“ผู้คนต่างแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจความหมายต่างๆ และส่งผ่านความรักผ่านศิลปะ คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่มีอาหารถึง 40 วัน คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่มีน้ำถึง 4 วัน คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่มีอากาศหายใจถึง 4 นาที แต่คุณไม่สามารถอยู่ได้เกิน 4 วินาที โดยปราศจากความรู้สึก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมศิลปะจึงสำคัญนัก”
ต้นปี ค.ศ.2020 โลกศิลปะสูญเสียศิลปินคนสำคัญผู้เป็นเจ้าของประโยคข้างต้นนี้ เขาเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญผู้บุกเบิกงานศิลปะแสดงสดให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลก ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า อูไลย์ (Ulay) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ (ศิลปะแสดงสด), ศิลปะจัดวาง และศิลปินภาพถ่ายชาวเยอรมัน อดีตคู่หูผู้ร่วมทำงานศิลปะแสดงสดของ มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramović) และยังเป็นอดีตคนรักของเธออีกด้วย
อูไลย์ หรือในชื่อเดิมว่า แฟรงก์ อูเว่ ไลซีเปียน (Frank Uwe Laysiepen) เกิดในปี ค.ศ.1943 ที่เมืองโซลิงเกน ประเทศเยอรมนี ด้วยความเบื่อหน่ายชีวิตในเยอรมัน เขาจึงย้ายไปอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ.1970 ที่นั่นเขาเริ่มทดลองการทำงานศิลปะด้วยการใช้กล้องโพราลอยด์ จนได้ออกมาเป็นผลงานชุด Renais sense (ค.ศ.1974) ที่เป็นเหมือนการสะท้อนตัวตนของเขาและเป็นอัตชีวประวัติแบบปะติดปะต่อ ด้วยการใช้ภาพถ่ายที่เล่นกับเส้นแบ่งทางเพศอย่างโจ่งแจ้งจนเป็นที่อื้อฉาวอย่างมากในช่วงเวลานั้น
ที่อัมสเตอร์ดัมนี่เอง ทำให้เขาพบกับ มารีนา อบราโมวิช ในปี ค.ศ.1976 (ช่วงนั้นเขาตัดชื่อสกุลของตัวเองออก และเปลี่ยนมาใช้ชื่อสั้นๆ ว่า ‘อูไลย์’) ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน และในปีถัดมาเธอก็ย้ายออกจากบ้านเพื่อไปอาศัยอยู่กินกับเขา หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันในฐานะศิลปินคู่และคู่รัก พวกเขาเดินทางไปทั่วยุโรปด้วยรถตู้ อาศัยอยู่กับชนพื้นเมืองชาวอะบอริจิน ในออสเตรเลีย, ในวัดของชาวธิเบต, ท่องไปทั่วทะเลทรายซาฮารา, ทะเลทรายธาร์ และทะเลทรายโกบี ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแสดงสดอันสุดแสนจะท้าทาย ที่สำรวจเส้นแบ่งระหว่างร่างกายและจิตใจ, ธรรมชาติและวัฒนธรรม, ทัศนคติเชิงรุกและรับ และความเป็นชายและหญิง
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Imponderabilia (ค.ศ.1977) ที่ทั้งคู่ยืนเปลือยประจันหน้าเข้าหากันตรงประตูทางเข้าแคบๆ ของหอศิลป์ และบังคับให้ผู้ชมต้องเดินแทรกระหว่างร่างเปลือยทั้งสองเพื่อเข้าไปข้างใน ผู้ชมเหล่านั้นต้องเลือกว่าจะหันหน้าไปหาใคร หรือสัมผัสกับร่างเปลือยของใครเวลาแทรกตัวผ่านเข้าไป และท้ายที่สุดแล้วประสบการณ์ที่ว่านี้จะทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร
หรือผลงาน Breathing In/Breathing Out (ค.ศ.1977) ที่พวกเขาประกบปากและผลัดกันสูดและปล่อยลมหายใจเข้าออกสู่ปากของกันและกันจนเกือบหายใจไม่ทัน
หรือผลงาน Relation in Time (ค.ศ.1977) ที่พวกเขานั่งหันหลังชนกันแล้วเอาผมมัดติดกันเป็นเวลา 16 ชั่วโมง
หรือผลงาน Light/Dark (ค.ศ.1977) ที่พวกเขาผลัดกันตบหน้ากันและกันฉาดใหญ่ไปเรื่อยๆ
หรือผลงาน Rest Energy (ค.ศ.1980) ที่เล่นกับความหมิ่นเหม่ระหว่างชีวิตและความตาย ด้วยการที่เขาและเธอยืนประจันหน้ากัน มือของเธอรั้งคันธนู ในขณะที่มือของเขาเหนี่ยวลูกธนูบนสาย โดยที่ปลายลูกธนูห่างจากหัวใจของเธอเพียงไม่กี่นิ้ว ทั้งคู่ติดไมโครโฟนเล็กๆ ไว้ที่หน้าอกเพื่อจับเสียงเต้นของหัวใจว่ามันตอบสนองต่อสถานการณ์อันหวาดเสียวเปี่ยมอันตรายเช่นนี้อย่างไร ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในการแสดงสดที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความเชื่อใจของทั้งคู่ เพราะถ้าหากเขาเผลอปล่อยลูกธนูเมื่อไหร่ มันก็จะพุ่งเข้าไปเสียบหัวใจของเธอทันที
ในปี ค.ศ.1976 อูไลย์ก็ทำงานศิลปะที่ล่อแหลมต่อการละเมิดกฎหมาย ในช่วงที่เขากลับไปอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ด้วยการขับรถไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (Neue Nationalgalerie) ในเบอร์ลิน และเดินเข้าไปแอบฉกภาพวาด Der arme Poet (The poor poet) (ค.ศ.1839) ผลงานชิ้นสำคัญของจิตรกรชาวเยอรมัน คาร์ล ชปิตซ์วีกค์ (Carl Spitzweg) ซึ่งเคยเป็นผลงานชิ้นโปรดในดวงใจของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเผด็จการของนาซีเยอรมัน แล้วเดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์ หอบภาพวาดเอาไว้ในอ้อมแขน วิ่งฝ่าหิมะไปขึ้นรถ และขับตรงดิ่งไปยังเมืองครอยซ์แบร์กซึ่งเป็นแหล่งชุมชนผู้อพยพลี้ภัยในเบอร์ลิน อูไลย์นำภาพไปแขวนไว้บนห้องนั่งเล่นในบ้านของครอบครัวชาวตุรกีอพยพครอบครัวหนึ่งที่นั่น หลังจากนั้นเขาก็ออกไปใช้โทรศัพท์สาธารณะโทรแจ้งตำรวจว่าเขาขโมยภาพวาดไปจากพิพิธภัณฑ์ และบอกให้ผู้อำนวยการหอศิลป์มารับภาพกลับไป โดยให้นักถ่ายหนังชาวเยอรมัน ยอร์ก ชมิดด์-ไรต์เวน (Jörg Schmidt-Reitwein) บันทึกภาพเหตุการณ์ทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งต่อมากลายเป็นผลงาน There Is a Criminal Touch to Art (ค.ศ.1976) ภาพยนตร์และสคริปต์อธิบายวิธีการประกอบอาชญากรรมในนามศิลปะ ครั้งนี้ของเขา
ที่เขาทำเช่นนี้เพราะเขาต้องการกระตุ้นให้สังคมมองเห็นสภาวะความเป็นอยู่
ของแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพที่ถูกรัฐเลือกปฏิบัติในเยอรมัน
รวมถึงตั้งคำถามต่อความสูงส่งเลิศลอยของสถาบันศิลปะและพิพิธภัณฑ์
จนไม่มีพื้นที่ให้กับผู้คนที่ถูกมองว่า
เป็นคนชายขอบของสังคมอย่างเช่นผู้อพยพเหล่านี้นั่นเอง – อูไลย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การกระทำครั้งนี้ทำให้เขาถูกจับกุม และเจอข้อหาจำคุกเป็นเวลา 36 วัน หรือถูกปรับเป็นเงิน 3,600 มาร์คเยอรมัน แต่เขาก็บินหนีออกจากประเทศไปเสียก่อน (หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1989 ภาพวาดภาพนี้ยังถูกขโมยไปอีกครั้ง ขณะที่มันถูกยืมไปแสดงในกรุงโคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก ซึ่งคราวนี้ถูกโจรขโมยไปจริงๆ ไม่ใช่การทำงานศิลปะของศิลปินคนไหนแต่อย่างใด)
อูไลย์และอบราโมวิชทำงานร่วมกันอย่างยาวนานเป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ในฐานะศิลปินคู่และคู่รักในปี ค.ศ.1988 จากความขัดแย้งทางความคิดและทัศนคติ ทั้งคู่ปิดฉากความสัมพันธ์ด้วยผลงาน The Lovers: the Great Wall Walk (ค.ศ.1988) ที่เขาและเธอต่างเริ่มต้นเดินจากปลายกำแพงเมืองจีนคนละฝั่ง และใช้เวลาสามเดือนเดินบนระยะทางคนละ 2,500 กิโลเมตร มาพบกันตรงกลางกำแพง เพื่อกล่าวคำอำลา และแยกจากกันไปใช้ชีวิตและทำงานทางใครทางมันโดยไม่ติดต่อกันอีก เรียกว่าเลิกกันได้อลังการดาวล้านดวงมากๆ
แต่ในอีก 22 ปีต่อมา อูไลย์และอบราโมวิชก็กลับมาเผชิญหน้ากันอีกครั้ง ในผลงานศิลปะแสดงสด The Artist is Present (ค.ศ.2010) ของอบราโมวิชที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ผลงานศิลปะแสดงสดที่อบราโมวิชนั่งเก้าอี้เป็นเวลาแปดชั่วโมงต่อวัน และเชิญให้ผู้ชมเข้ามานั่งตรงข้ามและจ้องตาเธอ
เขามาปรากฏตัวเป็นหนึ่งในผู้ชมนับพันที่ต่อคิวรอ
และเดินมานั่งจ้องตากับเธออย่างเงียบๆ
จนทำให้เธอตื้นตันจนต้องหลั่งน้ำตา
และยื่นมือข้ามโต๊ะมาจับมือของเขาเอาไว้
เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก จนกลายเป็นคลิปวิดีโอในยูทูบที่มีผู้ชมกว่าสิบล้านคน
แต่ความซาบซึ้งที่ว่าก็หายไปเป็นปลิดทั้ง เมื่อหลังจากนั้นในปี ค.ศ.2015 อูไลย์ฟ้องร้องอบราโมวิชในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์และค่าตอบแทนของผลงานศิลปะที่ทั้งคู่เซ็นสัญญาไว้ร่วมกันเอาไว้ จนในปี ค.ศ.2016 ศาลเนเธอร์แลนด์สั่งให้เธอต้องจ่ายค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงินรวมกันมากกว่า 500,000 ยูโร และต้องเปลี่ยนชื่อเครดิตของผลงานที่ทั้งคู่ทำร่วมกันในช่วงปี ค.ศ.1976 – 1980 เป็น “อูไลย์/อบราโมวิช” และ ในชื่อ “อบราโมวิช/อูไลย์” สำหรับงานในช่วงปี ค.ศ.1981 – 1988 อีกด้วย แต่หลังจากนั้นทั้งคู่ต่างก็ยุติความขัดแย้งและให้อภัยซึ่งกันและกัน
หลังจากแยกทางกับอบราโมวิช อูไลย์ก็ทำผลงานศิลปะแสดงสดที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Can’t Beat the Feeling: Long Playing Record (ค.ศ.1991–1992) และ Bread and Butter (ค.ศ.1993) รวมถึงหวนกลับมาทำผลงานภาพถ่าย อาทิเช่น ผลงาน Berlin Afterimages/16 EU flags (ค.ศ.1996) ที่วิพากษ์วิจารณ์การขยายตัวของสหภาพยุโรปอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยภาพถ่ายธงชาติของประเทศในสหภาพยุโรปสีสันจัดจ้านบนพื้นหลังอาคารสีทึมทะมึนมัวด้วยสีฟิล์มที่ถูกกลับค่าเป็นเนกาทีฟ
ในปี ค.ศ.2009 เขาย้ายไปอาศัยและทำงานอยู่ในเมืองลูบลิยานา ประเทศสโลวีเนีย และวางแผนจะทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับตัวของเขา กับผู้กำกับชาวสโลวีเนีย ดามยัน โคโซเล่ (Damjan Kozole) แต่หลังจากเขาตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แผนการทำภาพยนตร์ก็เปลี่ยนเป็นการตามเก็บบันทึกภาพการรักษาโรคมะเร็ง และการเดินทางพบปะเพื่อนฝูงไปทั่วโลกของเขา คล้ายกับเป็นการอำลากลายๆ เขาตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า Project Cancer: Ulay’s journal from November to November (ค.ศ.2013)
จนกระทั่งในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา อูไลย์ ก็เสียชีวิตที่เมืองลูบลิยานา ด้วยวัย 76 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้นสู่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง โดย มารีนา อบราโมวิช อดีตคู่รักและคู่หูผู้ร่วมทำงานศิลปะเขียนคำไว้อาลัยถึงเขาว่า
“ช่างเป็นความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงที่ได้รู้ว่าเพื่อนและอดีตคู่ชีวิตของฉันอย่างอูไลย์ ได้เสียชีวิตลงในวันนี้ เขาเป็นศิลปินและมนุษย์ที่พิเศษอย่างยิ่ง และเราจะคิดถึงเขาอย่างลึกซึ้ง แต่ในวันนี้ฉันก็ยังอุ่นใจที่ได้รู้ว่าผลงานศิลปะและมรดกของเขาจะคงอยู่ไปตลอดกาล”
RIP Ulay
อ้างอิงข้อมูลจาก