รู้สึกไหมครับว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้บ่อยครั้งจนผิดสังเกต?
ช่วงเวลาดังกล่าวดันมาพ้องกันพอดีกับการรับตำแหน่งเดือนแรกของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนเหล่ากองแช่งนำไปจับแพะชนแกะว่าท่านผู้ว่ามาพร้อมกับดวงเผาบ้านเผาเมือง แถมยังทำนายทายทักอีกว่าเดือนต่อๆ ไปจะมีสารพัดภัยพิบัติต่อคิวรอ
ไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยจะคล้อยตาม เพราะหลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้ในกรุงเทพฯ บ่อยจริงๆ ทั้งที่ผ่านมาข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่แทบไม่ได้อยู่ในความทรงจำ
อย่างนั้นเราสามารถสรุปได้เลยไหมว่า
ดวงของท่านผู้ว่าคนใหม่อาจไม่ถูกกับดวงเมืองกรุงเทพฯ?
ผมไม่เคยร่ำเรียนวิชาโหราศาสตร์จากสำนักไหน เลยขอใช้วิชาสถิติพื้นฐานที่ร่ำเรียนมาเพื่อตอบคำถามว่าเหตุการณ์ไฟไหม้ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น ‘มากผิดปกติ’ อย่างที่เรารู้สึกจริงหรือเปล่า
จากข้อมูลของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เหตุไฟไหม้อาคารที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าดับเพลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม พ.ศ.2565 เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 131 ครั้ง เฉลี่ยราวเดือนละ 26 ครั้ง หากจะสรุปว่าเกิดเหตุไฟไหม้ในเดือนที่แล้วมากกว่าเดือนอื่นๆ อย่าง ‘มีนัยสำคัญทางสถิติ’ เหตุไฟไหม้ทั้งหมดในเดือนมิถุนายนจะต้องมากกว่า 38 ครั้ง[i] และต่อให้ตัวเลขสูงผิดปกติจริง เราก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยอีกมากมายหลายหลากก่อนที่จะสรุปได้ว่าเป็นเพราะ ‘ดวง’ ของท่านผู้ว่าคนใหม่
แต่สงสัยกันไหมครับว่าทำไมหลายคนรวมถึงตัวผมเอง ‘รู้สึก’ ว่าเดือนที่แล้วเกิดเหตุไฟไหม้บ่อยครั้ง?
ที่ผมเน้นคำว่า ‘รู้สึก’ ก็เพราะสมองของเราอาจกำลังถูกหลอกด้วยความถี่ของข่าวสารที่รับรู้นำไปสู่อคติสามัญธรรมดาที่ชื่อว่า ‘availability bias’ ซึ่งผมขอแปลว่า ‘อคติจากการนึกออกได้ง่าย’
นอกจากอคติดังกล่าวจะอธิบายสาเหตุที่ชวนให้เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ว่าฯ คนใหม่แล้ว ยังสามารถตอบคำถามที่ว่า (1) ทำไมเราถึงหลีกเลี่ยงการกระทำหนึ่งอย่างเพราะความหวาดกลัว แล้วเลือกกระทำอีกอย่างหนึ่งซึ่งเสี่ยงยิ่งกว่า (2) ทำไมต่อให้ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ยืนยันว่าบางอย่างเป็นอันตรายอย่างยิ่ง คนจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะเมินเฉย (3) ทำไมการต้องเจอเรื่องแย่ๆ แต่กลายเป็นข่าวดังอาจเป็นผลดีในระยะยาว และ (4) ทำไมคนที่ใกล้ชิดที่สุดห้าคนจึงส่งผลอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา
เมื่ออคติทำให้เราเข้าใจผิด
ในแต่ละวันเรามีเรื่องต้องตัดสินใจนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การเดินทาง หรือกิจวัตรประจำวัน มนุษย์ปุถุชนจึงต้องสร้าง ‘ทางลัดทางความคิด’ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจรวดเร็วและไม่เป็นภาระของสมองมากนัก แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วเทคนิคดังกล่าวจะใช้งานได้ดี แต่บางครั้งการตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณก็อาจทำให้เกิด ‘อคติ’ นำไปสู่การตัดสินใจหรือการเข้าใจโลกแบบผิดๆ ได้นั่นเอง
แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) และ เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ศึกษาเรื่องอคติจากการนึกออกได้ง่ายตั้งแต่เมื่อราวห้าทศวรรษก่อน พวกเขาพบว่ามนุษย์ปุถุชนมักจะประเมิน ‘ความน่าจะเป็น’ ของเหตุการณ์ใดๆ โดยอิงจากความง่ายที่จะย้อนนึกในความทรงจำไม่ว่าจะเป็นเพราะเห็นผ่านตาบ่อยครั้ง หรือเหตุการณ์นั้นแปลกประหลาดจนจดจำได้ง่าย ยิ่งนึกออกง่ายเท่าไหร่ ความน่าจะเป็นก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมองของเราไม่ได้มีพลังในการประมวลผลมากพอที่จะทบทวนความทรงจำทั้งหมดในหัวของเรานั่นเอง
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมองของเรา ‘รับรู้’ ข่าวสารเกี่ยวกับเพลิงไหม้ในกรุงเทพฯ บ่อยกว่าปกติ เนื่องจากสื่อส่วนใหญ่ให้พื้นที่ค่อนข้างมากเพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของผู้ว่าฯ คนใหม่หมาด กลายเป็นการสร้างอคติที่ทำให้เราเข้าใจไปเองว่าเหตุอัคคีภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าความเป็นจริง ทั้งที่สถิติจริงๆ อาจไม่ใช่ก็ได้
Availability bias คือสาเหตุที่คนจำนวนไม่น้อยหวาดกลัวที่จะโดยสารเครื่องบินเพราะสามารถ ‘ย้อนนึกถึง’ เหตุการณ์เครื่องบินตกที่เห็นจากข่าวได้ง่ายกว่าอุบัติเหตุทางท้องถนน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทยนั้นมากกว่าโอกาสที่เครื่องบินตกถึง 2,000 เท่า[ii]
เช่นเดียวกับการที่นักวิทยาศาสตร์ป่าวประกาศยืนยันด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันตรายอย่างยิ่งในอนาคต แต่คนจำนวนมากรวมทั้งผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายก็ยังเมินเฉยเพราะผลกระทบยังไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับสารพัดปัญหาที่ปรากฏในสำนึกคิด
อคติดังกล่าวยังอธิบายปรากฏการณ์ที่หลายคนฉงนสงสัยอย่าง ‘ลุงพลฟีเวอร์’ ซึ่งอิทธิพลสื่อเปลี่ยนผู้ต้องสงสัยให้กลายเป็นดาราดังจนมีแฟนคลับจำนวนมาก เพราะความทรงจำของเรามีจำกัดจึงคัดเฉพาะ ‘สาระสำคัญ’ อย่างชื่อและใบหน้ามาเก็บไว้ในสมองโดยลบเลือนรายละเอียดอื่นๆ คนจำนวนมากจึงจดจำ ‘ลุงพล’ ได้แต่อาจหลงลืมไปว่าเขาคือผู้ต้องหาคนสำคัญ
บทเรียนสำคัญจาก availability bias คือการเลือกเฟ้นคนที่เราต้องการสนิทสนมด้วยอย่างระมัดระวัง เพราะความคิดเห็นและมุมมองของคนเหล่านั้นจะสดใหม่อยู่ในสำนึกคิด และส่งผลกระทบต่อวิจารญาณของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำไมถึงไม่ควรเชื่อสัญชาตญาณ
ต่อให้ตัดเรื่องอคติทางการเมืองออกไป ไม่ว่าใครก็มีโอกาสติดกับดัก availability bias กันทั้งนั้น ตัวผมเองก็ยังรู้สึกว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อยครั้งจนผิดสังเกต แต่โชคดีที่ผมคอยฝึกตัวเองไม่ให้รีบด่วนสรุปตามสัญชาตญาณ เพราะทราบดีว่าสมองของเราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำความเข้าใจคณิตศาสตร์แบบฉับพลันทันที
ผมไม่ได้จะดูถูกสติปัญญาอะไรใดๆ เพื่อเป็นการทดสอบ ลองหยิบปากกาแล้วมาทำโจทย์ 3 ข้อนี้กันดูครับ
- ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ไม้ปิงปองและลูกปิงปองขายเป็นชุด ชุดละ 110 บาท ถ้าไม้ปิงปองแพงกว่าลูกปิงปอง 100 บาท ลูกปิงปองจะราคาเท่าไหร่?
- ในโรงงานผลิตเสื้อยืดแห่งหนึ่ง เครื่องจักร 5 เครื่องจะสามารถผลิตเสื้อยืด 5 ตัวได้ภายในเวลา 5 นาที ถ้าโรงงานมีเครื่องจักร 100 เครื่องจะต้องใช้เวลากี่นาทีเพื่อผลิตเสื้อยืด 100 ตัว?
- สระแห่งหนึ่งปลูกบัวชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ละวันพื้นที่ใบบัวจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว หากบัวชนิดนี้ใช้เวลา 48 วันในการขยายจนใบบัวเต็มสระ จะต้องใช้เวลากี่วันใบบัวจึงจะปกคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของสระ?
โจทย์เหล่านี้ดูเหมือนไม่ยากเพราะคำตอบก็เห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่าเท่ากับ (1.) 10 บาท (2.) 100 นาที และ (3.) 24 วัน แต่เสียใจด้วยนะครับ คำตอบทั้ง 3 ที่มาจากสัญชาตญาณของเรานั้นผิดทั้งหมด[iii]
แบบทดสอบดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดย อาจารย์เชน เฟรดเดอริก (Shane Frederick) โดยเขาได้นำไปทดสอบกับเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา อาทิ มหาวิทยาลัยเอ็มไอที (ตอบถูกเฉลี่ย 2.18 ข้อ) มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (ตอบถูกเฉลี่ย 1.63 ข้อ) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ตอบถูกเฉลี่ย 0.83 ข้อ)
แบบทดสอบนี้ไม่ใช่แบบทดสอบเรื่องความฉลาดทางคณิตศาสตร์นะครับ แต่เป็นแบบทดสอบเรื่องความยับยั้งชั่งใจก่อนด่วนสรุปว่าคำตอบคืออะไร หากใครได้เห็นคำตอบของโจทย์ทั้ง 3 ข้อตอบก็ต้องร้องอ๋อ เพราะมันไม่ต่างจากเส้นผมบังภูเขา ซึ่งเราสามารถตอบได้โดยใช้สมองส่วนเหตุผลแทนที่จะตอบโดยสัญชาตญาณ
เราต่างคุ้นชินกับการตัดสินโดยอิงจากความเข้าใจ (เอาเอง) แต่อย่าลืมนะครับว่าสมองของมนุษย์เรามีข้อจำกัดมากมาย การใช้วิจารณญาณโดยไม่ระมัดระวังอาจทำให้เราติดกับดักของ ‘อคติ’ ดังนั้นก่อนที่จะเชื่อเรื่องอะไร ลองหยุดพักหายใจช้าๆ ใช้สติไตร่ตรองพร้อมกับเปิดข้อมูลสถิติประกอบก่อนตัดสินใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[i] คำนวณ ณ ระดับความเชื่อมั่น 99% ซึ่งแปลว่าถ้าเดือนใดเกิดเหตุไฟไหม้เกิน 38 ครั้งจะมีโอกาส 1% ที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นแบบสุ่ม อย่างไรก็ตาม เราควรตีความตัวเลขนี้อย่างระมัดระวังเนื่องจากใช้ข้อมูลเพียง 5 เดือนในการคำนวณ
[ii] โอกาสเสียชีวิตจากเครื่องบินตกอยู่ที่ 1 ใน 11 ล้าน ส่วนอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยอยู่ที่ 18.70 คนต่อประชากร 100,000 คน
[iii] คำตอบที่ถูกต้องคือ (1.) 5 บาท (2.) 5 นาที และ (3.) 47 วัน
Illustration by Kodchakorn Thammachart