เช้าวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ (Jeffrey Epstein) นักธุรกิจชื่อดัง วัย 66 ปี ใช้ผ้าปูเตียงผูกคอตัวเองเสียชีวิตภายในห้องขังของเรือนจำรัฐบาลกลาง กลายเป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก เพราะเจฟฟรีย์ถูกขังไว้เพื่อรอพิจารณาคดีในความผิดฐานเป็นพ่อเล้าจัดหาเด็กสาวและล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้หญิง รวมถึงมีภาพโป๊เด็กไว้ในความครอบครองเป็นจำนวนมาก ความตายของเจฟฟรีย์ระหว่างถูกคุมขังจึงเป็นกลายเป็นที่สนใจอย่างมาก มีการสอบสวนหาสาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังถึงความตายของชายคนนี้
ใครคือ เจฟฟรีย์ เอปสไตน์
เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ คือ นักธุรกิจการเงินชื่อดัง เข้าขั้นอภิมหาเศรษฐี เขาเป็นคนนิวยอร์ก เกิดในครอบครัวชาวยิวที่มีฐานะ ก่อนที่เจฟฟรีย์จะมาเป็นนักธุรกิจนั้น เขาเคยเป็นครูสอนหนังสือวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมดาลตัน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะแมนฮัตตัน ขณะเป็นครูอยู่ที่นั่น ทางครูใหญ่ในสมัยนั้นมีชื่อว่า โดนัลด์ บาร์ (Donald Barr) ซึ่งเป็นพ่อของ วิลเลียม บาร์ (William Barr) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบัน
ประวัติการศึกษาของเจฟฟรีย์นั้นน่าสนใจมาก เพราะเขาเรียนไม่จบปริญญาตรีแม้แต่ใบเดียว แต่ โดนัลด์ บาร์ กลับจ้างเจฟฟรีย์เข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือได้ด้วยวัยเพียง20 นิดๆ
ขณะเป็นครู เขาฉายแววความฉลาดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนจำนวนมากจนผู้ปกครองประทับใจ และพ่อของนักเรียนหญิงคนหนึ่งได้ดึงตัวเขาไปทำงานธนาคาร ก่อนที่เขาจะโดดมาเปิดบริษัทกองทุนด้วยตัวเอง หลังจากนั้นฐานะการเงินและเส้นทางในสายธุรกิจก็โดดเด่นขึ้น พร้อมกับความมั่งคั่งที่เข้ากระเป๋าเจฟฟรีย์จนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในเวลาต่อมา
หากถามว่ารวยขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าเจฟฟรีย์รวยแบบอู่ฟู่ทีเดียว ความรวยของเขาถึงขั้นที่สามารถซื้อเกาะส่วนตัวในทะเลแคริบเบียนได้2 เกาะด้วยกัน มีคฤหาสน์ราคาหลายล้านในกลางเมืองนิวยอร์ก และที่เมืองไมอามี่ มีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว
ความรวยระดับนี้ทำให้เขามีมิตรสหายคนรู้จักมากมายทั้ง เจ้าชายแอนดูรว์ พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ทที่ 2, เจ้าชายจากซาอุดิอาระเบีย, อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน, และแน่นอนประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยพูดยกย่องเจฟฟรีย์ไว้ในอดีตว่า
“เป็นคนที่ดีมาก ใครอยู่ด้วยแล้วสนุก เป็นคนที่ชอบผู้หญิงที่สวยมากเหมือนกับผม และผู้หญิงสวยๆ หลายคนนั้นอายุน้อยด้วย”
ซึ่งถือเป็นคำพูดนัยยะที่แสดงถึงพฤติกรรมทางเพศของนักธุรกิจทรงอิทธิพลรายนี้ได้เป็นอย่างดี
หลังจากเจฟฟรีย์ถูกจับ ปธน.ทรัมป์ก็บอกว่าเจฟฟรีย์เป็นแค่อดีตเพื่อนเท่านั้น ขณะที่คนรู้จักต่างบอกว่า แม้จะรู้จักมหาเศรษฐีคนนี้จริง อาจจะเคยขึ้นเครื่องบินเจ็ตของเขาจริง แต่ไม่เคยรู้เลยว่าเจฟฟรีย์มีพฤติกรรมทางเพศแบบผิดกฎหมายอย่างนี้เลยแม้แต่นิดเดียว
แต่จะเป็นตามที่คนรู้จักพูดไหม หลักฐานและข้อมูลในคดีนี้จะเป็นเครื่องยืนยันคำกล่าวอ้างนี้อย่างแน่นอน
นักล่าเซ็กส์
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนักธุรกิจทรงอิทธิพล พร้อมตรวจค้นคฤหาสน์ในเมืองนิวยอร์ก และพบหลักฐานที่น่าตกใจ คือ ภาพโป๊เด็กจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่ข่าวใหญ่ในสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวต่างนำเสนอข่าวว่าเจฟฟรีย์ถูกจับในความผิดฐานค้าแรงงานเซ็กซ์และชอบมีอะไรกับเด็กผู้หญิง
แถมไม่ใช่ว่าพึ่งมาทำพฤติกรรมแบบนี้ แต่เจฟฟรีย์ทำแบบนี้มานานแล้วด้วย
รายงานข่าวยังเปิดเผยอีกว่าเมื่อปีค.ศ. 2005 มีผู้ปกครองพาลูกสาววัย 14 ปีเข้าแจ้งความกับทางตำรวจของเมืองไมอามี่ รัฐฟลอริด้าว่า ถูกเจฟฟรีย์ล่วงละเมิดทางเพศ ทางตำรวจทำการสอบสวนพบว่ายังมีเด็กสาวอีกมากกว่า 60 คนที่ถูกล่อลวงลักษณะนี้
โดยเจฟฟรีย์จะทำการล่อลวงเด็กสาวมาที่คฤหาสน์แล้วให้นวด บางครั้งก็จะให้เด็กหญิงเหล่านี้แก้ผ้าหมดเลย ในช่วงเวลานั้นเขาก็จะล่วงละเมิดทางเพศหลากหลายรูปแบบ ก่อนที่จะจบด้วยการจ่ายเงินสดๆ เพื่อปิดปาก
หลังการแจ้งความ ทางตำรวจและเอฟบีไอรวบรวมหลักฐานกว่า 13 เดือนจนนำไปสู่การจับกุม แต่ระหว่างที่คดีจะขึ้นสู่ศาลนั้นในปีค.ศ. 2008 อเล็กซานเดอร์ อคอสตา (Alexander Acosta) อัยการฟลอริด้ากลับไปทำข้อตกลงลับกับเจฟฟรีย์ ทำให้โทษจำคุกเหลือเพียง 2 ข้อหาจากการล่วงละเมิดเด็กหญิงจำนวนมาก
ข้อตกลงลับนี้ทำให้เจฟฟรีย์ถูกตัดสินให้ติดคุกเพียง 18 เดือน
แถมระหว่างถูกคุมขังเจฟฟรีย์ยังออกไปทำงานข้างนอกได้ 12 ชั่วโมง ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เช้าไปทำงาน เย็นมาก็กลับมานอนคุก แถมระหว่างต้องโทษนั้นก็เข้าถึงเครื่องอำนวยความสะดวกได้ทุกอย่าง
จากโทษ 18 เดือน เขาติดคุกอันแสนสบายเพียง 13 เดือนเท่านั้นเอง
ซึ่งข้อตกลงลับนี้ เป็นการทำข้อตกลงโดยที่ผู้เสียหายไม่ทราบมาก่อน หลังจาก 13 เดือนแห่งการถูกคุมขัง เจฟฟรีย์ก็ได้รับอิสรภาพ ทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องลงทะเบียนว่าเคยมีความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น และเขาก็สามารถทำงานบริหารกองทุนสร้างรายได้มหาศาลต่อไป
ส่วนอัยการที่ทำข้อตกลงลับนี้ก็ทำงานก้าวหน้าจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในยุคปธน.ทรัมป์ ซึ่งหลังจากมีข่าวจับกุมเจฟฟรีย์ที่นิวยอร์ก เรื่องข้อตกลงลับนี้ก็ปรากฏขึ้นด้วย นั่นทำให้อเล็กซานเดอร์ต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาก็ไม่เคยกล่าวคำขอโทษหรือรับผิดกับการกระทำครั้งนั้นแต่อย่างใด
สำหรับการจับกุมครั้งล่าสุดนี้ ทางอัยการนิวยอร์กให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบในอดีตอีก โดยช่วงที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีที่นิวยอร์ก ทนายของเจฟฟรีย์ดำเนินการให้เขาได้รับการประกันตัวเร็วที่สุด แต่หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ประกอบกับเรื่องราวของเจฟฟรีย์ในอดีต ทำให้ทางผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว แม้จะมีการยื่นวงเงินที่สูงเพียงใด นั่นทำให้นักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีพันล้าน ต้องเปลี่ยนชุดยี่ห้อดีราคาแพงไปใส่ชุดนักโทษและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ และสิ้นสุดอิสรภาพในทันที
แต่ใครเลยจะนึกได้ว่า ลมหายใจของเจฟฟรีย์จะดับสิ้นหมดโอกาสที่จะสูดดมกลิ่นอายของโลกภายนอกเร็วขนาดนี้
ความบกพร่องโดยสุจริต
ก่อนเจฟฟรีย์จะฆ่าตัวตายนั้น เขาเคยแสดงเจตจำนงจะฆ่าตัวตายมาแล้วครั้งหนึ่งระหว่างถูกคุมขัง โดยเขาพยายามจะผูกคอตายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา โชคดีที่เจ้าหน้าที่มาพบตัวก่อน จึงสามารถช่วยชีวิตคืนได้ทัน อย่างไรก็ดีผ่านไปเกือบ 3 อาทิตย์ เจฟฟรีย์ก็ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ สร้างความสงสัยให้กับสังคมอย่างยิ่งว่าทำไมทางเรือนจำถึงปล่อยให้เกิดเหตุนี้ขึ้นได้
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความบกพร่องในครั้งนี้ ทางรัฐมนตรียุติธรรม (ซึ่งเป็นลูกชายของครูใหญ่ที่รับเจฟฟรีย์เข้าทำงาน) ได้สั่งการให้สอบสวนเรื่องนี้โดยเร็ว เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำนั้นกระทำการบกพร่องต่อหน้าที่
แต่ความบกพร่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ความบกพร่องแรกเกิดขึ้นเมื่อเจฟฟรีย์ถูกนำตัวกลับมาที่เรือนจำหลังจากพยายามจะฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ทางนักจิตวิทยาได้มาประเมินสภาพจิต แล้วแจ้งเรือนจำว่าเจฟฟรีย์ไม่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายอีก การประเมินครั้งนั้นทำให้เจฟฟรีย์ไม่ได้เข้าโปรแกรมเฝ้าระวัง ทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่สอดส่องว่าจะฆ่าตัวตายอีกหรือไม่ เขาจึงถูกส่งเข้าห้องขังเหมือนนักโทษตามปกติ
ความบกพร่องที่ 2 คือ ก่อนที่เจฟฟรีย์จะฆ่าตัวตายนั้น นักโทษร่วมห้องขังคนหนึ่งถูกย้ายออกจากห้องขัง นั่นทำให้ไม่มีเพื่อนนักโทษคอยสอดส่องดูแล อดีตผู้คุมให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวว่า ในวัฒนธรรมนักโทษไม่ชอบผู้กระทำความผิดในการล่วงละเมิดทางเพศเด็กเช่นนี้
ดังนั้น นอกจากเจฟฟรีย์จะยังคงคิดฆ่าตัวตายอยู่เหมือนเดิมแล้ว เขายังเสี่ยงจะโดนนักโทษรุมทำร้ายอีกด้วย และด้วยความกลัวจะถูกรุมทำร้ายโดยเพื่อนนักโทษด้วยกัน จึงนำไปสู่การย้ายนักโทษร่วมห้องขัง เพื่อให้เจฟฟรีย์ปลอดภัยจากการโดยทำร้าย แต่นั่นก็ทำให้เขาอยู่ในห้องขังเพียงคนเดียว และการที่เขาเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว เมื่อไม่มีเพื่อนนักโทษคอยสอดส่องดูแล ก็ยิ่งทำให้เจฟฟรีย์มีโอกาสจะก่อเหตุสำเร็จได้อีกครั้ง
ความบกพร่องต่อมา คือตามปกติ ผู้คุมจะสอดส่องดูแลนักโทษทุก 30 นาที หรือบางครั้งอาจเปลี่ยนเวลาเพื่อป้องกันนักโทษรู้จังหวะเวลาเดินตรวจของผู้คุม แต่ก่อนเกิดเหตุไม่มีผู้คุมมาสอดส่องห้องขัง นั่นทำให้กว่าจะพบศพเจฟฟรีย์ก็เป็นช่วงผลัดเวรตอนหกโมงเช้าเสียแล้ว
ความบกพร่องครั้งนี้ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์
การทำงานของเรือนจำอย่างมาก
ว่าปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ นำเสนอข้อมูลอีกด้านว่า ผู้คุมในเรือนจำเองก็ประสบปัญหาเรื่องการทำงานเช่นกัน โดยในคดีของเจฟฟรีย์เอง ผู้คุมสองคนที่ต้องรับผิดชอบดูแลต่างต้องทำงานหนักมาก ผู้คุมคนหนึ่งทำงานล่วงเวลามา 5 วันติดแล้ว ขณะที่อีกคนก่อนเกิดเหตุยังต้องทำงานล่วงเวลาอยู่ด้วย
การทำงานล่วงเวลานี้เกิดจากการไม่รับผู้คุมเพิ่ม และการอบรมก็ทำได้ไม่เต็มที่ นั่นทำให้ผู้คุมขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อการดูแลเรือนจำได้อย่างคลอบคลุม แม้จะมีการติดกล้องวงจรปิด แต่กล้องวงจรปิดก็ไม่ได้ติดในห้องขังของนักโทษ ยังไงก็ต้องพึ่งพาผู้คุมเดินตรวจอยู่เป็นประจำ
ดังนั้นความตายของเจฟฟรีย์เองจึงได้เผยให้เห็นปัญหาระบบการทำงานของผู้คุมในเรือนจำด้วย
ตายแล้วไปไหน
ก่อนที่เจฟฟรีย์จะฆ่าตัวตายนั้น ทางอัยการนิวยอร์กทำการเปิดเผยเอกสารข้อมูลรายละเอียดหลักฐานในคดี พบว่ามีผู้หญิง 2 คนที่ใกล้ชิดกับเจฟฟรีย์ถูกส่งตัวไปหาเหยื่อเด็กสาวมาบำเรอกาม โดยผู้หญิง 2 คนนี้ยังถูกส่งตัวไปนอนกับคนมีชื่อเสียงหลายคนในขณะที่ยังเป็นเยาวชนอีกด้วย ต่อมาผู้หญิงทั้ง 2 รายได้ให้ปากคำกับตำรวจและอัยการถึงข้อมูลเพิ่มเติม
การให้ปากคำและหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า ยังมีผู้เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กอีกเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นความตายของนักธุรกิจล่าเซ็กส์รายนี้
จึงไม่ใช่จุดจบ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการ
ในการหาตัวผู้เกี่ยวข้อง
แม้เหยื่อหลายรายจะไม่พอใจเพราะไม่มีโอกาสเผชิญหน้ากับเจฟฟรีย์ในศาลอีกต่อไปก็ตาม
“ฉันไม่อยากให้เขาตาย ฉันแค่อยากให้เขารับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ” เหยื่อรายหนึ่งซึ่งตอนนี้อายุ 31 ปี เธอเป็นหนึ่งในเหยื่อสาวที่ถูกเจฟฟรีย์ล่วงละเมิดทางเพศโดยการให้นวดและถูกจับหน้าอกขณะที่เจฟฟรีย์กำลังช่วยตัวเอง
“พวกเราต้องอยู่โดยมีแผลเป็นที่เกิดจากการกระทำของเขาตลอดชีวิต ขณะที่เขาไม่เคยได้รับผลสืบเนื่องจากอาชญากรรมที่เขาทำ ความเจ็บปวดและความรวดร้าวของเขาส่งผลต่อคนหลายคน” หญิงสาวรายหนึ่งซึ่งถูกข่มขืนขณะถูกดึงเข้าร่วมในวงจรอุบาทว์กล่าวหลังทราบข่าวการฆ่าตัวตายด้วยความโกรธ
แน่นอนว่าความโกรธนี้ได้รับการทุเลาลงบ้าง เมื่ออัยการจากนิวยอร์กให้ความมั่นใจว่า จะให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อทุกคนและทรัพย์สินมหาศาลของเจฟฟรีย์จะถูกยึดนำมาเป็นค่าชดเชยให้กับเหยื่อทุกคนอย่างแน่นอน
ทางอัยการนิวยอร์กยังได้ยกย่องว่า เหยื่อเหล่านี้คือผู้ที่กล้าออกมาบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงขอให้มั่นใจได้ว่า หลังจากนี้จะมีคนมีชื่อเสียงต้องถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์นี้อย่างแน่นอน
คนตายจึงตายจากไป ส่วนคนเป็นก็ต้องชดใช้ความผิดที่เกิดขึ้น
เธอผู้ไม่แพ้
หลังจากเจฟฟรีย์รอดจากคดีความผิดที่รัฐฟลอริด้า โดยถูกจองจำเพียงสั้นๆ แถมยังได้รับความสะดวกสบายอย่างมาก ก็เพราะอิทธิพลที่เขามีเส้นสายคนรู้จักอย่างมาก
นั่นจึงถือเป็นงานยากหากจะจัดการเขาได้อีกครั้ง
หลายคนเชื่อว่าเจฟฟรีย์น่าจะเอาตัวรอดไปได้ แต่ จูเลีย เค บราวน์ (Julie K. Brown) นักข่าวจาก หนังสือพิมพ์ไมอามี่ เฮรัลด์ ไม่เชื่อแบบนั้น ขณะที่เจฟฟรีย์เดินทางเที่ยวเตร่รอบโลกและยังคงมีอะไรกับเด็กสาวอายุน้อย จูเลียกลับนั่งลงอ่านเอกสารหลายร้อยหน้า ตามหาเหยื่อ ซึ่งในเอกสารมีเพียงนามสมมุติ เธอกับเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนต้องนั่งไล่แกะไล่แงะหาตัวเหยื่อ และเพียรไปพูดคุยอ้อนวอนจนเหยื่อยอมให้สัมภาษณ์
ความไม่ยอมแพ้ของเธอ ทำให้เธอสัมภาษณ์เหยื่อกว่า 80 คน ตีพิมพ์ข้อเขียนนำเสนอ จนในที่สุดข้อมูลของเธอเป็นหลักฐานที่อัยการนิวยอร์กสนใจและขอข้อมูลจากเธอ จนนำไปสู่การจับกุมอันลือลั่นครั้งนี้ได้
นักข่าวสาวที่โตมากับครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ชีวิตยากลำบาก ต้องส่งตัวเองเรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัย ทำงานหนักจนได้รับการยกย่อง เธอเกาะติดข่าวนี้ไม่ปล่อย แม้จะต้องประหยัดงบประมาณการทำข่าวสืบสวนสอบสวนชิ้นนี้ แต่ความสำเร็จของเธอก็คุ้มค่า เพราะได้รับเสียงชื่นชมยกย่องจากสำนักข่าวระดับชาติแทบทุกสำนัก
จูเลียกล่าวอย่างถ่อมตัว ว่าข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องของเธอ แต่เป็นเรื่องของเหยื่อที่กล้าออกมาพูดถึงบาดแผลจากการถูกรังแก
“นี่คือการค้นหาความจริง คือเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ คืออำนาจและคนที่พยายามนำเสนอเรื่องนี้ ซึ่งการล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ใช่เรื่องของความเห็นต่างในทางการเมือง”
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสื่อมวลชน ปรากฏการณ์ข่าวลวงข่าวหลอก การทำข่าวของเธอจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนยังคงจำเป็นท่ามกลางยุคสมัยที่ใครก็ทำข่าวได้ และนักข่าวที่มีคุณภาพ กัดไม่ปล่อย ไม่ยอมแพ้ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นปากเสียงให้กับคนที่ถูกรังแกเป็นจำนวนมาก กลายเป็นคติกำลังใจชั้นดีแก่สื่อมวลชน หากไม่ยอมแพ้ ก็ไม่มีทางที่จะแพ้
ทฤษฎีสมคบคิด?
ความตายของเจฟฟรีย์ยังคงสร้างเรื่องราวมากมาย แม้จะมีคนให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าความตายไม่ทำให้คดีจบสิ้น แต่ยังจะดำเนินต่อ แต่ข่าวลวงข่าวหลอกในอินเทอร์เน็ตกลับพูดถึงการลอบสังหารเพื่อตัดตอนหาผู้เกี่ยวข้องคนอื่น มีการสร้างโฆษณาชวนเชื่อว่าเจฟฟรีย์ตายเพื่อจะได้ไม่ซักทอดเพื่อนคนรู้จักของเขา เช่น โยงว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลัง มีการเอาแหล่งข่าวมาพูดยืนยันว่าเจฟฟรีย์ไม่น่าจะคิดฆ่าตัวตายได้ หรือการโยงถึงครอบครัวคลินตันว่าอยู่เบื้องหลังความตายนี้
เรื่องราวเชื่อถือไม่ได้ในอินเทอร์เน็ตเหล่านี้
ยิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อปธน.ทรัมป์
รีทวีตข่าวปลอมชิ้นนี้
สื่อเป็นนัยว่าครอบครัวคลินตันอยู่เบื้องหลังความตายของเจฟฟรีย์ การรีทวีตนี้ปรากฏเสียงด่าประณามรอบทิศ โดยเฉพาะสมาชิกฝั่งพรรคเดโมแครต ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความที่เจฟฟรีย์ เป็นเพื่อนกับทั้งคลินตันและทรัมป์ จึงมีคนโยงว่าทรัมป์อยู่เบื้องหลังความตายนี้ด้วย
เรียกได้ว่าอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสถานที่รวบรวมข่าวปลอมสุดแสนพิลึกอย่างมหาศาล แต่ปัญหามันหนักข้อขึ้นไปอีก เมื่อสื่อกระแสหลักดันนำเสนอทฤษฎีสมคบคิดนี้ด้วย
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะข้อมูลที่ตรวจสอบไม่ได้เหล่านี้เมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก ก็ยิ่งสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน แถมยิ่งประธานาธิบดี ผู้นำประเทศ ดันแชร์ข่าวปลอมด้วย มันยิ่งสร้างความหวั่นไหวในสังคมที่ข้อมูลข่าวสารไหลท่วม แต่คนจำนวนมากแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวง
ภายใต้ความตายของเจฟฟรีย์จึงมีประเด็นมากมายที่ถาโถมให้สังคมอเมริกาและวงการสื่อมวลชนต้องนั่งลงทบทวนวิเคราะห์ครุ่นคิดในสมรภูมิแห่งข่าวสารเป็นการด่วนเลยทีเดียว
#Metoo
ในรอบ 2-3 ปีมานี้ สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกานำเสนอข่าวอันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฎการณ์ #Metoo ที่หญิงสาวซึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศกล้าก้าวออกมาบอกเล่าเรื่องราวว่าถูกรังแกโดยบุคคลที่ทรงอิทธิพล โดยมีจุดเริ่มต้นจากวงการฮอลลีวูด จนทำให้ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เจ้าพ่อค่ายหนังขาใหญ่ในวงการชื่อดังต้องถูกดำเนินคดี รวมไปถึงคนในวงการสื่อมวลชน ทั้งผู้ประกาศข่าว นักแสดง ดาราตลก ผู้บริหารสื่อ ต่างถูกกระชากลากไส้ให้เห็นว่าภาพที่เป็นคนน่าเชื่อถือ แท้จริงแล้วพวกเขาคือนักล่าเซ็กส์ที่เอาอิทธิพล อำนาจ ตำแหน่งตัวเองมาบังคับหญิงสาวให้จำยอมถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ไม่เพียงเท่านั้น กระแส #Metoo ยังลุกลามไปแทบทุกวงการในหลากหลายประเทศ เรื่องราวอื้อฉาวของเจฟฟรีย์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ #Metoo ซึ่งย้ำเตือนผู้ทรงอิทธิพลทั้งหลายให้ทราบว่า ความผิดที่เขาก่อขึ้นในอดีตนั้น ต่อให้เอาใบบัวมาปิดทั้งตัวก็ไม่อาจบดบังจนมิดได้
และนี่คือยุคที่เหยื่อทางเพศลุกขึ้นยืนหยัดก้าวออกมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันแสนเจ็บปวดนี้ และทำให้โลกทราบว่า พวกเธอไม่ได้ผิดที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศดังที่สังคมในอดีตตราหน้า แต่ผู้มีอิทธิพลที่คิดว่าความเป็นชายนั้นยิ่งใหญ่มีอำนาจแสนเหลือเกินต่างหากที่เป็นคนผิด
บทสรุป
ความตายของเจฟฟรีย์มีประเด็นเรื่องราวมากมาย ทั้งข่าวปลอมระบาดไปทั่ว หรือความบกพร่องของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่เผยให้เห็นปัญหาของเรือนจำอเมริกา การกระทำของเจฟฟรีย์สะท้อนให้เห็นสังคมชายเป็นใหญ่ และคนที่มั่งมีสามารถกระทำผิดกฎหมายได้อย่างหน้าชื่นตาบาน ความร่ำรวยของเขา ทำให้เห็นว่าเส้นสายเป็นสิ่งที่ต่อยอดและสามารถเปลี่ยนผิดเป็นถูก หรือชะลอความผิดให้เบาบางยิ่งกว่าขนนกลงได้
แต่เรื่องราวของเจฟฟรีย์ก็นำเสนอให้เห็นการต่อสู้ไม่ยอมแพ้ของสื่อมวลชน ความกล้าหาญของเหยื่อที่ลุกยืนหยัด ความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รวบรวมหลักฐานดำเนินคดี และการให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการผู้เกี่ยวข้องทุกคนลงให้หมด รวมถึงจะอำนวยความยุติธรรมมาให้กับเหยื่อทุกคน
ดังนั้นความตายของเจฟฟรีย์จึงมีบทเรียน ทั้งน่าลืมเลือนและน่าชื่นชม แต่สิ่งสำคัญจากเรื่องราวทั้งหมดนี้ อาจพูดได้ว่า