เนื่องจากระบบรวมศูนย์อำนาจและกระจุกทรัพยากรในกรุงเทพ กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นตัวแทนของรัฐ กลายเป็นเมืองหลวงที่ซับซ้อนและ ‘พัฒนา’ กว่าจังหวัดอื่นๆ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรจึงลดหลั่นกันไปจากเมืองหลวงสู่ท้องถิ่น ประเทศไทยไปได้ไกลแค่ไหนจึงดูจากกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันปัญหาในจังหวัดอื่นๆ ที่ห่างไกลจากเมืองหลวงแต่รัฐบาลก็ไม่มีปัญญาแก้ไขอะไรได้ก็สะท้อนระบบของประเทศเช่นกัน ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาจากการรวมศูนย์อำนาจ
แต่ด้วยความที่ศูนย์กลางความพัฒนาและเข้าถึงความสมัยใหม่ระดับนึง อย่างน้อยก็มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ทำให้ LGBTQ อย่างน้อยที่เปิดเผยตัวเองมีประชากรมากกว่า แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าชีวิตของ LGBTQ จะได้รับการยอมรับ แม้จะอยู่ในเมืองหลวงที่เป็นพื้นที่ที่ LGBT ชุกชุมกว่าจังหวัดอื่น แต่ชีวิตของพวกเขาและเธอก็ยังคงเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ถูกยอมรับจากสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกให้ค่า ล้อเลียนขบขัน
เช่นเดียวกับชีวิตน้องกะเทยผมเกรียน เกย์ออกสาว หญิงรักหญิง วัยรุ่นรักเพศเดียวกันในภาพยนตร์ฟิคชั่นกึ่งสารคดี #BKKY (2017) กำกับโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล ที่ต้องเก็บซ่อนเสียง ความฝันและตัวตนจากคนรอบข้าง กลายเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งที่เป็นชนกลุ่มน้อยและคนชายขอบใจกลางมหานคร ตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาและเธอจึงไม่ต่างไปจากศพ ‘คนเสื้อแดง’ นอนตายบนราชประสงค์แต่ถูกเพิกเฉย ชาวไทยและขะแมร์ในพื้นที่ใกล้เคียงเขาพระวิหารที่ได้รับความเสียหายจากกรณีพิพาทของพวกชาตินิยมจากรัฐบาลกรุงเทพใน ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ (Boundary, 2013) หรือชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่างที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติและตะกั่วที่เป็นแร่เศรษฐกิจของประเทศชาติ แต่มันเป็นสารพิษสำหรับพวกเขาจนเจ็บป่วยและตาย ภายใต้อำนาจสามานย์ของนายทุนที่ร่วมมือกับรัฐใน ‘สายน้ำติดเชื้อ’ (By The River, 2013) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่นนทวัฒน์เคยนำเสนอ
คู่รักหญิงรักหญิง ‘โจโจ้’ กับ ‘คิว’ ใน #BKKY จึงเป็นบุคลาธิษฐานชีวิตคนกรุงแต่เป็นชนชายขอบในพื้นที่ศูนย์กลาง โอกาสที่จะแสดงความรักความใคร่กันตามลำพังอย่างอิสระ ไม่มีเพื่อนร่วมคลาสคอยจับจ้อง หรือได้พักผ่อนดื่มด่ำกับธรรมชาติแมกไม้น้ำตก (ไม่ใช่สวนสาธารณะที่เป็นฉากสำคัญของหนัง) จึงไปได้แค่วังตะไคร้ จังหวัดนครนายก ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลองแล้ว ซึ่งฉากลำธารใสเย็นเห็นปลาตีนของทั้งคู่ ก็ราวกับผู้กำกับอุทิศให้กับความรักของชนชายขอบในหนังเรื่อง ‘สุดเสน่หา’ (Blissfully Yours, 2002) ระหว่าง ‘รุ่ง’ สาวโรงงานกับ ‘มิน’ หนุ่มชาวพม่า ที่เป็นแรงงามข้ามชาติผิดกฎหมาย และถูกทำให้เป็น minority ของสังคม จะได้พักผ่อนหย่อนใจอย่างมีเสรีภาพและมีเพียงสองเรา ปราศจาก ‘คนอื่น’ ก็ท่ามกลางสายน้ำป่าเขาลำเนาไพรเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ‘โจโจ้’ จึงผละลูกอมออกจากปากของเธอและจูบ ‘คิว’ แทนที่จะคายลูกอมออกจากปากแล้วยื่นให้ ‘คิว’ ดูดต่อ เพราะลูกอมนั่นไม่เพียงเป็น phallus อวัยวะเพศชายเชิงสัญญะ ที่ควรจะปลาสนาการไปจากความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิง (ขณะที่หนุ่มๆ สเก็ตบอร์ด เจฟ กับเจสเปอร์ เพื่อนสนิทที่ทั่งคู่นอนกำท่อนไฟฉายขนาดเขื่อง บนเตียงเดียวกัน ในห้องนอนที่ประตูประดับไปด้วยรูปคู่ของทั้งสองและม่านลวดลายต้นไม้เดียวกัน) แต่ยังเป็นการบอกถึงการโตเป็นผู้ใหญ่แล้วของทั้งคู่ ไม่ต้องการลูกอมแบบเด็กๆ อีกต่อไป คืนนั้นทั้งคู่ได้กัน และในเช้าวันรุ่งขึ้น ‘โจโจ้’ ก็ปฏิบัติหน้าที่ประหนึ่งภรรยา ตื่นแต่เช้าตระเตรียมอาหารให้ ‘คิว’
จากการสัมภาษณ์วัยรุ่น 100 คนในหนัง ที่ต่างบ่นเล่า ระบาย ถ่ายทอดทัศนคติ เรื่องราวความรัก ความฝันใฝ่ การศึกษา พ่อแม่ และ sex บางคนเชื่อว่าเพศสัมพันธ์นำมาซึ่งความรับผิดชอบ ไม่ว่ากับเพศวิถีใดก็ตามเซ็กซ์ก็คือเซ็กซ์เพียงแต่ผลของการกระทำที่ต่างกัน บางคนมองว่าเป็นเรื่องสนุกที่เพิ่งเคยลองทำ บางคนยังไม่เคยแต่นิยามว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องธรรมชาติ และบางคนแยก have sex ออกจาก make love
เพราะวัยรุ่นเป็นวัยแสวงหาและเริ่มนิยามตัวเอง แน่นอนรวมไปถึงนิยามเพศสภาพเพศวิถีของเขาเอง หลายคนนิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ บางคนอยากเป็นผู้หญิง บ้างก็วางแผนผ่าตัดแปลงเพศแต่ไม่อยากเป็นผู้หญิง บางคนเรียกตัวเองว่าทอม/butch แต่อีกคนเรียกตัวเองว่าผู้หญิงทางเลือกใหม่ มีทั้งนิยามและไม่นิยามตัวเองตามแต่ประสบการณ์ที่เคยทดลอง เคยตามใจตามอารมณ์ปรารถนาและเรียนรู้รสนิยมไปพร้อมกัน ก่อนที่จะเรียนจบ ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน แต่งงานที่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบ
การถามถึงเรื่องเพศว่า “ชอบเพศวิถีแบบไหน” ก็เหมือนกับตั้งคำถามว่า “ชอบเรียนอะไร” “อยากทำงานอะไร” ที่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องทบทวนตัวเอง เพียงแต่คำถามนักเรียนเรื่องเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จะตัดสินใจเลือกสถานศึกษาใด มหาวิทยาลัยเอกชนหรือรัฐบาล คณะสาขาวิชาหรือวิชาชีพอะไรในอนาคต กลับตอบยากและฟังดูมืดมนอนธการกว่าเรื่องเพศ
เพราะระบบโรงเรียนมัธยมเต็มไปด้วยกรอบคิดที่ไม่ให้คิดเอง จำกัดจำเขี่ยเสรีภาพ แม้จะเป็นการศึกษาสมัยใหม่ ในความหมายยุคสมัยใหม่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่ไทยเริ่มรับอิทธิพลในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนยังคงเป็นสมัยเก่าที่ยังคงมีลำดับชั้น ความศักดิ์สิทธิ์ ที่การรับความรู้แยกไม่ออกไปจากรับคำสั่งบังคับบัญชา ต้องเชื่อฟังอย่างว่าง่ายยำเกรง ตั้งคำถามโต้แย้งไม่ได้ กลายเป็นการผลิตคนรุ่นใหม่ด้วยเบ้าเก่า และแม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีวิชาแนะแนว แต่เหมือนเป็นวิชาว่างๆ เปล่าดายมากกว่าการแสวงหาความถนัด
การทำความรู้จักตนเองและรสนิยมจึงต้องไปมะงุมมะงาหราคลำหากันเองนอกรั้วโรงเรียน
เด็ก นักเรียน วัยรุ่นและผู้ปกครองในเรื่องจึงแทบไม่แตกต่างกัน เพราะล้วนแล้วเป็นผลผลิตและเป็นผู้ผลิตซ้ำของระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเก่า ที่ยังต้องแสวงหาตัวเองอย่างไม่มั่นใจไปเรื่อยๆ มันจึงไม่มีทางเข้าใจโลกทัศน์ตรรกะของผู้ใหญ่ได้ เหมือนที่ ‘โจโจ้’ ไม่เข้าใจพ่อของเธอ และบางทีพ่อของเธอก็ยังหาตัวเองไม่พบ หรือเลิกหาไปนานแล้วเพราะต้องทำมาหากินเลี้ยงชีวิตและรับผิดชอบครอบครัว
แต่นั่นก็เข้าได้ดีกับวัยรุ่นในประเทศกรุงเทพฯ ที่ยังอยู่ในภาวะพึ่งพิง ขอเงินพ่อแม่ มากกว่าจะรับผิดชอบเลี้ยงดูตัวเองได้ เหมือนเจฟ กับเจสเปอร์ ที่เป็นตัวแทนของวัยรุ่นที่โตจากประเทศอื่น เลี้ยงชีพเอง เต็มไปด้วยอิสระเสรี มีพลังงานและการเคลื่อนไหว (เหมือนกับที่ผู้กำกับใช้เทคนิคถ่ายมุมกล้องจากโดรนและสเก็ตบอร์ด เคลื่อนไหวไปมาแบบ Long Take กับ 2 หนุ่มนี้ แต่บอกเล่าตัวละครหญิงชาวไทยในเรื่องด้วยการแช่กล้องนิ่งงันมากกว่า)
“เอาจริง ตอนนี้ผู้ใหญ่รอบตัว เขายังหาตัวเองเจอรึยัง บางคนจนตาย เขาหาตัวเองเจอรึยัง ก็ยังไม่แน่ใจเลย” วัยรุ่นนางหนึ่งให้ข้อคิดจากสัมภาษณ์
เพราะขนบประเพณีที่ปฎิบัติตามกันมาราวกับหุ่นยนต์ที่ถูกฝังโปรแกรม เหมือนพอ 6 โมงเป๊งได้ยินเพลงชาติในที่สาธารณะก็ต้องยืนตรงเด่โดยอัตโนมัติ ห้อมล้อม ‘โจโจ้’ กับ ‘คิว’ ที่ยังคงนั่งนอยด์เพราะงอนกันอยู่ เพราะความเป็นปัจเจกในบางบริบทมันสำคัญกว่า
ด้วยความพยายามนิยามตัวตนไปพร้อมกับเสาะแสวงหา #BKKY จึงทำให้เพศสภาพเพศวิถีไม่เป็นเป็นจุดขายของหนัง ต่างจากหนังทั่วๆ ไปที่ออกมาประกาศว่าเป็นหนังเกย์ เลสเบี้ยน กำหนดเพศสภาพสื่อ ให้ตั้งแต่แรกเพื่อเรทติ้งหรือเอาใจตลาด ขณะเดียวกันก็ไม่พูดประเด็นเพศวิถีเพศสภาพในฐานะกฎระเบียบหรือสิ่งที่เป็นหรือปฏิบัติ หากแต่เป็นการแสดงออกและการแสดงที่เจ้าตัวจะเลือกสวมบทบาทในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เหมือนกับเสื้อที่เลือกสวม จากชุดนักเรียนไปเป็นชุดนักศึกษา ชุด ‘ไปรเวท’ ชุดออกกำลังกาย
เพศวิถีและเพศสภาพจึงทั้งสัมพันธ์และไม่สัมพันธ์ก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมานิยามตัวบุคคลจับใส่กล่องเพศสภาพเพศวิถีใดเท่านั้นว่า หรือมากำหนดตัวละครว่าเป็นผู้หญิง เป็นหญิงรักหญิง เป็นทอม เป็นดี้ ผมเป็นผู้ชาย เป็นชายรักชาย เป็นเกย์รุก รับ โบท เป็นกะเทย เป็นสาวประเภท 1 2 3 4 หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่หนังเลสเบี้ยน หนังที่ว่าด้วย LGBTQI แต่มันคือหนังที่ว่า SOGI (Sexual Orientation and Gender Identity) ไม่ได้ผลักผู้หญิงผู้ชายออกไปจากความหลากหลายทางเพศ เพราะไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับเพศใดด้วยเหตุผลใด มันคือส่วนหนึ่งของการทำความรู้จักชีวิต เช่นเดียวกับ หนังของ ‘โจโจ้’ ที่ไม่ใช่ตัวละครหลักใน #BKKY แต่เป็นชื่อผู้กำกับ GAY OK BANGKOK (2016,2017) ‘โจโจ้’ ทิชากร ภูเขาทอง ที่มีทีมอย่าง Trasher Bangkok, APCOM และ TestBKK ร่วมโปรดิวซ์
GAY OK BANGKOK (2016,2017) ทั้ง season 1 และ 2 แม้ซีรีส์จะใช้ชื่อ GAY มีเกย์ชายเป็นตัวละครหลัก และเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชายรักชาย เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งการป้องกัน การอยู่ร่วมกับ HIV และการอยู่ร่วมกับผู้ที่อยู้ร่วมกับ HIV ทว่าบอกเล่าชีวิตทางเพศและความรักความสัมพันธ์มากมาย ที่เต็มไปด้วยดราม่าตั้งแต่ความรักระหว่างแม่ลูกที่ไม่ถูกกัน (‘อาร์ม’ กับแม่ของเขา) หญิงสาวที่ยังคงรักและทนแฟนหนุ่มไม่ว่าจะถูกกระทำระยำตำบอนแค่ไหนก็พยายามตัดใจเลิกไม่สำเร็จ (‘นุ้ย’ กับแฟนขยะๆ ของนาง) รักแรกผลิบานของกะเทยกรุงเทพกับชายหนุ่มต่างจังหวัด (‘สตางค์’ กับ ‘พี่ปูน’) แม่บ้านที่เลิกกับสามีแล้ว แต่ยังคงมีรักให้ภายใต้ท่าทีที่ไม่แสดงออก (พ่อแม่ของ ‘อาร์ม’) พี่น้องรักเพศเดียวกันที่เต็มไปด้วยระยะห่างและความไม่เข้าใจ ( ‘นัท’ กับ ‘เนส’) เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่เป็น Friend with benefits (‘อาร์ม’ กับ ‘พี่เบียร์’) คู่รักที่คนรักอยู่ร่วมกับ HIV อย่างเข้าอกเข้าใจ (‘นัท’ กับ ‘คามิน’) คู่รักที่หมดรักแล้ว (‘ราม’ กับ ‘ท๊อป’) เกย์ออกสาวผู้ไม่มีความมั่นใจตัวเอง เพียรแสวงหารักในอุดมคติแต่กลับนกหลายครั้งหลายครา (‘ปอม’) คู่รักไม่สมดุลที่อีกคนกำลังรุ่งโรจน์แต่อีกคนกำลังถดถอยล้มเหลวในหน้าที่การงานจนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและอิจฉาแฟนตัวเอง (‘ปอม’ กับ ‘พี่หนึ่ง’ ) ความรักระหว่างเพื่อนแฟนเก่ากับแฟนเก่าเพื่อน (‘ปอม’ กับ ‘พี่หนึ่ง’ อีกนั่นแหละ ) คู่วัยรุ่นล่าฝันจากต่างจังหวัดที่มาเรียนรู้โลกและเพศในกรุงเทพ (‘เนส’ กับ ‘โจ๊ก’) ความรักรักต่างวัยที่อารมณ์ทางเพศที่ไม่สมดุลกันระหว่างเกย์ผู้ใหญ่สายหมีกับเด็กวัยรุ่นหุ่นหน้างานดีที่ยังอยากผจญภัยทางเพศ (‘ออฟ’ กับ ‘บิ๊ก’) แต่ทั้งคู่ก็พยายามเสาะเสวงหาหนทางประคับประคองความสัมพันธ์อันระหองระแหง จนชักนำหมีผู้ใหญ่เข้าใจโลกเข้ามาสู่ห้วงความสัมพันธ์กลายเป็นสามคนอลเวง (‘พี่เชษฐ์’) ซีรีส์เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความรัก และนิยามรักด้วยตัวของเขาเอง
ตั้งแต่ season 1 GAY OK BANGKOK แนะนำให้ผู้ชมทำความรู้จักกับประชากรกรุงเทพกับโลกปัจเจกของพวกเขาในวัยสำเร็จการศึกษาแล้ว ตัวละครส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน รู้แล้วซึ่งความฝันใฝ่ เลือกแล้วซึ่งไลฟ์สไตล์และอาชีพ แน่นอนเรียนรู้รสนิยมทางเพศของตนเองเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ความดราม่าซับซ้อนของมันอยู่ตรงที่ทุกตัวละครล้วนอยู่ภายในกระบวนการเติมเต็มความฝัน ประคับประคองตัวตนที่ค้นพบแล้วและประกอบสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ ไปพร้อมกับแสวงหาทางรอดให้กับชีวิตรัก ที่ต้องต่อรองและสละอัตลักษณ์บางส่วนของตนเองเพื่อคนรัก เจียดเงื่อนไขบางประการทิ้งไปให้กับคนที่เราจะใช้ชีวิตร่วม จนบางครั้งต้องกลับมาสนทนากับตนเองว่า ‘ชีวิตคู่’ นิยามอยู่นั้นเข้าชีวิตจริงที่เป็นอยู่หรือไม่ ล้วนล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูกด้วยความมั่นและไม่มั่นใจของคนวัยผู้ใหญ่ ที่ต่างนิยามคำว่าพลาดพรั้งในความหมายของแต่ละคน ก่อนจะพูดถึงตัวละครเดิมนี้ในฐานะประชากรแฝงของกรุงเทพ ใน season 2 ที่ตัวละครจำนวนหนึ่งมาจากจังหวัดต่างๆ หลั่งไหลผสมปนเปและลอยเหนือกันไปมาในภาชนะที่เรียกว่าเมืองหลวง
และใน season 2 ที่ไม่เพียงโชว์ศักยภาพของผู้กำกับและทีมงานคือนำเสนอวัฒนธรรมธรรมย่อยของเกย์กะเทยไทย ผ่านฉาก ‘ปอม’ กับ ‘พี่หนึ่ง’ เดทกันในงานนวราตรีวัดแขกสีลม เพราะนอกจากเด็ก เอฟเฟกต์ สัตว์แล้ว ก็ร่างทรงนี่แหละที่ควบคุมไม่ได้ แถมนวราตรียังเป็นงานที่ร่างทรงจะมาองค์ลงของขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายยาวตั้งแต่สีลมไปถึงสาธร ทว่าก็ไม่ทำให้การเดทของปอมกับพี่หนึ่งโรแมนติคน้อยลง แต่ยังทำให้ตัวละครในเรื่องกลายเป็นผู้สังเกตการณ์วัฒนธรรมเกย์กะเทยกันเอง ซ้ำวัฒนธรรมเกย์เองก็ถูกวิพากษ์ในบทสนทนา เช่นที่ ‘คามิน’ ตัดพ้อกับ ‘นัท’ ว่าอยากเป็นรุกบ้าง ไม่ใช่เป็นรับอย่างเดียว เพียงเพราะเขาตัวเล็ก ออกสาวจึงถูกตัดสินว่าต้องเป็นรับ และถูกทรีตให้เป็นผู้หญิง
เพราะ ‘ความสาวของเกย์’ ไม่เพียงเป็นเครื่องมือของ homophobia เหมือนที่ ‘เนส’ ถูกเพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ดจนต้องพยายามแมนด้วยการสักหน้าอก ทั้งที่ตนเองไม่ได้ชอบรอยสักนั้นเลย แต่ยังกลายเป็นเครื่องมือ internalized homophobia เป็นหยียดเกย์ในเกย์ ที่เกย์มักจะล้อเลียนเกย์ด้วยกันเองเรื่องออกสาว และเอาเข้าจริง คู่เกย์เดินจับมือ แสดงความรักบนที่สาธารณะ มักจะถูกจิกจากเกย์ด้วยกันมากกว่า ขณะที่รักต่างเพศยังแค่สะกิดและมอง
ละครจึงไม่เพียงก้าวข้ามประเด็น LGBTIQ มาสู่ SOGI ผ่านตัวละครเกย์ แต่ยังพูดถึง HIV ในฐานะไลฟ์สไตล์ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกัน ไม่ได้วาง HIV ไว้ในฐานะบทลงโทษ โพยภัย หรือบุคคลที่แปลกแยกแปลกปลอมจากสังคมเหมือนหนังละครเรื่องอื่นๆ
เหมือนกับฉากที่ ‘นัท’ ที่อยู่ร่วมกับ HIV พูดกับปอมถึงการเลิกรากับ ‘อาร์ม’ แต่สนทนากับผู้ชมอย่างทรงพลังว่า “ไม่ใช่ว่าเราเป็นแบบนี้แล้วต้องยอมทุกอย่าง” ที่สังคมมักจะมองว่ามีเชื้อแล้วจะกลายเป็นผู้ถือไพ่รองกว่าในความสัมพันธ์ ต้องขอความเห็นใจเมตตาสงสารให้มารัก
เพราะทุกคนมีอำนาจในการตัดสินใจ มีสิทธิเลือก เช่นเดียวกับที่ไม่ว่าใครก็มีสิทธิ์ที่จะรัก
แน่นอน GAY OK BANGKOK จึงไม่ใช่ซีรีส์เกย์วัยรุ่นใสๆ บุฟเฟต์คู่จิ้นดื่นดาษตามช่องทีวี หรือสักแต่จะยัดฉากรักเพศเดียวกันในละคร จนตัวละครรักเพศเดียวกันเป็น object ให้คนดูนั่งจับจ้อง ไม่ใช่ subject ดำเนินเรื่อง หรือแรงใส่กันไปมาแต่หาความสมเหตุสมผลความเป็นไปได้ไม่เจอ หากแต่บทสนทนามีความซับซ้อน มี attitude ตามวุฒิภาวะ ประกอบกับนักแสดงหน้าใหม่ที่แสดงแบบมีช่องว่างระหว่างกัน จนทำให้มันเรียลยิ่งขึ้น เพราะมันก็เป็นบุคลิกปัจเจกชนที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ปฏิสังสรรค์กันด้วยความสัมพันธ์ทุติยภูมิ จนทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังสังเกตการณ์ชีวิตจริงๆ มากกว่าชมมหรสพสักเรื่อง ราวกับแทบจะทลายกำเพงแบ่งเรียลลิตี้กับละคร เหมือนกับที่ #BKKY ได้สลายเส้นแบ่งหนังสารคดีกับหนังฟิคชั่น
ด้วยความที่ไม่มีความจำเป็นต้องจับใส่กล่องเพศใดเพศหนึ่งได้ GAY OK BANGKOK จึงไม่น่าจะจัดประเภทให้เป็น ‘ละครเกย์’ เพราะการ categorize หนังด้วยเพศสภาพเพศวิถีตัวละครหลัก แทนที่จะแบ่งว่าเรื่องไหนเป็น drama, comedy, horror, action ก็ไม่ต่างไปจากการแบ่งคนรักเพศเดียวกันออกจากคนรักต่างเพศ ให้เกย์ เลสเบี้ยน กะเทยประหลาดไปจากชายหญิงรักต่างเพศ เช่นเดียวกับที่ #BKKY ไม่ควรถูกจัดประเภทให้เป็น ‘หนังเลสเบี้ยน’