การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2020 ถือว่าสนุกมาก โดยเฉพาะผู้ท้าชิงฝั่งพรรคเดโมแครตที่ตอนนี้กำลังขับเคี่ยวกันเป็นตัวแทนระหว่าง โจเซฟ ไบเดิน (Joseph Biden) อดีตรองประธานาธิบดีสมัยบารัค โอบาม่า (Barack Obama) กับวุฒิสมาชิก เบอร์นี่ แซนเดอร์ส (Bernard Sanders) ผู้ชนะการแข่งขันนี้จะไปท้าชนกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรครีพับลิกัน
4 ปีก่อนหน้านี้ เบอร์นี่เคยลงสมัครเป็นคู่ชิงตัวแทนพรรคเดโมแครตมาแล้ว ครั้งนั้นเขาไปแพ้ให้กับฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ซึ่งไปแพ้โดนัลด์ ทรัมป์อีกต่อหนึ่ง
ครั้งนี้เบอร์นี่ตัดสินใจลงแข่งขันอีกครา แม้คะแนนจะเป็นรองไบเดนจนมีโอกาสแพ้สูง แต่ความสำเร็จอย่างหนึ่งของเบอร์นี่ก็คือ เขาได้ชี้ให้เห็นปัญหาของสังคมอเมริกา ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน และอันตรายของระบบเสรีนิยมใหม่ ที่ทำให้คนรวยจะร่ำรวยยิ่งขึ้น ส่วนคนจนจะยากจนลง และหากเราไม่ทำอะไรสักอย่าง
สถานการณ์ทุกอย่างจะเลวร้ายลง
จนชีวิตของเราจะยากลำบากมากกว่าเดิม
1.
เบอร์นี่ แซนเดอร์ส เกิดเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1941 เป็นครอบครัวชาวยิวอพยพหนีภัยนาซีจากโปแลนด์ อาศัยในเมืองบรู๊กลิน รัฐนิวยอร์ก ฐานะทางบ้านเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ โดยคนที่พักในละแวกนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนยิว บางคนมีรอยสักตัวเลขที่ข้อมือ ต่อมาเบอร์นี่จะทราบว่าคนเหล่านี้เคยอยู่ในค่ายกักกันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่รอดมาได้
นอกจากชาวยิวอพยพแล้ว ยังมีชาวรัสเซียและกลุ่มคนจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมายังสหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ จุดนี้ทำให้เบอร์นี่ซึมซับกับสังคมที่หลากหลายผู้คนที่แตกต่างกันไปแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
พ่อของเขาอพยพมาอเมริกาโดยที่ไม่มีเงินและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว พ่อทำงานเป็นคนขายสี แม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงดูเบอร์นี่และพี่ชาย 2 พี่น้องเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แม้จะไม่อดอยาก แต่ก็ไม่ได้มั่งมีเงินทอง
ตอนเด็กนั้น เบอร์นี่จะระลึกไว้เสมอว่า ครอบครัวของพ่อทุกคนถูกฆ่าตายในค่ายกักกัน ฮิตเลอร์และนาซีเป็นบทเรียนแรกทางการเมืองในชีวิตของเบอร์นี่ตั้งแต่เด็ก
“เขาชนะเลือกตั้ง และมีคน 50 ล้านคนตายซึ่งเป็นผลของการเลือกตั้งครั้งนั้น ต่อมามีสงครามโลกครั้งที่ 2 คนยิว 6 ล้านคนถูกฆ่าตาย
ผมเรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็กว่า
จริงๆ แล้วการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
แม่มีความฝันอยู่เสมอว่า ฐานะครอบครัวจะต้องดีขึ้น จะได้ย้ายออกจากอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ไปอยู่บ้านหลังใหญ่กว่านี้ น่าเสียดายที่ความฝันนั้นไม่เป็นความจริง เพราะแม่เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 48 ปีเท่านั้น และ 2 ปีหลังแม่จากไป พ่อก็จากลาตาม ตอนนั้นตัวเบอร์นี่อายุเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้นเอง
ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เขาอ่านงานหลากหลายชนิด ทั้งจิตวิทยา สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ อ่านงานของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx), เลนิน (Lenin) และทร็อทสกี้ (Trotsky) เข้าร่วมคัดค้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวในวิทยาลัยและโรงเรียน ในยุคนั้นเบอร์นี่ได้เข้าร่วมต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างแข็งขัน การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในตอนนั้น ทำให้เขาพบรักกับภรรยาคนแรก แม้ต่อมาทั้งคู่จะหย่าร้างกัน แต่ก็มีพยานรักเป็นลูกชาย 1 คน
ก่อนจะเข้าสู่เวทีการเมือง เบอร์นี่ทำงานสารพัด ทั้งนักจิตเวทในโรงพยาบาล ครูในโรงเรียนมัธยมต้น ช่างไม้ นักเขียนฟรีแลนซ์ นักวิจัย โดยเพื่อนสนิทมักจะจำได้เสมอคือ เบอร์นี่ในตอนนั้น ดูไม่ค่อยมีเงินและหน้าที่การงานก็ไม่มั่นคงนัก
ต่อมาชายหนุ่มจะย้ายบ้านจากนิวยอร์กมาอยู่ในรัฐเวอร์มอนต์ เพราะอยากใช้ชีวิตในชนบทมากกว่าในเมือง ที่รัฐแห่งนี้ อาชีพนักการเมืองของเขาก็เริ่มต้นขึ้น
ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานบ่อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เบอร์นี่ทำเป็นประจำ ก็คือการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง มันเป็นสิ่งที่เขาชอบเป็นพิเศษ การได้พูดคุยกับผู้คนทั้งในคุก โรงไฟฟ้า โรงเรียนหรือโบสถ์ เบอร์นี่เคยไปเยี่ยมผู้คนตามบ้านเพื่อพูดคุยถกเถียงเรื่องราว เขาเชื่อว่าการไปเคาะประตูตามบ้านคนทำให้ได้เรียนรู้ ทั้งหมดที่ทำนี้ เขาทำมันอย่างเต็มที่ ไม่มีเหน็ดเหนื่อย ไม่มีท้อ
ชายหนุ่มเชื่อในความเสมอภาคของทุกคน สนับสนุนทั้งคนหนุ่มสาว คนแก่ คนจน และสิทธิของผู้หญิง ในยุคนั้นเบอร์นี่ไม่ได้เป็นฮิปปี้ ไม่ไปอาศัยในคอมมูนเหมือนคนหนุ่มสาวยุคนั้น
หลังจากว่างงานมาเป็นพักๆ เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดนักการเมืองก็ได้กลายอาชีพที่เบอร์นี่ยึดมั่นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
2.
เบอร์นี่ แซนเดอร์สลงลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกเพื่อชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในรัฐแวร์มอนด์ปี ค.ศ.1971 ในนามพรรค Liberty Union ซึ่งมีนโยบายต่อต้านสงคราม สนับสนุนคนชนชั้นล่าง แต่การเลือกตั้งครั้งแรกนั้น เขาสอบตกและต้องรอความสำเร็จทางการเมืองครั้งแรกไปอีก 9 ปี
โดยระหว่างนั้นเบอร์นี่เปิดบริษัทถ่ายสารคดีประวัติศาสตร์เอาไปฉายตามโรงเรียน เพื่อนๆ บอกว่าบริษัทและงานที่เขาทำดูจะทำเงินไม่ได้เลย แต่เบอร์นี่ชอบมันมาก เขาถ่ายสารคดีเรื่องราวของสหภาพ บุคคลทางการเมืองที่เขาชอบ และเอาไปให้เด็กๆ ดูเพื่อจะได้รู้ความจริงและเรื่องราวเหล่านี้
ตอนนั้นเบอร์นี่คิดว่าอาชีพนักการเมืองคงจะจบสิ้นไปแล้ว แต่เมื่อเพื่อนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชวนเขาลงเลือกตั้งอีกครั้ง เขาจึงตัดสินใจลองดูอีกสักตั้ง ในปี ค.ศ.1980 เบอร์นี่ก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นผู้ว่าเมือง Burlington
การได้รับเลือกครั้งนั้นเป็นความสำเร็จทางการเมืองครั้งแรกและกลายเป็นข่าวดัง เพราะเขาเป็นนักกิจกรรมที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า มีเงินเดือนเยอะกว่างานที่เขาเคยทำมาก่อน และที่แน่ๆ ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนด้วย
สื่อให้คำจำกัดความหลังจากสัมภาษณ์เขาว่า
เป็นพวกสังคมนิยม
เป็นผู้ว่าเสื้อแดงในขุนเขาสีเขียว
อย่างไรก็ดีผู้ว่าเสื้อแดงคนนี้กลับดำรงตำแหน่งถึง 4 สมัย โดยทุกสมัยคะแนนของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ ถูกจัดอันดับจากสื่อให้เป็นผู้ว่ายอดเยี่ยม และตอนทำงานเป็นผู้ว่านี่เอง เขาได้พบกับภรรยาคู่ชีวิตคนปัจจุบัน ซึ่งภรรยาคนนี้ถือเป็นที่ปรึกษาสำคัญต่อการทำงานการเมืองของเขาเสมอมา
10 ปีต่อมา เบอร์นี่ลงสมัครในสนามที่ใหญ่กว่า และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส. โดยไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ถือเป็นครั้งแรกของเมืองที่ได้ผู้สมัครอิสระเป็นส.ส. ในรอบ 40 ปี ซึ่งเบอร์นี่จะเป็นนักการเมืองที่ไม่สังกัดพรรคใดยาวนานที่สุดในสภาคองเกรส
โดยช่วงระหว่างการหาเสียงลงสมัครส.ส. ในปี ค.ศ.1990 นี้ เขามีโอกาสได้พบปะกับหนุ่มน้อย บารัก โอบาม่าด้วย เมื่อเขาชนะเลือกตั้งในตำแหน่งส.ส. 4 สมัย ก็ได้เวลาขยับไปสู่สนามวุฒิสมาชิกที่ใหญ่กว่าเดิม
ตอนจะชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในรัฐเวอร์มอนด์ พรรคเดโมแครตตัดสินใจสนับสนุนเขา วุฒิสมาชิกโอบาม่า อดีตหนุ่มน้อยเมื่อ 10 กว่าปีก่อนได้มาช่วยเบอร์นี่หาเสียงจนได้รับเลือกตั้งอีกด้วย
คนที่เลือกเบอร์นี่บอกว่า ชายคนนี้พูดความจริง นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เขาได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้เขายังยึดมั่นหลักการตั้งแต่วัยหนุ่ม การเมืองไม่ทำให้เขาเปลี่ยนไป เขาต่อต้านสงครามรุกรานอิรักเหมือนที่เคยต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่ย้ำว่าหากทหารกล้าเหล่านี้ออกรบแนวหน้าเพื่อปกป้องประเทศชาติ เมื่อพวกเขากลับมาก็ควรได้รับสวัสดิการที่ดียิ่งขึ้น
เมื่อตัดสินใจลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เบอร์นี่จะย้ำกับประชาชนไม่ว่าจะไปปราศรัยที่ไหนว่า การลงแข่งขันครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับตัวเขา มันไม่เกี่ยวกับเบอร์นี่ แซนเดอร์ส แต่มันเกี่ยวข้องกับพวกเรา คนอเมริกันทุกคน
3.
เบอร์นี่ แซนเดอร์สมีนโยบายที่ต้องการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของอเมริกา ต้องการโละหนี้การศึกษาของหนุ่มสาวอเมริกันที่มีถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญยูเอสดอลลาร์ทิ้งไป พร้อมทั้งกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง
สำหรับนโยบายแก้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ เขาเสนอโครงการ Green New Deal ซึ่งล้อไปกับนโยบายของอดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) เบอร์นี่ยืนยันว่าถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องสภาพอากาศ และในปี ค.ศ.2050 สหรัฐอเมริกาจะต้องหยุดใช้ถ่านหินโดยเด็ดขาด
โดย Green New Deal นี้เป็นโครงการที่จะใช้งบประมาณถึง 16.3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเป็นงบประมาณการต่อสู้เรื่องโลกร้อนสูงกว่าผู้สมัครคนไหนในพรรคเดโมแครต โดยเบอร์นี่ยืนยันว่าด้วยนโยบายนี้ภายใน 15 ปี จะสามารถหาเงินมาหมุนเวียนได้เอง และสร้างงานให้กับคนอเมริกันถึง 20 ล้านตำแหน่งด้วย
นอกจากนี้เขายังมีนโยบายจัดเก็บภาษีคนรวย โดยเล็งเป้าไปที่ผู้มั่งมี 1% ของอเมริกา ซึ่งเงินจากภาษีนี้จะเอาไปใช้ทำสวัสดิการแก่ประชาชน ทั้งนี้ตัวเขายังประกาศท้าชนบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิ้ล แอมะซอน ซึ่งจะต้องตรวจสอบรายได้อย่างเข้มข้น หลังจากที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถตรวจสอบบริษัทเหล่านี้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันของสังคมอเมริกันนั่นเอง
อีกนโยบายที่สำคัญก็คือเรื่องผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เบอร์นี่มีแนวคิดคนละด้านกับปธน.ทรัมป์ เขาไม่ต้องการให้มีการขับไล่ผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยควรให้ผู้บังคับใช้กฎหมายปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่อาชญากร
อย่างไรก็ดีชนชั้นนำในพรรคเดโมแครตมองว่า เบอร์นี่เป็นฝ่ายซ้ายจัด สื่อมวลชนกระแสหลักมองว่าจริง ๆ แล้วเบอร์นี่ไม่ใช่พวกซ้ายเลยด้วยซ้ำ การที่เขาพร่ำพูดแต่ระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ทำให้ชนชั้นนำในพรรคและสื่อมวลชนกระแสหลักมองว่า หากเขาเป็นตัวแทนพรรคก็มีโอกาสสูงที่จะไปแพ้โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะคนอเมริกาจำนวนมากไม่น่าจะต้องการเลือกนักการเมืองสุดโต่งเป็นประธานาธิบดี
แม้ผลโพลล์จะชี้ว่าเบอร์นี่มีโอกาสสูงที่จะคว่ำทรัมป์ได้เหมือนกัน แต่เขาถูกมองว่าไม่ใช่สมาชิกพรรคเดโมแครตของแท้ เพราะเคยเป็นนักการเมืองอิสระไม่สังกัดพรรคไหนมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาผู้สมัครหลายคนที่ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ล้วนไปสนับสนุนโจ ไบเดนมากกว่า
อุปสรรคอีกอย่างก็คือเรื่องอายุ ในการแข่งขันครั้งนี้เขามีอายุ 79 ปี ถือว่าอายุมากกว่าผู้สมัครคนไหน ก่อนหน้านี้เดือนตุลาคมปีก่อน เบอร์นี่เคยเข้าโรงพยาบาลเพราะมีอาการหัวใจวาย แม้จะยืนยันว่าหายดีแล้วก็ตาม แต่อายุขนาดนี้ มันก็ยิ่งทำให้หลายคนอดหวั่นเรื่องสุขภาพของเขาไม่ได้
สาเหตุทั้งหมดนี้ทำให้เส้นทางของเบอร์นี่กับชัยชนะในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ดูยากลำบากกว่าใครอื่นเขา แถมผลคะแนนที่ผ่านมา ยิ่งทำให้โอกาสของแซนเดอร์สค่อย ๆ หมดลงไปเรื่อย ๆ
สรุป
ในปี ค.ศ.1971 เบอร์นี่ แซนเดอร์สเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า พวกเราสามารถมีระบบการรักษาพยาบาลที่ฟรี โรงเรียนที่ดีเยี่ยม ที่อยู่อาศัยอันเพียงพอกับทุกคนได้ แต่ปัญหาก็คือทรัพยากรอันมั่งคั่งของประเทศนี้กลับอยู่ในมือคนไม่กี่คน แถมยังเป็นเจ้าของในทุกสิ่ง และคนส่วนมากไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย
“คนรวยจะยิ่งรวยขึ้น คนจนก็จะยิ่งจนลง คนส่วนมากที่อยู่ตรงกลางจะมีชีวิตที่ยากลำบากยิ่งขึ้น และสถานการณ์มันจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ”
มันเป็นเหมือนโลกสองใบของอเมริกา
สิ่งที่เบอร์นี่พูดเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ยังคงเป็นจริงและไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบันนี้
ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะกับการแข่งขันครั้งนี้ เบอร์นี่ แซนเดอร์สได้ปลุกให้สังคมอเมริกันครุ่นคิดถึงความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในสังคม แม้ว่าสุดท้ายแซนเดอร์สจะไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่เชื่อว่านโยบายแนวคิดหลายอย่างของเขาจะได้รับการสานต่อ ทั้งจากพรรคเดโมแครต และคนรุ่นต่อมาอย่างแน่นอน