Dantons Tod หรือ Danton’s Death เป็นบทละครที่ ‘เกออร์ก บืชเนอร์ (Georg Büchner)’ ประพันธ์ขึ้นภายในเวลาเพียง 5 สัปดาห์ เพื่อแลกกับเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อใช้ลี้ภัยทางการเมือง และได้กลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่กล่าวถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสในแบบฉบับที่สมจริงและมีชีวิตมากที่สุด
Danton’s Death บอกเล่าเรื่องราวในช่วงภายหลังการปฏิวัติปี ค.ศ.1789 ในห้วงเวลาที่เรารู้จักในชื่อยุคแห่งความสะพรึง (Reign of Terror) ที่มักซิมิลิยง โรเบสปิแยร์ (Maximilien Robespierre) ผู้นำการปฏิวัติคนสำคัญของกลุ่มฌาโกแบ็ง (Jacobin) ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจ และเริ่มใช้อำนาจนั้นในการกำจัดผู้ขัดขวางการปฏิวัติโดยไม่เลือกฝ่าย ฌอร์จส์ ด็องตง (Georges Danton) ผู้เคยมีบทบาทอย่างมากในการโค่นล้มฝ่ายกษัตริย์นิยมกลับเริ่มเหนื่อยหน่ายกับการปฏิวัติ เขาถูกกล่าวหาว่าใช้ชีวิตสุขสบายในท่ามกลางความยากจนของประชาชน หรือได้กลายเป็น ‘เจ้า’ จากการปฏิวัติ
ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างโรเบสปิแยร์กับด็องตงค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้ด็องตงถูกมองเป็นฝ่ายปฏิปักษ์การปฏิวัติจนนำไปสู่การประหารชีวิต
นอกจากตัวละครหลักที่กล่าวมาแล้ว บืชเนอร์ยังได้ชุบชีวิตบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อาทิเช่น แซ็งต์-ฌุสต์ (Saint-Just) กามิลล์ (Camille) มาราต์ (Marat) และ โธมัส เพน (Thomas Paine) นักคิดชาวอังกฤษผู้เขียนผลงาน common sense หรือสามัญสำนึก ให้มีบทบาทในละครเรื่องนี้อีกด้วย
แม้จะใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่บืชเนอร์ได้ใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายในการสร้างฉากเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมา จนเรียกได้ว่าบทละครชิ้นนี้มีข้อมูลทางวิชาการหนักแน่นเกือบจะเทียบเท่าได้กับงานประวัติศาสตร์นิพนธ์
ในมุมมองของบืชเนอร์ Danton’s Death เป็นการนำประวัติศาสตร์การปฏิวัติมาเล่าใหม่อย่างมีชีวิตชีวาสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจะพบว่า ทั้งคำพูดของโรเบสปิแยร์และด็องตงนั้นสอดคล้องกับคำกล่าวจริงๆ ที่ได้รับการบันทึกเอาไว้
เพียงแต่อาจได้รับการตกแต่งสลับตำแหน่งถ้อยคำ
เพื่อเน้นย้ำความหมายให้ชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม บืชเนอร์ค่อนข้างระมัดระวังในการนำเสนอเรื่องราว และให้ความยุติธรรมต่อตัวละครต่างๆ ที่แน่นอนว่าเป็นบุคคลจริง โดยเขาได้แสดงให้เราเห็นว่า ทั้งโรเบสปิแยร์และด็องตง ต่างก็เป็นคนที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่างระคนกันไป ไม่มีใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายในเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายแท้จริงของบืชเนอร์ก็คือการพยายามทำความเข้าใจการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 ซึ่งแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นของอุดมการณ์ยิ่งใหญ่แต่กลับนำไปสู่ความล้มเหลวในบั้นปลาย ทั้งในแง่ที่ไม่อาจรักษาอุดมการณ์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้ รวมถึงนักปฏิวัติหลายคนกลายสภาพเป็นชนชั้นนำแสวงหาความสุขสบายส่วนตัวจนหลงลืมจุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลง
กล่าวเช่นนี้เราอาจคิดไปว่าเกออร์ก บืชเนอร์อาจเป็นฝ่ายปฏิกิริยาที่มีใจให้ฝ่ายกษัตริย์นิยม หากที่จริงแล้ว เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์การปฏิวัตินับตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม
ในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ.1830 ซึ่งเป็นการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 แห่งราชวงศ์บูร์บง หรือที่เรียกกันว่า การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution) ที่นำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องในประเทศต่างๆ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสำนึกและความคิดของนักเรียน-นักศึกษาในเวลานั้นอย่างมาก บืชเนอร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาได้เขียนความเรียงชิ้นหนึ่งขึ้นมาเพื่อบอกเล่าถึงวีรกรรมของชาวเมืองฟอร์ซไฮม์ 400 คนที่ต่อสู้กับกองกำลังคาทอลิกในปี ค.ศ.1622 โดยเขาได้ขึ้นต้นบทความดังกล่าวด้วยถ้อยคำของกวีเอากุสท์ เบือร์เกอร์ (August Bürger) ที่ว่า
“การพลีชีพเพื่อคุณธรรม เพื่อสิทธิ และเสรีภาพแห่งมวลมนุสสา
เป็นความกล้าหาญสูงสุด เยี่ยงมรณาของพระผู้ไถ่ให้โลกา”
บืชเนอร์ศรัทธาในระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐมากกว่ากษัตริย์จึงไม่แปลกที่สุนทรพจน์ก่อนการจบภาคเรียนในปี ค.ศ.1830 เขาได้ยกเอาเรื่องราวของคาโต (Cato) ผู้นำชาวโรมันในระบอบสาธารณรัฐที่เลือกการทำอัตวิบาตกรรม หลังพ่ายแพ้ให้แก่ซีซาร์ แม่ทัพชาวโรมันผู้เผด็จการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่เขาเข้าเรียนแพทย์ที่ชตาร์สบวร์ก เมืองมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ซึ่งเป็นพรมแดนเชื่อมต่อระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส ก็ทำให้เขาได้ซึมซับวัฒนธรรมการเมืองของฝรั่งเศสภายหลังจากการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
จนเมื่อบืชเนอร์ได้ย้ายไปเรียนต่อที่เมืองกีเซน เขาจึงได้เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่า หนทางในการแก้ไขสภาพบ้านเมือง ณ เวลานั้นมีเพียงอย่างเดียวคือ ‘การปฏิวัติ’ แต่จะไม่ใช่แค่โดยนักศึกษา ปัญญาชน หรือนักการเมืองฝ่ายค้าน แต่จะเป็นการปฏิวัติของประชาชน บืชเนอร์จึงลงมือเขียนใบปลิวปลุกระดมขึ้นมาในปี ค.ศ.1834 ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ ผู้ประกาศแห่งเฮสเซ่น (Der Hessische Landbote) และด้วยเพราะสมาชิกผู้ก่อการคนหนึ่งนำความไปแจ้งแก่ตำรวจรัฐ สมาชิกคนอื่นๆ จึงถูกติดตามจับกุม ส่งผลให้บืชเนอร์ต้องลี้ภัย และเขียนบทละคร Danton’s Death เพื่อแลกกับเงินจำนวนหนึ่งเพื่อหลบหนี ซึ่งว่ากันบืชเนอร์เดินทางไปก่อนเงินดังกล่าวจะมาถึงเพียงหนึ่งวัน