เมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นดราม่าเกี่ยวกับตัวอย่างหนัง The Little Mermaid (2023) ของดิสนีย์ ที่เลือกเอานักร้อง/นักแสดงชาวอเมริกันผิวดำ ฮัลลี่ เบลีย์ (Halle Bailey) มารับบทนำเป็นตัวละครเอก เงือกน้อยแอเรียลในหนัง จนเกิดกระแสถกเถียงกันเป็นวงกว้าง
บ้างก็ว่าฮอลลี่วูดในยุคปัจจุบันตื่นตูมกับกระแสสิทธิมนุษย์ชนและความเท่าเทียมจนเกินเหตุ ที่เขาเรียกกันว่า ‘Woke’ นั่นแหละ แต่บ้างก็ชื่นชมว่าเป็นความกล้าหาญของฮอลลี่วูด ในการสร้างกระแสต่อต้านวัฒนธรรมการฟอกขาว (Whitewashing) ที่มักให้นักแสดงผิวขาวมารับบทตัวละครต้นฉบับที่เป็นคนชนชาติอื่นๆ อย่างคนเอเชียหรือคนผิวดำ จนกลายเป็นกระแสตีกลับทางวัฒนธรรมที่ให้นักแสดงผิวดำมารับบทแทนตัวละครผิวขาว ที่เรียกกันว่า Blackwashing หรือการย้อมดำ ไม่เพียงบทแอเรียลใน The Little Mermaid เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทเอลฟ์ผิวดำในหนัง The Lord of the Rings : The Rings of Power (2022) และนางฟ้าผิวดำใน Pinocchio (2022) หรือสโนว์ไวท์ผิวเข้มชาวละตินในหนัง Snow White (2024) ฯลฯ
ถ้าหันมามองในโลกศิลปะ เราจะเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นออกบ่อยไป อย่าว่าแต่นางเงือกน้อยหรือสโนว์ไวท์เลย แม้แต่บุคคลสำคัญทางศาสนาอย่าง พระแม่มารีย์ มารดาแห่งพระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์เอง ที่โดยปกติทั่วไปมักคุ้นเคยในรูปลักษณ์ของสตรีผิวขาว ก็ยังเคยถูกนำเสนอในรูปลักษณ์ของผู้หญิงผิวดำมาแล้ว โดยถูกเรียกขานว่า Black Madonna หรือ พระแม่มารีย์ผิวดำ ซึ่งเป็นลักษณะของงานศิลปะรูปเคารพที่ทำกันในยุโรปตั้งแต่สมัยยุคกลางหรือก่อนหน้านั้น
ภาพวาดพระแม่มารีย์ผิวดำที่โด่งดังที่สุดคือภาพวาดจากยุคคริสต์ศตวรรษที่ 14 อย่าง แม่พระผิวดำแห่งเชสโตโชวา (Black Madonna of Częstochowa) ในโปแลนด์ ที่ไม่เพียงพระแม่มารีย์เท่านั้น หากแต่พระเยซูคริสต์เองก็ถูกย้อมให้ผิวดำด้วย นอกจากในโปแลนด์ รูปเคารพพระแม่มารีย์ผิวดำยังปรากฏในแอฟริกา ยุโรป เอเชีย และอีกหลายแห่งทั่วโลก
นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่สีผิวในภาพวาดของพระแม่มารีย์เป็นสีดำ อาจเกิดจากเขม่าเทียนที่ใช้ในการสักการะบูชารูปเคารพเหล่านี้ แต่บางคนก็โต้แย้งว่าภาพวาดเหล่านี้เป็นสีดำมาตั้งแต่แรก โดยตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผิวสีดำของพระแม่มารีย์ในภาพอาจมีที่มาจากเนื้อหาในพระคำภีร์ไบเบิลในบท ‘บทเพลงโซโลมอน’ ที่กล่าวว่า “I am black, but comely, O ye daughters of Jerusalem.” (โอ บุตรสาวแห่งเยรูซาเลมเอย ถึงข้าจะมีผิวดำ แต่ก็งดงาม) บางทฤษฎีก็กล่าวว่า ผิวสีดำของพระแม่มารีย์มีความเชื่อมโยงกับศิลปะรูปเคารพในยุคก่อนคริสตกาลที่บูชาพระแม่ธรณีและเทวีศักดิ์สิทธิ์อย่าง เทวีไอซิส ของอียิปต์ ที่มีรูปลักษณ์เป็นสตรีผิวคล้ำ สีดำยังเชื่อมโยงกับสีของผืนแผ่นดิน และสีผิวของคนในทวีปแอฟริกา ต้นกำเนิดของมวลมนุษยชาติ
การเปลี่ยนสีผิวของพระแม่มารีย์ให้เป็นสีดำยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมานำเสนออีกครั้งในผลงานศิลปะร่วมสมัย อย่างเช่นในผลงานของศิลปินชาวอังกฤษ คริส โอฟิลี (Chris Ofili) แห่งกลุ่มศิลปินสุดซ่าจากประเทศอังกฤษ YBAs (Young British Artists) อย่าง The Holy Virgin Mary (1996) ที่แสดงในนิทรรศการ Sensation (1997) อันสุดอื้อฉาว ในลอนดอน ภาพวาดขนาดใหญ่ในสไตล์ศิลปะแอฟริกันรูปผู้หญิงผิวดำสวมเสื้อคลุมสีน้ำเงิน บนพื้นหลังมีเหลืองแกมส้ม ผู้หญิงในภาพเป็นตัวแทนของพระแม่มารีย์ผิวดำ ภาพวาดสีน้ำมันสื่อผสมชิ้นนี้ ประดับด้วยกากเพชร โพลีเอสเตอร์เรซิ่น และวัสดุธรรมชาติต่างๆ
ผู้หญิงในภาพที่ถูกระบุว่าเป็น ‘พระแม่มารีย์ผิวดำ’ ถูกห้อมล้อมด้วยภาพคอลลาจรูปบั้นท้ายและอวัยวะเพศสตรีที่ตัดมาจากหนังสือโป๊ โดยวางตำแหน่งเลียนแบบเหล่าเทวทูตที่โบยบินอยู่รอบๆ พระแม่มารีย์ในภาพวาดเชิงศาสนายุคโบราณ หน้าอกเปลือยด้านขวาของพระแม่มารีย์ผิวดำในภาพมีขี้ช้างแห้งห้อยติดอยู่ แถมตัวภาพเองก็วางตั้งอยู่บนขี้ช้างแห้งสองก้อนที่มีเข็มหมุดสีปักเรียงเป็นตัวอักษรข้างหนึ่งเขียนว่า ‘Virgin’ อีกข้างเขียนว่า ‘Mary’ ผลงานอันสุดแสนจะท้าทายอย่างบ้าบิ่นชิ้นนี้ ก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวและการต่อต้านจากเหล่าบรรดาคริสต์ศาสนิกชนและองค์กรคริสต์ทั่วโลกอย่างรุนแรง
ซึ่งตัวโอฟิลีเองก็ออกโรงโต้แย้งว่า ในซิมบับเวที่เขาเคยไปเยือนนั้น ขี้ช้างนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่มีความหมายถึงความงดงามและอุดมสมบูรณ์ เขายังกล่าวว่า ผลงานของเขาเป็นภาพของพระแม่มารีย์ในเวอร์ชั่นฮิปฮอป และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขาที่จะวาดภาพพระแม่มารีย์ผิวดำออกมา
แต่ถึงกระนั้น ข้อโต้แย้งของเขาก็ไม่ได้ยุติกระแสดราม่าที่มีต่อผลงานชิ้นนี้ เมื่อนิทรรศการ Sensation เดินทางไปแสดงในนิวยอร์กในปี ค.ศ.1999 ที่พิพิธภัณฑ์บรูคลิน ภาพวาดนี้ก็ถูกชายผู้หนึ่งบุกเข้าไปก่อวินาศกรรมด้วยการเอาสีขาวละเลงบนภาพวาด โดยอ้างว่าผลงานของโอฟิลีเป็นการทำให้ศาสนาเปื้อนมลทิน ตัวเขาพยายามทำให้ศาสนากลับมาขาวสะอาดบริสุทธิ์อีกครั้ง โชคดีที่ภาพวาดถูกป้องกันด้วยพลาสติกใสชั้นหนึ่ง หลังจากทำความสะอาดแล้วก็ไม่มีอะไรเสียหาย ตัวรปภ. ของพิพิธภัณฑ์ที่เฝ้าดูแลภาพวาดนี้อยู่ ยังออกปากเตือนสติชายคนดังกล่าวว่า “ใจเย็นๆ น่าลุง นี่ไม่ใช่พระแม่มารีย์ตัวจริงเสียหน่อย มันเป็นแค่ภาพวาดภาพหนึ่งเท่านั้นเอง!”
ก่อนหน้านั้นนายกเทศมนตรีแห่งเมืองนิวยอร์กในเวลานั้น ก็ยื่นคำร้องต่อพิพิธภัณฑ์บรูคลิน เรียกร้องให้แบนผลงานของโอฟิลีชิ้นนี้ โดยกล่าวว่าภาพวาดนี้เป็นอะไรที่น่ารังเกียจและน่าขยะแขยง แถมยังเรียกร้องให้รัฐบาลตัดงบประมาณประจำปี จำนวน 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่พิพิธภัณฑ์ได้รับ และยังขู่ให้ไล่ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ออกด้วย แต่ทางพิพิธภัณฑ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐบาลกลาง ฟ้องร้องนายกเทศมนตรีคนดังกล่าวในข้อหาล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ผลปรากฏว่าทางพิพิธภัณฑ์ชนะคดีเสียด้วย!
อย่างไรก็ดี ภาพวาดนี้ก็ส่งให้ชื่อเสียงของโอฟิลีโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานในซีรีส์นี้ก็ส่งให้เขากลายเป็นศิลปินผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลเทอร์เนอร์ในปี ค.ศ.1998 แถมตัวภาพวาดเองก็ถูกประมูลโดยสถาบันคริสตี้ส์ไปในราคา 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐอีกต่างหาก
ไม่เพียงพระแม่มารีย์หรือพระเยซูคริสต์เท่านั้น ในโลกศิลปะร่วมสมัย แม้แต่พระผู้เป็นเจ้าเองก็ยังถูกเปลี่ยนสีผิวกับเขาด้วย ดังเช่นในผลงานของ ฮาร์โมเนีย โรซาเลส (Harmonia Rosales) ศิลปินหญิงผิวดำ เชื้อสายแอฟริกัน-คิวบา จากชิคาโก ผู้ตีความผลงาน ‘พระเจ้าสร้างอาดัม’ (Creation of Adam) ที่หลายคนรู้จักกันดีในฐานะผลงานชิ้นเอกของมีเกลันเจโล (Michelangelo) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์ ขึ้นมาใหม่ในเวอร์ชั่นของเธอเองในชื่อ Creation of God (2017) โดยเปลี่ยนจากพระเจ้าในรูปกายของชายชราผมขาวหนวดเคราขาว ผู้กำลังจะสัมผัสนิ้ว อาดัม มนุษย์เพศชายคนแรก ในรูปกายของชายหนุ่มผิวขาวเปลือยร่างกายกำยำ เพื่อมอบชีวิตให้แก่เขา หากแต่ในภาพวาดของโรซาเลส พระเจ้าและมนุษย์คนแรก (หรือแม้แต่เหล่าบรรดาเทวทูตทั้งหลาย) กลับกลายเป็นผู้หญิงผิวดำไปทั้งหมดแทน!
ผลงานของโรซาเลสส่วนใหญ่เป็นการตีความภาพวาดคลาสสิคในประวัติศาสตร์ศิลปะขึ้นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะยุคเรอเนสซองส์ โดยเปลี่ยนตัวละครคนผิวขาวในภาพเดิม ให้กลายเป็นคนผิวดำ หรือแม้แต่เปลี่ยนตัวละครเพศชายให้กลายเป็นเพศหญิง เพื่อตั้งคำถามกับคุณค่าความงามที่มีมาแต่โบราณ และเชิดชูวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาวแอฟริกัน-คิวบา โดยตั้งคำถามผ่านผลงานของเธอว่า “ทำไมเราต้องยอมรับความคิดแบบ Eurocentric หรือการยึดถือชาวยุโรปเป็นศูนย์กลางของโลก ทั้งในแง่มุมของความงามและการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์มาเนิ่นนานขนาดนี้?”
โดยส่วนใหญ่ ผลงานของโรซาเลสมักเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการพลัดพรากถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวแอฟริกัน และการเฉลิมฉลองอำนาจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้หญิงผิวดำในวัฒนธรรมตะวันตก เธอได้แรงบันดาลใจจากแม่ของเธอที่ทำหนังสือนิทานภาพที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนผิวดำ เธอเปลี่ยนเทวตำนานและเทพปรกณัมกรีกให้เป็นกระบอกเสียงบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนผิวดำได้อย่างเปี่ยมชีวิตชีวาและจับใจผู้ชมอย่างยิ่ง
ถึงแม้ผลงานของโรซาเลสจะได้รับความสนใจและเรียกไลค์อย่างมากเมื่อเธอโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดกระแสดราม่าในแง่ลบอย่างมาก นักวิจารณ์หลายคนก่นด่าว่างานของเธอน่ารังเกียจ บ้างก็ว่าเธอสร้างความเสื่อมเสียแก่ผลงานชิ้นเอก และเป็นนักฉวยโอกาสทางวัฒนธรรม การวาดภาพพระเจ้าเป็นผู้หญิงผิวดำยังก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวต่อศาสนิกชนผู้เคร่งศาสนา บางคนประณามเธอว่าเป็นศิลปินมักง่าย ที่หยิบเอาผลงานของศิลปินชั้นครูอย่างมีเกลันเจโลมาดัดแปลง แทนที่จะสร้างอะไรๆ ใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมา
ในขณะที่โรซาเลสกล่าวถึงเหตุผลในการสร้างงานชิ้นนี้ของเธอว่า เธอต้องการใช้ผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนสามัญสำนึกหรือแม้แต่จิตใต้สำนึกของผู้คน เกี่ยวกับค่านิยมชายผิวขาวเป็นใหญ่ และเป็นผู้มีอำนาจในสังคมแต่เพียงผู้เดียว
เธอยังกล่าวด้วยว่า เพศชายผิวขาวมักจะเป็นตัวละครหลักในผลงานศิลปะคลาสสิคชิ้นเอกที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ทั่วโลก ทั้งที่การวาดภาพพระเจ้าและมนุษย์คนแรกเป็นผู้หญิงผิวดำเป็นอะไรที่ออกจะสมเหตุสมผล เพราะในความเป็นจริง มวลมนุษยชาติเองก็มีถิ่นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา ที่เป็นเหมือนสวนอีเดนดีๆ นี่เอง แถมมนุษย์ทุกคนก็ต้องถือกำเนิดจากผู้หญิงกันทั้งนั้น (หรือไม่จริง?) นอกจากภาพวาดของมีเกลันเจโลแล้ว เธอยังวาดภาพของศิลปินชั้นครูอื่นๆ อย่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี หรือ บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) ในเวอร์ชั่นที่เปลี่ยนตัวละครในภาพให้เห็นผู้หญิงผิวดำออกมาอีกด้วย
เมื่อพินิจพิจารณาให้ดีๆ เหตุการณ์ดราม่าที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ที่เมื่อมีสิ่งใดที่ผิดแผกไปจากขนบความคุ้นเคยเดิมๆ ก็ย่อมต้องมีกระแสต่อต้าน หรือแม้แต่สนับสนุนจากผู้คนรอบข้างในสังคม แต่ท้ายที่สุดแล้ว งานศิลปะหรือภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากจินตนาการ เพราะฉะนั้น มันย่อมมีความเป็นไปได้ในการก้าวข้ามขีดจำกัดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือแม้แต่สีผิวก็ตามที
อ้างอิงข้อมูลจาก