ในช่วงเวลาวิกฤตที่ผู้คนทั่วโลกต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และกักตัวอยู่บ้าน จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 มีงานศิลปะของศิลปินคนหนึ่ง ถูกนำมาทำเป็นมีม ที่จะว่าไปก็เรียกว่าเป็นมีมที่เหงาที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะอะไรน่ะเหรอ? ก็เพราะศิลปินคนที่ว่านั้นสามารถถ่ายทอดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาออกมาในงานศิลปะของเขาได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกที่สุดคนหนึ่งนั่นเอง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper)
เขาเป็นจิตรกรและศิลปินภาพพิมพ์แนวเหมือนจริง (realism) ชาวอเมริกันผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะ ผลงานของเขามักถ่ายทอดภาพชีวิตทั่วๆ ไปของคนอเมริกัน ด้วยสีสันแสงเงาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถ่ายทอดความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาแปลกแยกที่แฝงอยู่ท่ามกลางความปกติธรรมดาของชีวิตในสังคมเมืองได้อย่างลึกซึ้ง
ไม่มีศิลปินคนไหนจับภาพความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของคนในเมืองสมัยใหม่ได้เหมือนฮอปเปอร์ ภาพวาดของผู้คนในเมืองของเขาถ่ายทอดเรื่องราวที่มากกว่าฉากชีวิตในทิวทัศน์เมือง หากแต่เปิดเผยมุมมองอันมืดหม่นแหว่งวิ่นในประสบการณ์ของมนุษย์ ผลงานภาพวาดเหมือนจริงของเขาแสดงให้เห็นภาพชีวิตอันซบเซาของผู้คนในระหว่างช่วงสงครามโลก ด้วยการนำเสนอภาพอันนิ่งงัน ไร้การเคลื่อนไหว ไร้ซึ่งสัญญาณของความมีชีวิตและความกระฉับกระเฉง และขับเน้นความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ด้วยการใช้แสงเงาจัดจ้านช่วยเพิ่มความอึดอัดคับข้องของพื้นที่
ภาพวาดของเขาได้รับการกล่าวขานว่าได้สร้าง ‘สถาปัตยกรรมแห่งความเปลี่ยวเหงา’ ขึ้นมา ด้วยการใช้แสง สี องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน และทิวทัศน์อันเวิ้งว้างว่างเปล่า กับตัวละครอันโดดเดี่ยวแปลกแยกที่จมอยู่ในห้วงเวลาอันสันโดษ
เขาแสดงให้เห็นสภาพจิตใจภายในของตัวละครในภาพวาดของเขา และนำเสนอสภาวะการดำรงอยู่ของคนในเมืองใหญ่อันทันสมัย หรือวิถีชีวิตของเมืองในชนบทอันเงียบสงบ ด้วยภาพที่ดูเหมือนจะเป็นการนำเสนอชีวิตประจำวันอันแสนธรรมดา หากแต่เพิ่มความแปลกแยกให้ตัวละครและเรื่องราวในภาพ ตัวละครในภาพวาดของฮอปเปอร์ มักจะโดดเดี่ยวและตัดขาดจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง อย่างการใช้ห้องสี่เหลี่ยมแข็งกระด้าง กระจกหน้าต่างที่เปิดออกไปให้เห็นภูมิทัศน์เมืองแห้งแล้งเย็นชา ประกอบกับการใช้แสงเงาอันจัดจ้านที่สร้างความตึงเครียดและดึงให้ผู้ชมสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของตัวละครเหล่านั้น ราวกับกำลังติดอยู่ในพื้นที่และห้วงเวลาอันหยุดนิ่ง
ดังเช่นในผลงานที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดของเขาอย่าง Nighthawks (1942) ภาพวาดสีน้ำมันที่แสดงภาพของร้านอาหารข้างทางในยามกลางคืน ที่ประกอบไปด้วยลูกค้าสองสามคนที่นั่งอยู่ตรงเคาน์เตอร์ภายใต้แสงนีออนสาดส่องในร้าน ท่ามกลางความมืดรอบข้างในยามราตรี เขาวาดภาพนี้หลังจากที่สหรัฐเพิ่งถูกกองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ไม่นานนัก ว่ากันว่า Nighthawks ในที่นี้ หมายถึง ‘เหยี่ยวราตรี’ หรือคนกลางคืนผู้ไม่ยอมหลับนอน ตัวละครในภาพต่างคนต่างก็จมอยู่กับห้วงความคิดของตัวเอง แปลกแยก ไม่มีทีท่าว่าจะมีปฏิสัมพันธ์หรือพูดคุยกัน สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตคนเมืองอันว่างเปล่าหงอยเหงา ที่ปรากฏอยู่ในสังคมเมือง
หรือภาพวาดของบ้านและอาคารที่ตั้งอย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางทิวทัศน์อันเวิ้งว้าง ปั้มน้ำมันในและทางรถไฟในพื้นที่เปลี่ยวร้างผู้คน หรือผู้คนที่อยู่อย่างเงียบงันในพื้นที่อันเปล่าเปลี่ยว นอนอยู่บนที่นอนในโรงแรม เงียบเงียบคนเดียวยามเช้า หรือนั่งเหงาๆ คนเดียวในโรงหนัง
องค์ประกอบแห่งสถาปัตยกรรมอันเปลี่ยวเหงา และสุนทรียะอันโดดเดี่ยว ในภาพวาดของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ เหล่านี้นี่เอง ที่บังเอิญพ้องกันกับการใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างอย่างเหงาๆ ในช่วงเวลาที่เราหลายๆ คนต้องเก็บตัวหนีโควิดในโมงยามนี้อย่างเหมาะเจาะ จนบางคนต้องหยิบเอามาทำเป็นมีมส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์
ไม่ว่าจะเป็นมีมในทวิตเตอร์ของ @m_tisserand ที่หยิบเอาภาพวาด New York Office (1962), Sunlight in a Cafeteria (1958), Intermission (1963) และ Office in a Small City (1953) ของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ มาลงพร้อมคำบรรยายว่า “We are all Edward Hopper paintings now” (ตอนนี้เราทุกคนคือภาพวาดของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์)
มีมของทวิตเตอร์ @WinesInALine ที่หยิบเอาภาพวาด Nighthawks ที่ถูกลบตัวละครในภาพวาดออกจนเหลือแต่ร้านอาหารอันว่างเปล่าไร้ผู้คน แล้วใส่คำบรรยายว่า “Nighthawks Not at the Diner” (‘เหยี่ยวราตรีไม่อยู่ในร้านอาหาร)
มีมของทวิตเตอร์ @round ที่โพสต์ภาพวาด Nighthawks ที่ถูกรีทัชให้ม่านปิด และติดป้าย “Stay Home!” (อยู่ที่บ้านซะ!) เอาไว้หน้าร้านแทน
หรือมีมในอินสตาแกรมของ alexandraroach1 ที่หยิบเอาภาพวาด Morning Sun (1952) ของฮอปเปอร์มาลง พร้อมรำพึงรำพันว่า “This could be me in the painting but I’d add a phone into her hand” (ในภาพวาดนี้น่าจะเป็นฉัน เพียงแค่เติมโทรศัพท์ในมือของเธอเท่านั้นเอง)
มีมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาอันยากลำบาก แต่เราก็ยังคงไม่ขาดอารมณ์ขันและสุนทรียะในชีวิต เพราะถึงพวกเราจะอยู่กันอย่างเหงาๆ แต่เราก็เหงาอย่างมีศิลปะได้ ว่าไหมครับท่านผู้อ่าน?
อ้างอิงข้อมูลจาก