เพราะบรรดาพล็อตเรื่องหนังที่ผ่านมาอย่าง Anna and The King of Siam (1946), The King and I (1956), The Sound of Music (1965), The Beautician and the Beast (1997), Anna and the King (1999) ที่เล่าถึงนางเอกคนงามตกใต้อาณัติชายผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ ป่าเถื่อน ชอบใช้ความรุนแรง ซึ่งเธอก็ได้ค่อยๆ ขัดเกลายกระดับจิตใจ หรือไม่ก็มอบชีวิตชีวา ความศิวิไลซ์และความเป็นมนุษย์ให้แก่เขา เราจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องสปอยล์ Beauty and the beast (2017) อีกต่อไปแล้ว
แม้เวอร์ชั่น 2017 จะมีเพิ่มพล็อตรองเข้าไปอย่างที่เวอร์ชั่น 1991 ไม่มี ทว่าก็โปรโมตซะรู้ไส้รู้พุงแล้ว แต่ก็ตรงพล็อตรองนี่แหละที่ได้กลายเป็นประเด็นประเด็นขึ้นมา โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวในบางประเทศที่รัฐบาลเข้มงวดเรื่องศีลธรรม เช่นมาเลเซียที่ต้องการให้ดิสนีย์ตัดบางฉากออกที่ไปเกี่ยวข้องกับคนรักเพศเดียวกันทั้งสิ้น 4 นาที 38 วินาที
และบทเรียนของการรังเกียจรักเพศเดียวกันที่ได้รับก็คือ ดิสนีย์เท ไม่ฉงไม่ฉายจ้า…
เพราะความรักเพศเดียวกันยังคงเป็นอาชญากรรมภายในรัฐมาเลเซีย ตามมาตรา 377 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมาตรา 377A ที่ว่า “บุคคลใดก็ตามมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสอดใส่องคชาติไปยังทวารหนักหรือปาก ถือว่าเป็นการร่วมประเวณีที่ผิดธรรมชาติ” และมาตรา 377B ที่ว่า “ใครก็ตามที่สมัครใจร่วมประเวณีที่ผิดธรรมชาติจะต้องถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปีและต้องถูกโบยตี” เป็นกฎหมายที่ยังหลงเหลืออยู่ในบางประเทศที่รู้จักกันดีในนาม ‘Sodomy Law’ หรือ ‘กฎหมายห้ามรักเพศเดียวกัน’
คล้ายกับบางมาตราในกฎหมายประเทศไทย ที่นอกจากละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง อันวาร์ อิบราฮิม ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลและครองตำแหน่งมายาวนาน มหาเธร์ โมฮัมหมัดสั่งปลดในปี 1998 ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน กับคนขับรถวัย 19 ปี ของภรรยาของเขา (อันวาร์มีภรรยาและมีลูกสาว 4 ลูกชายอีก 1) ศาลตัดสินจำคุก 9 ปี เฉพาะคดีรักเพศเดียวกัน ไม่รวมคดีคอรัปชั่นอีก 6 ปี อย่างไรก็ตามเขาก็อุทธรณ์ชนะ เขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2004
ต่อมาในครั้งที่ 2 ปี 2008 ขณะที่อันวาร์ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านรัฐบาลโดยพฤตินัย เขาถูกกล่าวหาว่า มีเพศสัมพันธ์กับผู้ช่วยส่วนตัวและคนสนิทวัย 23 ปี โมฮัมหมัด ไซฟูล บูคารี อัสลัน แต่หลักฐานไม่เพียงพอ ศาลจึงตัดสินว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ในมกราคม ปี2012 ไม่ว่าข้อจริงเท็จเป็นอย่างไรในคดีนี้
การใช้มาตรา377 ในครั้งนี้ก็ถูกตั้งคำถามจากประชาชน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ ถึงปัญหาในตัวของมันเองของมาตรานี้ การใช้สอยเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง และบทบาทของศาลที่ควรแยกเป็นเอกเทศจากการเมือง[1]
ขณะเดียวกัน หนังเพื่อความบันเทิงที่เล่าเรื่องคนรักเพศเดียวกันอย่าง ‘I Don’t Want to Sleep Alone’ (2006) กว่าจะได้เข้าฉาย ก็ต้องผ่านเงื่อนไขจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์แห่งมาเลเซีย (The Malaysian Censorship Board) นั่นก็คือต้องยอมเซ็นเซอร์ตัดบางฉากออกไป 18 แผล ด้วยเหตุผลว่ากระทบกระเทือนวัฒนธรรมศีลธรรมอันดีงามและประเด็นเชื้อชาติ
I Don’t Want to Sleep Alone ภาพยนตร์โดย Tsai Ming-Liang ได้บอกเล่าเรื่องราวความรักความใคร่ ความเบื่อเหงาในบรรยากาศอันหลากหลายทั้งพหุสังคมและพหุวัฒนธรรมของกัวลาลัมเปอร์ ชนชั้นแรงงานหลายชาติพันธุ์ภาษาอาศัยในตึกเก่าร่วมกันที่แบ่งให้เช่า หลังเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูตกต่ำลงเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เอเชียปลาย 1990 แรงงานข้ามชาติก็ถูกทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลย เช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก
เมื่อ Rawan แรงงานข้ามชาติหนุ่มจากบังกลาเทศ ได้พบกับ Hsiao Kang ชายบ้าใบ้ไร้บ้าน ไม่มีหัวนอนปลายเท้า สะบักสะบอมมาแต่ไกลเพราะถูกอันตพาลทำร้าย เขาจึงรับมาดูแลปรนนิบัติพัดวี รักษาไข้ บริการทั้งพาไปฉิ้งฉ่อง สะเด็ดน้ำ ล้างๆ อาบน้ำเช็ดตัว ถูหัวยันหัวแม่เท้า เปลี่ยนกางเกงใน ซักผ้า เช็ดร่องตูด นุ่งโสร่งให้ ไปจนถึงจัดตำแหน่งหนุนหมอนนอน ทั้งคู่นอนร่วมกันภายใต้โปสเตอร์ที่มีคำว่า ‘I love you’ บนฟูกเก่าๆ ที่ถูกทิ้งข้างถนน แล้ว Rawang ไปแบกเก็บมาในคืนเดียวกับที่เขาพบ Hsiao Kang
ขณะเดียวกัน Hsiao Kang ผู้ซึมกระทือ ก็ได้กลายเป็นเป้าเสน่หาของทั้งหญิงสาวและวัยป้าร่วมชายคาเดียวกัน ซึ่งก็คือสาวรับใช้ชาวจีน และซ้อเจ้านายของเธอ ซึ่งก็เป็นเจ้าของตึกปล่อยห้องให้เช่า ซึ่งRawan ก็อาศัยอยู่ แม้ว่าเขาจะไร้ID card จนไม่สามารถพาไปเปิดโรงแรมอึ๊บสาวได้ แต่เขาก็สามารถย.น.น.ได้ตามใต้สะพานลอย ซอกหลืบอาคารมืดๆ ยามวิกาล
แรกเริ่มเดิมทีผกก.และผู้เขียนบทซึ่งเป็นคนเดียวกัน ตั้งใจจะหาคนอินเดียหรือบังกลาเทศรับบท Rawang และเขียนบทฉาก sex ระหว่าง Rawang กับ Hsiao Kang แต่ปรากฏว่าได้นักแสดงเป็นชาวมาเลย์มารับบท เขาจึงต้องเปลี่ยนใจ โดยมีฟูกเป็นตัวอธิบายความสัมพันธ์ทางเพศแทน
ทว่าฟูกก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเรื่อง เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มีนัยหนึ่งที่จะอุทิศให้กับอันวาร์ อิบราฮิมและคดีความเรื่องเพศของเขา นอกเหนือจาก I Don’t Want to Sleep Alone จะมีอีกชื่อเป็นภาษาจีนกลางว่า Hei Yan Quan (เฮย เหยี่ยน เชวียน) แปลเป็นไทยว่า ใต้ตาคล้ำเพราะอดตาหลับ และรอยฟกช้ำดำเขียวรอบดวงตา เพราะเมื่อ Rawang แรกพบประสบรักกับ Hsiao Kang ก็เห็นเขาในสภาพหลังถูกรุมซ้อม ตาดำ ยังสื่อถึงสภาพร่างกายของอันวาร์คราวขึ้นศาลในคดีความรักเพศเดียวกัน
สืบเนื่องมาจากในระหว่างการพิจารณาคดีอันวาร์ ฟูกที่ถูกกล่าวว่าใช้ประกอบกามกิจ ถูกนำมาเปิดเผยในฐานะวัตถุพยานกลางตระหง่านห้องพิพากษา[2] ขณะเดียวกัน เขาเองก็ปรากฏตัวในศาลพร้อมกับเบ้าตาฟกช้ำ,ใส่เฝือกดามคอ เมื่อเดือนกันยายน 1998 เขากล่าวว่าถูกกระทำความรุนแรงระหว่างสืบสวน โดยถูกใส่กุญแจมือ ถูกปิดตา และทุบตีอย่างน้อย 7 ครั้งจนสลบ ทว่าอธิบดีกรมตำรวจแห่งมาเลเซียในขณะนั้นและมหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้มีอิทธิพลอำนาจกล่าวว่า สภาพยับเยินนั่นเป็นการลงโทษตนเองของอันวาร์จากการสำนึกผิดที่ได้ก่ออาชญากรรมทางเพศ และรอยช้ำที่ตานั่นก็มาจากการกดทับของแว่นที่เขาใส่ กระทั่งต่อมาอีกหลายปีให้หลัง อธิบดีกรมตำรวจจึงค่อยออกมายอมรับสารภาพว่าตนเองเป็นผู้ดำเนินการทำร้ายร่างกายเอง และถูกพิพากษาจำคุกเพียง 2 เดือน และปรับ 2,000 ริงกิต ซึ่งโทษน้อยกว่าคดีรักเพศเดียวกันเสียอีก
แม้ว่าสหพันธรัฐมาเลเซีย ตามที่รัฐสภาอธิบาย จะเป็นรัฐโลกวิสัยหรือรัฐฆราวาส (Secular state) แต่ก็ได้สถาปนาให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของสหพันธรัฐ ที่ตามหลักศาสนาแล้วรักเพศเดียวกันถือว่าเป็นสิ่งผิดบาปชั่วร้ายอย่างมหันต์ แต่เพิ่งจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามรักเพศเดียวกันตามมาตรา 377 นี้ตามหลักศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เนื่องจากตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ เหมือนกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ และพม่า
ขณะที่ไทยแลนด์ยังเป็นสยามและประเทศกึ่งอาณานิคม ก็มีการบัญญัติ Sodomy law ตามจักรวรรดิอังกฤษเช่นกัน ตั้งแต่พ.ศ. 2442 กำหนดเพศวิถีรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมมีโทษจำคุกและปรับ กระทั่ง พ.ศ. 2499 กฎหมายอาญานี้ถูกยกเลิกไปโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมโดยสมัครใจและเป็นเรื่องส่วนบุคคล ตราบเท่าที่ไม่ใช้กำลังขู่เข็ญหรือทำกับเด็กเล็ก
แม้ว่ามาเลเซียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 1957 และแม้ว่าอังกฤษได้ยกเลิกกฎหมายฐานความผิดนี้ไปแล้วตั้งแต่ค.ศ. 1967 ทว่ากฎหมายห้ามรักเพศเดียวกันกลับยังคงอยู่ยั้งยืนยง ในฐานะมรดกจักรวรรดินิยมอังกฤษ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Mark Trowel. Sodomy II: The Trial of Anwar Ibrahim. Singapore. Marshall Cavendish International, 2012.
[2] Nicholas de Villiers. Spatial and Sexual Disorientation in the Films of Tsai Ming-liang. The IAFOR Journal of Literature and Librarianship Volume 2, Issue 1 (Spring 2013), pp. 67-76.