มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
1
เรามักได้ยินคำพูดเกี่ยวกับ ‘ความยุติธรรม’ อยู่บ่อยๆ อย่างหนึ่งว่า-การปล่อยคนผิดร้อยคน (เพราะหาหลักฐานยืนยันความผิดไม่ได้) ดีกว่าจับผู้บริสุทธิ์คนเดียวมาลงโทษ
คำถามก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่จะถูกลงโทษนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่
หลักการใหญ่ที่ระบบยุติธรรมทั้งโลกนี้ใช้กัน คือหลักการที่เรียกว่า ‘หลักการพิสูจน์จนสิ้นความสงสัยตามสมควร’ (Beyond a Reasonable Doubt) ซึ่งถ้าเราดูมาตรา 227 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย (เรียกง่ายๆ ว่ากฎหมายอาญาก็แล้วกันนะครับ) จะเห็นว่ากฎหมายนี้วางอยู่บน ‘ฐานคิด’ แบบนี้อย่างแน่นหนา
หลายคนอาจรู้แล้วนะครับ ว่าการดำเนินคดีหรือพิจารณาคดีนั้น ในโลกนี้มีอยู่ด้วยกันสองระบบ คือระบบไต่สวน (Inquisitorial System) กับระบบกล่าวหา (Accusatorial System) ที่น่าสนใจก็คือวิวัฒนาการความเป็นมาของสองระบบนี้
ระบบไต่สวนนั้น ชื่อของมันก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าเป็น Inquisitorial ซึ่งมีรากเดียวกับ Inquisitor หรือระบบตุลาการศาลศาสนาของศาสนาคริสต์สมัยกลาง ซึ่งตอนนั้นพระสันตะปาปาจะมีอำนาจเหนือกษัตริย์ในนครรัฐต่างๆ ศาลศาสนา (โดยเฉพาะในสเปน) ก็เลยมีวิธี ‘ไต่สวน’ โดยใช้วิธีการประหลาดๆ หลายอย่าง รวมไปถึงการ ‘ทรมานจำเลย’ เพื่อให้จำเลยยอมรับสารภาพ แถมยังสามารถพิจารณาคดีแบบ ‘ลับหลังจำเลย’ ได้ด้วยนะครับ เพราะถือว่าคนที่เป็นผู้พิจารณาคดีนั้นมีสิทธิอำนาจสูงส่ง (ซึ่งอิงไปถึงอำนาจจากพระเจ้าด้วย) จึงเป็นผู้ ‘ให้’ ความยุติธรรมได้อย่างดี
แต่เมื่อโลกพัฒนาขึ้น ระบบการทรมานจำเลยก็หมดไป แม้ยังยึดหลัก ‘ไต่สวน’ อยู่ แต่ก็เปลี่ยนไปเป็นการ ‘หาความจริง’ โดยใช้พยานหลักฐาน โดยในระบบไต่สวนนี้ ศาลจะมีบทบาทมากในการดำเนินคดี โดยถ้าเราดูระบบแบ่งแยกอำนาจของรัฐในระบอบประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าการแยกอำนาจออกเป็นตุลาการ, นิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในประเทศที่ใช้ระบบไต่สวนนั้น ตัว ‘ฝ่ายบริหาร’ (โดยอัยการ) จะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีอาญา ดังนั้น คดีอาญาจึงเป็นการต่อสู้คดีระหว่างจำเลย (ที่มักเป็นประชาชนทั่วไป) กับ ‘ฝ่ายบริหาร’ โดยตรง (ประชาชนทั่วไปมีบทบาทในการฟ้องคดีอาญาเองน้อย) ดังนั้นจึงต้องมีอำนาจอีกด้าน (คืออำนาจตุลาการ) มาคอยถ่วงคัดง้างให้เกิดสมดุลอำนาจและความยุติธรรมในคดีความต่างๆ นั่นทำให้อำนาจในการจับกุมกับไต่สวนเป็นคนละอำนาจกัน
แต่เนื่องจากระบบไต่สวนเป็นระบบที่พัฒนามาจากระบบ Inquisitor ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจมาก โดยถือว่าอำนาจรัฐ (ในนามของอำนาจตุลาการ) เป็นผู้ ‘ไต่สวน’ ว่าความจริงคืออะไร จึงเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือความยุติธรรมด้วย
แต่พอมาเป็นระบบกล่าวหา ชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าจะมีใครบางคนกล่าวหาใครอีกบางคน แล้วก็มีผู้พิพากษามาอยู่ตรงกลาง วิธีการก็คือต้องให้สองฝ่ายที่เป็นโจทก์กับจำเลยนั้นต่อสู้กันเอาเอง ศาลทำหน้าที่เป็นคนกลาง ในสมัยโบราณ คำว่า ‘ต่อสู้’ หมายถึงต่อสู้กันจริงๆ (เรียกว่า Trial by Battle) แบบในซีรีส์ Game of Thrones ที่ให้สองฝ่ายมาสู้กัน ใครแพ้หรือตายคือผู้ผิด ในบางกรณีก็ใช้วิธีทรมาน แต่เป็นคนละแบบกับระบบไต่สวนที่มีเจ้าหน้าที่มาทรมานจำเลยนะครับ เป็นการทรมานที่เรียกว่า Trial by Ordeal เช่นที่ในรามเกียรติ์ให้นางสีดามาลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เป็นต้น
ทีนี้เมื่อกระบวนการยุติธรรมวิวัฒนาการต่อมาเรื่อยๆ ระบบกล่าวหาก็กลายเป็นระบบที่หันไปให้ความสำคัญต่อ ‘พยานหลักฐาน’ อย่างมาก เพราะโจทก์จะกล่าวหาจำเลยว่าผิดได้ ก็ต้องเอาพยานหลักฐานมายืนยัน ส่วนจำเลยก็ต้องหาพยานหลักฐานในฝ่ายของตัวเองมาหักล้างกันไป ระบบนี้ที่เราเห็นกันบ่อยๆ จนคุ้นตาก็คือตามซีรีส์ประเภท Courtroom Drama ทั้งหลายที่มีการต่อสู้ของสองฝ่ายด้วยพยานหลักฐานต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระบบการพิจารณาคดีอยู่สองอย่าง แต่ในปัจจุบันหลายประเทศก็ใช้ทั้งสองระบบควบคู่หรือผสมผสานกันไป อย่างในไทยก็ใช้ทั้งสองระบบ ศาลที่ใช้ระบบไต่สวนคือศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลแผนกคดีผู้บริโภค แต่สำหรับศาลยุติธรรมที่เป็นคดีระหว่างเอกชนกับเอกชนจะใช้ระบบกล่าวหา
จะเห็นว่า แม้กำเนิดแรกเริ่มของระบบยุติธรรมจะฟังดูพิลึกๆ เช่น มีการทรมานจำเลย หรือให้จำเลยมาต่อสู้กัน แต่เมื่อโลกศิวิไลซ์แล้ว ไม่ว่าจะใช้ระบบไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะใช้พิจารณาคดีก็คือ ‘พยานหลักฐาน’
ในกฎหมายไทย ถ้าเป็นคดีอาญา หลักการพื้นฐาน (ที่สำคัญมาก) ก็คือให้สันนิษฐานเอาไว้ก่อน ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าโจทก์จะหา ‘พยานหลักฐาน’ มาพิสูจน์ได้ว่าจำเลยผิดจริงๆ พูดอีกอย่างก็คือ โดยหลักการแล้ว ‘ภาระในการพิสูจน์’ (หรือ Burden of Proof) เป็นของโจทก์ ไม่ใช่ของจำเลย
แต่ทีนี้ถ้าโจทก์เกิดหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้เพียงพอ (ดูมาตรา 227 ข้างต้น รวมไปถึงมาตรา 227/1 ด้วย) ก็แปลว่าจำเลยจะพ้นข้อกล่าวหาไป ซึ่งส่วนใหญ่เราจะได้ยินคำว่า ‘ศาลยกฟ้อง’ เพราะพยานหลักฐาน (จากฝ่ายโจทก์) ไม่เพียงพอ
พูดง่ายๆก็คือ โจทก์ต้องพิสูจน์ ‘จนศาลสิ้นสงสัย’ ว่าจำเลยนั้นกระทำผิดจริงๆ นั่นแหละครับ
แต่ทีนี้คำถามสำคัญที่เกิดตามมาก็คือ แล้วแค่ไหนล่ะ ถึงจะเรียกว่า ‘สิ้นสงสัย’ ได้
ถึงตรงนี้มีภาษาอังกฤษสำคัญอีกวลีหนึ่งครับ
คำว่า ‘พิสูจน์จนสิ้นสงสัย’ นั้น ภาษาอังกฤษเขาใช้ว่า Beyond a Reasonable Doubt ใช่ไหมครับ แต่ยังมีอีกวลีหนึ่งว่า Beyond the Shadow of a Doubt หรือเป็นการพิสูจน์จนไม่เหลือแม้กระทั่ง ‘เงา’ ของความสงสัยอยู่ด้วย แต่เอาเข้าจริง การพิสูจน์จนสิ้นสงสัยไร้เงานี้มักจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากๆ จนถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง เนื่องจากโลกนี้ไม่มีอะไรขาวดำ ทุกอย่างเป็นคล้ายๆ เส้นสเปคตรัมที่ค่อยๆ เปลี่ยนจากสว่างไปมืดหรือมืดไปสว่าง จึงมีพรมแดนที่รางเลือนอยู่เสมอ การพิสูจน์จนสิ้นสงสัยก็เหมือนกันครับ จะเอาให้สิ้นสงสัยขนาดไม่เหลือ ‘เงา’ เลย บางครั้งก็เป็นเรื่องยากมาก
แต่ก็เป็นตรง ‘พรมแดน’ นี่แหละครับ-ที่เป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องวิธีคิดตลอดมา
ในหลายกรณี ‘ระดับ’ ของการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยนั้นแตกต่างกันไปตามต้นทุนของคนมอง ด้วยเหตุนี้ คำว่า ‘พิสูจน์จนสิ้นสงสัย’ หรือ Reasonable Doubt จึงมักมีวลี ‘ตามสมควร’ ห้อยท้ายอยู่ด้วย (คำว่า Reasonable ก็มีนัย ‘ตามสมควร’ อยู่แล้ว) หมายความว่า โจทก์จะต้องหาพยานหลักฐานมายืนยันกันให้สิ้นสงสัย (ว่าจำเลยทำผิด) เพียงตามสมควรก็พอแล้ว คือไม่ต้องถึงขั้นสิ้นสงสัยกันอย่างสมบูรณ์แบบก็ได้ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะทำอย่างนั้น และถ้าต้องทำอย่างนั้นในทุกกรณี ก็เป็นไปได้ว่าจะไม่อาจหาตัวคนผิดมาลงโทษได้เลย
อย่างไรก็ตาม พอมีวลี ‘ตามสมควร’ ก็เลยทำให้เกิดคำถามต่อเนื่องว่า แล้วแค่ไหนเล่าถึงจะถือว่า ‘ตามสมควร’ ได้ ทำให้เกิดมี ‘มาตรฐานการพิสูจน์’ ว่าแค่ไหนถึงจะพอ โดยบอกว่ามีหลักการอยู่หลายอย่าง เช่น อ้างอิงจากความคิดเห็นของ ‘วิญญูชน’ ทั่วไป ซึ่งตรงนี้ก็น่าสนใจนะครับ เพราะภาษาอังกฤษใช้คำว่า Reasonable Man แต่ในรากของกฎหมายอังกฤษจะใช้คำว่า The Man on the Clapham Omnibus หรือคนที่โดยสารรถม้าสายแคลปแฮม อันถือว่าเป็นตัวแทนของ ‘ความเห็นสาธารณะ’ (ซึ่งตรงนี้แนะนำให้ไปหาข้อมูลอ่านต่อนะครับ เพราะว่าพิสดารละเอียดละออมาก และแสดงให้เห็นว่าคนแบบไหนถึงจะถือว่าเป็น ‘ตัวแทน’ ของความเห็นสาธารณะได้ไม่ได้ และที่สำคัญก็คือ มีการวิจารณ์ว่า-คนเหล่านี้เป็นเพียง ‘คนในจินตนากรรม’ หรือเป็น legal fiction ตามสมมติฐานของสังคมนั้นๆ ที่ถือว่าเป็นตัวแทนความคิดเห็นสาธารณะเท่านั้นเอง) รวมไปถึงการพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ ด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าจะมีหลักเกณฑ์อะไรแน่ชัดหรอกนะครับ ที่สุดจึงทำให้เกิดคำว่า ‘ดุลพินิจ’ ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม การใช้พยานหลักฐานมาสู้กันนี้ ทำให้ต้องพิจารณากันอย่างละเอียดรอบคอบ จึงเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานมาก และนั่นก่อให้เกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่งตามมา
2
อีกประโยคหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ-ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม
ถ้าเราเอามาจับคู่กับประโยคแรก คือปล่อยคนผิดร้อยคนดีกว่าจับผู้บริสุทธิ์คนเดียวมาลงโทษ เราจะเห็นว่าสองอย่างนี้ขัดแย้งกันเองในทางปฏิบัติ เพราะถ้าจะไม่จับคนผิด แปลว่าต้องใช้เวลาพิจารณา ‘จนสิ้นสงสัย’ กันอย่าละเอียดและนานมาก โดยในระหว่างนั้นเอง ก็มักจะมีการจับกุมคุมขังผู้ต้องหา (หรือจำเลย) เอาไว้ก่อน (โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ต้องหานั้นๆ ไม่มีความสามารถที่จะประกัน หรือศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) ซึ่งถ้าจำเลยผิดจริงก็แล้วไป แต่ถ้าผิดไม่จริงขึ้นมา ก็จะเกิดความไม่ยุติธรรมซ่อนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนั้นๆ ได้ โดยผลลัพธ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่เป็นเวลานาน แต่แล้วในที่สุด พยานหลักฐานต่างๆ ก็ยืนยันออกมาว่าไม่ผิด (หรือพิสูจน์จนสิ้นสงสัยตามสมควรไม่ได้ว่าผิด) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘จำเลยไม่ผิด’
แล้วจะทำอย่างไร?
ในเฟซบุ๊กเพจของสำนักงานกิจการยุติธรรม (www.facebook.com/weareoja) มีอินโฟกราฟิกบอกว่า ในกรณีที่จำเลยไม่ผิดแต่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี จะมีค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ เช่น ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ก็จะได้รับเป็นเงินในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้รับค่าทดแทนการถูกคุมขังวันละ 500 บาท หรือถ้าเจ็บป่วยจากการตกเป็นจำเลย ก็จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท หรือถ้าเสียชีวิตจากการตกเป็นจำเลยไม่ผิด ก็จะได้ค่าทดแทนหนึ่งแสนบาท ได้ค่าจัดการศพอีกสองหมื่นบาท หรือถ้าลูกไม่มีคนอุปการะเลี้ยงดู ก็จะได้ค่าทดแทนไม่เกินสี่หมื่นบาท เป็นต้น ซึ่งถ้าลองพิจารณาดู เราจะเห็นว่าเป็นค่าทดแทน ‘ขั้นต่ำ’ แทบทั้งนั้น ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกนั่นแหละ ว่านี่คือ ‘ความยุติธรรม’ แล้วจริงหรือ
มีคำถามมากมายเกิดขึ้นกับค่าทดแทน ‘ขั้นต่ำ’ เหล่านี้ เช่นว่า ทำไมไม่ชดเชยเท่าค่าจ้างที่คนคนนั้นพึงได้รับ แล้วศักด์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนคนนั้นที่เสียไป จะชดเชยอย่างไร หรือคนที่อยู่ในกระบวนการผิดพลาดที่ทำให้คนคนนั้นต้องตกเป็นจำเลยเล่า ควรต้องรับโทษอะไรด้วยหรือเปล่า ที่สำคัญก็คือ คำว่า ‘ไม่ผิด’ นั้น ต้องได้รับการพิพากษาว่า ‘ไม่ผิด’ ตามฟ้องด้วยหรือเปล่า หรือว่าถ้าพิสูจน์จนสิ้นสงสัยไม่ได้ เป็นการยกประโยชน์ให้จำเลย ก็ไม่ถือว่าจำเลย ‘ไม่ผิด’ ต่อให้ถูกคุมขังนานแค่ไหนก็จะไม่ได้รับค่าทดแทนนี้ ฯลฯ
คำถามน่าคิดต่อก็คือ การที่รัฐ ‘กล้า’ กำหนดค่าทดแทนให้กับ ‘จำเลยไม่ผิด’ ด้วยอัตราที่ ‘ต่ำ’ ขนาดนี้ (ทั้งที่เขาอาจต้องเสียเวลาของชีวิตไปเป็นปีๆ หรือเป็นสิบปีกับความผิดพลาดของรัฐเอง) แปลว่ารัฐต้องเห็นว่าประชาชนเป็นเบี้ยล่างที่มีอำนาจน้อยยิ่งกว่าน้อย จึงไม่จำเป็นต้อง ‘แคร์’ อะไรมากนัก แค่ชดเชยให้ตามอัตรา ‘ขั้นต่ำ’ (เช่นรายได้ขั้นต่ำ) ก็คล้ายจะเพียงพอแล้ว
ผมคิดว่าสำนึกอำนาจนิยมแบบนี้ของรัฐเป็นเรื่องอันตรายไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าย้อนกลับไปหาคำว่า ‘ตามสมควร’ ในหลักการ ‘พิสูจน์จนสิ้นสงสัย’ ด้วยแล้ว ก็เป็นไปได้ที่อำนาจรัฐจะเห็นว่า ‘ตามสมควร’ ของตัวเองนั้น ‘เหมาะควร’ แล้ว ทั้งที่มันอาจแตกต่างจากความ ‘ตามสมควร’ ของผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือกระทั่งของสากลโลกก็ตามที เพราะคำว่า Reasonable ของแต่ละคนมีมาตรฐานแตกต่างกัน การยกหลักการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ‘ตามสมควร’ (Beyond a Reasonable Doubt) ไปไว้กับ ‘ดุลพินิจ’ ของรัฐ ซึ่งก็คือดุลพินิจของผู้มีอำนาจ จึงยากจะหากฎเกณฑ์มาตรฐานที่ลงตัวในทางอำนาจมาเป็นกลไกตัดสินได้
จริงอยู่ว่า-มีความพยายามจะสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมเสมอมา
แต่ภาพด้านกลับที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ-ก็เป็นความจริงด้วยเช่นเดียวกัน