วันนี้มาคุยกันเรื่องเบาๆ กันบ้าง ระหว่างงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติกำลังเปิดให้คนเลือกซื้อหนังสือหนังหา รวมถึงมังงะกันอย่างเพลิดเพลิน ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่วงการมังงะบ้านเราก็มีข่าวดีประดับวงการบ้าง แต่ก็มีข่าวร้ายโผล่ให้ได้ยินเรื่อยๆ ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้พุ่งความสนใจไปที่การอ่านมังงะโดยรอซื้อหาที่ร้านขายมังงะเช่นเคยเหมือนสมัยผมเป็นวัยรุ่นที่ต้องวิ่งหน้าตั้งหลังเลิกเรียนเพื่อไปสอยมังงะเล่มใหม่ๆ (แถมไม่มีอินเทอร์เน็ตบอกด้วยว่ามังงะร่วมเล่มจะออกตอนไหนบ้าง)
เรื่องเปลี่ยนผ่านนี่จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่ที่ไทยเองครับ แต่ที่ญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนกัน เพราะยุคสมัยเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยน มังงะที่เคยขายดิบดีทำยอดขายรวมทั้งวงการถึงจุดสูงสุดกลางยุค 90 ก็ค่อยๆ ซาลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเลวร้ายมากนัก แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนรูปแบบการรับสื่อไป มังงะก็ถูกนำไปทำเป็นอนิเมะหรือละครทีวีมากขึ้น วงการก็กระจายกว้างขึ้น ไม่ได้กระจุกอยู่ค่ายใดค่ายหนึ่งแบบเดิมแบบ ที่เด็กยุค 80-90 เคยชินกับการอ่านมังงะจากนิตยสารจัมป์ หรือ Shuukan Shounen Jump
นิตยสารจัมป์ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในยุค 80-90 ในช่วงเศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองสุดๆ แล้วค่อยร่วงในช่วงนั้น จนกลายเป็นสถาบันของวงการมังงะไปก็ว่าได้ หลังจากปล่อยผลงานฮิตติดลมบนระดับที่ทุกวันนี้ยังถูกกล่าวถึงหลายต่อหลายเรื่องทั้ง Dragon Ball, Saint Seiya, ด็อกเตอร์สลัมป์, ไอ้เขี้ยวเงิน, โรงเรียนลูกผู้ชาย, Orange Road, กัปตันซึบาสะ, หมัดดาวเหนือ, และ โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ ในยุค 80 ตามด้วย Slam Dunk, ซามูไรพเนจร, ลักกี้แมน หรือ คนเก่งฟ้าประทาน ในยุค 90 ซึ่งเทรดมาร์กสำคัญของ Jump ก็คือ มิตรภาพ ความพยายาม และชัยชนะ ซึ่งเราจะพบได้ในมังงะหลายเรื่อง แต่กว่าที่ Jump จะโด่งดังขายดีแบบทุกวันนี้ ช่วงตั้งต้นก็ต้องยอมรับว่าก็ต้องฝ่าฟันกับเจ้าอื่นอย่างหนักหน่วงเช่นกัน ก่อนจะพบแนวทางของตัวเอง ซึ่งหนึ่งในมังงะที่มีอิทธิพลต่อยุคทองของ Jump อย่างอดที่จะกล่าวถึงไม่ได้ก็คือเรื่อง Astro Kyuudan หรือแปลไทยแบบตรงๆ ได้ว่า ทีมเบสบอลแอสโตร มังงะจากยุค 70 ตอนกลางนั่นเอง
เกริ่นมาซะยาว จริงๆ แล้วผมเองก็รู้จักมังงะเรื่องนี้มานานเหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสได้อ่านซะที เพราะหาได้ยากเหลือเกิน แต่ที่ทำให้สนใจขึ้นมาเพราะว่าเวลาเห็นรูปวาดรวมมังงะดังของ Jump แล้วก็ขาดเรื่องนี้ไม่ได้ เลยอยากรู้ว่ามันมีอะไรดีขนาดนั้นนัก เพราะแทบไม่เคยได้ยิน จนได้อ่านหนังสือรวมฉากฮาๆ ไร้สาระในมังงะยุคเก่านั่นล่ะครับ ค่อยรู้จัก ยิ่งมารู้ทีหลังว่ามีอิทธิพลต่อรุ่นหลังก็ยิ่งสนใจ ซึ่งพอหาฉบับพิมพ์ใหม่ รวมจาก 20 เล่มเดิม เป็น 5 เล่มใหญ่แทน มาอ่านจนได้ ก็เล่นเอาถึงบางอ้อครับ
เอาเรื่องย่อก่อนล่ะกัน Astro Kyuudan คือมังงะเบสบอล ที่โม้ระดับที่ถ้าคุยกันแล้วแปลเป็นภาษาสุภาพก็คงต้องบอกว่า โม้สมสู่กับอาชา ผมอ่านไปได้สามเล่มก็เล่นเอาทึ่งเลยทีเดียว เพราะมันเป็นเรื่องของการรวมตัวกันของ ‘ยอดมนุษย์’ ในวงการเบสบอล ที่เกิดวันที่ 9 เดือน 9 ปีโชวะที่ 29 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที รวมกัน 9 คน แต่ละคนจะมีปานรูปลูกเบสบอลอยู่ที่ตัว ทั้ง 9 คนคือเด็กที่เกิดภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน โดยรับช่วงสืบต่อจาก ซาวามุระ เอจิ นักเบสบอลในตำนาน ที่ไม่มีโอกาสได้โชว์ผลงานเต็มที่เพราะเสียชีวิตในสงครามที่ฟิลิปปินส์ก่อน (อันนี้เอาเรื่องจริงมาอ้าง) 10 ปีให้หลังวิญญาณของเขาจึงกระจายไปอยู่กับเด็กทั้ง 9 คนที่เกิดมา ขนาดที่ว่าวันนั้นท้องฟ้ามีแสงสว่าง 9 ดวง (เวอร์จริงๆ) และคนที่รวบรวมเด็กหนุ่มทั้ง 9 คนก็คือ ชูโร เด็กฟิลิปปินส์ ลูกศิษย์คนสุดท้ายของซาวามุระ ที่กลายมาเป็นเศรษฐีจากการค้ามุกในภายหลัง จนมีเงินมาออกหาตัวเด็กญี่ปุ่น 9 คนนี่ล่ะครับ โดยเป้าหมายของการค้นหาตัวเด็กหนุ่มทั้ง 9 คือการสร้างทีมเบสบอลที่แกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ และโค่นเมเจอร์ลีกในอเมริกาให้ได้
เปิดมาก็เวอร์แล้ว แถมมีปานทุกคนยังกับละครไทยยุคเก่า แต่จริงๆ แล้ว Astro Kyuudan ก็ได้แรงบันดาลใจจาก Nansou Satomi Hakkenden นิยายดังยุคเอโดะ (ที่ได้อิทธิพลจาก ซองกั๋ง หรือ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน อีกที) ซึ่งความเวอร์ก็ยังไม่หยุดหย่อน เป็นมังงะเบสบอลแท้ๆ แต่ว่าแต่ละตอนกลับแข่งกันด้วย ‘ท่าไม้ตาย’ สไตล์เวอร์วังอลังการ มีตั้งแต่ทุบไม้เบสบอลให้ร้าวก่อนที่จะตีเพื่อให้ตีแล้วไม้กระจาย หลอกตาฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เห็นบอล (กติกา?) ท่าขว้างบอลสังหารตัว L ที่บอลจะไต่ไม้ของคนตี กระแทกหน้าจนตาย (กติกา??) ท่าตีลูกที่ฝึกซ้อมมาเพื่อตีสวนอัดหน้าพิตเชอร์จนตายทุกลูก (กติกา???) แต่ละท่าเรียกได้ว่าเวอร์แบบเกินคน แต่พวกเขาก็บอกว่าเพราะตัวเองเป็นยอดมนุษย์ แถมในเรื่องยังเต็มไปด้วยเรื่องไม่น่าเชื่อเต็มไปหมด ทั้งการที่พอเจอยอดมนุษย์แต่ละคนแล้ว ทุกคนก็บังเอิญมีคำว่า ‘คิว’ ที่แปลว่าลูกบอล อยู่ในชื่อกันหมด แถมพอเข้าทีมก็พร้อมใจเปลี่ยนชื่อเป็น คิวอิจิ คิวจิ คิวซาบุโร่ คิวชิโร่ ไล่ตามลำดับเลข 1-9 อะไรจะขนาดนั้น ยังไม่พอ กว่าจะเจอครบ 9 คน ก็ลงแข่งทั้งๆ ที่มันคนไม่ครบอย่างนั้นล่ะ เอาจริงๆ ผมเคยดูอนิเมะเบสบอลชื่อดังยุคเก่าอย่าง Kyojin no Hoshi เจ้าของคอนเซ็ปต์พี่สาวหลังต้นไม้ร้องไห้ไปให้กำลังใจน้องชายซ้อมอย่างโหดกับพ่อ ถึงจะดังมากและมันมาก (และเก่ากว่า Astro Kyuudan) แต่ก็ไม่มีอะไรเวอร์ขนาดนี้
ส่วนการแสดงออกในเรื่อง ก็มาแบบ Spokon (Sport Konchou สปิริตนักกีฬา) ประเภท สู้เข้าไป อย่าได้ถอย ดุเดือดเหมือนดวงอาทิตย์ แป๊บๆ ร้องไห้ แป๊บๆ เหงื่อออกเป็นลิตร เรียกได้ว่าล้นมาก แถมมีอะไรฮาๆ อย่างตอนที่หนึ่งในสมาชิกทีม Astro ตายเพราะท่าขว้างสังหาร L แล้วยอมรับก่อนกระอักเลือดตายว่าปลอมตัวเป็นยอดมนุษย์เพื่อเงิน เพื่อนทั้งทีมก็วิ่งมาร้องไห้สั่งลา แล้วจู่ๆ เด็กหนุ่มพิการมือขยับไม่ได้ ที่มาช่วยทีมฝึกซ้อม ก็บอกว่า อยากได้พลังเพื่อล้างแค้นให้สมาชิกที่ตายไป แล้วจู่ๆ ฝ้าผ่าเปรี้ยง ผ้าพันมือไหม้ มือหาย เสื้อไหม้ อ่าว มีปานเบสบอล คนอื่นเลยวิ่งไปถามวันเดือนปีเกิด อ้าว เกิดวันนี้ มึงเป็นยอดมนุษย์นี่หว่า เฮ้ ดีใจ ยินดีต้อนรับเพื่อนใหม่ ที่เขียนๆ มานี่คือเกิดขึ้นในจำนวนไม่เกิน 10 หน้า จากที่ร้องไห้เพื่อนตาย มาดีใจได้เพื่อนใหม่แล้ว ศพไอ้คนที่ตายยังนอนอยู่เลย ปรับอารมณ์ตามไม่ทันครับ
Astro Kyuudan ก็เป็นเรื่องแรกๆ ที่เอาการแข่งกีฬามาทำให้เป็นการต่อสู้ถึงชีวิต
ถึงความเวอร์จะไร้ขอบเขต แต่ก็อิงกับบุคคลที่มีอยู่จริง ทั้งนักเบสบอลในตำนานและนักเบสบอลชื่อดังในยุคนั้น เหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นมังงะฮิตในยุคนั้น เพราะว่ามันเวอร์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนนี่เอง แต่กลายเป็นว่า เพราะความเวอร์ในแต่ละตอนทำให้มันยาวยืดมาก จนจบที่ 20 เล่ม เพิ่งแข่งไปได้แค่ 3 เกม ยังไม่ได้แข่งกับ Giants แชมป์ 8 สมัย ไม่ได้ไปอเมริกา กลายเป็นว่า โดนตัดจบที่เนื้อเรื่องว่า พวกเขาแกร่งเกินไป จนโดนแบนไม่ให้ลงแข่งเบสบอลทั่วโลก ไม่อย่างนั้นวงการเบสบอลจะล่มสลายได้
แม้จะโดนตัดจบก็ยังต้องยอมรับว่า อิทธิพลของ Astro Kyuudan อยู่คู่กับ Jump มาตลอด เพราะในสมัยที่คนยังสนุกกับมังงะสายแก๊กตลก Astro Kyuudan ก็เป็นเรื่องแรกๆ ที่เอาการแข่งกีฬามาทำให้เป็นการต่อสู้ถึงชีวิต ซึ่งก็กลายเป็นแนวทางที่ Jump ใช้ต่อมา ตัวอย่างแรกคือเรื่องดังอย่าง Ring ni Kakerou (อันนี้เนชั่นเคยพิมพ์ภาค 2 แต่จำชื่อไทยไม่ได้ครับ) ของอาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ (ผู้เขียน Saint Seiya ในภายหลัง) การ์ตูนที่ต่อยมวยกันจนกระเด็นออกเวทีตายได้แบบไม่ต้องสนใจตรรกะ ขอให้สนุกก็พอ และยังคงส่งต่อเรื่องท่าไม้ตายแบบเวอร์วังไปยังมังงะเรื่องอื่นเช่น กัปตันซึบาสะอีกด้วย นี่คือส่วนของความพยายามและชัยชนะที่เป็นหัวใจของจัมป์ ส่วนของมิตรภาพก็แน่นอนว่า สไตล์เนื้อเรื่องแบบ เจอกัน เป็นคู่แข่ง สู้กันไป สุดท้าย จับมือกันท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็น กลายเป็นเพื่อนร่วมทีมกัน ก็เรื่องนี้ล่ะครับ แถมทำให้เรื่องมีตัวเอกเด่นๆ หลายต่อหลายตัว ไม่ได้เด่นแค่คนเดียว และส่วนผสมต่างๆ ที่เรียกได้ว่า หลุดโลก แบบนี้ กลายเป็นสูตรสำเร็จของการปั้นมังงะของ Jump ไปโดยปริยาย เราจะพบรูปแบบคล้ายกันนี้ได้ในมังงะอีกหลายเรื่องหลังจากเรื่องนี้
อีกหนึ่งจุดเด่นที่เรื่องนี้มีเป็นเรื่องแรกๆ ของวงการคือ ตัวละครหนุ่มสวย นั่นคือ คิวซาบุโร่ ที่ไม่บอกก็คงคิดว่าเป็นผู้หญิง แถมในเรื่องยังตาบอดเพราะประสบอุบัติเหตุตอนแข่งรถ (จริงๆ ตายไปแล้วด้วย แต่ผู้จัดการทีมไปขโมยศพมาปล่อยจากเครื่องบินเพื่อให้ช็อค จะได้ฟื้นคืนชีพมาได้…) แต่สามารถแข่งได้เพราะใช้หัวใจมองเห็น (ใช้หูฟังเหอะ) ตัวละครที่แปลกใหม่แบบนี้ ทำให้มังงะเรื่องนี้มีแฟนคลับที่ไม่น่าเชื่อนั่นก็คือ กลุ่มสาวๆ นั่นเอง และแน่นอนว่า หลังจากนี้เราก็จะได้เห็นตัวละครหนุ่มสวยอีกมากมาย คนแรกๆ ที่ขึ้นมาในหัวผมก็ ชุน จาก Saint Seiya กับ ฮิเอ จากโรงเรียนลูกผู้ชายนั่นล่ะครับ
แต่อิทธิพลที่มีต่อมังงะใน Jump มากสุด แต่ผู้อ่านทั่วไปอาจจะไม่ได้รู้กันมากคือ เป็นเรื่องแรกๆ ที่กองบรรณาธิการใช้แบบสอบถามท้ายเล่มในการค่อยๆ แต่งเนื้อเรื่องตามความนิยมของมังงะ ซึ่งกลายเป็นแนวทางที่ Jump ใช้ในการสร้างสรรค์มังงะยอดนิยมตลอดเวลาที่ผ่านมา
แต่เอาจริงๆ เรื่องนี้ก็เหมือนเป็นดาบสองคมนั่นล่ะครับ เพราะว่าเรื่องที่ผู้แต่งอยากจะแต่งกับเรื่องที่แฟนอยากอ่านก็อาจจะไม่เหมือนกัน แถม แบบสอบถามก็มีอิทธิพลมากถึงขนาดทำให้มังงะหลายเรื่องต้องพบจุดจบแบบไม่ควร หรือบางเรื่องก็ยืดเยื้อเกินไป ซึ่ง Astro Kyuudan ก็อาจจะเป็นหนึ่งในเหยื่อของแบบสอบถามด้วยซ้ำ จากการที่โดนตัดจบแบบเนื้อเรื่องไปไม่ถึงปลายทางอย่างน่าเสียดาย แต่ก็อย่างว่าครับ มันได้ผลบวกมากกว่าผลเสีย ทำให้ Jump เลือกใช้แนวทางนี้มาตลอดนั่นเอง
จริงๆ แล้วมังงะที่ดังขนาดนี้ แต่กลับโดนตัดจบ แถมไม่มีพิมพ์เพิ่มเท่าไหร่ เกือบจะมีอนิเมะในทีวี ก็กลายเป็นว่า โดนตัดไม่ได้ฉายอีก ยังดีที่มีละครทีวีเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ก็เหมือนหนังเกรดบีเสียมากกว่า จริงๆ Astro Kyuudan น่าจะได้รับการยกย่องมากกว่านี้ เพราะวางรากฐานให้กับ Jump ได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ถือว่ายังดีที่พอจะได้เห็นเวลาเขารวมผลงานดังๆ ที่เรื่องนี้โผล่มาให้เห็นประจำ
ก่อนได้อ่านเองผมก็คิดว่าเป็นงานที่บ้าบอคอแตกจริงๆ (เพราะหนังสือรวมฉากตลกไร้สาระในมังงะนั่นล่ะครับ) แต่พอได้อ่านแล้วก็ต้องยอมรับว่า ในความบ้าบอคอแตกนั้นมีมรดกที่ทิ้งไว้ให้กับงานรุ่นหลังเยอะเกินกว่าที่คิดจริงๆ ครับ อ่านๆ ไปแล้วก็แอบหวังให้มีคนลองเอามาแปลขายอยู่เหมือนกันนะครับ