แน่นอนว่าเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 737-800 เที่ยวบิน MU5735 ของสายการบินไชนา อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ที่ประสบอุบัติเหตุตกจนทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 132 คนเสียชีวิตทั้งหมดเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่เหตุการณ์แรกของบริษัทโบอิ้งที่เกิดประสบอุบัติเหตุในท่าทางที่หัวโหม่งโลกและมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในภาพรวมของอุบัติเหตุเครื่องบินตกในประวัติศาสตร์ทั่วโลก
แต่เมื่อราว 4 ปีที่แล้วก็มีอุบัติเหตุเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 MAX ตก 2 ลำติดกันในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 5 เดือนและเป็นสภาพการตกในท่าทางคล้ายคลึงกันกับ 737-800 ที่เพิ่งตกในประเทศจีน แม้ตอนนี้จะยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ถึงสาเหตุการตกของเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 737-800 เที่ยวบิน MU5735 ว่าเกิดจากอะไร แต่ 2 เหตุการณ์ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้บริษัทได้สร้างเรื่องอื้อฉาวจนมีสารคดีความยาว 1.29 ชั่วโมงที่ทุกคนควรดูกันชื่อว่า ‘Downfall: The Case Against Boeing’
มันเป็นสารคดีที่นอกจากจะค้นหาสาเหตุการตกของเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 MAX ของสายการบินไลออน แอร์ (อินโดนีเซีย) ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2018 และสายการบินเอธิโอเปียน ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2019 แล้วนั้น มันยังพูดถึงเรื่องราวด้านมืดของวงการอุตสาหกรรมอากาศยานยักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ปัดปฏิเสธความรับผิดชอบโดยพยายามให้นักบินที่ตายกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครื่องบินทั้ง 2 ลำนั้นตก
แต่หลังจากหลักฐานที่แน่นหนาประกอบกับสื่อข่าวที่พยายามหาความจริงออกมาแฉ ทำให้สุดท้ายโบอิ้งก็ออกมายอมรับว่าความผิดพลาดแกมถูกบังคับ ว่าสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตกนั้นมาจากระบบที่ชื่อว่า MCAS ท่ามกลางเสียงย้อนแย้งที่ยังคงพยายามโทษนักบินอยู่ดีว่าทำไมไม่ยอมปิดระบบนี้เพื่อให้เครื่องบินไม่พุ่งดิ่งลงพื้นดิน
สุดท้ายแล้วเรื่องราวจบลงที่เครื่องบินรุ่นนี้ถูกสั่งให้งดขึ้นทำการบินทั่วประเทศ และทำการปรับปรุงเป็นเวลากว่า 20 เดือน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์ไปจนถึงการแก้ไขและเพิ่มเติมในการฝึกอบรมนักบิน จนปัจจุบันสายการบินบางแห่งทั่วโลกเริ่มกลับมาให้บริการแล้ว แม้ว่าจะยังคงมีการหยุดบินในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน
ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องราวที่กล่าวมาด้านบน คือเรื่องราวปัญหาการปัดความรับผิดชอบโยนความผิดให้นักบินของบริษัทโบอิ้งนี้ เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประวัติศาสตร์ และมันเกิดขึ้นกับเหตุการณ์เครื่องบินที่ตกในประเทศไทย อุบัติเหตุเครื่องบินตกที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ สายการบินเลาด้า แอร์ (Lauda Air) เที่ยวบินที่ 004
วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1991 สายการบินเลาด้า แอร์ เที่ยวบินที่ 004 เดินทางจากกรุงเทพ ไปยังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 767-3Z9ER กัปตันคือโทมัส เจ. เวลช์ วัย 48 ปี ชาวอเมริกัน และโจเซฟ เทอร์เนอร์ นักบินผู้ช่วยวัย 41 ปี ชาวออสเตรีย
เวลา 23:21 น. เพียงสิบสองนาทีหลังจากเครื่องบินวิ่งขึ้นจากสนามบินดอนเมือง ก็มีสัญญาณเตือนบางอย่างก็ขึ้นมาที่หน้าจอห้องนักบิน นักบินผู้ช่วยมองเห็นสัญญาณเตือนความผิดพลาดทางระบบที่อาจทำให้ Thrust Reverser ที่เครื่องยนต์หมายเลข 1 ทำงานขณะบิน (Thrust Reverser คือหนึ่งในอุปกรณ์ที่จะทำให้เกิดแรงฉุด ซึ่งโดยปกติมันทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้เครื่องบินชะลอความเร็วให้ลดลงขณะลงจอด)
สัญญาณเตือนติดๆ ดับๆ อยู่เป็นระยะ จนกัปตันเริ่มสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ในขณะนั้นนักบินผู้ช่วยก็ได้ทำการเปิดดูคู่มือฉุกเฉิน นักบินผู้ช่วยเปิดคำแนะนำในหนังสือ พวกเขาถกเถียงปัญหานี้กันด้วยความงุนงง โดยเฉพาะนักบินผู้ช่วยที่อ่านคู่มือให้กัปตันฟังด้วยน้ำเสียงที่กระวนกระวาย “หากมีการเสียหายจากระบบอื่นๆ เพิ่มเติมอาจจะทำให้ Reverser ทำงานกลางอากาศได้ แต่คาดการณ์ว่าสามารถใช้งานได้ปกติ”
โจเซฟ เทอร์เนอร์ อ่านประโยคนี้จากคู่มือให้กัปตันได้ฟัง กัปตันเวลช์ยังคงงุนงง เขาหยิบคู่มือจากนักบินผู้ช่วยมาอ่านด้วยตนเอง พยายามทำความเข้าใจอยู่สักพัก จากนั้นเขาก็นำหนังสือไปวาง แต่นักบินผู้ช่วยยังคงกังวลกับสัญญาณเตือนที่ติดๆ ดับๆ
“เราควรถามเจ้าหน้าที่ช่างภาคพื้นไหมครับ?” นักบินผู้ช่วยถามกัปตันด้วยความไม่มั่นใจ
“คุณจะถามก็ได้…มัน..เอ่อ..มันน่าจะ…ไม่น่า.. มันน่าจะเกิดจากความชื้นหรืออะไรสักอย่าง..มันไม่น่า…มันติดขึ้นมาแล้วก็ดับไปๆ มาๆ” กัปตันผู้ซึ่งไม่เคยพบปัญหานี้มาก่อนเช่นกันก็ตอบด้วยความไม่ค่อยมั่นใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วทั้งสองก็ตัดสินใจทำการบินต่อท่ามกลางความสงสัยที่ยังคลุมเครือ
แต่ผ่านไปไม่ถึง 5 นาที ฝันร้ายที่ไม่มีใครคาดคิดก็มาถึง Reverser ทางฝั่งเครื่องยนต์ซ้ายเกิดทำงานบนอากาศ มันทำให้เครื่องยนต์ทั้งสองข้างสร้างแรงที่ตรงข้ามกัน แรงขับดันมหาศาลที่พยายามฉีกเครื่องบินออกเป็นเสี่ยงๆ ไม่ถึง 3 วินาทีต่อจากนั้น เครื่องบินก็เกิดสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง ภารกรรมมหาศาลทำให้ชิ้นส่วนหางโค้งงอและแตกหักภายใน 10 วินาที มันหมุนควงสว่าน หัวปักชี้ไปที่พื้นดิน เครื่องบินแยกเป็นสองส่วนกลายเป็นลูกไฟวิ่งลงสู่พื้นดิน ตกไปยังบริเวณอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี จนเพลิงไฟลุกโชนไปทั่วทั้งป่า ผู้โดยสารและลูกเรือ 223 คน ไม่มีผู้ใดรอดชีวิต และในจำนวนนั้นเป็นคนไทยถึง 39 คน
หลังจากเครื่องบินตก ตัวแทนของบริษัทโบอิ้ง, คณะกรรมการความปลอดภัยทางการคมนาคมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NTSB) และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้เข้ามาร่วมวิเคราะห์สาเหตุในพื้นที่ในอำเภอด่านช้าง รวมถึงนิกิ เลาด้า (Niki Lauda) เจ้าของสายการบินเลาด้าแอร์ ที่เข้ามาช่วยค้นหาผู้เสียชีวิตด้วยเช่นกัน
นิกิ เลาด้า เกิดที่กรุงเวียนนาในปี ค.ศ.1949 ในวัยเพียง 22 ปี เขาก็เริ่มตัดสินใจขับรถฟอร์มูล่าวัน แต่การเริ่มต้นความฝันนี้ไม่ได้เรียบง่าย แม้จะเกิดจากครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่อาชีพที่ตัดสินใจเลือกนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางบ้านแม้แต่น้อย นิกิถูกบังคับให้กู้ยืมเงินจากธนาคารเนื่องจากถูกตัดขาดจากครอบครัว เพื่อนำเงินจำนวนมหาศาลมาซื้อหนทางเข้ามาในวงการฟอร์มูล่าวัน
เขาต้องต่อสู้กระเสือกกระสนกับวิกฤตการเงินของตนควบคู่ไปกับความพยายามในการเฟ้นหาชัยชนะ จน 3 ปีต่อมา นิกิเอาชนะการแข่งขันได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 และได้เข้าร่วมทีมเฟอร์รารี่ ต่อจากนั้นเขาก็ได้แชมป์โลก 2 ครั้งในปี ค.ศ.1975 และ ค.ศ.1977
ในปี ค.ศ.1976 นิกิต้องประสบอุบัติเหตุหลังจากการชนอย่างน่าสยดสยองที่สนามนูร์บูร์กริง ทำให้ใบหน้าและร่างกายของเขาเกิดแผลอย่างรุนแรงจากไฟไหม้ แต่การเสียโฉมไปตลอดกาลไม่ได้ทำให้นิกิยอมแพ้ 6 สัปดาห์ต่อมาเขากลับมาหลังพวงมาลัยอีกครั้งและเกือบจะคว้าแชมป์อีกครั้งในปีนั้น ในปี ค.ศ.1979 นิกิตัดสินใจเกษียณอาชีพตนเองเพื่อมุ่งความสนใจไปยังความหลงไหลครั้งใหม่ นั่นคือการปลุกปั้นทำสายการบินนามว่า ‘เลาด้าแอร์’
แต่การทำสายการบินสร้างหนี้ก้อนโตอย่างมหาศาลเกินกว่าที่เขาจะคาดถึง ทำให้นิกิต้องจำนองบ้านของเขาและกลับไปแข่งอีกครั้งในปีค.ศ.1982 และคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 3 เพียงแต่คราวนี้ในฐานะทีมแม็คลาเรน จนต่อมาในปี ค.ศ.1985 สายการบินเลาด้าแอร์ที่นิกิพยายามสร้างขึ้นมากว่า 6 ปีก็พร้อมที่จะเริ่มดำเนินการ เขาจึงตัดสินใจเกษียณตนเองอีกครั้ง สายการบินเลาดาเริ่มให้บริการผู้โดยสารโดยเริ่มต้นจากการบินระหว่างประเทศเยอรมนีและออสเตรียด้วยเครื่องบินใบพัดแบบ Fokker F27 ขนาดเล็ก 2 ลำ
ในยุคที่ธุรกิจการบินเฟื่องฟู ธุรกิจของนิกิเป็นไปอย่างราบรื่น จนนำเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 เพิ่มเข้ามาอีกจำนวน 2 ลำ นิกิตั้งใจและขยันไม่แพ้อาชีพเดิมของเขา “การบริการคือความสำเร็จของเรา” กลายเป็นคำขวัญของบริษัท นิกิตั้งเป้าหมายสำคัญไว้ 3 อย่าง เครื่องบินที่สะอาด อาหารที่ดี และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เป็นมิตร จนสายการบินได้รับชื่อเสียงที่ดีจากการให้ความสำคัญคุณภาพที่สอดคล้องกับต้นทุน
ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เลาดาแอร์ที่ทะยานอย่างพุ่งพรวดก็เริ่มบินจากเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย ไปยังเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ผ่านกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเส้นทางบินข้ามทวีประยะไกลเส้นทางแรกของสายการบิน มันได้รับการตอบรับที่ดีจนขยายเส้นทางต่อมาเรื่อยๆ และท่ามกลางความสำเร็จเหล่านี้ ก็ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น
“ผู้คนต่างคิดว่าช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของฉันคงเป็นการแข่งขันเยอรมันกรังด์ปรีซ์ที่ชนกันในปี ค.ศ.1976 ที่ทำให้ฉันต้องอยู่ในอาการโคม่าและทิ้งร่อยรอยแผลไฟไหม้รุนแรงไว้กับฉัน แต่มันไม่ใช่ เพราะในปี ค.ศ.1991 เครื่องบินเลาด้าแอร์ตก คร่าชีวิตผู้คน 223 ราย ผลกระทบของโศกนาฏกรรมนี้มันมหาศาล ตอนที่ฉันแข่งรถ ฉันตัดสินใจเสี่ยงแค่ชีวิตของตนเอง แต่เมื่อคุณบริหารสายการบินและมีผู้คนมากกว่า 200 คนที่เดินทางในแต่ละเที่ยวบิน และถ้าพวกเขาไม่มาถึงจุดหมาย นั่นเป็นความรับผิดชอบที่ต่างออกไป ปฏิกิริยาแรกของฉันหลังจากเครื่องบินตกคือการพูดว่า ‘ถ้าบริษัทของฉันเป็นผู้ที่ผิดเรื่องนี้ เราต้องหยุดให้บริการสายการบินทันที’” นิกิ เลาด้าให้สัมภาษณ์ในปี ค.ศ.2006
การสืบสวนอากาศยานอุบัติเหตุในครั้งนี้ยากขึ้นหลายเท่า วันเวลาผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ Reverser นั้นกางออกมากลางอากาศได้ เหตุผลแรกคือกล่องดำที่เก็บข้อมูลการบินไว้นั้นมันพังทลายจนไม่สามารถกู้ข้อมูลมาได้ หรือถูกชำแหละชิ้นส่วนเพื่อไปขายก็ไม่มีใครทราบได้ เหตุผลที่สองก็คือชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ของเครื่องบิน ที่สามารถนำไปเข้าแลปเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุถูกขโมยเอาไปเกือบหมดสิ้น เพราะในเหตุการณ์นี้มีคนไทยมากมายที่ฉวยโอกาสเก็บทุกอย่างที่มีค่าออกไปขาย แม้กระทั่งแหวนที่คาอยู่ในนิ้วของผู้เสียชีวิต
วันเวลาผ่านไป 8 เดือนก็พบหลักฐานชิ้นสำคัญที่น่าจะเป็นสาเหตุของการกาง นั่นคือวาล์วควบคุมไฮดรอลิกในThrust Reverser ของเครื่องยนต์ฝั่งซ้าย วาล์วตัวนี้จะรับสัญญาณไฟฟ้าและจะทำการเปิดไฮโดรลิคเพื่อให้ Reverser นั้นกางออกมา
บริษัทโบอิ้งได้เอาวาล์วตัวนี้ไปทดสอบ โดยลองให้วาล์วตัวนี้เกิด “เหตุไฟฟ้าลัดวงจร” และจากการทดสอบทั้งหมด 600 ครั้ง ผลที่ออกมานั้น มี Reverser กางออกมาเองจำนวน 1 ครั้ง แม้จะเป็นแค่ 1 ใน 600 แต่มันก็บอกเราได้ว่าวาล์วตัวนี้มีข้อบกพร่องที่อาจเป็นตัวการคร่าชีวิตคนไป 223 คน แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีใครสามารถสรุปแน่ชัดว่า Reverser มันกางออกมาเองเพราะอะไร แต่จากหลักฐานชิ้นนี้ ก็เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่สามารถอธิบายได้ว่า มันสามารถกางเองได้กลางอากาศโดยที่ไม่มีนักบินคนไหนไปสั่งการ
มันคือการต่อสู้ระหว่างนิกิ เลาด้า นักแข่งรถแชมป์โลก 3 สมัย กับโบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ ซึ่งที่เราเห็นคือบริษัทโบอิ้งพยายามหาทางที่จะไม่ยอมรับผิดอยู่ฝ่ายเดียว เฉกเช่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเลาด้าแอร์ไป 27 ปี พวกเขาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นเรื่องของชื่อเสียงและเงินทอง
โบอิ้งนั้นได้ออกเอกสารมายืนยันตอบโต้เหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่การทดสอบการบินจากเครื่องจำลองการบิน (Simulator) โดยนักบินลองเครื่องของบริษัทแล้วนั้น พบว่าการกางของ Reverser สามารถแก้ไขได้ และนำเครื่องกลับมาลงได้ตามปกติ” แปลได้ว่า อุปกรณ์นั้นเสียจริง แต่มันแก้ไขได้ เครื่องบินไม่จำเป็นต้องตกเสมอไป และนักบินก็มีส่วนผิด
โบอิ้งยังกล่าวอีกว่า “หลังจาก Reverser กางออกมาแล้วนั้น คุณมีเวลาถึง 4 วินาทีในการแก้ไขท่าทางการบิน ก่อนที่เครื่องจะหมุนพลิกและเกิดภาวะร่วงหล่น (Stall) จากนั้นให้รีบทำการดับเครื่องยนต์ด้านที่ Reverser กาง และนำเครื่องกลับมาลงสู่สนามบิน”
นิกิ เลาด้า เห็นเอกสารนี้ที่โบอิ้งส่งมาให้ เขารู้ทันทีว่ากำลังโดนยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่เขาและบริษัท มันคือการยัดเยียดให้ผู้เสียหายและคนตาย
ไม่มีใครอยากรับผิดเต็มๆ ในเรื่องสะเทือนขวัญแบบนี้
“มันใช้เวลาประมาณ 8 เดือนในการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก เครื่องบันทึกการบินได้รับความเสียหายและมีเพียงเครื่องบันทึกเสียงเท่านั้นที่รอดชีวิต รวมถึงซอฟต์แวร์เครื่องยนต์บางตัว เมื่อบริษัทโบอิ้งวิเคราะห์ทุกอย่างพวกเขาก็สรุปว่า Reverser นั้นกางเองได้ในอากาศ แต่พวกเขากลับคิดว่านักบินยังคงสามารถทำการบินต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์เหล่านั้น พวกเขาคิดว่านักบินน่าจะแก้ไขมันและบินต่อไป
แต่มันทำไม่ได้ สิ่งที่ทำให้ฉันรำคาญมากคือเมื่อสาเหตุทุกอย่างมันชัดเจนแล้ว ปฏิกิริยาของบริษัทโบอิ้งคือเงียบและไม่อยากพูดอะไร ฉันไปงานศพที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานศพของสำหรับผู้โดยสาร 23 คนสุดท้ายที่ไม่ปรากฏชื่อ จากนั้นฉันก็บินตรงไปยังซีแอตเทิลทันทีเพื่อจัดการเรื่องราวนี้อย่างเหมาะสม นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับฉัน” นิกิอธิบายถึงปัญหาระหว่างเขาและบริษัทโบอิ้ง
เขาบินไปยังซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีเครื่องจำลองการบินของโบอิ้ง 767 ตั้งอยู่ นิกิขอให้โบอิ้งเปิดเครื่องจำลองการบินโดยตั้งโปรแกรมตามที่พวกเขาคิดว่าเกิดกับเที่ยวบินเลาด้าแอร์ที่ตก และนิกิจะทดลองทำการบินนี้กับนักบินของเขา ในตอนแรกพวกเขาปฏิเสธไม่ยอมให้เขาเข้าเครื่องจำลองการบิน นิกิจึงพูดขึ้นด้วยความโมโห
“ฟังนะ นี่คือเครื่องบินของฉัน! ชื่อของฉัน! ความเสียหายของฉัน!
ดังนั้นจงให้ฉันได้ทำมันเถอะ”
สุดท้ายพวกเขาก็ปล่อยให้นิกิขึ้นบินจำลอง และไม่ว่าเขาจะพยายามแค่ไหน การบินจำลองเหตุการณ์ทั้ง 15 ครั้ง เขาก็ทำเครื่องบินตกทั้ง 15 ครั้ง
“ฉันพยายาม 15 ครั้งเพื่อให้เครื่องบินที่เสียทำการบินต่อไป แต่มันเป็นไปไม่ได้ และเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุใดเครื่องบินจึงตก แต่ฝ่ายกฎหมายของโบอิ้งกลับบอกว่า พวกเขาไม่สามารถออกแถลงการณ์เรื่องนี้ได้ เขากล่าวว่าขอเวลาอีกสามเดือนในการจัดการถ้อยคำก่อนที่จะแถลง” นิกิให้สัมภาษณ์ในปีค.ศ.2006
แน่นอนว่าโบอิ้งไม่พอใจในเรื่องนี้ เพราะทางโบอิ้งก็ให้นักบินลองเครื่อง (Test Pilot) ทำการบินจากเครื่องจำลองการบินเช่นกัน และพวกเขาสามารถรอดชีวิต และนำเครื่องกลับมาลงได้ แต่ในความเป็นจริง มีปัจจัยต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมายกว่าสถานการณ์ในเครื่องบินจำลอง เพราะพวกเขาไม่รู้ล่วงหน้าและไม่ได้เตรียมตัวไว้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับ ยูเอสแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 1549 ในปี ค.ศ.2009 เครื่องบินแบบแอร์บัส เอ320 ที่ เชสลีย์ บี. “ซัลลี” ซัลเลนเบอร์เกอร์ กัปตัน และ เจฟฟรี สไคลส์ นักบินผู้ช่วย ทำการลงจอดฉุกเฉินบนแม่น้ำฮัดสัน หลังจากฝูงนกเข้าไปในเครื่องยนต์ทั้งสองจนเป็นเหตุให้เครื่องยนต์หยุดทำงาน
ในทีแรกการสอบสวนระบุว่า นักบินสามารถวกกลับมาลงยังสนามบินได้โดยไม่จำเป็นต้องลงแม่น้ำ จากการที่ให้นักบินคนอื่นทำการบินจากเครื่องจำลองการบิน ซัลลีแย้งว่าที่พวกเขาลงกันได้จากเครื่องจำลองการบิน ก็เพราะว่าพวกเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันไม่ต้องมีเวลาคิด เวลาตัดสินใจใดๆ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยในความเป็นมนุษย์ ในความเป็นจริงแล้วมันไม่สามารถเป็นแบบนั้นได้ในสถานการณ์จริงๆ จนสุดท้ายการสืบสวนก็ระบุว่าสิ่งที่ซัลลีทำนั้นถูกต้องแล้วหากพิจารณามนุษย์ปัจจัยเพิ่มเข้าไป
นิกิ ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องยนต์และความเร็วที่ต้องตัดสินใจทุกเสี้ยววินาที เขารู้ถึงจุดนี้ดี และเขาจะไม่ยอมให้โบอิ้งมาฟันธงตราหน้าว่านักบินที่เสียชีวิตไปมีส่วนผิด นิกิประกาศจัดงานแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้นที่ซีแอตเทิลทันที และแถลงว่า
“มาขึ้นเครื่องบินโบอิ้ง 767 ที่บรรทุกน้ำหนักให้เท่ากับเครื่องบินที่ตก บินขึ้นไปบนฟ้าและเปิด Thrust Reverser กลางอากาศ ถ้าพวกคุณรับประกันว่ามันยังคงบินต่อไปได้ ฉันก็อยากขึ้นเครื่องบินลำนี้ หากพวกคุณ (บริษัทโบอิ้ง) มั่นใจว่านักบินสามารถขับเครื่องบินเหล่านี้ต่อไปได้โดยไม่เสี่ยง เรามาขึ้นเครื่องบินแล้วทำแบบนี้กันเถอะ”
นิกิยื่นคำขาดว่านี่คือข้อตกลงครั้งสุดท้าย ช่วยทำมันจริงๆ ให้ดูหน่อย ถ้าโบอิ้งทำได้ เขาจะยอมฟันธงว่านักบินก็มีส่วนผิด และบริษัทของเขาก็ขอยอมรับความผิดพลาดนี้
ไม่กี่นาทีหลังจากนิกิแถลงการณ์เสร็จ ตัวแทนของบริษัทโบอิ้งได้มาที่โรงแรมที่นิกิอยู่และบอกเขาทันทีว่า “ขอไม่ทำ เพราะทำไม่ได้”
“ตกลง งั้นช่วยออกแถลงการณ์เรื่องนี้ด้วย!”
นิกิตอบกลับทันที
สุดท้ายของเรื่องราวนี้ โบอิ้งขอยอมแพ้ เป็นครั้งแรกที่โบอิ้งออกมายอมรับในเหตุการณ์นี้ว่านักบินไม่ได้มีส่วนผิดใดๆ โบอิ้งได้ออกแถลงการณ์กับเรื่องราวนี้ว่า “การที่ Reverser กางออกมากลางอากาศ เป็นสิ่งที่นักบินไม่สามารถแก้ไขได้”
จากอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้มีการปรับปรุงและแก้ไขระบบ Reverser ทั้งหมดทั่วโลก เครื่องโบอิ้ง 767 ทั้งหมดติดตั้งระบบล็อคเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก รวมถึงเพิ่มหัวข้อการปฏิบัติของนักบินเมื่อเกิดเหตุ โบอิ้งพยายามปิดรูรั่วทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่กางบนอากาศอีก แน่นอนว่าความปลอดภัยนี้มาจากความพยายามของนิกิ เลาด้า
จากเหตุการณ์นี้รายได้ของเลาด้าแอร์ หายไปถึง 60% แม้นิกิจะพยายามต่อสู้ต่อ แต่สุดท้ายสายการบินก็ต้องปิดตัวลงในปี ค.ศ. 2013 โดยถูกรวมเข้ากับ Austrian Airlines ในปีเดียวกันก็ได้มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อว่า “Rush” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวชีวิตที่ของนิกิ เลาด้า ในช่วงที่เขากำลังโด่งดังและโลดแล่นในวงการฟอร์มูล่าวัน ซึ่งแข่งขันชิงตำแหน่งกับคู่ปรับตลอดกาลของเขา เจมส์ ฮันท์ หนึ่งในนักแข่งผู้ยิ่งใหญ่เช่นกัน กำกับโดย รอน ฮาวเวิร์ด ผู้กำกับที่สร้างผลงานหนังขึ้นหิ้งเอาไว้อย่าง ‘A Beautiful Mind’ และ ‘Apollo 13’
นิกิ เลาด้า เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านของครอบครัว ในวัย 70 ปี เมื่อวันที 21 พฤษภาคม ค.ศ.2019 เขาถือเป็นหนึ่งในตำนานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟอร์มูล่าวัน ตำนานของการต่อสู้ ทุ่มเทให้กับทุกสิ่งที่ทำ และเป็นผู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ
“ฉันผ่านอะไรมามากมาย และฉันก็ตระหนักว่าเราไม่สามารถควบคุมอนาคตได้ แต่ฉันก็ไม่กังวล เพราะเราสามารถเรียนรู้ที่จะเอาชนะความยากลำบากได้ตลอดเวลา” –นิกิ เลาดา
แหล่งข้อมูล:
หนังสือ To hell and back โดย Niki Lauda
เหตุเครื่องบินตกสุดฉาว เมื่อบริษัทโบอิ้งที่ว่าแน่ก็ต้องแพ้ความทุ่มเทของ ‘นิกิ เลาด้า’