1
29 พฤษภาคม 1919 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง
เซอร์อาร์เธอร์ สแตนลีย์ เอ็ดดิงตัน (Arthur Stanley Eddington) ชายชาวอังกฤษคนหนึ่ง ได้ดั้นด้นเดินทางไปยังเกาะพรินซิเพ (Principe) ที่อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ตรงกลางรอยแหว่งเว้าของทวีปแอฟริกาที่เรียกว่าอ่าวกินี (Gulf of Guinea)
เขาไปที่นั่น ก็เพื่อพิสูจน์ทฤษฎียิ่งใหญ่ที่สุดทฤษฎีหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา
ทฤษฎีสัมพัทธภาพ—ทฤษฎีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน
2
เรื่องเล่าระหว่างเอ็ดดิงตันกับไอน์สไตน์ที่โด่งดังที่สุด น่าจะเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นโดยบริษัท Company Pictures ร่วมกับ BBC และฉายทาง HBO
มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่าของสองนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องเล่าของคนต่างรุ่น และภาวะชาตินิยมท่ามกลางมหาสงครามโลกด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า Einstein and Eddington กำกับโดย ฟิลิป มาร์ติน (Philip Martin) แต่เป็นภาพยนตร์แนวดราม่า (ไม่ใช่สารคดี) จึงเปิดโอกาสให้แต่งเติมจินตนาการใส่เข้าไปหลายเรื่องเพื่ออรรถรส ทำให้เกิดความผิดพลาดในข้อเท็จจริงหลายอย่าง แต่ ‘เรื่องเล่า’ ก็มักสนุกกว่าเรื่องจริงเสมอ และดังนั้น จึงจะนำ ‘เรื่องเล่า’ ในหนังมาเล่าให้คุณฟังก่อนเฉลยให้รู้ว่ามีอะไรไม่ตรงกับข้อเท็จจริงบ้าง
เรื่องเล่าระหว่างเอ็ดดิงตันและไอน์สไตน์ในภาพยนตร์เรื่องที่ว่า—เป็นดังนี้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้นในปี 1914 เอ็ดดิงตันเพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่หมาดจากเซอร์โอลิเวอร์ ลอดจ์ (Oliver Lodge) ให้เป็นหัวหน้าภาควิชาดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านั้นอีกสามปี คือในปี 1911 ชายชาวเยอรมันอีกคนหนึ่งผู้มีชื่อว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เขียนบทความเล็กๆ บทความหนึ่งชื่อ ‘On the Influence of Gravitation on the Propagation of Light’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสัมพัทธภาพ เป็นบทความที่บอกว่า แสงไม่จำเป็นต้องเดินทางเป็นเส้นตรงเสมอไป แต่หากแสงเดินทางผ่านวัตถุที่มีมวลขนาดใหญ่ มันสามารถบิดโค้งได้
เซอร์โอลิเวอร์ ลอดจ์ (Oliver Lodge) มอบหมายให้เอ็ดดิงตันศึกษางานของไอน์สไตน์ ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์หรือสนับสนุน แต่เพื่อให้ ‘ตรวจสอบ’ ว่างานของไอน์สไตน์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือเปล่า
ในยุคนั้น ทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่ครองโลกอยู่ คือทฤษฎีของเซอร์ไอแซ็ค นิวตัน ซึ่งก็เป็นชาวอังกฤษเหมือนกัน แต่ปัญหาก็คือ ทฤษฎีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน อาจจะมา ‘ทำลายล้าง’ ทฤษฎีของนิวตันลงได้ นั่นทำให้เซอร์โอลิเวอร์ ลอดจ์ รู้สึก ‘ยอมไม่ได้’ จึงสั่งให้เอ็ดดิงตันศึกษางานของไอน์สไตน์เพื่อหาข้อบกพร่อง จะได้ป้องกันงานของนิวตันเอาไว้ไม่ให้เสียหาย
นี่จึงไม่ใช่การต่อสู้ทางวิทยาศาสตร์มากเท่าการต่อสู้ทางความคิดเรื่องความเก่า-ความใหม่ สงครามระหว่างวัย ศึกระหว่างรุ่น และเป็นแม้กระทั่งสงครามชาตินิยม
นิวตันผู้เฒ่าชาวอังกฤษ จะมาถูกหักล้างโดย ‘เด็กรุ่นใหม่’ ชาวเยอรมันอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไม่ได้!
3
ในเวลาเดียวกันนั้น ไอน์สไตน์ผู้ไปสอนอยู่ที่ซูริค ก็ถูกดึงตัวกลับเบอร์ลิน แผนการณ์ของเยอรมนีในตอนนั้นคือใช้งานของไอน์สไตน์มาล้มล้างนิวตัน ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเยอรมนีเหนือกว่าอังกฤษ วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นเครื่องมือของสงคราม
อย่างที่เรารู้กันอยู่ ว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น อังกฤษเกณฑ์คนไปรบมากมาย ที่จริงแล้ว เอ็ดดิงตันก็ต้องไปเป็นทหารด้วย แต่เขาใช้ข้ออ้างว่าตัวเองเป็นชาวเควกเกอร์ที่เคร่งศาสนาเพื่อขอผ่อนผันการไปรบ แต่กระนั้น เพื่อนรักของเอ็ดดิงตันอย่าง วิลเลียม มาร์สตัน (William Marston) ก็ถูกเกณฑ์ไปสงคราม เอ็ดดิงตันอยากไปส่งเพื่อน แต่เขาไปช้า รถไฟออกไปก่อนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงคือความเศร้าอย่างอธิบายไม่ได้
เอ็ดดิงตันกลับมาศึกษางานของไอน์ไสตน์ด้วยเป้าหมายแบบที่ลอดจ์ตั้งไว้ เขาปกป้องนิวตัน แต่ในเวลาเดียวกัน ด้วยหลักการทางวิชาการ เอ็ดดิงตันแอบคิดว่าไอน์สไตน์อาจจะถูกก็ได้ นั่นทำให้เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษหลายคนไม่ค่อยชอบหน้าเขา เพราะรู้สึกว่าเขาเอาใจออกห่าง ไม่รักชาติ ไปเข้าข้างศัตรูของชาติอย่างไอน์สไตน์ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอ็ดดิงตันศึกษางานของไอน์สไตน์ได้ไม่มากพอ ทั้งนี้ก็เพราะอังกฤษสั่งแบนงานเขียนทั้งหลายของเยอรมัน รวมไปถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วย
ในฝั่งของไอน์สไตน์ตอนนั้น เมื่อเขารู้ว่าเยอรมนีมีแผนการจะ ‘ครอบครองโลก’ ด้วยการคิดค้นก๊าซพิษโดยฝีมือของฟริตซ์ ฮาร์เบอร์ (Fritz Harber) นักเคมีชาวเยอรมัน ไอน์สไตน์ก็เกิดความรู้สึกชิงชัง ตอนนั้นเขาโอนสัญชาติไปเป็นสวิสแล้ว แต่เยอรมนีเรียกตัวเขามาเบอร์ลิน และอยากให้เขาโอนสัญชาติกลับมา แต่เมื่อรู้เรื่องก๊าซพิษที่อาจทำให้คนตายได้มากมาย ไอน์สไตน์จึงไม่ยอม และไม่ยอมลงนามในคำประกาศของเยอรมนี ที่ให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน และนักวิชาการสนับสนุนสงครามด้วย ทั้งที่นั่นเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยง แต่เขาก็กล้าทำ
ในเวลาเดียวกัน หนังเรื่องนี้เพิ่ม ‘ดราม่า’ ไปอีกขั้น ด้วยการให้เอ็ดดิงตันรับรู้ข่าวเพื่อนรักของเขา คือมาร์สตัน ว่าโดนโจมตีด้วยก๊าซพิษในสงครามโลกจนเสียชีวิต นั่นทำให้เอ็ดดิงตันเจ็บปวดและโศกเศร้าอย่างยิ่ง ดราม่าอีกอย่างที่หนังสร้างขึ้นมาก็คือ หนังแสดงให้เห็นว่า เอ็ดดิงตันกับไอน์สไตน์มีการติดต่อกันผ่านมักซ์ พลางค์ (Max Planck) และเอ็ดดิงตันก็รับรู้ว่าไอน์สไตน์โกรธมากที่เยอรมนีโจมตีโดยใช้ก๊าซพิษอย่างนั้น
ในที่สุด เอ็ดดิงตันก็คิดว่า เขาอาจสามารถพิสูจน์ทฤษฎีของไอน์สไตน์ที่ว่าแสงเดินทางเป็นเส้นโค้งได้ ถ้าหากว่าเขาไปสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 1919 เพราะในสภาวะปกติ เราจะมองเห็นความโค้งของแสงไม่ได้ ไม่เหมือนเมื่อเกิดสุริยุปราคา
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เขาต้องหาทุนสำหรับการเดินทางยาวไกลโดยที่เจ้านายอย่างลอดจ์ไม่เห็นด้วย รวมทั้งต้องร้องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารไปอีกด้วยเหตุผลว่าจะทำงานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในที่สุดเอ็ดดิงตันก็ทำได้ เขาออกเดินทางฝ่าด่านเรืออูของเยอรมัน แต่ก็สามารถไปถึงจุดหมายปลายทาง และสังเกตการณ์ปรากฏการณ์แสงโค้งที่ว่า จนสามารถยืนยันทฤษฎีของไอน์สไตน์ได้
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ—นี่เป็น ‘ชัยชนะ’ ของความซื่อสัตย์ในทางวิชาการและในทางวิทยาศาสตร์ ที่มีเหนือวิธีคิดแบบ ‘ชาตินิยม’ และเหนือพ้นไปจาก ‘สงคราม’ ที่สองชาติกำลังห้ำหั่นชิงชัยกันอยู่
4
ที่จริงแล้ว ชีวิตจริงของเอ็ดดิงตันและไอน์สไตน์ไม่ได้ ‘ดราม่า’ เหมือนในหนังนะครับ เพราะแม้เซอร์โอลิเวอร์ ลอดจ์ จะมีแนวคิดชาตินิยมปกป้องนิวตันก็จริงอยู่ แต่เขาไม่ได้ตามรังแกเอ็ดดิงตันขนาดนั้น และไม่ได้เป็นคนสั่งให้เอ็ดดิงตันต้องศึกษางานของไอน์สไตน์เพื่อคัดค้านด้วย ที่สำคัญ มักซ์ พลางค์ ก็ไม่ได้มาเป็นตัวการติดต่อระหว่างเอ็ดดิงตันกับไอน์สไตน์แต่อย่างใด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งไอน์สไตน์และเอ็ดดิงตันไม่ได้ติดต่อกันโดยตรงทางจดหมาย แต่ว่าต่างรู้ข่าวกันและกันเพราะมีผู้ส่งข่าวการศึกษาของทั้งคู่มาให้แต่ละคนอ่าน และเมื่อเอ็ดดิงตันได้อ่านงานของไอน์สไตน์ เขาก็รู้ทันทีว่านี่คือทฤษฎีใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในแบบที่ความ ‘ชาตินิยม’ ก็ไม่อาจขวางกั้น
ทั้งหมดนี้คือ ‘เรื่องเล่า’ ที่แต่งเติมเสริมขึ้นบนฐานของข้อมูล เพื่อทำให้หนังสนุก—เท่านั้น
5
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้อาจยังคาใจอยู่ นั่นก็คือปมประเด็นเรื่อง ‘เพื่อนรัก’ ของเอ็ดดิงตัน
วิลเลียม มาร์สตัน มีตัวตนจริงหรือเปล่า?
ในหนัง เขามีอิทธิพลต่อชีวิตของเอ็ดดิงตันมากมายนัก มากจนคลับคล้ายมาร์สตันคือคนรัก คล้ายว่าเอ็ดดิงตันมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับมาร์สตัน ที่อาจลึกซึ้งเกินเพื่อน
คำตอบในเรื่องนี้ก็คือ ที่จริงแล้ว วิลเลียม มาร์สตัน เป็นเพียงตัวละครที่แต่งขึ้น เขาไม่ได้มีตัวตนจริง แต่กระนั้น ข้อสงสัยที่ว่า เอ็ดดิงตันจะรักชอบเพศเดียวกันนั้นก็ไม่เคยจางหายไป อย่างหนึ่งเป็นเพราะในชีวิตจริงแล้ว เอ็ดดิงตันไม่เคยแต่งงาน และผู้เขียนชีวประวัติของเอ็ดดิงตันอย่าง อัลลี ไวเบิร์ต ดักลาส (Allie Vibert Douglas) ก็บอกด้วยว่าเอ็ดดิงตันไม่เคยอยากแต่งงาน เขาไม่เคยสนใจในผู้หญิงคนไหนเลยชั่วชีวิต อย่างดีที่สุดก็สนใจในฐานะเพื่อนร่วมงานเท่านั้น
และแม้ตัวตนและเรื่องราวของวิลเลียม มาร์สตัน ผู้ไปรบและตายในสงครามจะไม่เคยมีอยู่จริง แต่เอ็ดดิงตันก็มีเพื่อนที่ ‘ใกล้ชิดที่สุด’ อยู่คนหนึ่ง เขาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ชื่อ ชาลส์ ทริมเบิล (Charles Trimble) ทว่าแม้ทั้งคู่จะมีอะไรเกินเพื่อน ความสัมพันธ์นี้ในยุคสมัยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้ เหตุการณ์ที่เกิดกับออสการ์ ไวลด์ ในปี 1895 ยังคงคุกรุ่นในสังคมอังกฤษ ดังนั้น หากเอ็ดดิงตันจะรักชอบเพศเดียวกัน เขาก็ต้องปกปิดอย่างที่สุด ไม่อย่างนั้น ทุกอย่างในชีวิตของเขาก็อาจถูกทำลายลง
รวมไปถึงการพิสูจน์ทฤษฎีของไอน์สไตน์ด้วย
6
ไม่ว่า ‘เรื่องเล่า’ ของเอ็ดดิงตันจะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีอะไรสำคัญนัก
เมื่อเราเติบโตขึ้น มีอายุยืนยาวมากขึ้น ‘เรื่องเล่า’ เกี่ยวกับตัวเรามักงอกเงยเพิ่มพูน จนบางทีเราก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง และหลายเรื่อง เราก็ไม่เคยได้รับรู้ มันเป็นเพียงคลื่นที่กระเพื่อมอยู่รอบๆ ตัวเรา ว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และต่อให้จริงในชั่วขณะหนึ่ง ก็อาจไม่จริงในอีกชั่วขณะหนึ่งของชีวิตก็ได้
เรื่องราวและเรื่องเล่าของเอ็ดดิงตันก็อาจเป็นอย่างนั้น
เอ็ดดิงตันมีชีวิตยืนยาวจนอายุ 61 ปี เขาป่วยเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตลงในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1944 ร่างของเขาถูกฌาปนกิจ และนำเถ้าไปฝังไว้ในหลุมศพของมารดาเขาในสุสานที่เคมบริดจ์นั่นเอง
ถ้าไม่มีเอ็ดดิงตัน ไม่มีคนที่ ‘ยืนยัน’ ความถูกต้องของทฤษฎีของไอน์สไตน์ คนที่สามารถข้ามพ้น ‘ชาตินิยม’ เพื่อยืนยัน ‘ความจริง’ ในทางวิทยาศาสตร์ ก็เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่เราอาจรู้จักไอน์สไตน์ช้ากว่าที่เป็นอยู่
เรื่องนั้นต่างหากที่สำคัญกว่าเรื่องเล่าใดๆ