ยอมรับเถอะว่าบ่อยครั้ง ความสนใจของพวกเราก็ขึ้นอยู่กับ ‘หน้าตา’ ล้วนๆ
เส้นแบ่งระหว่างความน่ารักและความขี้เหร่ของเหล่าสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ เริ่มเห็นชัดเจนจนต้องมาชวนตั้งคำถามเสียหน่อย เพราะมันมีอิทธิพลพอในการเรียกร้องความสนใจนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ๆ กลายเป็นว่าสัตว์เจ้าเสน่ห์อย่าง ‘แพนด้า’ กำลังได้รับความนิยมสูงลิ่ว สวนทางกับสัตว์บ้านๆ ที่หน้าตาไม่ชวนลูบหัว แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็ยังมีเมินเฉย เพียงเพราะว่า พวกมันไม่น่ารักเท่านั้น
หากให้คุณเลือกใช้เวลา 1 สัปดาห์เต็มๆ ทำความรู้จักใกล้ชิดกับสัตว์ 2 สายพันธุ์คุณจะเลือกอะไรระหว่าง
แพนด้า ตัวกลมป้อมจากประเทศจีน ในห้องรักษาอุณหภูมิเย็นฉ่ำ กับกิจวัตรประจำวันคือการนอนละเลียดใบไผ่ และทำอะไรเปิ่นๆ อย่างล้มตึงหรือพลัดตกจากยอดไม้
หรือ
ค้างคาวแม่ไก่ ในป่าฝนสุดดิบชื้น กับกิจวัตรห้อยโหนต้นไม้ที่ความสูงเกือบ 10 เมตร สบตากับดวงตากลมโตเป็นประกายท่ามกลางความมืดมิด กับเสียงร้องแหลมเล็กดุจผีห่าเวตาล
คงไม่ต้องคิดนาน ใครๆ ก็อยากโผกอดแพนด้าขนปุยด้วยกันทั้งนั้น และน้อยคนจะยอมห้อยโหนตามติดชีวิตเวตาลที่ไม่น่าอภิรมย์แม้แต่น้อย เหตุผลแบบนี้เองกำลังเป็นปัญหาทางความก้าวหน้าด้านงานวิจัยสิ่งแวดล้อมและสายพันธุ์สัตว์ เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มหันหลังให้กับสัตว์ขี้เหร่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่เรียกเงินสนับสนุนไม่ได้ เพราะไม่มีใครในสังคมเห็นความสำคัญของค้างคาวตัวเหม็นๆ หรือ กิ้งก่าหน้าตาประหลาดๆ และก็ไม่ค่อยมีใครอยากอ่านบทความเชิงวิชาการประเภทนี้กันสักเท่าไหร่
สัตว์หน้าตาดี มักเรียกแขก
แพนด้า สิงโต แมวน้ำ หมีขั้วโลก คุณคิดว่าพวกมันมีอะไรเหมือนกัน? ส่วนหนึ่งพวกมันถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการดึงดูดความสนใจจากสาธารณะได้อย่างดี พอๆ กับเรียกเงินสนับสนุนเข้าองค์กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือหน่วยงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ ถ้ายังจำโลโก้ของ World Wildlife Fund (WWF) พวกเขาก็ยังใช้แพนด้าขาวดำเรียกแขกอยู่เนืองๆ หรือองค์กรในไทยก็ยก ‘ช้างเผือก’ ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งพื้นป่าของไทย
คุณสมบัติตากลมโต ขนปุกปุย และอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้องค์กรอนุรักษ์และนักวิจัยใช้สัตว์เหล่านี้ในการสร้างแรงดึงดูดผู้คนและเงินสนับสนุน จนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Charismatic species หรือ ‘ชนิดพันธุ์เจ้าเสน่ห์’ (แปลโดยผู้เขียนเอง)
ในช่วงหนึ่ง สัตว์กลุ่มนี้เป็นสัญลักษณ์เพื่อกระตุ้นให้ภาคประชาคมเกิดการตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้แนวคิดด้านอนุรักษ์และกลไกของระบบนิเวศน์ในพื้นที่เช่นเดียวกับกลุ่ม ‘Flagship species’ หรือ ‘ชนิดพันธุ์เรือธง’ ที่โดดเด่นและดึงดูดความสนใจได้ง่ายอย่าง ช้าง นกเงือก เสือโคร่ง ที่ล้วนหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
แต่ในระยะหลังเริ่มมีความสับสนระหว่าง ชนิดพันธุ์เรือธง กับ ชนิดพันธุ์เจ้าเสน่ห์ อย่างมีนัยยะแอบแฝง เมื่อจุดประสงค์ที่แท้จริงถูกเคลือบด้วยความรู้สึกล้วนๆ อย่างความน่ารักน่าชังหรือเรียกร้องความน่าสงสาร มากกว่าข้อเท็จจริงด้านระบบนิเวศ บางชนิดที่ชูโรงกลับมีความสำคัญค่อนข้างต่ำในห่วงโซ่ทางธรรมชาติ แต่ถูกโหมกระพือจนละเลยจุดประสงค์ที่แท้จริงของการอนุรักษ์ (ยกตัวอย่าง แพนด้า ที่ไม่มีตันตนในระบบนิเวศของป่าฝนในประเทศไทยเลย แต่ทุกคนก็นึกถึงแพนด้าเมื่อจะโอนเงินให้องค์กรเหล่านั้นอยู่ดี)
การมุ่งเน้นเชิงการค้าและมองหาทุนสนับสนุนวิจัย ทำให้ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือนเล็กน้อยก่อนจะถึงมือพวกเรา และที่สำคัญสัตว์เหล่านี้ ‘ขึ้นกล้อง’ มากกว่าหากอยู่ในหน้านิตยสารสีสวยๆ
ในมิติเชิงปริมาณด้านงานวิจัย อาจบอกอะไรเราได้หลายอย่าง และปัญหาของทัศนคติสัตว์น่ารักอาจฝังรากลึกมากกว่าการอนุรักษ์ด้วยซ้ำ
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Mammal Review ชี้ให้เห็นว่า งานวิจัยสัตว์อัปลักษณ์มีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย
นักวิจัยในออสเตรเลีย นำสัตว์ท้องถิ่นในประเทศกว่า 331 ชนิด ตั้งเป็นแบบสอบถามให้คนทั่วไปในสังคมลองนิยามตามความรู้สึกเมื่อเห็นสัตว์พวกนี้ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ดี (Good) แย่ (Bad) และอัปลักษณ์ (Ugly)
เพื่อทดสอบระดับการรับรู้ของคนทั่วไป กลายเป็นว่า โคอาล่า จิงโจ้ และสัตว์สายพันธุ์ใกล้เคียง ถูกจัดอยู่ในอันดับ ดี Good ส่วนกระต่าย สุนัขจิ้งจอก อยู่ในกลุ่มแย่ Bad โชคร้ายสุดคือหนูบ้านละค้างคาว เมื่อคนส่วนใหญ่จัดให้มันเข้ากลุ่ม ‘อัปลักษณ์’ (Ugly) อย่างไม่มีทางเลือก
ความลักลั่นของการนิยามทำให้กลุ่ม Good มีงานวิจัยที่พูดถึงรูปลักษณ์หรืองานศึกษาเชิงกายภาพ และการเฝ้าติดตามพฤติกรรมระยะยาว ในขณะกลุ่ม Bad กลับพูดถึงการแพร่ขยายพันธุ์หรือการควบคุมประชากร ส่วนกลุ่ม Ugly แทบจะไม่มีการพูดถึงเลย ทำให้ชีวิตหนูและค้างคาวปรากฏในงานวิจัยเพียง 1587 ชุด จากทั้งหมด 14,000 เปเปอร์
หรืองานศึกษาจากมหาวิทยาลัย Murdoch ในออสเตรเลียพบว่า งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งหมด 14,248 ชุดกว่า 75% เป็นงานศึกษาสัตว์กลุ่มมีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupial) ที่เป็นสัตว์ประจำชาติออสเตรเลีย อย่างจิงโจ้และโคอาล่า ส่วนกลุ่มค้างคาวและสัตว์ฟันแทะมีเพียง 11% เท่านั้น
หรือนั่นหมายความว่าเราแทบไม่รู้จักสัตว์ใกล้ตัวพวกนี้เลย
โดยปกติแล้วการทำความเข้าใจสัตว์สายพันธุ์ใดเพื่อยืนยันการมีตัวตนของพวกมัน เราต้องมีข้อมูลด้านพันธุกรรมและอนุกรมวิธาน (Taxonomy) ชีววิทยาการจัดจำพวก มันกินอะไรเป็นอาหาร พักผ่อนอย่างไร และพัฒนาโอกาสในการมีชีวิตรอดอย่างไร แต่เรากลับมีข้อมูลอย่างจำกัด ทั้งๆ ที่รู้ว่าสัตว์ที่มีหน่วยชีวิตเล็กที่สุดเป็นสายใยสำคัญในการเชื่อมโยงระบบนิเวศเข้าไว้ด้วยกัน
คนทำวิจัยก็อยากให้สิ่งที่พวกเขาศึกษากระจายองค์ความรู้ไปให้กว้างที่สุด สัตว์ประจำชาติจึงเป็นตัวเลือกหลักๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากพวกเรา ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่เราจะทำความรู้จักสัตว์ร่วมโลกที่กำลังเผชิญภาวะเสี่ยง แต่มันจะดีกว่า หากสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับสัตว์ชนิดๆ อื่นที่อาศัยในธรรมชาติร่วมกับเราด้วย แม้พวกมันจะไม่น่ารักก็ตาม
การประกาศสัตว์ประจำชาติหรือ Mascot โดยการผลักไสสัตว์อื่นๆ ที่สำคัญน้อยกว่าให้กลายเป็นเพียง ‘เพื่อนพระเอก’ หรือ ‘มวยรองบ่อน’ กำลังสร้างมายาคติเชิงลบต่อสัตว์ อย่างในกรณีอินโดนีเซียประกาศให้มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ร้ายที่ต้องเฝ้าระวัง จนสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม มีหน่วยงานเพื่อล่าสังหารแทนที่จะมีหน่วยทำความเข้าใจธรรมชาติของมัน ทั้งๆ ที่โคโมโดคือผู้ควบคุมระบบนิเวศของเกาะที่มีประสิทธิภาพมาตั้งแต่บรรพกาล
แม้ความชอบและความชังจะเป็นธรรมชาติของโลก และแสงไฟสปอตไลท์ก็มักจับจ้องไปที่ดาวเด่น
แต่การที่เราเห็นความสำคัญของสิ่งที่เล็กที่สุด ใกล้ตัวเราที่สุด อาจไขปริศนาอันซับซ้อนของชีวิตจนเปลี่ยนความรู้เดิมๆ ไปตลอดกาลก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
What are “charismatic species” F. Ducarme. BioSciences Master Reviews, July 2013
media.murdoch.edu.au/perspective-ugly-animals-need-love-too