ข่าวใหญ่รอบเดือนที่ผ่านมาในวงการภาพยนต์ระดับนานาชาติ คงหนีไม่พ้นกรณีนักแสดงหญิงชื่อดังหลายสิบคนออกมาแฉพฤติกรรมคุกคามทางเพศของคุณ Harvey Weinstein ผู้ผลิตภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของคนจำนวนมากทั้งในแง่เนื้อหาผลงาน และความเป็นนักสู้ผู้บุกเบิกทางสู่ความสำเร็จระดับโลกโดยเริ่มจากจากศูนย์
เมื่อความจริงถูกเปิดโปง คนจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้มีการบอยคอตผลงานของคุณ Weinstein ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งก็ออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าศิลปะไม่ควรแปดเปื้อนตามศิลปินไปด้วย
ข้อถกเถียงทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น อิสราเอลแบนบทประพันธ์เพลงของ Richard Wagner เพราะคีตกวีชาวเยอรมันผู้นี้มีจุดยืนเหยียดชาติพันธุ์ยิว การแบนดังกล่าวทำให้นักดนตรีชาวยิวหลายคนไม่พอใจ เพราะพวกเขาเห็นว่าผลงานของคีตกวีผู้นี้นั้นควรค่าแก่การศึกษาในตัวมันเอง แม้ผู้ประพันธ์จะชั่วร้ายก็ตาม[1] ปีสองปีก่อน คนจำนวนมากก็ออกมาสนับสนุนและคัดค้าน เมื่อพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษถอดทำลายผลงานภาพวาดของ Graham Ovenden เนื่องจากจิตรกรผู้นี้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
ส่วนตัว ผมคิดว่าเราพอมีเหตุผลบางอย่างให้บอยคอตภาพยนตร์ของคุณ Weinstein ได้ กล่าวคือเมื่อชั่งตวงวัดแล้วเราพบว่า การบอยคอตดังกล่าวจะสร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่า แต่ก่อนที่จะไปถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ต้องเคลียร์ทิ้งก่อน ก็คือมุมมองที่ว่างานศิลปะจะแปดเปื้อนเลวร้ายในตัวเองไปด้วย หากศิลปินผู้ให้กำเนิดมันทำสิ่งเลวร้าย นี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะใช้หรือแม้แต่สนับสนุนครับ
เรื่องนี้ ถ้าให้พูดกันตามภาษาคนในวงการศิลปะ ก็คือเราต้องแยกศิลปะออกจากตัวศิลปิน แล้วประเมินความดีชั่วของการกระทำและสิ่งต่างๆ อย่างแยกแยะ
ในทางวิชาตรรกศาสตร์ การเชื่อมโยงสองสิ่งที่เหมือนจะเกี่ยวข้องกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย ถือเป็นข้อผิดพลาดในรูปแบบที่เรียกว่า Reductio ad Hitlerum ที่รูปแบบนี้ใช้ชื่อว่า ‘Hitlerum’ ก็เพราะเขาใช้กรณีของฮิตเลอร์เป็นตัวอย่างในการอธิบายครับ เรื่องก็คือ ปกติฮิตเลอร์เป็นคนกินมังสวิรัติ ทุกวันนี้ เวลาคนจำนวนมากที่อยากล้อเลียนหรือต่อต้านการกินมังสวิรัติ ก็มักให้เหตุผลว่าฮิตเลอร์กินมังสวิรัติยังเป็นคนเลวเลย แล้วเราจะกินไปทำไม การให้เหตุผลแบบนี้ผิดตรงที่เราเอาเรื่องสองเรื่องมาเชื่อมโยงกันผ่านข้อต่อบางอย่าง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรกันเลย
ลองนึกเป็นรูปเซตกลมๆ ดูก็ได้ครับ สมมติให้ A (ฮิตเลอร์) ซ้อนทับกับ B (มังสวิรัติ) และ A (ฮิตเลอร์) ซ้อนทับกับ C (การฆ่าล้างเผ่าพันธ์) มันไม่ได้แปลว่า B กับ C ซึ่งหมายถึงการกินมังสวิรัติและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์จะจำเป็นต้องซ้อนทับกันใช่มั้ยครับ หากเราพิสูจน์ชัดไม่ได้ว่าสองสิ่งซ้อนทับกัน เราก็ควรประเมิน B และ C อย่างแยกแยะ
ในกรณีคุณ Weinstein เราอาจพูดได้ว่าตัวหนังก็เป็นเรื่องของตัวหนัง การกระทำที่ชั่วร้ายก็เป็นอีกเรื่อง หากเอาสองเรื่องมาปนกัน ก็จะเปิดทางให้คุณ Weinstein อ้างกลับได้เหมือนกัน ว่าที่ผ่านมาเขาช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะและแสดงจุดยืนทางมนุษยธรรมในเรื่องต่างๆ มากมาย ดังนั้นเมื่อสังคมเอาความชั่วของเขาไปประเมินในภาพยนต์ เขาก็ขอให้เอาความดีเหล่านี้เข้าคำนวณหักล้างด้วย คิดปนๆ มั่วๆ กันอย่างนี้ก็จะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ใช่มั้ยครับ
ถ้าศิลปะมันจะแปดเปื้อน ก็ควรแปดเปื้อนเพราะความห่วยหรือความเลวร้ายในตัวเนื้องานเอง เช่น มันเชิดชูการข่มขืน ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ซึ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะไปเข้าอยู่ในข้อถกเถียงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น (free speech) ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต่างออกไป
หลักการแยกศิลปินออกจากศิลปะเช่นนี้อาจคลุมเครือ ในกรณีที่การกระทำชั่วของศิลปินนั้นซ้อนทับคาบเกี่ยวกับงานศิลปะอย่างมีนัยยะสำคัญ ในอดีต นักปรัชญาอย่าง Martin Heidegger บันทึกไว้ว่างานเขียนคลาสสิกทั้งหมดของเขานั้น แท้จริงแล้วมีฐานคิดมาจากมุมมองต่อต้านชาติพันธุ์ยิว[2] ในกรณีเช่นนี้ ผมว่าเรายังพอยืนยันต่อไปได้ว่าแรงบันดาลใจและฐานคิดของศิลปินหรือผู้ผลิตนั้นแยกออกจากตัวงาน เพราะโดยธรรมชาติของงานเขียนหรืองานศิลปะแล้ว ผู้เสพไม่จำเป็นต้องรับเจตจำนงของผู้ผลิตมาเป็นของตน แต่สามารถตีความความหมายของงานได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ในปัจจุบันเราก็ใช้อะไรต่างๆ จำนวนมากที่มีที่มาอันเลวร้าย เช่น ยารักษาโรคจำนวนมากก็เกิดจากการทดลองแบบไร้มนุษยธรรมในอดีต
แน่นอนว่าการลงโทษผู้กระทำผิด ชดเชยเหยื่อ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำลายผลผลิตดีๆ ที่งอกงามขึ้นจากพื้นดินอันชั่วร้ายเหล่านี้ไปด้วย
หลายคนอาจขัดใจกับข้อสรุปนี้ และถามประชดว่าถ้าเราแยกศิลปินออกจากศิลปะได้จริง ทำไมไม่ให้รางวัลกับงานศิลปะคุณภาพของศิลปินผู้ฉาวโฉ่ไปให้มันรู้แล้วรู้รอดเลยล่ะ? ที่เขาประชดก็จริงครับ ปกติเราไม่ให้รางวัลกับศิลปินที่เพิ่งก่อเรื่องอื้อฉาวไป แต่ที่เราไม่ให้ ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะศิลปะมันแปดเปื้อนตามศิลปินอยู่ดีครับ แต่สาเหตุที่เราไม่ให้รางวัลก็เพราะมันจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมไม่สนใจเหยื่อ ไม่แคร์ สร้างบรรทัดฐานว่าศิลปินสามารถประสบความสำเร็จทางศิลปะได้ แม้จะมีพฤติกรรมส่วนตัวอันเลวร้าย พูดง่ายๆ ก็คือการให้รางวัลจะสร้างหรือสนับสนุนผลพวงที่ไม่ดีให้เกิดขึ้น
และฐานคิดเชิงผลกระทบ (consequentialism) นี้แหละครับ ที่ทำให้ผมสรุปตามที่ได้กล่าวไปตั้งแต่แรก ว่าเราสามารถบอยคอตศิลปะได้ในบางกรณี หากการบอยคอตดังกล่าวจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า นี่เป็นวิธีคิดแบบเดียวกับที่เราบอยคอตสินค้า เพื่อเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตยุติการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือกดขี่แรงงาน ในกรณีของศิลปะและคุณ Weinstein นั้น เราอาจคาดหวังว่าการบอยคอต จะทำให้วงการภาพยนตร์ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้คุณ Weinstein ยอมขายหุ้นและส่วนแบ่งรายได้จากภาพยนตร์ของเขา หรือการให้กำลังใจเหยื่อ หรืออะไรก็ตามแต่
หัวใจของวิธีคิดแบบนี้คือการคิดแบบมุ่งหวังผลลัพธ์ จึงต้องอาศัยการกำหนดเป้าหมาย กรอบระยะเวลา ชั่งตวงวัดในรายละเอียด และการคาดคะเน ซึ่งก็แล้วแต่คนจะคำนวณหรือรณรงค์ ไม่ถือเป็นข้อผูกมัดทางศีลธรรมที่ทุกคนต้องทำโดยพร้อมเพียง และเมื่อเป้าหมายสำเร็จหรือล้มเหลว เราก็กลับมาเสพงานต่อได้อย่างไม่เคอะเขิน ตรงนี้จะแตกต่างจากฐานคิดแรกซึ่งเราปฏิเสธไปแล้ว ที่บอกว่าศิลปะแปดเปื้อนในตัวเองเมื่อที่มาสกปรก วิธีคิดแบบนี้เรียกร้องให้เราทุกคนบอยคอตตลอดการ เพราะการสนับสนุนสิ่งที่ชั่วร้ายก็เท่ากับเป็นความชั่วร้ายไปด้วย
ความเห็นทั้งหมดนี้ ผมได้จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนและสรุปออกมาแบบงูๆ ปลาๆ จำได้ว่าตอนที่คุยถึงจุดนี้ เพื่อนคนหนึ่งก็โพล่งขึ้นมา ว่าจริงๆ แล้วไม่ต้องคิดมากก็ได้ แค่โหลดภาพยนตร์ไม่มีลิขสิทธิ์มาดู เราก็สามารถเสพย์ความงามของศิลปะพร้อมลงโทษศิลปินไปพร้อมกันได้แล้ว ถึงตรงนี้ ทุกคนก็ยักหน้าและแยกย้ายกันไปปฏิบัติการครับ (ล้อเล่นนะครับ ฮา)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] www.theguardian.com/friday_review/story/0,3605,345459,00.html
[2] www.theguardian.com/books/2014/mar/13/martin-heidegger-black-notebooks-reveal-nazi-ideology-antisemitism