เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา โลกศิลปะได้สูญเสียศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดไปอีกคนหนึ่ง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า คริสโต (Christo) เขาเป็นศิลปินผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวัตถุ สิ่งของ สิ่งก่อสร้าง ทั้งขนาดเล็กและมหึมา ไปจนถึงภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมบนโลกด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการ ‘ห่อ’ และถ้าพูดถึงคริสโตแล้ว ก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงศิลปินอีกคนที่เป็นทั้งคู่หูและคู่ชีวิตของเขาอย่าง ฌานน์-โคล้ด (Jeanne-Claude) ด้วยเช่นกัน
คริสโต หรือในชื่อเต็มว่า คริสโต วลาดิมีรอฟ จาวาเชฟ (Christo Vladimirov Javacheff) ส่วน ฌานน์-โคล้ด หรือในชื่อเต็มว่า ฌานน์-โคล้ด เดอนา เด กีบง (Jeanne-Claude Denat de Guillebon) นอกจากทั้งคู่จะเป็นผู้ลี้ภัยเหมือนๆ กันแล้ว (คริสโตเป็นผู้ลี้ภัยจากบัลแกเรีย ส่วนฌานน์-โคล้ด เป็นผู้อพยพมาจากโมรอคโค) ทั้งคู่ยังเกิดในวันเดือนปีเดียวกันอีกด้วย
ถึงแม้คริสโตและฌานน์-โคล้ดจะใช้ชีวิตคู่และทำงานศิลปะทั้งหมดร่วมกัน แต่ในช่วงแรกของอาชีพการทำงาน เครดิตของผลงานทั้งหมดที่พวกเขาทำร่วมกันนั้นใช้ชื่อ ‘คริสโต’ แต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ.1994 ที่กระแสเคลื่อนไหวของความเสมอภาคทางเพศเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก พวกเขาจึงเปลี่ยนมาใส่เครดิตร่วมกันว่า ‘คริสโตและฌานน์-โคล้ด’ ซึ่งนับย้อนหลังรวมไปถึงผลงานที่พวกเคยเขาทำมาในยุคก่อนหน้าด้วย ที่น่าสนใจก็คือ เวลาเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน พวกเขาจะไปกันคนละลำ เผื่อในกรณีที่เครื่องบินของใครเกิดอุบัติเหตุตกจนเสียชีวิต อีกคนก็จะได้สานต่องานของกันและกันได้
ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังจากการห่อ แต่แรกเริ่มเดิมที คริสโตไม่ได้ทำงานห่อๆ แบบนี้มาตั้งแต่ต้น หากแต่ทำงานวาดภาพเหมือนศิลปินทั่วไปนั่นแหละ โดยในช่วงที่คริสโตอพยพไปอยู่ปารีสใหม่ๆ ในช่วงปี ค.ศ.1958 เขาหาเลี้ยงตัวเองด้วยการล้างจาน ล้างรถ และวาดภาพเหมือนจริงสไตล์คลาสสิค คริสโตเองก็ได้พบกับฌานน์-โคล้ดเมื่อเขาถูกว่าจ้างให้ไปวาดภาพเหมือนครอบครัวของฌานน์-โคล้ด หลังจากนั้นพวกเขาทั้งคู่ก็ตกหลุมรักและตกร่องปล่องชิ้นกัน (ในภายหลังคริสโตก็เอาภาพเหมือนที่เขาวาดฌานน์-โคล้ดตอนนั้นมาห่อด้วยเหมือนกัน)
หลังจากอพยพออกมาจากประเทศสังคมนิยม และได้มาเห็นงานศิลปะในโลกเสรีประชาธิปไตยในยุโรปเป็นครั้งแรก คริสโตก็หยิบเอาแรงบันดาลใจจากงานเหล่านั้นนำมาสร้างเป็นผลงานศิลปะหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหุ่นนิ่งและทิวทัศน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานแบบคิวบิสม์ (Cubism) และโฟวิสม์ (Fauvism) ไปจนถึงภาพวาดลายเส้น, จิตรกรรม และประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะแอ็บสแตรกต์ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism) (ผลงานเหล่านี้เพิ่งจะถูกนำมาจัดแสดงสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ฌอร์ช ปงปีดู เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2020 ที่ผ่านมานี้เอง)
ในช่วงปี ค.ศ.1958 คริสโตสร้างผลงานในชุด Surface d’Empaquetage หรือจิตรกรรมสื่อผสมจากผ้า, กระดาษ และแลกเกอร์สีดำ ที่ดูคล้ายกับห่อพัสดุ ผลงานชุดนี้ถือเป็นการเล่นกับแนวคิดของการ ‘ห่อ’ ชิ้นแรกๆ ของเขา
ในช่วงปี ค.ศ.1960 เมื่อภาพด้านไกลของดวงจันทร์ที่ถ่ายโดยยานลูน่า 3 ของโซเวียตถูกเผยแพร่สู่สารธารณชนเป็นครั้งแรก คริสโตก็ทำผลงานชุด Cratères (หลุมอุกกาบาต) จิตรกรรมสื่อผสมที่ใช้กระป๋องสีเหลือทิ้ง และส่วนผสมสีน้ำมัน ทราย และกาว สร้างภาพวาดที่มีพื้นผิวที่มีร่องรอยหลุมอุกกาบาตเป็นหลุมเป็นบ่อคล้ายกับพื้นผิวของดวงจันทร์ขึ้นมา
ไม่นานหลังจากนั้นพวกเขาไปเช่าห้องเล็กๆ บนเลขที่ 14 ถนน Saint-Senoc เพื่อทำสตูดิโอศิลปะ พื้นที่เล็กๆ แห่งนั้นเต็มไปด้วยของโหลราคาถูก รวมถึงของเหลือทิ้งอย่างลัง กล่อง กระป๋องสีเปล่า ถังน้ำมัน และอื่นๆ ที่ถูกเอามาห่อด้วยผ้าและมัดด้วยเชือก นับเป็นครั้งแรกที่คริสโตสร้างสรรค์ผลงานห่อของแบบสามมิติขึ้นมา โดยเขามักจะใช้กระป๋องสีเปล่าๆ ที่เขาซื้อมาจากร้านขายสี ไม่ก็คุ้ยจากถังขยะ มาห่อ หรือบางครั้งก็ทิ้งไว้เฉยๆ และจัดแสดงกระป๋องและวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ทั้งที่ถูกห่อและไม่ถูกห่อเอาไว้ด้วยกัน บางครั้งเขาก็ทาแลกเกอร์สีดำลงบนวัตถุข้าวของที่ถูกห่อ และเทฝุ่นหรือทรายใส่ลงไปเปรอะเปื้อนบนพื้นผิว เพื่อให้ข้าวของเหล่านั้นดูสกปรกเลอะเทอะและเก่าโทรม บางครั้งเขาทดลองใช้วัสดุอันหลากหลายในการห่อและมัด ไม่ว่าจะเป็นผืนผ้า แผ่นพลาสติกใส และเชือกชนิดต่างๆ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ของรูปทรงที่ถูกมัดในแบบต่างๆ
ต่อมาเขาเริ่มซื้อเฟอร์นิเจอร์จากร้านขายของเก่า ไม่ก็ตลาดนัดนำมาห่อและมัดเป็นงานชุด ‘ห่อเฟอร์นิเจอร์’ ในช่วงแรกๆ เขาใช้พลาสติกใสในการห่อเพื่อให้มองเห็นเค้าโครงของวัตถุที่ถูกห่อข้างใน หลังจากนั้นเขาเริ่มห่อข้าวของเครื่องใช้หลากหลายด้วยแผ่นพลาสติกใส ไม่ว่าจะเป็นรถเข็นช้อปปิ้ง รถเข็นเด็ก การห่ออุปกรณ์เหล่านี้ของเขามีนัยยะในการปฏิเสธฟังก์ชันใช้งานของพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นรถเข็นช้อปปิ้ง หรือรถเข็นเด็กซึ่งบรรจุข้าวของหรือเคลื่อนที่ได้ การห่อของคริสโตหยุดความสามารถในการบรรจุข้าวของหรือการเคลื่อนไหวของมันลง ถึงแม้จะสามารถมองเห็นกลไกของมันผ่านพลาสติกใสก็ตาม รวมไปถึงการห่อป้ายจราจรต่างๆ ด้วยผืนผ้าหนาทึบจนมองไม่เห็นสัญลักษณ์ข้างใน ก็เป็นการทำลายฟังก์ชันในการสื่อสาร หรือสั่งการของป้ายเหล่านั้นลงนั่นเอง
ในปี ค.ศ.1960 คริสโตและฌานน์-โคล้ดย้ายไปอยู่ในสตูดิโอแห่งใหม่ในเมือง Gentilly ชานเมืองปารีส ในอู่รถของเพื่อนศิลปินที่ใกล้กับเขตอุตสาหกรรม ถัดจากสุสานถังน้ำมันใช้แล้ว ที่นี่เองที่พวกเขาเริ่มทำงานประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาในช่วงปี ค.ศ.1961 คริสโตและฌานน์-โคล้ดใช้เวลาอยู่ในเยอรมนีช่วงมีการสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้น หลังจากกลับไปยังปารีส พวกเขาก็ทำผลงานประติมกรรมจัดวางเชิงสัญลักษณ์ขึ้น เพื่อเป็นการโต้ตอบการสร้างกำแพงเบอร์ลิน โดยทำการปิดถนน Visconti ในปารีสด้วยถังน้ำมันที่ก่อขึ้นเป็นกำแพงสูง 4 เมตร ตัดขาดการคมนาคมระหว่างถนน Bonaparte และถนน de Seine ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง (เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเพื่อรื้อถอนงานนี้ทิ้ง ฌานน์-โคล้ดก็ยืนหยัดปกป้องผลงานสุดฤทธิ์สุดเดช โดยโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่อย่างยืดเยื้อ เพื่อยื้อให้งานวางขวางทางเดินต่อไปให้นานที่สุด)
ชื่อของคริสโตเป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นครั้งแรกในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 4 ที่เมืองคาสเซิล ในปี ค.ศ.1968 จากผลงานการ ‘ห่ออากาศ’ หรือ 5,600 Cubicmeter Package ที่พวกเขาสร้างถุงบรรจุอากาศขนาด 5,600 ลูกบาศก์เมตร โดยเมื่ออากาศถูกบรรจุเต็มถุงจนพองตัวตั้งตรงสูงขึ้นสู่ท้องฟ้า มันมีความสูงถึง 85 เมตร และถูกทิ้งค้างเอาไว้อย่างนั้นเป็นเวลา 10 ชั่วโมง จนกลายเป็นโครงสร้างพองลม (ที่ไม่มีแกนด้านใน) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการทำขึ้นมาในโลก
ตามมาด้วยผลงานในปี ค.ศ.1969 อย่าง Wrapped Coast ที่พวกเขาห่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล ลิตเติ้ลเบย์ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ระยะทางครึ่งกิโลเมตร และหน้าผาสูง 26 เมตร ด้วยผ้าใยสังเคราะห์ขนาด 95,600 ตารางเมตร และเชือกยาว 56 กิโลเมตร จนกลายเป็นผลงานศิลปะกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมาในเวลานั้น มันมีขนาดใหญ่กว่าภูเขารัชมอร์ (Mount Rushmore) ด้วยซ้ำ
และผลงานในปี ค.ศ.1972 อย่าง Valley Curtain เป็นการขึงผ้าไนลอนสีส้มสดใสความยาว 18,600 ตารางเมตร ระหว่างช่องเขาไรเฟิล แกป ของเทือกเขาร็อกกี้ ในรัฐโคโลราโด โดยใช้เวลา 28 เดือนในการทำ แต่มีอายุอยู่เพียง 28 ชั่วโมงก็จำเป็นต้องรื้อถอนออก เหตุเพราะลมพายุที่รุนแรง
หรือผลงานในปี ค.ศ.1983 อย่าง Surrounded Islands พวกเขาใช้ผ้าใยสังเคราะห์สีชมพูสดใสจำนวน 603,850 ตารางเมตร ปูเป็นพรมลอยล้อมรอบ 11 เกาะ ในอ่าวบิสเคย์ ในไมอามี เป็นเวลาสองอาทิตย์
และผลงานในปี ค.ศ.1985 อย่าง The Pont Neuf Wrapped พวกเขาห่อสะพานข้ามแม่น้ำแซน ที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส ด้วยผ้าใยสังเคราะห์จนมิดไปทั้งโครงสร้างขอบ ตอม่อสะพาน และเสาไฟ (แต่ยังเหลือถนนตรงกลางเอาไว้ให้รถวิ่งได้อยู่)
หรือผลงานในช่วงปี ค.ศ.1991 อย่าง The Umbrellas ที่พวกเขาทำงานศิลปะจัดวางในรูปร่มขนาดมหึมา (ความสูง 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร) ขึ้นพร้อมๆ กันในสองประเทศ โดยร่มสีเหลืองจำนวน 1,760 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และร่มสีฟ้าจำนวน 1,340 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้งในจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ผลงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้อาศัยอยู่ในหุบเขาของสองประเทศที่อยู่คนละซีกโลก และเป็นเหมือนเพิงชั่วคราวสำหรับพักผ่อน ซี่งเชื้อเชิญให้คนผ่านไปผ่านมาได้เข้าไปอาศัยพักพิงในร่มเงา
แต่ผลงานศิลปะที่สร้างชื่อให้พวกเขามากที่สุดก็คือ Wrapped Reichstag หรือ การห่ออาคารไรชส์ทาค หรืออาคารรัฐสภาเยอรมัน อภิมหาโครงการห่อศิลปะที่พวกเขาเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1971 แต่กว่าจะได้รับการอนุมัติให้สร้างจริงก็ปาเข้าไปอีกยี่สิบกว่าปีให้หลัง เพราะการขออนุญาตห่ออาคารแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อันที่จริงมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ พวกเขาต้องทำเรื่องขออนุญาตใช้อาคารจากรัฐบาลเยอรมันอย่างแสนยากเข็ญ ต้องหว่านล้อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายร้อยคน ต้องเขียนจดหมายอธิบายโครงการหลายร้อยฉบับ ต้องโทรศัพท์ต่อรองอีกนับครั้งไม่ถ้วน และต้องเจรจากับสภาผู้แทนรัฐเยอรมนีอย่างยืดเยื้อยาวนานถึงหกสมัยรัฐบาล และถูกปฏิเสธไปหลายต่อหลายครั้ง จนเกือบจะถอดใจ
แต่หลังจากดิ้นรนต่อสู่เป็นเวลายาวนานกว่ายี่สิบปี ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1995 หลังจากการอภิปรายและโหวตกันในสภาเป็นเวลา 70 นาที สภาผู้แทนรัฐเยอรมนีก็อนุมัติให้พวกเขาดำเนินการห่ออาคารไรชส์ทาคได้ในที่สุด ด้วยข้อแม้ว่า
มันต้องเป็นโครงการศิลปะที่ไม่มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง
ต้องใช้เงินส่วนตัวในการทำ
และวัสดุทุกอย่างที่ใช้ทำต้องรีไซเคิลได้
ในที่สุดโครงการห่ออาคารไรชส์ทาคก็เริ่มต้นขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขาต้องยื่นเอกสารขออนุญาตก่อสร้างจำนวน 700 หน้า ต้องติดต่อกรมตำรวจ, ตำรวจดับเพลิง, กรมควบคุมอาคาร และเทศบาลเมืองจากทั้งสองฝั่ง ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องทำงานร่วมกับสถาปนิก วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงความช่วยเหลือจากนักปีนเขาอาชีพ 90 คน คนงานติดตั้งผลงาน 120 คน รวมไปถึงผู้สังเกตการณ์อีกเกือบพันคน
ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1995 อาคารไรชส์ทาคก็ถูกห่อด้วยผ้ากันไฟเนื้อหนาสีเทาเงินที่ทอด้วยเส้นใยโพลีโพรพิลีน เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียมขนาด 100,000 ตารางเมตร และมัดด้วยเชือกเส้นใยโพลีโพรพิลีนสีฟ้า ขนาดเส้นผ้าศูนย์กลาง 1.26 นิ้ว ความยาว 15.6 กิโลเมตร โดยผ้าที่ห่อไม่ได้ทำความเสียหาย หรือแม้แต่สัมผัสกับอาคารเลยแม้แต่น้อย เพราะมีการติดตั้งโครงสร้างเหล็กกล้าจำนวน 220 ตันคลุมอาคารเอาไว้ก่อนที่จะห่อ (วัสดุทุกอย่างที่ใช้ในการห่ออาคารนั้นถูกนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด) จนเสร็จสิ้นและรื้อถอนออกในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1995
การห่ออาคารไรชส์ทาค ไม่เพียงเป็นผลจากความเพียรพยายามเป็นเวลา 24 ปี ในชีวิตของศิลปินทั้งคู่ที่ผลักดันให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมา
แต่มันยังเป็นความพยายาม
และการร่วมแรงร่วมใจ
ของทีมงานอีกจำนวนนับไม่ถ้วน
ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา การนำเสนอรูปลักษณ์ของผ้าหรือสิ่งทอนั้นเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่ศิลปิน นับแต่ครั้งโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน รูปทรงของผ้าที่พับ จับจีบ และผ้าม่าน ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นในภาพวาดสีน้ำมัน ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก ภาพนูนต่ำ และประติมากรรมที่ทำจากไม้ หินอ่อน หรือสำริด, การใช้ผ้าห่ออาคารไรชส์ทาคเองก็ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะคลาสสิคแบบประเพณีเหล่านี้ เช่นเดียวกับเสื้อผ้าอาภรณ์ หรือผิวหนังที่เป็นสิ่งที่เปราะบางและแสดงความหมายถึงธรรมชาติอันไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งในโลก ผ้าสีเทาเงินเมลืองมลังอลังการ ที่ถูกมัดเข้ารูปกับอาคารโดยเชือกสีน้ำเงิน สร้างภาพลักษณ์อันหรูหราของเส้นสายรูปทรงและรอยจีบพับของผ้า โดยขับเน้นลักษณะและสัดส่วนอันโดดเด่นของโครงสร้างอาคาร และเปิดเผยแก่นแท้อันสำคัญยิ่งของอาคารแห่งนี้ออกมา
เช่นเดียวกับผลงานที่ผ่านมาของพวกเขา งบประมาณในการห่ออาคารไรชส์ทาคทั้งหมดจำนวน 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในเวลานั้น) ศิลปินทั้งคู่เป็นคนจัดหามาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการขายเอกสารวิจัยศึกษาเพื่อเตรียมโครงการ ภาพร่าง ภาพสเก็ตลายเส้น ภาพคอลลาจ โมเดลย่อส่วน รวมถึงเงินจากการขายผลงานในช่วงก่อนหน้าของเขา อย่างงานภาพพิมพ์ต่างๆ ซึ่งศิลปินทั้งคู่ไม่ยอมรับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ในรูปแบบใดก็ตามเลยแม้แต่น้อย และพวกเขาเองก็ไม่อนุญาตให้มีการหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ใดๆ ก็ตามกับผลงานชิ้นนี้ของเขาอย่างสิ้นเชิง
อาคารไรชส์ทาคที่ถูกห่อเป็นเวลาเพียง 14 วัน ดึงดูดผู้คนจำนวนห้าล้านคนให้เข้ามาเยี่ยมชมในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ทางเทศบาลเมืองจะต้องการให้ยืดระยะเวลาการห่อต่อไปอีก แต่ทั้งคู่ก็ไม่ยินยอม และรื้อถอนมันลงมาทันทีเมื่อครบกำหนด และทั้งคู่ก็ไม่เคยทำการห่อรัฐสภาแบบนี้ที่ไหนอีกเลย อันที่จริงพวกเขาก็ไม่เคยทำงานแบบเดียวกันซ้ำสองเลยด้วยซ้ำ
ผลงานชิ้นนี้ส่งผลให้ทั้งคู่กลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียง
และทรงอิทธิพลที่สุดในเยอรมนี
รวมถึงในวงการศิลปะโลก
ถึงแม้ผลงานของคริสโตและฌานน์-โคล้ดส่วนใหญ่จะมีความยิ่งใหญ่อลังการด้วยขนาดอันมหึมา และกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยการร่วมมือจากคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องเกี่ยวพันกับรัฐบาลและนักการเมืองต่างๆ แต่พวกเขาก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ทุกโครงการศิลปะของพวกเขา ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าความสวยงามรวมถึงผลกระทบทางสุนทรียะแบบฉับพลันต่อสายตาของผู้พบเห็น โดยเพียงต้องการที่จะสร้างความงามและความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม รวมถึงสร้างหนทางใหม่ๆ ในการมองภูมิทัศน์เดิมๆ ที่เคยคุ้นตา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่อลังการ ผลงานทุกชิ้นของเขากลับมีอายุแสนสั้น ซึ่งคริสโตเคยกล่าวเอาไว้ว่า
“ในฐานะศิลปิน ผมต้องมีความกล้าหาญ ไม่มีงานศิลปะชิ้นไหนของผมหลงเหลืออยู่ มันหายไปทุกครั้งหลังจากแสดงเสร็จ ผมคิดว่าต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งในการสร้างสิ่งที่จะสูญหายไปมากกว่าสิ่งที่อยู่ยั้งยืนยง”
และถึงแม้ผลงานของพวกเขาแทบทุกชิ้นจะมีขนาดมหึมารวมถึงต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลในการสร้าง แต่ในขณะเดียวกัน พวกมันก็เป็นผลงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะที่คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึง สัมผัส และชื่นชมได้อย่างอิสระเสรีและชมได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์
หลังจากการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.2009 ฌานน์-โคล้ด ก็เสียชีวิตด้วยวัย 74 ปี ด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยทั้งคู่ทำงานร่วมกันจนวาระสุดท้ายในชีวิตของเธอ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า
“ศิลปินไม่มีการเกษียณหรอก
พวกเขาจะหยุดทำงานศิลปะ
ต่อเมื่อเขาตายนั่นแหละ”
หลังจากนั้นคริสโตก็สานต่อโครงการศิลปะที่เขาออกแบบร่วมกับฌานน์-โคล้ด คู่รักและคู่หูผู้ล่วงลับ ไม่ว่าจะเป็นผลงาน The Floating Piers (ค.ศ.2016) ที่ทำขึ้น ณ ทะเลสาบ Iseo ในแคว้นลอมบาร์เดีย อิตาลี โดยเขาใช้ผ้าสีเหลืองสดคลุมทะเลสาบจนกลายเป็นเส้นทางระยะทาง 3 กิโลเมตร ให้คนเดินบนผิวน้ำ เพื่อให้ผู้คนได้เดินชมทิวทัศน์อันสวยงามจากทางเดินบนผิวทะเลสาบ แม้พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับแดดร้อนเปรี้ยง ลมแรง พายุฝนกระหน่ำ และเกิดความโกลาหลจนเกือบเป็นหายนะ เพราะในวันที่สองที่จัดแสดงมีคนถึง 55,000 คนรุมเข้ามาเดินบนงานนี้ในวันเดียว ทำให้คนต้องเข้าแถวรออย่างแออัดยัดเยียดกันนานหลายชั่วโมง เกิดการกระทบกระทั่งวุ่นวายจนเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ จนคริสโตต้องขู่ว่าจะยกเลิกแสดงงานนั่นแหละ ทางเทศบาลเมืองจึงเข้ามาจัดระเบียบการไหลเวียนผู้ชมจนแสดงต่อไปได้ ซึ่งมีผู้เข้าชมงานนี้จำนวนถึง 1.2 ล้าน คนเลยทีเดียว
ผลงาน Mastaba (ค.ศ.2018) ประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยถังน้ำก่อขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูจำนวน 7,506 ถัง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก แมสตาบา หรือสุสานกษัตริย์ของอียิปต์โบราณ ต้นกำเนิดของพีระมิด โดยชิ้นแรกจัดแสดงที่ทะเลสาบเซอร์เพนไทน์ในลอนดอน ขณะที่อีกชิ้นที่จะประกอบด้วยถังน้ำมัน 410,000 ถัง นั้นวางแผนจะติดตั้งบนพื้นที่ในเมือง อัล การ์เบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ผลงานชิ้นสุดท้ายที่คริสโตวางแผนจะทำก็คือ L’Arc de Triomphe, Wrapped หรือโครงการ ห่อ Arc de triomphe de l’Etoil หรือประตูชัยฝรั่งเศส อนุสรณ์สถานที่สำคัญในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่กลางจัตุรัสชาร์ล เดอ โกล ซึ่งเดิมทีวางแผนจะทำในเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2020 แต่ติดสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องเลื่อนโครงการไปเป็นเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2021 แทน แต่น่าเสียดายที่ในวันที่ 31 พฤษภาคม คริสโตก็ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 84 ปี ก่อนที่จะได้เห็นโครงการนี้สำเร็จลุล่วง ผู้ชมอย่างเราๆ ก็ได้แต่คาดหวังและตั้งตาคอยชมผลงานนี้แทนเขาด้วยใจจดจ่อกันต่อไป
R.I.P. Christo.
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ Christo and Jeanne-Claude: Prints and Objects (A Catalogue Raisonné) โดย Matthias Koddenberg
facebook Christo and Jeanne-Claude Official