมาเป็นพรรคคู่แข่ง คือ National Action Party ได้คะแนนเสียงเพียง 16.4% เท่านั้น งานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า พรรค PRI ใช้โอกาสนี้ในการ ‘จัดการ’ กับฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่ด้วยวิธีกำจัดนะครับ แต่ด้วยการทำหลายๆ อย่างที่ละมุนละม่อม เช่นร่วมมือกันในบางเรื่อง แต่ในเวลาเดียวกันก็ค่อยๆ บั่นทอนฝ่ายตรงข้ามในบางเรื่องไปพร้อมกันด้วย ที่สำคัญก็คือ ในช่วงนั้น พรรค PRI ปกครองประเทศมานานมากแล้ว จึงต้องปฏิรูปตัวเองหลายอย่าง ทำให้คนไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านมาก ซ้ำยังสนับสนุนด้วย สรุปสุดท้ายก็คือ การเลือกตั้งในปี 1982 ถูกมองว่ากลายเป็นการเลือกตั้งที่ ‘ยืดอายุ’ (Prolong) การครองอำนาจของพรรคในแบบที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามแบบเผด็จการไปได้อีกเกือบยี่สิบปี นักรัฐศาสตร์หลายคนจึงมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้อำนาจไม่เปลี่ยนมือ
หรืออีกการเลือกตั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 คือการเลือกตั้งในอูกันดา โดยประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ซึ่งถือว่าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จเหมือนกัน เพราะเขาปกครองอูกันดามาตั้งแต่ปี 1986 ในการเลือกตั้งในปี 2016 เขาสั่งให้มีการบล็อกทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก รวมทั้งจับกุมแกนนำฝ่ายค้าน และให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยออกมาดูแลความสงบเอาไว้ล่วงหน้า ผลก็คือเขาชนะเลือกตั้งและยังคงอยู่ในอำนาจมาจนถึงปัจจุบันนี้
การเลือกต้ังในอูกันดาจึงเหมือนในเม็กซิโกอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือแทนที่จะมันจะ ‘ทำลาย’ เผด็จการ แต่กลับกลายเป็นไปช่วย ‘ยืดอายุ’ ยุคสมัยของเผด็จการให้ยาวนานขึ้น
ผู้เขียนงานวิจัย Autocratic Elections : Stabilizing Tool or Force for Change? เน้นหลายครั้งว่า งานที่เขาศึกษานี้เป็นงานเชิงประจักษ์ คือเป็นงานเก็บข้อมูลตัวเลขต่างๆ เอามาวิเคราะห์อย่างมีแบบแผนทางวิชาการ เขาศึกษาการเลือกตั้ง 389 ครั้ง ในการปกครองแบบเผด็จการ (ซึ่งก็มีความหลากหลายเข้มอ่อนต่างกันไป) ถึง 259 ยุคสมัยจากทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 1946 ถึง 2008 (ในงานวิจัยที่นำเสนอน่ะนะครับ แต่หลังจากปี 2008 แล้ว เขาก็ยังเก็บข้อมูลเพิ่ม) และพบข้อสรุปสำคัญอย่างหนึ่งว่า การเลือกตั้งนั้นส่งผลต่อผู้ปกครองที่มีลักษณะเผด็จการได้สองอย่าง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเลือกต้ังคือ ‘ดาบสองคม’ สำหรับเผด็จการ คืออาจเป็นคมที่เอาไว้ฟาดฟันผู้อื่น หรือเป็นคมที่มีไว้บาดตัวเองก็ได้
ผลอย่างแรกก็คือ ในระยะสั้น การเลือกตั้งมักจะทำให้ระบอบเผด็จการที่มีอยู่หรือครองอำนาจอยู่ก่อนการเลือกตั้งถูกคุกคาม ไม่ว่าจะจากผู้ประท้วงหรือแม้แต่การรัฐประหารโดยทหารชุดใหม่ นั่นทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่อง ‘อันตราย’ สำหรับเผด็จการทั้งหลาย เพราะมันสร้างห้วงเวลาที่เปราะบางให้เกิดขึ้น
ผู้วิจัยบอกว่า ถ้าเผด็จการมีการประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้า จะยิ่งเกิดความเปราะบางหรือความไม่มั่นคงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อได้มาก เพราะฝ่ายตรงข้ามสามารถร่วมมือกันวางแผนโน่นนั่นนี่ได้ทั้งก่อนและระหว่างการเลือกตั้ง จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ทำไมเผด็จการจำนวนมากที่ขลาดกลัวการเลือกตั้งจึงไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าโดยเร็ว หรือในบางกรณีก็เลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบสิ้น ในบางประเทศมีการเลื่อนเลือกต้ังเป็นสิบครั้ง จนเผชิญแรงกดดันมหาศาลจากประชาชน ฝ่ายตรงข้าม และนานาชาตินั่นแหละครับ ถึงจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นมาได้ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเผด็จการจำพวกนี้มีความขลาดกลัวอยู่ลึกๆ ว่าการเลือกตั้งจะทำให้เกิดความวุ่นวาย แล้วอำนาจอันเปราะบางของตัวเองก็จะพังทลายลง
แต่ในอีก ‘คม’ หนึ่งของดาบแห่งการเลือกตั้ง ผู้วิจัยบอกว่าในระยะยาวนั้น ถ้าเผด็จการ ‘ฉลาด’ มากพอ สามารถรักษาเนื้อรักษาตัวหลังผ่านการเลือกตั้งไปได้เป็นเวลานานพอ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไรก็ตาม การเลือกตั้งมักกลายเป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์กับเผด็จการมากกว่า เหตุผลมีหลายอย่าง เช่น การเลือกตั้งคือการสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการ ประมาณว่า – ดูสิ, ฉันผ่านเลือกตั้งมาแล้วนะ (แม้ว่าจะใช้วิธีที่ไม่สะอาดและไม่สง่างามเลยก็ตามที เช่นการใช้งบประมาณของรัฐในการหาเสียงในขณะที่ห้ามคนอื่นหาเสียง หรืออย่างในอูกันดาที่ใช้กำลังทหารปรามฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ) เพราะฉะนั้น ฉันจึงมือสะอาด เป็นประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นเผด็จการ ที่สำคัญ การเลือกตั้งยังเป็นเครื่องมือที่เผยให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามมีความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอตรงไหนบ้าง มีทุนรอนมากแค่ไหน สามารถเจาะจุดอ่อนได้ตรงไหน เผด็จการที่ฉลาดขึ้นไปอีกขั้นยังสามารถประสานความร่วมมือกับฝ่ายตรงข้ามในบางเรื่อง หรือกดดันฝ่ายตรงข้ามด้วยวิถีทางการเมืองในบางเรื่องเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย
ผู้วิจัยบอกว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เผด็จการทั่วโลกต่างจัดให้เกิดการเลือกตั้งในประเทศของตัวเองเฉลี่ยแล้วทุกๆ ห้าปี
งานวิจัยนี้ทำให้เราเห็นถึงเหตุและผลที่เผด็จการมักไม่ค่อยอยากให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากกลัวตัวเองจะสูญสิ้นอำนาจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เผด็จการก็มีความย้อนแย้งในตัว เพราะไม่อยากให้ใครมา ‘ตราหน้า’ ว่าเป็นเผด็จการ เลยจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งเพื่อให้โลกเห็นว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยตามเทรนด์โลกด้วย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เผด็จการไม่ค่อยอยากเจอ ‘ผลระยะสั้น’ (คือความปั่นป่วนวุ่นวาย) อยากได้แต่ ‘ผลระยะยาว’ (คือได้ครองอำนาจต่อไปนานๆ โดยใช้การเลือกตั้งเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง) ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องเลือกตั้ง เผด็จการจำนวนมากก็เลยต้องหา ‘แทคติก’ ในการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนมากที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความฉลาด ความโง่ รวมไปถึงความขี้ขลาดและความกล้าบ้าบิ่นของเผด็จการในแต่ละประเทศด้วย ว่าจะใช้แทคติกแบบไหนเพื่อให้เกิดผลแบบไหน
งานวิจัยนี้มีประโยชน์ต่อปรากฏการณ์ ‘อยากเลือกตั้ง’ ในเมืองไทยไม่น้อย เพราะทำให้เรารู้ว่า ลำพังแค่การเลือกตั้งอย่างเดียวยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่มี ‘งานหนัก’ ที่ยังต้องทำต่อไปอีกไม่รู้จบ เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ปลายทางของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คือหนทางร่วมที่ต้องนับรวมคนทุกคนเข้ามาอยู่ในสมการด้วยเสมอ
ดังนั้นในเบื้องต้น เราจึงไม่ควรปล่อยให้สิทธิในการได้หรือไม่ได้เลือกตั้ง – ตกอยู่ในมือของเผด็จการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่โง่หรือเผด็จการที่ฉลาดก็ตาม