‘อแล็ง (Alain)’ เป็นนามปากกาสุดแสนจะธรรมดาของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้มีนามจริงว่า เอมิล ชาร์เชร์ (Émile Chartier) เขาเคยเป็นอาจารย์ของมาร์แซ็ล พรุสต์ (Marcel Proust) ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ซีโมน เวล (Simone Weil) อ็องเดร โมรัวส์ (André Maurois) รวมถึงนักเขียนและปัญญาชนคนสำคัญของฝรั่งเศสอีกมากมาย
แม้ว่าทุกวันนี้ชื่อของอแล็งจะถูกแทนที่ด้วยอแล็ง บาดียู (Alain Badiou) ผู้เขียน ‘On Happiness’ และอเลน เดอ โบตอง (Alain de Botton) ผู้เขียน ‘Architecture of Happiness’ หรือในยามที่เราพยายามสืบหาหนังสือ ‘On Happiness’ หรือ ‘Propos sur le bonheur (ค.ศ.1928)’ ของอแล็ง (ธรรมดา) ก็มักจะไม่ปรากฏ หรือถ้ามีก็จะมาหลังชื่อของบาดียูและเดอ โบตองอยู่ร่ำไป
ทั้งที่จริงแล้ว อแล็งเป็นหนึ่งในนักประพันธ์ที่มีหนังสือตีพิมพ์ออกมามากมายมหาศาล เรียกว่าตั้งแต่ตำราปรัชญายุคคลาสสิก สู่ยุคกลาง ล่วงเลยมาถึงสมัยใหม่ เขาก็เขียนมาแล้วทั้งสิ้น หากก็เป็นไปได้ว่า โลกแองโกล-อเมริกันนั้นไม่ปลื้มกับผลงานของอแล็งสักเท่าไรนัก เพราะอย่าง On Happiness หรือ Propos sur le bonheur ก็ถือเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ชิ้นงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ
อแล็งเป็นนักปรัชญาที่มีความเชื่อมั่นว่า ถึงที่สุดแล้วนั้น วิชาปรัชญาไม่ควรจะเป็นสิ่งสูงส่งเข้าใจไม่ได้ ปรัชญาจะมีค่าความหมายก็เมื่อคนทั่วไปสามารถจะอ่าน คิดคำนึง และเข้าถึงด้วยภาษาสามัญ สำคัญเหนืออื่นใด
วิชาปรัชญาควรสนุก หรือสามารถนำมาเล่นได้
เพราะมันมิใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ดังที่เรากล่าวไปแล้วว่า อแล็ง หรือเอมิล ชาร์เช่นั้นประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ ซึ่งภายหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูชั้นสูง (École Normale Supérieure) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เขาก็ได้ย้ายไปเป็นครูที่เมืองป็องตีวีและลอรีอ็องต์ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ด้วยความกระตือรือร้นสนใจการเมือง เขาจึงได้เจียดเวลาเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าอย่าง ‘La Dépêche de Lorient’ ซึ่งเขาถือเป็นหนึ่งในปัญญาชนไม่กี่คนในเวลานั้นที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายทหารเดรย์ฟุส (Dreyfus) ผู้ถูกตัดสินอย่างอยุติธรรมว่า ‘ทรยศชาติ’
ในฐานะของนักหนังสือพิมพ์ อแล็งได้เขียนบทความวิพากษ์และกระชากเสื้อคลุมศีลธรรมของบุคคลต่างๆ ที่รุมกันกล่าวหาเดรย์ฟุสอย่างไม่ไว้หน้า
เหตุการณ์นี้เองได้ทำให้เขาค้นพบว่าวิชาปรัชญาไม่ควรจะอยู่แค่ภายในห้องเรียน หรือตำราวิชาการ เขาเรียนรู้ที่จะเป็นสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เผยแพร่ปรัชญาผ่านเรื่องราวซึ่งอยู่รอบๆ ราวๆ ตัวเรา
เขาได้ค้นคิดรูปแบบการเขียนใหม่ที่เรียกว่า propos หรือ ‘หมายเหตุ’ อันเป็นความเรียงยาวประมาณ 50-60 บรรทัด หรือไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ ที่แสดงความคิดเห็นออกมา โดยไม่มีการปรับแก้ หรือตกแต่งถ้อยความใดๆ ทั้งสิ้น
propos ของอแล็งคือการปลดปล่อยความคิดในเรื่องต่างๆ ให้หลากไหลเป็นถ้อยคำที่มีความสละสลวยและสามารถสื่อสารชวนเชิญให้ผู้อ่านฉุกคิด ตั้งแต่เรื่องที่มีส่วนร่วมได้ไม่ยาก เช่น เรื่องกีฬา ข่าวเรือไททานิคล่มไป จนถึงวรรณกรรมและปรัชญาที่ถูกย่อยให้ง่าย
กล่าวได้ว่า ข้อเขียนแต่ละชิ้นของอแล็งจึงมีลักษณะเป็น essai ในความหมายดั้งเดิมคือเป็น ‘การทดลอง’ กับความคิดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของเขา ซึ่งว่ากันว่ามีจำนวนมากกว่า 5,000 ชิ้น
เปรียบไปแล้วก็คล้ายๆ กับ
ที่เราในทุกวันนี้เรียกกันว่า ‘การตั้งสเตตัส’
หนังสือ On Happiness หรือ Propos sur le bonheur เกิดจากการรวบรวม propos ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความสุข’ ที่อแล็งได้ประพันธ์ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1909-1923 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 93 ชิ้นด้วยกัน ผลงานเล่มนี้จึงสามารถอ่านได้ทั้งในแบบเรียงตามลำดับ หรือสุ่มอ่านตามหัวข้อที่สนใจ ซึ่งก็ทำให้เราย้อนกลับมาอ่านซ้ำๆ ใหม่ได้เรื่อยๆ
โดยพื้นฐานทางปรัชญา อแล็งถือได้ว่ารับทอดแนวคิดมาจากเรอเน่ เดอ การ์ตส์ (René Descartes) และบารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) ดังนั้นเขาจึงให้ค่าความหมายกับ ‘ความเป็นจริงสูงสุด’ หรือ ‘การมีชีวิต’ มากกว่า ‘ความตาย’ ‘ความสุข’ มากกว่า ‘ความทุกข์ตรม’
อแล็งเห็นเช่นเดียวกับสปิโนซาที่ว่า ถ้าไม่นับความเจ็บปวดที่เกิดกับร่างกายโดยตรงแล้ว ความไร้สุขเกือบทั้งหมดของเรานั้นมาจากเพทนาการ (passion)
สิ่งที่เราเรียกว่า ความทุกข์นั้นเป็นส่วนผสมของอารมณ์และความนึกคิด เขาเชื่อว่า ความทุกข์นั้นสามารถควบคุมและกำหนดร่างกาย และเพราะมนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจหักห้ามอารมณ์ หรือความคิดได้ ความทุกข์จึงมักเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ถึงกระนั้นเราสามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายได้ และจากความเคลื่อนไหวนี้เองทำให้เราสามารถต่อสู้ หรือก้าวพ้นออกจากความทุกข์ได้
เขาได้ยกตัวอย่างของนักแสดงเปียโนที่ก่อนขึ้นเวทีรู้สึกกลัวจนตัวสั่น แต่ครั้นเมื่อได้นั่งลงบรรเลง ความรู้สึกหวาดหวั่นทั้งหลายก็ค่อยๆ หายไป
การก้าวพ้นความกลัว ความโกรธ หรือกระทั่งความทุกข์จึงอาจเริ่มต้นจากการขยับร่างกาย การลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งทันทีที่เราเคลื่อนไหว ความคิด และอารมณ์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จึงไม่น่าแปลกแต่อย่างใดที่อแล็งจะยกย่อง ‘การหาว’ หรือ ‘การบิดขี้เกียจ’ ซึ่งเขาชี้ให้เห็นว่าสามารถสลายความตึงเครียดและความรู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่านใจของเราให้หายได้โดยเฉียบพลัน
ดังที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า On Happiness หรือ Propos sur le bonheur เป็นการรวบรวมข้อเขียนต่างกรรมต่างวาระเข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสะดุดใจอย่างยิ่งที่เขาจะเขียนถึงตำนานแห่งเออร์ (Er) ที่อยู่ใน Republic ของเพลโต (Plato) ถึง 2 ครั้งด้วยกัน
ใครที่เคยอ่าน Republic ย่อมจะจำได้ว่า ตำนานแห่งเออร์เป็นเรื่องราวของชายผู้มีนามว่า เออร์ ที่ถูกเข้าใจว่าเสียชีวิต เลยถูกส่งตัวไปโลกแห่งความตาย (Hades) เพียงแต่เขายังไม่ถึงคราวตายจึงได้กลับขึ้นมา และบอกเล่าสิ่งที่เขาเห็นในยมโลก เช่นเรื่องว่า วิญญาณทั้งหลายสามารถเลือกได้ว่าจะจดจำความสุขเศร้าของชีวิตก่อนหน้า หรือจะกลับมาพร้อมความหลงลืม เพื่อเริ่มต้นใหม่ ซึ่งวิญญาณส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดมักเลือกอย่างหลัง