1. ดิสนีย์ดูจะติดใจกับการหยิบเอาแอนิเมชั่นคลาสสิกของตัวเองมาเนรมิตชีวิตใหม่ โยนนักแสดงจริงๆ เข้าไป แล้วบู้ม สร้างรายได้เข้าสตูดิโอเป็นกอบเป็นกำ
ปีที่ผ่านมาเราได้เห็น The Jungle Book มาแล้ว ปีก่อนหน้าก็มี Cinderella หรืออย่างในอนาคตก็จะได้เห็น Lion King ที่ก็เพิ่งประกาศรายชื่อนักแสดงนำไปเมื่อไม่นาน ดูท่าว่านอกจากเทรนด์ซูเปอร์ฮีโร่กับหนังสัตว์ประหลาด ก็เห็นจะมีไลฟ์แอคชั่นการ์ตูนดิสนีย์นี่ล่ะครับที่คงจะวนเวียนอยู่บนตารางบ๊อกซ์ออฟฟิศอีกหลายๆ ปีต่อแต่นี้
Beauty and the Beast คือความพยายามครั้งล่าสุด ที่ไม่เพียงแต่จะถูกจับตาเพราะต้นฉบับของมันคืออนิเมชั่นในดวงใจใครหลายๆ คนเท่านั้น แต่ยังได้ เอมม่า วัตสัน อดีตแม่มดสาวที่พักหลังๆ ผันตัวไปเป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีอยู่บ่อยๆ มาแสดงนำอีกด้วย เรียกว่าตื่นเต้นกันสุดๆ ตั้งแต่เห็นโปสเตอร์ใบแรกที่มีเธอปรากฏอยู่ในชุดราตรีสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเรื่องนั่นเลย
หากแต่ว่า แม้เอมม่า วัตสันจะดูเหมาะสมกับบทบาทของเบลในภาพนิ่งสักแค่ไหน ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ให้ความมั่นใจสักเท่าไหร่ว่าหนังจะออกมาดีดังเช่นรูปลักษณ์ของนักแสดงอันเหมาะสมกับบทบาท เพราะประสบการณ์จากหนังก่อนๆ อย่าง Cinderella ก็ใช่ว่าจะดีนัก แถมตัวอย่างของ Beauty and the Beast ก็ยังดูจงใจเหลือเกินว่าจะต้องเหมือนต้นฉบับทุกกระเบียดนิ้ว ประมาณว่า ถ้ากด ctrl+c ctrl+v ได้ก็คงจะทำไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเจตนาที่อยากจะเหมือนตัวต้นแบบจนตัวสั่นนี่แหละครับที่ได้กลายมาเป็นปัญหาหลักๆ ของหนังเรื่องนี้ และทำให้มนตร์เสน่ห์ที่มันควรจะมีกลับแห้งแล้งจนน่าถอนใจ
2. หากคุณจำชื่อของมือเขียนบทอย่างสตีเฟ่น ชโบสกี้ ได้ คุณก็อาจอยากขยี้ตาซ้ำๆ ว่าที่ได้ดูไปมันคือบทซึ่งผ่านปลายปากกาเขาจริงๆ หรือ ด้วยเพราะผลงานแจ้งเกิดของเขา (ที่ก็กำกับเองด้วย) อย่าง The Perk of Being a Wallflower นั้นขับเคลื่อนด้วยตัวละครที่อัดแน่นด้วยมิติความเป็นมนุษย์ คุณคงจะจำชาร์ลี เด็กหนุ่มผู้ปิดบังความลับอันโหดร้ายได้ คงจะจำแซม เด็กสาวซึ่งแสวงหาความหมายของความรักคนนั้นได้ แต่น่าเสียดายครับที่รายละเอียดของตัวละครในแบบนั้นกลับไม่ปรากฏให้เห็นสักนิดใน Beauty and the Beast
เอมม่า วัตสัน หรือ เบล นั้น ถูกเพิ่มรายละเอียดขึ้นเล็กน้อยจากต้นฉบับ ให้เธอเป็นเด็กสาวผู้รักการอ่าน ถึงขั้นว่าประดิษฐ์เครื่องซักผ้าพลังงานลาขึ้นมาเพียงเพื่อจะได้มีเวลาว่างระหว่างรอผ้าไปกับหนังสือ หากแต่เป็นนิสัยหนอนหนังสือของเธอนี่เองที่ได้ผลักให้เบลตกอยู่ในสถานะคนนอกในหมู่บ้าน นี่เองคือจุดตัดสำคัญระหว่างเวอร์ชั่นหนังกับอนิเมชั่น และในทางหนึ่งก็ดูราวกับเบลจะเป็นร่างทรงของเอมม่า วัตสันไปอย่างกลายๆ ด้วยบ่อยครั้งที่เบลนั้นต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียม เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นแรกๆ ที่เล็งเห็นถึงประเด็นเรื่องเพศสภาพที่ถูกกดขี่ ซึ่งด้วยการนี้เธอจึงวางตนเป็นกระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องในข้อเสนอที่ในช่วงเวลายังไม่อาจยอมรับได้ เพราะสิ่งที่เบลคิดนั้นล้ำหน้าไปไกลกว่าพื้นที่และเวลาที่ตัวเธอดำรงอยู่ เบลในเวอร์ชั่นนี้งดงามจริงๆ แต่ก็เพียงด้วยใบหน้าของนักแสดงเป็นสำคัญ
เพราะความงามของเธอดูจะถูกลดระดับลงเหลือแค่ประเด็นรอง เมื่อเทียบกับสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดของเธอที่กลายเป็นจุดแข็งสำคัญของตัวเบลไป
แต่พ้นไปจากความต่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องเบล จุดอื่นๆ นั้นเป็นการผลิตซ้ำอนิเมชั่นเลยก็ว่าได้ครับ พูดอีกอย่างคือ หนังยังคงวางตัวเองอยู่บนวิธีการเล่าเรื่องแบบอนิเมชั่น มันยังจริตแบบการ์ตูนให้เห็นอยู่ในทุกการกระทำ การแสดงออก และการตัดสินใจ ซึ่งถ้ามันถูกนำเสนอด้วยการ์ตูนก็คงไม่น่าติดใจอะไรนะครับ เพียงแต่พอดำเนินผ่านการแสดงของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อด้วยกันแล้ว มันดันออกมาไม่เป็นธรรมชาติเอามากๆ เช่นกันกับที่หลายๆ ตรรกะของหนังก็ยังยึดโยงอยู่กับโลกการ์ตูน เช่น การคล้อยตามคำโน้มน้าวจนตัวละครหนึ่งๆ แสดงออกว่าเชื่อในตรรกะดังกล่าวอย่างสุดจิตสุดใจ แต่กับเราในฐานะคนดูกลับพาจะทำใจและคล้อยตามได้ยาก จนเลือกจะถีบตัวเองออกจากหนังเพราะไม่อาจเชื่อไปด้วยกันกับเรื่องราวที่หนังนำเสนออยู่ได้ เป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อที่อยู่กึ่งกลางด้วยไม่อาจทรีตหนังว่าเป็นอนิเมชั่น หรือหนังไลฟ์แอคชั่นได้อย่างสุดทาง
3. มีประเด็นหนึ่งของ Beauty and the Beast ซึ่งเป็นที่ถกเถียงอยู่ตลอด นั่นคืออนิเมชั่นหรือหนังเรื่องนี้คือภาพแทนของอาการที่ชื่อว่า ‘Stockholm Syndrome’ หรือเปล่า
อย่างสั้นๆ Stockholm Syndrome นั้นถ้าแปลเป็นไทยอย่างง่ายก็คือ ‘โรคจำเลยรัก’ นั่นแหละครับ คุณคงพอจะนึกเรื่องย่อของจำเลยรักออก นั่นคือนางเอกถูกจับตัวไปขังอยู่ในกระท่อมแห่งหนึ่ง อยู่กินกับพระเอกที่เธอมองว่าเป็นผู้ร้าย แต่แล้วพออยู่กันไปก็เกิดเป็นความผูกพันจนตกหลุมรักกันในที่สุด
เรื่องราวของ Beauty and the Beast เอง จะว่าไปก็ดำเนินไปอย่างคล้ายๆ กัน นั่นคือเบลถูกจองจำอยู่ในปราสาทกับบีสต์ ซึ่งในทีแรกเธอมองว่าเขาเป็นอสูรร้ายไร้หัวใจ แต่เมื่อได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันสักพักก็เกิดเป็นความผูกพันจนต่างตกหลุมรักกันในที่สุด
ในการให้สัมภาษณ์เพื่อโปรโมทหนังเรื่องนี้ เอมม่า วัตสันเองก็เคยพูดว่า Beauty and the Beast เวอร์ชั่นนี้ไม่ได้มีอาการ Stockholm Syndrome เข้ามาเกี่ยวด้วย
เพราะเบลนั้นมีอิสระที่จะเลือกได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ต้องอยู่อย่างจำยอมด้วยไร้หนทางจะหนี ซึ่งหากยึดตามคำสัมภาษณ์นี้ ในทางหนึ่งก็เห็นจะเป็นจริงอย่างที่เธอพูดนะครับ ด้วยเพราะตัวบีสต์ในหนังนั้นถูกทอนพลังและความกราดเกรี้ยวลง จนอำนาจแห่งเพศชายแผ่ออกมาไม่ชัดนักเมื่อเทียบกับความขยาดต่ออัตลักษณ์อันน่าหวาดเกรงของเขา กล่าวได้ว่า เป็นพลังของเพศหญิงต่างหากที่ส่องสว่างอย่างรุนแรงในหนังเรื่องนี้
เพียงแต่ถามว่าไอ้ Stockholm Syndrome นี้มันมลายหายไปจากหนังเลยหรือเปล่า เอาเข้าจริงก็ไม่นะครับ เพราะด้วยความที่มันดึงดันจะยึดโยง หรือพูดอย่างสุภาพคือ เคารพต้นฉบับนั่นเองที่ทำให้อาการนี้ยังปรากฏให้เห็นผ่านความสัมพันธ์ของโฉมงามกับอสูรที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว (รวดเร็วจริงๆ นะ ไม่กี่วันก็รักกันแล้วอะ เอากับเขาดิ) ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ และการมีแต่เธอและฉัน จนเมื่อท้ายที่สุดทั้งสองก็ตกต้องปองรัก มันจึงยังเกิดขึ้นภายใต้รูปการณ์ของนักโทษที่ถูกจองจำ กลับตกหลุมรักกับผู้คุมขัง และครองรักกันชั่วกาลนาน