เดอนีส์ ดิเดโรต์ (Denis Diderot) เป็นหนึ่งในปัญญาชนฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 18 มีชีวิตร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันกับ ฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Roussau) และวอลแตร์ (Voltaire) สองนักเขียน-นักปราชญ์เรืองนามแห่งยุคแสงสว่าง (Enlightenment) หากโลกมักจดจำดิเดโรต์เพียงในฐานะ บรรณาธิการผู้จัดทำ ‘L’Encyclopédie (ค.ศ.1751)’ หนังสือรวบรวมองค์ความรู้จากศาสตร์แทบทุกแขนง อันเป็นต้นแบบสารานุกรมทั้งหลายในปัจจุบัน ร่วมกับฌ็อง เลอ ร็องด์ ดาล็องแบรต์ (Jean le Rond d’Alembert) นักเขียนคนสำคัญในยุคแสงสว่างอีกคน และ นักเขียนอเทวนิยม (Atheism) และสสารนิยม (Materialism) ที่ถูกมองว่าเป็นความคิดอันตรายอย่างยิ่งยวดสำหรับห้วงเวลาดังกล่าว
เพราะเมื่อเปรียบกับวอลแตร์และรุสโซ ที่แม้จะมีทัศนะทางการเมืองก้าวหน้า แต่ทั้งคู่ก็ยังเชื่อในพระเจ้า หรือเป็นเทวนิยม (Deism) ซึ่งตรงข้ามกับดิเดโรต์ อดีตพระฝึกหัดนิกายเยซูอิต นักเขียน-นักแปล ผู้สมาทานแนวคิดทางปรัชญาจากบารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) ปราชญ์คนสำคัญจากศตวรรษที่ 17 ที่มองว่า จิต (mind) การแสดงตนของพระเจ้า (manifestation of the divine) และสสาร (matter) ล้วนมีอยู่ในการสร้างสรรค์ของ ‘ธรรมชาติ’
พระเจ้าจึงสถิตในทุกสรรพสิ่ง ซึ่งสำหรับศาสนจักรแล้ว นี่เป็นความเชื่อแบบสรรพเทวนิยม (Pantheism) ที่เป็นความคิดนอกรีต และเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่งยวด
ในผลงาน ‘Pensées philosophiques (ค.ศ.1746)’ หรือ Philosophical Thoughts ดิเดโรต์พยายามหาจุดประสานระหว่างเหตุผลและอารมณ์-ความรู้สึก ซึ่งเขาเห็นว่าหากปราศจากอารมณ์แล้วไซร้ การตระหนักถึงความดีงามของมนุษย์ก็คงเป็นไปไม่ได้ ผลงานดังกล่าวยังคงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในพระเจ้าของดิเดโรต์ จนกระทั่งเขาเริ่มประพันธ์ Promenade du sceptique (ค.ศ.1747) หรือ The Skeptic’s Walk ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างเทวนิยม อเทวนิยม (Atheism) และสรรพเทวนิยมเกี่ยวกับธรรมชาติของพระเป็นเจ้า จึงได้เริ่มปูทางไปสู่การปฏิเสธการมีอยู่ของพระองค์
ดังที่ปรากฏใน Lettre sur les aveugles (ค.ศ.1749) หรือ Letter on the Blind ผลงานที่ตีพิมพ์ เมื่อตอนดิเดโรต์อายุได้ 35 ปี เป็นข้อเขียนที่ว่าด้วยเรื่องของคนตาบอด ทั้งที่มีตัวตนจริงและถูกสร้างขึ้นใหม่ โดยมีนัยทางปรัชญาเปรียบกระทบผู้มีศรัทธาทางศาสนา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่มาลากตัวไปนอนคุกนานร่วม 3 เดือน และในวันที่เขาถูกปล่อยตัวออกมา พัสดียังได้กำชับว่า ถ้าถูกส่งมาหนต่อไป เขาก็จะต้องอยู่ในนี้ ไม่ใช่แค่หลักเดือน แต่เป็นหลักสิบปีเลยทีเดียว ดิเดโรต์รู้ดีว่า นี่ไม่ใช่คำขู่ลอยๆ แต่อย่างใด เพราะหลังได้รับอิสรภาพ เขาก็ถูกเฝ้าสอดส่องติดตามโดยคนของทางการในทุกที่ทุกเวลา จนทำให้เขาไม่สามารถไปในที่สาธารณะเพื่อพูดคุยเสวนากับเพื่อนๆ เรื่องปรัชญา การเมือง หรือตีพิมพ์งานที่สุ่มเสี่ยงล่อแหลมได้โดยไม่ถูกเพ่งเล็ง
ด้วยก่อนหน้าการถูกจับกุมคุมขัง ดิเดโรต์ถือเป็นนักสนทนา (conversationsit) ที่มักออกไปพบปะพูดคุยกับผู้คนในสังคมตามซาลง (Salon) และคาเฟ่ต่างๆ อยู่เป็นนิจสิน แต่แล้วเขาจำต้องจำกัดบทบาททางสังคม รวมถึงการตีพิมพ์ผลงานต่างๆ นั่นทำให้มิตรสหายทั้งในและนอกวงการเข้าใจไปว่าเขาคงจะไม่ทำงานใดอื่นอีกแล้วนอกจาก L’Encyclopédie จนกระทั่งวอลแตร์เองยังได้กล่าวถึงดิเดโรต์ไว้ว่า “เขาเริ่มต้นด้วยโลกอภิปรัชญาสูงส่ง ก่อนจะลงไปยังโรงทอผ้า และก้าวเข้าไปในโรงละคร”
ต่อมาเมื่อดิเดโรต์จากโลกนี้ไปในช่วง 5 ปี หรือก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 เราจึงได้ทราบว่า เขาได้เขียนผลงานไว้มากมายและเก็บซ่อนไว้ในหีบบนห้องใต้หลังคา ต้นฉบับเหล่านั้นมีข้อเขียนทางปรัชญา ทฤษฎีการเมือง เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา และผลงานที่เราได้อ่านกันอยู่ในปัจจุบันเช่น La Religieuse (ค.ศ.1792) และ Jacques le Fataliste et son maître (ค.ศ.1792) ซึ่งเรื่องหลังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่แปลกล้ำนำสมัยมากที่สุดในโลกของวรรณกรรม และจัดว่าเป็นข้อเขียนที่ดีที่สุดของดิเดโรต์ชิ้นหนึ่ง
Jacques le Fataliste et son maître หรือ Jacques the Fatalist บอกเล่าเรื่องราวของเจ้านาย (นิรนาม) กับคนรับใช้นามว่า ฌาคส์ ผู้แบกรับความเชื่อที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดกับเรา ณ ที่นี่ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ได้ถูกเขียนไว้เบื้องบน” เป็นเสมือนหลักคิดที่ฌาคส์รับมาจากผู้บังคับบัญชาขณะที่เขายังเป็นพลทหาร มองอย่างผิวเผิน ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงความติดยึดในโชคในโชคชะตา (Fatalism) แต่ครั้นถ้าพิจารณาลงไปเราจะพบว่า บทสนทนาหลายตอนในเรื่อง ดิเดโรต์ใช้ความเชื่อนี้โต้แย้งการแสวงหาความรู้ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว
ฌาคส์กับเจ้านายของเขา เดินทางไปหนไหนหรือด้วยเหตุใด ไม่อาจทราบได้ เพราะ ‘ข้าพเจ้า’ ผู้เล่าเรื่องได้เก็บงำไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยระหว่างการเดินทางนั้น นายและบ่าวได้สนทนาวิสาสะกันในเรื่องต่างๆ ซึ่งหนึ่งในเรื่องหลักก็คือ ‘เรื่องราวความรักของฌาคส์’ ที่เล่าไปได้ไม่ถึงไหนก็มักจะถูกขัดจังหวะ ทั้งจากเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง ทั้งจาก ‘ข้าพเจ้า’ เองที่มักจะออกโรงมาพูดคุยกับเราคนอ่าน อวดอ้างตน หรือแสดงอภิสิทธิ์ เช่นที่ปรากฏในตอนต้นเรื่อง ว่า
เห็นไหมท่านผู้อ่าน ว่าข้าพเจ้านั้นเป็นคนกุมบังเหียน
และข้าพเจ้ามีอำนาจอย่างเต็มที่ในการบันดาลให้ท่านต้องเป็นปี สองปี สามปี
เพื่อจะได้ฟังเรื่องราวความรักของฌาคส์ โดยการจับทั้งแยกจากกัน
เพื่อไปผจญภัยฝ่าอันตรายก่อนจะกลับมาพบกันใหม่ ตามแต่ใจข้าพเจ้า
กระทั่ง ‘ข้าพเจ้า’ กระทำตัวเป็นเสียงในใจของ ‘เรา’ คนอ่าน
ฟ้าสางวันใหม่ บัดนี้พวกเขาได้ขึ้นนั่งบนม้า แล้วออกเดินทางต่อไป พวกเขากำลังจะเดินทางไปไหนกัน
นี่เป็นครั้งที่สองแล้วนะที่ท่านถามคำถามนี้กับข้าพเจ้า และก็เป็นครั้งที่สองแล้วที่ข้าพเจ้าจะตอบว่า
มันธุระกงการใดของท่าน ด้วยว่าถ้าข้าพเจ้าบอกจุดหมายของการเดินทาง ท่านก็บอกลาเรื่องราวความรักของฌาคส์ได้เลย…
หรือบางครั้ง ‘ข้าพเจ้า’ ก็มีเรื่องเล่าของตนเองที่อยากเล่ามากกว่าเรื่องราวของฌาคส์กับเจ้านาย จนหลายครั้งก็ยกมาเล่าแทนขึ้นมาดื้อๆ
กล่าวได้ว่า Jacques le Fataliste et son maître เป็นนวนิยายในความหมายที่แปลกต่างจากนวนิยายทั่วไป ณ เวลานั้น ด้วยโครงสร้าง การเล่าเรื่อง การสอดแทรก และขัดจังหวะด้วย ‘เรื่องเล่า’ และ ‘เหตุการณ์’ ต่างๆ ซ้อนทับกันไปกันมา ทำให้เราคนอ่านสนใจใคร่รู้ และชวนให้ติดตาม โดยสอดแทรกทัศนะทางปรัชญา การเมือง และแม้แต่ทฤษฎีวรรณกรรมลงไป โดยไม่ทำให้เราคนอ่านเกิดความสับสนงุนงง ว่าใครเป็นผู้เล่า หรือเป็นเรื่องราวของใคร ซึ่งสำหรับนวนิยายจำนวนมากในเวลานั้น (ศตวรรษที่ 17-18) มักจะต้องแบ่งเป็นบทตอนแยกย่อย หรือขึ้นหัวข้อว่าเป็นเรื่องราวอะไร
หากสิ่งที่ดิเดโรต์ทำกลับเป็นการถักทอเรื่องเล่า หรือเสียงเล่าที่แตกต่างหลากหลายทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งเทคนิควิธีเหล่านี้ดูจะแปลกล้ำนำสมัย หากก็เป็นแนวทางที่สอดพ้องกับงานเขียนในยุคสมัยใหม่ เช่น นวนิยายกลุ่มนูโว-โรม็อง (Nouveau-Roman) ในฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการทดลองกับรูปแบบและวิธีการเล่าเพื่อถ่ายทอดความเป็นจริง หรือมุมมองเกี่ยวกับความเป็นจริงเสียใหม่ ผิดเพียงแต่ผลงานของดิเดโรต์เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเกือบสองร้อยปี
กระทั่งกระบวนการเล่าเรื่องบางบทตอนทำให้เราคนอ่านพานนึกไปถึงฉากในภาพยนตร์ได้ก็เช่นตอนที่ฌาคส์และเจ้านายของเขาต้องไปพักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ซ่องสุมของโจรและคนเถื่อน
ฌาคส์และเจ้านายกำลังนอน แต่ไม่สามารถจะหลับตาลงได้เพราะห้องข้างๆ ส่งเสียงดังเหลือเกิน จนที่สุด ฌาคส์ก็ผลุนผลันออกไปพร้อมกับปืนสองกระบอก เจ้านายพยายามห้ามเท่าไร ฌาคส์ก็ไม่ฟัง ฌาคส์เปิดประตูห้องข้างๆ พร้อมกับเอาปืนจ่อไปที่คนโฉดทั้งหลาย บอกให้พวกเขาถอดเสื้อผ้า และเข้านอนได้แล้ว จากนั้นเขาก็หยิบเอาเสื้อผ้าของคนเหล่านั้นมา แล้วล็อกประตูห้องด้วยกุญแจ เมื่อถึงรุ่งเช้า เจ้านายของเขาก็รีบปลุกฌาคส์ให้รีบออกจากโรงแรมให้เร็วที่สุด ด้วยกลัวว่าจะถูกคนโฉดเหล่านั้นบุกเข้ามาแก้แค้น
ฌาคส์ที่ดูเหมือนจะไม่ทุกข์ร้อนใดๆ แต่ไม่ลืมที่จะล็อกประตูห้องของเขาเอง ขณะออกเดินทางไปอย่างเชื่องช้า เจ้านายจึงถามว่า ทำไมฌาคส์จึงไม่รีบร้อน ฌาคส์จึงอธิบายว่า พวกนั้นต้องพังประตูถึงสองบานกว่านะออกจากโรงแรมได้ บานแรกคือห้องของตัวเอง บานที่สองคือห้องของฌาคส์และเจ้านาย
หลังจากสองคนเดินทางไปได้สักพักหนึ่งก็มีฝูงขบวนผู้คนเดินถืออาวุธครบมือติดตามมา พวกนั้นน่าจะเป็นพวกคนเถื่อนในโรงแรมที่ออกมาติดตามฌาคส์กับเจ้านาย ตามท้องเรื่องแบบนิยาย แต่แล้ว ‘ข้าพเจ้า’ ผู้เล่าเรื่องก็แทรกตัวเข้ามา เพื่อกล่าวว่า เขาไม่ใช่เป็นนักเขียนนวนิยายทั่วไป ดังนั้นเหตุการณ์ทั้งสองจึงไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกัน ซึ่งก็เป็นการหักมุมอย่างชนิดที่ยียวนกวนบาทา
ต้องกล่าวว่า การปรากฏตัวของ ‘ข้าพเจ้า’ ผู้เล่าเรื่องนั้นทำให้ Jacques le Fataliste et son maître มีความเป็น metafiction ในแง่ของการทำให้เราคนอ่านตระหนักรู้ หรือเกิดสำนึกว่าตนเองอยู่ในเรื่องเล่าตลอดเวลา ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น เพราะนับจากจุดเริ่มต้น ‘ข้าพเจ้า’ ได้เชื้อชวนและท้าทายให้เราผู้อ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องโดยตลอด แต่การยั่วแหย่นี้เป็นไปอย่างลงตัวมากกว่าทำให้เรารำคาญใจ เช่นเดียวกับตัวละครอย่างฌาคส์เองที่บางครั้งก็มีส่วนใน ‘การขัดจังหวะ’ การเล่าเรื่องด้วยการขอยกแก้วขึ้นดื่มให้กับตัวละคร หรือบุคคลที่ถูกเอ่ยถึงในเรื่องเล่า (ผ่านปากของตัวละคร) รวมถึงเหตุการณ์และตัวละครอื่นๆ ที่แทรกเข้ามา