เอาจริง ในฐานะพลเมืองแห่งโลกตะวันออก ลึกๆ แล้วเราก็แอบเชื่อมั่นในพลัง—คำอธิบายเหนือธรรมชาติบางอย่างอยู่ลึกๆ เราเชื่อจังหวะอะไรบางอย่าง ความพิเศษของตัวเลข สิ่งที่มองไม่เห็นที่ปกปักษ์กระทั่งรถยนต์ที่อาจจะประกอบจากประเทศเพื่อนบ้าน และแน่นอน เราก็แอบเชื่อเรื่องการ ‘ดูคน’ ที่มาจากรากฐานศาสตร์ความเชื่อแบบจีน และหลายครั้งทั้งหมดนั้นเราก็เข้าใจว่าอาจเป็นเรื่องความบังเอิญ วัดอะไรจริงไม่ได้
ล่าสุด บ้านเรามีข่าวฆาตกรต่อเนื่องกลับมาอยู่บนหน้าสื่ออีกครั้ง จริงๆ ฆาตกรต่อเนื่องเป็นประเด็นที่ศาสตร์หลายสาขาสนใจ เพราะถือเป็นทั้งปรากฏการณ์ทางพฤติกรรม อะไรที่ทำให้คนๆ หนึ่งเดินหน้าสังหารคนได้ อีกด้านก็สนใจในแง่ของปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมว่าการเกิดขึ้นของสังคมเมือง ดินแดนของคนแปลกหน้าพร้อมการกระจายข่าวสาร—ล้วนเป็นบริบทพิเศษที่สร้างฆาตกรต่อเนื่องขึ้นได้ แต่การกลับมาของฆาตกรต่อเนื่องในสังคมไทยก็ทำให้เกิดความสนใจพิเศษๆ ขึ้นมา
และความพยายามเข้าใจและอธิบายแบบไทยๆ แบบดินแดนตะวันออกก็เลยนำไปสู่การเอา ‘ศาสตร์แห่งโหงวเฮ้ง’ มาอธิบายใบหน้าและอภิปรายชะตากรรมกันอย่างละเอียดละออ ด้วยความบังเอิญ ในช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงสมัยที่เราเริ่มใช้อยู่ชีวิตในเมืองท่ามกลางผู้คนที่เราไม่รู้ใจ พร้อมๆ กับเป็นห้วงสมัยที่เริ่มมีการฆาตกรรม มีฆาตกรต่อเนื่อเกิดขึ้น ในสมัยนั้นเองก็มีการศึกษาเพื่อระบุว่า ‘ฆาตกร’ มีใบหน้าแบบไหน แต่ในยุคนั้นทำในนามวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ซึ่งก็ต้องย้ำเนอะว่าในที่สุดแล้วการอ่านใบหน้าไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง แต่การศึกษาอาชญากรจากนายแพทย์ ซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) ก็ถือเป็นหมุดหมาย เป็นจุดเริ่มต้นของอาชญวิทยาสมัยใหม่ (และความซวยคือ จากเกณฑ์ใบหน้าอาชญากรจากศตวรรษที่ 19 ดันคล้ายฆาตกรต่อเนื่องอีกต่างหาก)
Cesare Lombroso บิดาของอาชญวิทยา
แน่นอนว่าองค์ความรู้ในสมัยปลายศตวรรษที่ 19 แม้ว่าจะมีรากฐานจากทฤษฎีสำคัญที่ได้รับการยอมรับเช่นทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน คือในยุคนั้นเป็นทฤษฎีที่ขับเคลื่อนเรื่องที่ไม่ค่อยดีนักหลายเรื่อง จากฐานความเชื่อเรื่องที่มองมนุษย์ด้วยกันผ่านสายตาของชีววิทยา จากทฤษฎีที่มองเรื่องการวิวัฒน์ก็เริ่มมีการมองเรื่องการถดถอย (degeneation) ซึ่งเจ้าทฤษฎีวิวัฒน์ไม่วิวัฒน์นี้มีนัยของการแบ่งแยกความสูงต่ำอยู่ในนั้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ล่าอาณานิมและการค้าทาสล้วนมีแนวคิดที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์นี้เป็นหัวใจของเรื่อง
ในแง่ของอาชญวิทยา หรือศาสตร์ความเข้าใจเรื่องอาชญากรในยุคนี้เองก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบดาร์วินเช่นเดียวกัน ย้อนกลับไปถึงนายแพทย์ชาวอิตาลีชื่อ ซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) ซึ่งเป็นนายแพทย์ที่ดังมาก และได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาของอาชญวิทยา ผู้ก่อตั้ง Italian School of Positivist Criminology แต่ความคิดของเขาที่มองจากยุคปัจจุบันคือเวรี่น่ากลัว เพราะได้เสนอความคิดเรื่อง born criminal หรือเชื่อว่าคนเราเป็นอาชญากรโดยกำเนิด เพราะเกิดจากพันธุกรรม ทำนองว่าวิวัฒนาการไม่สมบูรณ์ และคนที่จะเป็นอาชญกรรมนั้นก็จะมีลักษณะหน้าตาบางอย่าง ที่ได้สาธกไว้โดยละเอียด (ใครหน้าไปคล้ายก็ร้อนๆ หนาวๆ โดนเหยียดกันไป)
จุดเริ่มต้นของลอมโบรโซเริ่มต้นเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1870 ด้วยในฐานะหมอ เขาจึงได้ไปร่วมชันสูตรร่างกายของอาชญากรคดีลักทรัพย์และวางเพลิงคนหนึ่ง และคุณหมอก็นึกได้ว่า เฮ้ย สัณฐานกะโหลกของโจรคนนี้ เหมือนกับกะโหลกของลิง (ape) เลยนี่นา ก็เลยเริ่มพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับอาชญากรจากไอเดียว่า อาชญากรคือ คน และแน่นอนซวยยันโคตรเหง้าที่วิวัฒนาการไม่ดี หรือไม่ได้วิวัฒน์แต่กลับถอยหลัง ทำให้ร่างกายและกะโหลกกลับไปมีลักษณะแบบดึกดำบรรพ์ และลักษณะบางอย่างของสัตว์ ซึ่งก็รวมถึงเอานิสัยป่าเถื่อนทั้งหลายติดกลับมาด้วย-นี่คือความน่ากลัวของวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น ที่เกิดมาหน้าตาแบบนี้ เลยโดนเพ่งเล็งว่าเป็นคนที่ไม่วิวัฒน์รึป่าว จะเป็นโจรมั้ย หรือมีความเป็นสัตว์ร้ายด้วยมั้ย
Criminal Man ใบหน้าของอาชญากร
ในงานเขียนอันลื่อเลื่องชื่อ Criminal Man เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1876 ลอมโบรโซพูดถึงแนวคิดเรื่อง Born Criminal พร้อมให้ภาพหน้าตาอาชญากรไว้อย่างชัดเจน ถึงขนาดบอกว่า ‘ธรรมชาติของอาชญากร มาจากสัญชาตญาณดิบและลักษณะของสัตว์สายพันธุ์ที่ต่ำกว่ามนุษย์’ (คือคำว่ามนุษย์ในยุคนั้นหมายถึงคนผิวขาว มีเหตุมีผล และมองว่าตัวเองเป็นสุดสายของวิวัฒนาการ) และอธิบายว่าความก้าวร้าวนั้นก็สอดคล้องกับการมี ‘กรามขนาดใหญ่ โหนกแก้มสูง’ ซึ่งเป็นทรงแบบเดียวกับคนเถื่อนและเอพ ทำให้อาชญากรเหล่านี้เป็นพวกชอบความชั่วร้าย ชอบมั่วกามเซ็กส์หมู่ มีความปรารถนาในการฆ่ายังไม่พอ แต่ยังชอบฉีกทึ้งทำลายศพและดื่มเลือดกันไปอีก นี่คือสิ่งที่คุณหมอเขียนอธิบายไว้อย่างออกรส
ลอมโบรโซอธิบายลักษณะทางกายภาพเข้ากับพฤติกรรมพร้อมให้ภาพประกอบไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น โจรลักขโมยมักจะมีมือที่คล่องแคล่ว ดวงตาเล็กและลอย คิ้วชิด จมูกบิด มีเคราบาง และหน้าผากที่ลาดยุบลง ในขณะที่พวกข่มขืนหูจะกาง มีดวงตาเป็นประกาย ริมฝีปากหนา รูปร่างบาง บ้างก็หลังค่อม นอกจากผู้ชายแล้วลอมโบรโซยังไปร่วมศึกษาอาชญากรหญิง ซึ่งถือเป็นงานศึกษาผู้หญิงในทางอาชญากรรมชิ้นแรกๆ และก็ทำนองเดียวกัน อาชญากรรมของผู้หญิงมักไปเกี่ยวกับเรื่องเพศ ชอบนุ่งสั้น ไม่สุภาพ มีความกำหนัดสูง มีริ้วรอยเยอะ ผมสีเข้มกว่าและกะโหลกเล็กกว่า
เมื่อเราดูดีๆ แล้ว ลักษณะของอาชญากรของลอมโบรโซก็มีนัยของการเหยียดผิวปรากฏอยู่ ฟีเจอร์แบบกะโหลกใหญ่ โหนกแก้มสูง แขนยาว ริมฝีปากหนาไปสอดคล้องกับกลุ่มนิโกร ในขณะที่ลักษณแบบโจร จมูกแบนหน้าผากลาด ตาเล็กก็ไปคล้ายกับมองโกลอยด์
ทฤษฎีของลอมโบรโซถือว่าเป็นงานที่เวรี่ฮอตในยุคนั้น ในระดับวงการอาชญวิทยาและพฤติกรรมเองก็เกิดการถกเถียงว่าอะไรส่งอิทธิพลกว่าระหว่างธรรมชาติของคนคนนั้นกับการเลี้ยงดู ตัวลอมโบรโซเองถือเป็นจุดที่เริ่มเอาอาชญากรมาเป็นศูนย์กลางของการศึกษา มีงานศึกษาทั้งที่คล้อยตามและขัดแย้งตามมา ส่วนที่เชื่อตามไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เช่นนักมานุษยวิทยาที่ฮาร์วาดทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพของอาชญากร 17,000 ราย และระบุว่าอาชญากรเป็นคนมีลักษณะต่ำกว่า (inferior to civilians) และแน่นอนว่าส่งผลกับความเชื่อที่เรียกว่า ‘eugenics’ และนำไปสู่การนิยามลักษณะแบบยิว (the jewish type)
ในโลกของวรรณกรรมสืบสวนเองก็มีการวาดภาพอาชญากรที่คล้ายกับข้อเสนอของลอมโบรโซ เช่นมีลักษณะคล้ายลิง คล้ายคนเถื่อนและหิวกระหายเลือด ในทางกลับกันก็มีการโต้แย้งและล้อเลียนแนวคิดของเขาและนำไปสู่ความเข้าใจพร้อมการเสนอภาพอาชญากรแบบใหม่ๆ เช่น นักศึกษาชายหนุ่มหน้าตาดีที่เป็นฆาตรกร
แนวคิดของลอมโบรโซเป็นหมุดหมายและตัวแทนที่ดีว่า ‘ความรู้’ กระทั่งในนามของวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่ได้เป็นสัจจะที่ถูกต้องเสมอ แต่กลับถูกท้าทายและเปลี่ยนแปลง ถกเถียงจนนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆ ที่งอกเงยขึ้น อันที่จริงในมิติของอาชญวิทยาและอาชญากรเองจนะเรื่อยมาในปีปัจจุบัน จิตใจของมนุษย์ก็ยังเป็นอีกเรื่องที่เรายังไม่อาจตอบได้อย่างชัดแจ้งฟันธงลงไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
scholarlycommons.law.northwestern.edu