“ ไม่มีใครรักเด็กแรกเกิดเพราะตัวตนของเขา ก็พวกเขายังไม่ได้เป็นใครเลย” – Tim Kreider (Nobody loves newborns for who they are; they aren’t anyone yet.)
แหม ไม่น่าโตมาเลย หลายๆ คนอาจรู้สึกแบบนี้เมื่อดูรูปตัวเองสมัยยังเป็นเด็กทารก ทำไมตอนเด็กๆ ทุกคนหน้าตาน่ารักขนาดนี้
ทำไม ’เด็กทารก’ ถึงได้น่ารักอย่างไม่มีเหตุผล
Tim Kreider ได้เล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งในหนังสือ ‘We Learn Nothing’ โดยเธอบอกเขาว่า “วินาทีแรกที่ได้เห็นหลานทารกตัวน้อย เธอรู้ทันทีว่าเธอสามารถจะบริจาคไตให้คนๆ นี้ หากต้องการ” น่าสงสัยว่าทำไมเราถึงมีความรู้สึกอยากจะดูแลและช่วยเหลือทารกน้อยที่ยังไม่มีบุคลิกภาพหรือฟังก์ชั่นใดใดขนาดนี้
มนุษย์ได้ถูกวิวัฒนาการมาให้มีสัญชาตญาณอยากทะนุถนอมดูแลทารก เราจำเป็นต้องรักและอยากดูแลอุ้มชูเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวน้อยนี้โดยไม่มีข้อแม้ เพื่อดำรงและขยายเผ่าพันธุ์สปีชีส์ แน่นอนว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่เกลียดเด็ก ออกจะรำคาญ รู้สึกว่าทารกไม่ได้น่ารักและหน้าตาก็เหมือนกันไปหมด แต่ก็มีคนบนโลกอีกมากมายที่คนหมดเวลาในชีวิตไปกับการส่องจ้องดูเด็กน้อยแปลกหน้าในอินเทอร์เน็ต หรือนั่งดูลูกแมวลูกหมาในอินเทอร์เน็ตได้ตลอดไปไม่มีวันเบื่อ
คนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนต่างรู้ดีว่า การเลี้ยงดูเด็กทารกแรกเกิดในช่วงปีแรกของชีวิตนั้นแสนวุ่นวาย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การที่มนุษย์เอ็นดู ตกหลุมรัก ทารกตั้งแต่แรกพบ มีความรู้สึกอยากดูแล ทะนุถนอม จ้องมอง อันอธิบายได้ยากเหล่านี้ ช่วยทำให้ทารกสามารถปลอดภัย ดำรงชีวิตจนเติบโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเอง
Baby Schema : ยิ่งเหมือนเด็กทารก ยิ่งน่ารัก
ความน่ารัก (Cuteness) คืออะไร ความน่ารักเป็นความรู้สึกสากลไหม?
ความน่ารักคือความดึงดูด (Attraction) อันเกี่ยวข้องกับความเยาว์วัย โดย Konrad Lorenz นักสัตววิทยาชาวออสเตรียได้เสนอแนวคิด Baby Schema (Kindchenschema) เพื่ออธิบาย ‘ความน่ารัก’ (Cuteness) ว่าเกิดจาก ‘ลักษณะของความเป็นทารก’ (Infantile Feature, Babyness) สัตว์ใดมีลักษณะคล้ายทารก จะมีส่วนให้สิ่งมีชีวิตนั้นดูน่ารัก เกิดความรู้สึกดีที่ได้มอง มีแรงดึงดูดให้อยากดูแลปกป้อง ยิ่งเหมือนทารก ยิ่งน่ารัก ยากจะหักห้ามใจได้
มนุษย์ (โดยเฉพาะเพศหญิง) รู้สึกพึงพอใจที่จะจ้องมองภาพใบหน้าของทารกมากกว่าทั้งใบหน้าเด็กโตและใบหน้าผู้ใหญ่ ใบหน้าเด็กทารกที่ถูกจัดอันดับว่าน่ารักมากกว่าจะถูกจ้องมองนานกว่า เมื่อแสดงภาพทารกให้กลุ่มตัวอย่างดู สมองส่วน Rewarding System ทำให้รู้สึกพึงพอใจและส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจจะถูกกระตุ้น ทารกมนุษย์ต้องรักษาสถานะความเป็นเด็กไว้ให้นานพอที่จะได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่จนกว่าจะพึ่งพาตัวเอง สิ่งนี้เรียกว่า ‘Neotony’ ซึ่งสัตว์จำพวกปลา สัตว์เลื้อยคลาน แมลง ที่พึ่งพาตัวเองได้ตั้งแต่แรกเกิดมักไม่ถูกมองว่า ‘น่ารัก’ (แน่นอนว่ามีบางคนที่รักสัตว์พวกนี้เหมือนกัน)
ยิ่งเด็กทารกคนไหนมีลักษณะของทารก (Baby Schema) ชัดเจนมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งน่ารัก (ผู้เขียนชอบเรียกเด็กประเภทนี้ว่าเด็กเต้าหู้ เจ้าก้อนน้อย นุ่มนิ่ม น่าหยิก) เป็นกลไกธรรมชาติที่ยากจะต้านทาน
ผลการศึกษาพบว่า พ่อแม่ที่ติดสารเสพติดประเภทโอปิออยด์ (มอร์ฟีน, เฮโรอีน) สมองส่วน Rewarding System จะไม่รู้สึกถูกกระตุ้นเมื่อมองภาพเด็กทารกน่ารัก สารเสพติดทำให้กลไกสมองส่วนสัญชาตญาณความเป็นพ่อแม่ชำรุด และมีความเสี่ยงที่ผู้ติดยาที่จะละเลยบุตรของตัวเอง ไม่ดูแลโอบอุ้มอย่างใกล้ชิด
ความพึงพอใจในการมองดูทารกนั้นเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก งานวิจัยตีพิมพ์โดย Frontiers in Psychology ปี 2014 ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 3-6 ปี พบว่าเด็กๆ ใช้เวลาจ้องมองภาพคน,หมา และแมวที่มีลักษณะเป็นทารกสูง (high infantile) นานกว่าภาพคน หมา แมวที่ดูโตกว่า เราถูกตั้งโปรแกรมมาให้จ้องมองดูทารกแล้วเป็นสุข
ความรู้สึกเอ็นดูทารกไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่มนุษย์เท่านั้น มีรายงานข่าวสัตว์โลกน่ารัก เช่น มีข่าวลิงอุรังอุตังเก็บลูกแมวมาเลี้ยงดู มีคลิปหมาเลี้ยงลูกแมวที่สามารถเสิร์ชดูได้มากมาย กระทั่งมีรายงานจากทวีปแอฟริกาว่าสิงโตตัวเมียเก็บเอาลูกกวางมาเลี้ยงทั้งที่ควรจะเป็นเหยื่ออันโอชา แต่กระนั้น ความน่ารักไม่อาจเอาชนะสัญชาตญาณนักล่าได้เสมอไป สุดท้ายเจ้ากวางน้อยก็ถูกสิงโตตัวอื่นในฝูงจับกินขณะที่แม่สิงโตหลับอยู่ แม้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ก็แสดงให้เห็นว่าทั้งคนและสัตว์ต่างมีความรู้สึกพิเศษกับเด็กทารกโดยไม่จำเป็นต้องเป็นสปีชีส์เดียวกันก็ไ้ด้
Baby Face Bias: เมื่อเราไว้ใจหน้าตาแบบทารกโดยไม่สงสัย
เมื่อคนพึงพอใจในภาพเด็กทารกน้อยแสนน่ารัก ไม่ใช่เพียงการดูภาพลูกดาราและหมาแมวในอินเทอร์เน็ตแล้วมีความสุขเท่านั้น ในการตลาดและการออกแบบ คุณลักษณะเหล่านี้ของทารกยังถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อโน้มน้าวให้เรารักและสนใจผลิตภัณฑ์หรือแคมเปญอย่างแนบเนียน
ในหนังสือ Universal Principle of Design ได้อธิบายอคติที่เรามีต่อใบหน้าเด็ก ว่า Baby Face Bias คือแนวโน้มหรืออคติที่คนเราจะเห็นคน สัตว์ สิ่งของที่ดูเหมือนทารก ว่ามีคุณลักษณะที่ทำให้เราไว้ใจและรักใคร่ คือดูไร้เดียงสา ไม่มีพิษภัย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จริงใจ ใจดี เป็นมิตร
ดังนั้น การออกแบบตัวละครหรือผลิตภัณฑ์ที่อยากให้ความรู้สึกน่ารัก น่าเอ็นดู เมื่อมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กหรืออยากให้ผู้บริโภคเกิดความไว้ใจ ก็มักหยิบยืมองค์ประกอบของความเป็นทารกมาใช้ในการออกแบบ ได้แก่ ความกลมมน (round feature) ตาโต (big eyes) หัวกลม (round head) จมูกเล็ก หน้าผากสูง (high forehead) คางเล็ก (small shin) ผิวและผมอ่อนบาง (light skin and hair) สามารถจูงใจให้เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นๆ น่าพึงพอใจ ไร้เดียงสา น่าทะนุถนอม ซึ่งใช้ในการออกแบบของเล่น ตัวละครสำหรับเด็ก หรือผลิตภัณฑ์ที่อยากให้ความรู้สึกน่ารัก จริงใจ
เมื่อส่องดูวิวัฒนาการหน้าตาของตัวการ์ตูนคลาสสิกอย่างเจ้า Mickey Mouse ที่ได้ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ โดยค่อยๆ เพิ่มความกลมมนให้ดูน่ารักจากยุคแรก ทั้งที่อายุมากขึ้นแต่มิกกี้กลับดูเด็กลง เป็นมิตรขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มมิติให้เหมาะกับยุคสมัย
รถเต่า Beetle หรือรถยี่ห้อ Volkswagen รถเล็กน่ารักในฝันของใครหลายๆ คน ก็เป็นรถยนต์ที่นิยมมากในหมู่ผู้หญิงมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จนมีชื่อเล่นว่า ‘Chick Car’ แล้วทำไมรถยี่ห้อนี้น่ารักนักล่ะ? ก็เพราะว่าออกแบบให้มีความกลมมนอยู่เยอะมาก เมื่อแบรนด์พยายามดึงดูดกลุ่มเป้าหมายผู้ชาย Volkswagen จึงเพิ่มเหลี่ยมมุมขึ้นมา ทำให้ดูโตและทันสมัยมากขึ้น ในกระทู้ Quora มีคนตั้งกระทู้คำถามประชดโดยถามว่า ‘ผู้ชายขับรถบีทเทิ้ลได้ไหมครับ?’ ซึ่งจริงๆ แล้วคือ ‘ใครอยากขับอะไรก็ขับไปเถอะ!’ ไม่เห็นจะต้องแคร์เลย เพราะความน่ารักเป็นสิ่งสากลที่ใครก็สัมผัสและชอบได้ไม่จำกัดเพศและวัย
ในปี 2015 เมื่อ Star Wars ได้มีหุ่นยนต์ตัวใหม่ BB-8 ออกมาให้โลกได้เห็น คนทั้งโลกก็ตกหลุมรักเจ้าก้อนกลมหมุนตัวนี้ทันที สื่อแต่ละสำนักต่างลงความเห็นว่าเป็นช่างเป็นดรอยด์ที่น่ารักเหลือเกิน เมื่อเราลองจ้องดูองค์ประกอบว่าทำไมมันน่ารักจัง ก็พบว่า BB-8 ประกอบขึ้นด้วยวงกลมมากมาย ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันดูซื่อ เด๋อด๋า น่าเอ็นดูเหลือเกิน
ส่องดูผลิตภัณฑ์ที่ใช้สัดส่วน มุมมน ลักษณะของทารก เพิ่มความเป็นมิตร จริงใจ และน่าเอ็นดู
ในหนังสือ Universal Principles of Design ยังเล่าว่าถึงเทคนิคทางการตลาดและโฆษณา เมื่ออยากให้แคมเปญโฆษณาสินค้าดูจริงใจ ใสซื่อ เป็นมิตร มักเลือกใช้นาง/นายแบบโฆษณาที่มีลักษณะหน้าเด็ก (Baby Face Feature) แต่หากอยากให้ดูน่าเชื่อถือแบบน่าเกรงขาม มีอำนาจ ก็จะใช้คนหน้าตาผู้ใหญ่มากกว่า (Mature Face Feature)
ปี 2012 ในลอนดอน มีแคมเปญทดลองเพนต์ภาพเด็กทารก ตามผนังร้านย่าน South Wes โดยหวังว่าจะทำให้อาชญากรรมลดลง ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยตั้งแต่ปี 1940s ว่าการเห็นทารก ทำให้คนใส่ใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสรุปไม่ได้ว่าได้ผลจริงรึเปล่า แต่อย่างน้อยคนที่ผ่านไปมาก็แฮปปี้ที่จะเห็นภาพวาดเด็กน้อยที่น่ารัก
หลายคนอาจคิดว่าการออกแบบคือศาสตร์และศิลปะแห่งการใช้สัญชาตญาณล้วนๆ ใช้เซนส์พิเศษอันอธิบายไม่ได้ แต่หากเราเข้าใจถึงหลักการว่าเราจะใช้องค์ประกอบแบบใด เพื่อสื่อสารและสร้างความรู้สึกแบบไหนได้บ้าง งานของเราก็จะมีเหตุผลและหลักการมากขึ้น สามารถทำซํ้าได้โดยไม่ต้องรอโชคชะตาและสัญชาตญาณ การสร้างความน่ารักนี้ สามารถนำไปใช้ออกแบบหุ่นยนต์ที่ดูเป็นมิตรมากขึ้น เพื่อให้คนไว้วางใจ และกล้าใช้งาน
อนึ่ง ต้นตอของคำว่า Cute เดิมในศตวรรษที่ 18 มีความหมายว่าฉลาด และหลักแหลม (ถูกตัดมาจากคำว่า Acute) ครั้งต่อไป เมื่อเราเห็นสิ่งของที่เรารู้สึกน่ารักใคร่ เสน่หา น่าหยิก อาจเพราะมันได้ถูกออกแบบมาอย่างดีให้ดูไร้เดียงสา น่าเอ็นดู วางแผนมาแล้วอย่างชาญฉลาดให้เราตกหลุมรัก ตายใจ
Facial Stereotype อย่าตัดสินคนที่หน้าตา อย่าตกหลุมพรางให้ความน่ารัก
เมื่อเราได้รู้ว่า เรามีแนวโน้มอย่างแรงที่จะตกหลุมรักให้กับคน สัตว์ สิ่งของ และหุ่นยนต์ที่มีสัดส่วนและองค์ประกอบที่เหมือนทารก ผลเสียที่ตามมาก็คือ เราอาจตัดสินลักษณะสิ่งต่างๆ จากภาพที่แสดงมากเกินไป แต่จะห้ามใจได้อย่างไรเมื่อดวงตาเป็นประสาทสัมผัสส่วนที่ถูกใช้มากที่สุด มนุษย์ตัดสินนิสัยของคนด้วยหน้ามาช้านาน ย้อนไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ มีชื่อวิชา Physiognomy ว่าด้วยการทำนายนิสัยจากลักษณะ รูปร่าง หน้าตา แม้แต่นักปราชญ์อย่างอริสโตเติ้ลยังเขียนไว้ว่า ’คนหัวใหญ่’ นั้นเป็นคนนิสัยไม่ดี คนฉลาดก็้เลยตกอยู่ในอคติได้โดยไม่รู้ตัว
Facial Stereotype หรือการจำแนกนิสัยคนจากใบหน้า อาจเป็นสิ่งอันตรายเมื่อคนเราอาจไม่ได้มีนิสัยแบบที่ตัวเองแสดงเสมอไป Caroline Keating จาก Colgate University เรียกสิ่งนี้ว่าอาการ Babyface Overgeneralisation Effect คือการที่คนทึกทักว่าคนที่หน้าตาเหมือนทารก จะใสซื่อ ดูบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา น่าไว้ใจได้เหมือนทารก ทั้งที่คนที่หน้าเด็กอาจไม่ได้มีนิสัยตรงกับหน้าตาเลยก็ได้ แต่คนที่หน้าตา Baby Face ก็มีข้อเสียคือ มักถูกมองว่าไม่มีคุณสมบัติของผู้นำ
ในการศึกษาจากปี 1991 สรุปผลของการตัดสินจำนวน 506 คดี เทียบใบหน้าผู้ต้องหาที่หน้าเด็ก Baby Face พบว่าว่ามีความแตกต่างในการตัดสิน ดังนี้
- ผู้ที่หน้าตา Baby Face หรือหน้าเด็ก (ได้แก่มีหน้าตามีลักษณะเหมือนทารก คือตาโต จมูกเล็ก หน้าผากสูง) มีแนวโน้มจะถูกมองว่าบริสุทธิ์และไม่ซับซ้อน (Simple an Naive)
- คนหน้าเด็กมักถูกตัดสินว่าผิดน้อยกว่าในคดีที่วางแผนไว้ก่อน (Intentional Crime)
- แต่พวกเขามีแนวโน้มถูกตัดสินว่าผิดมากกว่าหากอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับการละเลย (Negligence)
- และหากสารภาพผิด พวกเขาจะถูกลงโทษหนักกว่า เพราะนิสัยไม่ตรงกับใบหน้าตาที่ดูบริสุทธิ์
แต่เมื่อเราก็ตัดสินคนจากลักษณะภาพที่เรามองเห็น หรือคุณสมบัติที่เรามโน หรือจากประสบการณ์โดยไม่มีข้อมูลรองรับก็อาจจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่กับคนที่เราไปตัดสิน ส่งผลไปถึงการทำงานและการจ้างงานคนที่หน้าเด็กดูน่าเชื่อถือ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนคนที่หน้าโหดและโตก็ดูเด็ดขาด เลือดเย็น ใจร้าย
ใครๆ ก็ชอบคนน่ารัก อยากส่องคนหน้าตาดี จนมีบล็อกมีทวิตเตอร์ไว้ติดตาม รวบรวมภาพผู้ต้องหาสาวๆ ที่หน้าตาน่ารักพร้อมระบุข้อหา อย่าง Mugshot Baes (@mugshotbaes), Mugshawty (@mugshawtys) มีผู้ติดตามหลายหมื่นคน ส่องคนหน้าตาดีที่ทำผิดกฎหมาย ขัดแย้งกับหน้าตา โถ คนดี เธอไปทำผิดอะไรมา คนน่ารักทำอะไรก็ไม่ผิด หรือต่อให้ผิดก็ยังน่ารัก
Dylann Roof หนุ่มผิวขาววัย 21 ปีมีหน้าตาน่ารัก เขาเป็น White Supremacist ก่อคดียิงกราดคนผิวสีในโบสถ์ มีผู้เสียชีวิตไป 9 คน เขายังเขียนบันทึกระบุว่าไม่ได้เป็นป่วยทางจิตและไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป กระนั้นตำรวจก็ยังแวะซื้อ Burger King ให้เขาหลังให้การรับสารภาพ จึงถูกเปรียบเทียบว่าไม่ปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นผู้ก่อการร้ายเพราะลักษณะใบหน้า Baby Face และเป็นคนขาว
ทั้ง Dylan Roof และ Nikolas Cruz (เด็กวัยรุ่นหนุ่มอีกคนซึ่งก่อคดียิงกราดในโรงเรียน Florida Shooting) ทั้งคู่ก่อคดีสะเทือนขวัญ ฆ่าคนบริสุทธิ์ไปมากมายโดยตั้งใจและวางแผนไว้ก่อน ต่างได้รับจดหมายจากแฟนคลับให้กำลังใจจากวัยรุ่นสาวๆ จำนวนมากอย่างล้นหลาม พวกเธอรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเด็กหนุ่มคนดังที่น่ารักดี
และคงต้องพูดถึง Dzhokhar Tsarnaev มือวางระเบิด Boston Bomber กระทำการร่วมกับพี่ชาย เขาก็ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างล้นหลาม และมีแฟนคลับสาวๆ มาแอบรักเช่นกัน พร้อมมีแฮชแท็ก #FreeDzhokhar เพราะคนหน้าตาดีและ Baby Face ขนาดนี้จะก่อการร้ายได้อย่างไร จนได้ขึ้นปกนิตยสาร Rolling Stone เพื่อเตือนใจถึงปรากฏการณ์ Groupie แฟนคลับอาชญากร ผู้ก่อการร้าย หรือฆาตกรต่อเนื่องที่หน้าตาดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มันเกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าเล่า
เราต่างตกหลุมพรางให้คนที่น่ารัก ดูไม่มีพิษภัย แต่ทำไงได้ ก็ความน่ารักเป็นภาษาสากล แต่เตือนตัวเองให้มีสติเสมอว่าบางสิ่งและบางคนถูกออกแบบและจัดวางให้ดูไว้ใจได้ นิสัยดี อาจเป็นเพียงภาพลวงตาของสัดส่วน องค์ประกอบบนใบหน้าที่ทำให้เราเข้าใจผิด คิดไปเอง
หากรู้เท่าทันถึงความน่ารัก เราก็จะมีสติ ยุติธรรมมากขึ้น อย่าตกหลุมพรางให้กับความน่ารัก ระวังไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Baby schema in human and animal faces induces cuteness perception and gaze allocation in children
www.ncbi.nlm.nih.gov - Baby schema modulates the brain reward system in nulliparous women
www.pnas.org - Universal Principles of Design: William Lidwell, Kritina Holden, Jill Butler
www.amazon.com - Linkedin Learning: Baby Face Bias
www.linkedin.com - Isn’t It Cute: An Evolutionary Perspective of Baby-Schema Effects in Visual Product Designs
www.ijdesign.org - In Your Face: The new science of human attraction: David Perrett
www.amazon.com/Your-Face-science-human-attraction-ebook/ - The Benefits of Having A Baby Face
www.bbc.com - The science of cuteness
www.youtube.com - How The Shape Of Your Face Affects The Way You’re Perceived At Work
www.fastcompany.com - The impact of litigants’ baby-facedness and attractiveness on adjudications in small claims courts
link.springer.com - Lioness adopts third baby antelope
news.bbc.co.uk - How The Shape Of Your Face Affects The Way You’re Perceived At Work
www.fastcompany.com - Could babies’ faces reduce crime?
www.bbc.com/news/magazine-19398580