ไม่ว่าผ่านมากี่ปีกี่ทศวรรษ ผ่านรัฐประหารและทรราชย์กี่รัฐบาล นักศึกษายังคงเป็นความหวังให้กับประชาธิปไตย นำร่องมวลชนออกมาเปลี่ยนแปลงสังคมต่อสู้กับเผด็จการ
อนันต์ อมรรตัย นักเขียนสารคดีการเมืองและประวัติศาสตร์ ที่มีผลงานจำนวนมากเช่น ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับ แผนการมหาชนรัฐ, ท่านผู้หญิงสวนพลู, ฆ่า 4 รัฐมนตรี, จากเจ้าฟ้ามงกุฎถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ใครปลงพระชนม์ในหลวงอนันต์? ก็ได้ใช้ประสบการณ์ที่เขาได้ร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา เห็นการเคลื่อนไหวและการสลายการชุมนุมต่อหน้าต่อตา อย่างที่เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้อยู่ได้อยู่กับเขา เหล่าวีรชนหนุ่ม-สาว ข้าพเจ้าได้เห็นเขาสร้างวีรกรรมอันน่าตื่นเต้นจนสุดจะพรรณนาออกมา” จึงได้นำชีวิตพวกเขาและเธอมาแต่งเป็นเรื่องสั้นเรื่อง วีรสตรีแห่งถนนราชดำเนิน แต่งเสร็จในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2516 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเพียงไม่กี่วัน ด้วยเจตนาที่จะอุทิศแด่นิสิตนักศึกษานักเรียนอาชีวะนักเรียนมัธยมและประชาชนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
ในนิยายเรื่องสั้นนี้เล่าถึงนักศึกษาสาววัย 21 ปีที่ชื่อ คำสรวย เทพศิริ จากคณะนิติศาสตร์จากมหาลัยริมเจ้าพระยา เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มริเริ่มชุมนุมร่วมกับนักศึกนิสิตมหาลัยอื่นๆ นำผู้คนเดินขบวนและปราศรัย คำสรวยเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางอาศัยในสลัม พ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยทั่วๆ ไป ชักหน้าไม่ถึงหลังระหว่างเดือน เธอจึงเห็นความยากลำบากของประชาชน ช่องว่าระหว่างชนชั้น การถูกเอารัดเอาเปรียบและความไม่เสมอภาคมาตลอดตั้งแต่เล็กจนเข้าเรียนมหาลัย ประสบการณ์ชีวิตของเธอประกอบสร้างให้เป็นเป็นคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์อย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ซึ่งอุดมการณ์ของเธอทำให้เธอมีอันต้องทะเลาะปากเสียงกับแฟนหนุ่มที่เรียนคณะนิติศาสตร์รุ่นเดียวกัน
แฟนหนุ่มของเธอ นิติ พิทักษ์โยธา เป็นลูกชายนายทหารพลโทสักคนที่คอยสร้างความมั่นคง คุมกำลังสำคัญให้กับ ถนอม กิตติขจร และ ประภาส จารุเสถียร นิติจึงมีชีวิตสะดวกสบายฟุ่มเฟือยหรูหราบนภาษีประชาชน อีกไม่นานเมื่อเรียนจบนิติศาสตร์เขาก็จะเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อกลับมารับราชการทหารหรือกระทรวงสักกระทรวงด้วยอภิสิทธิ์ connection ของพ่อ เขาเห็นผู้คนชนชั้นแรงงานตรากตรำเป็นภาพสวยงามเหมือนเป็นภาพโปสเตอร์ และไม่มีความจำเป็นอะไรต้องเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชิปไตย เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีประชาธิปไตยก็มีกิน ทำมาหากินประกอบอาชีพได้ หนังสือพิมพ์ก็ขายออกได้ ป่วยก็เข้าโรงพยาบาลได้ รักกันก็แต่งงานกันได้
พูดง่ายๆ เขาเป็น ‘สลิ่ม’ ผู้มาก่อนกาล
เขาพูดจาภาษาเดียวกับพ่อของเขาที่เชื่อว่า ประชาชนเป็นคนยากจนไม่มีเวลาคิดเรื่องคุณธรรมนอกจากปากท้อง ต่างจากรัฐบาลเผด็จการที่กินดีอยู่ดี จึงมีคุณธรรมและจะพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากความพินาศ “นักศึกษาโดนล้างสมอง” “พวกนี้เป็นพวกคอมมิวนิสต์” “ขบวนการนักศึกษามีนักการเมืองชั่วชักใยอยู่เบื้องหลัง” คือประโยคที่พ่อลูกคู่นี้พ่นออกมาเสมอ
คู่รักหนุ่มสาวมักโต้เถียงกันเสมอ นิติเชื่ออย่างหน้าซื่อตาใสว่ารัฐบาลมีคุณธรรม ไหว้พระสร้างวัด สร้างโรงพยาบาล แต่สำหรับแฟนสาวนั้นมองว่าสิ่งเหล่านี้สร้างมาจากเงินที่ฉ้อโกงและขูดรีดผ่านระบบภาษี นิติยังปักใจเชื่อว่าประชาชนต้องเชื่อฟังรัฐบาล รัฐบาลเท่านั้นที่จะพาประเทศชาติรอดจากคอมมิวนิสต์ เขาจงรักภักดีต่อรัฐบาลทหารเผด็จการอย่างบริสุทธิ์ และที่บรรดานายพลจอมพลใช้ชีวิตสุขสบายฟุ่มเฟือยหรูหรา ก็สมควรยิ่งแล้วกับการที่พวกเขาต้องทำงานหนักอย่างเหน็ดเหนื่อย รับผิดชอบประชาชนจำนวนมหาศาล เป็นรางวัลชีวิตที่ควรได้
นิยายเรื่องนี้จึงเป็นความรักของหนุ่มสาววัยมหาลัยที่ไม่กุ๊กกิ๊กวัยใสแต่มีฉากหลังคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนนักศึกษาภายใต้บรรยากาศเผด็จการถนอม กิตติขจร ผู้เขียนอุทิศเรื่องราวส่วนใหญ่ไปกับการปะทะคารมอย่างอดทนอดกลั้นและอยากเอาชนะ ระหว่างอุดมการณ์ของฝ่ายหญิงกับความมืดบอดไม่ประสีประสาของฝ่ายชาย แต่ก็ยังไม่ลดละที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้รัฐบาลที่พ่อเขาประคับประคองอำนาจอยู่ นิติจึงเป็นตัวแทน ‘ลูกที่ดีของพ่อ’ ที่เชื่อฟังพ่อไม่ว่าระแคะระคายพ่อว่ากำลังใช้อำนาจนิยมขูดรีดเอาเปรียบฉ้อโกงประชาชน
แน่นอนความสัมพันธ์ของทั้งคู่กำลังง่อนแง่นเหือดแห้ง นิติทั้งเกลี้ยกล่อมและขู่คำสรวยให้เธอวางมือในการต่อสู้กับรัฐบาล เขามักยกความความรักความสัมพันธ์เป็นตัวประกันให้เธอยุติการเคลื่อนไหวและเงียบปากลง ความรักกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่นิติต้องการกดให้คำสรวยสยบยอมเชื่อฟังคำของเขา สำหรับนิติ คำสรวยกลายเป็นผู้หญิงที่กระหายประชาธิปไตยบ้าๆ บอๆ เขาโทษขบวนการเคลื่อนไหวและการเมืองที่ทำให้เธอกระด้าง ไร้ความน่ารักอ่อนหวาน ขณะเดียวกันความแกร่งกร้าวของคำสรวยทำให้นิติสะเทือนใจหลายครั้ง
นิติจึงเป็นตัวแทนของสำนึกชายเป็นใหญ่ทั่วๆ ไปที่พยายามเขี่ยผู้หญิงออกจากพื้นที่ทางการเมือง ที่เชื่อว่า ‘ความเป็นหญิง’ ต้องไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองจะหมดความน่ารักอ่อนโยน ร้ายไปกว่านั้นพวกเธอก็กำลังเอาความสาวความสวยมาทิ้งไว้บนถนนกับความสุ่มเสี่ยงถึงชีวิต
เพราะการเมืองและพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องของผู้ชาย ที่มีศักยภาพในการใช้ตรรกะเหตุผลมากกว่าผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความโลเล อ่อนแอและเจ้าอารมณ์ พวกผู้หญิงควรอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าจะมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของรัฐ การที่ผู้หญิงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภาครัฐทำให้เรื่องส่วนตัวกับสาธารณะปะปนกันแยกไม่ออก
อย่างไรก็ตามวีรสตรีอย่างคำสรวย นักเขียนได้กำหนดให้
‘ความเป็นหญิง’ ของเธอมีประโยชน์ต่อขบวนการเคลื่อนไหว
ระหว่างประชุมชมรมนักศึกษาในการเรียกร้องทวงคืนรัฐธรรมนูญ เธอคอยปลอบประโลมด้วยความนุ่มนวล เป็นน้ำเย็นเข้าลูบเลือดร้อนคุกรุ่นบรรดานักศึกษาชายเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเธอที่โกรธแค้นเดือดดาล เมื่อเปิดหน้าเดินขบวน เธอก็รู้จักพูดใช้วาทศิลป์กล่าวปราศรัยปลุกมวลชน ขณะเดียวกันเธอก็ดุดัน แข็งกร้าว ใช้ความฉะฉานฟาดเฉพาะแฟนหนุ่มกับพ่อของเขาที่พยายามโจมตีเพื่อนๆ และอุดมการณ์ของเธอ อย่างไรก็ตามเธอก็ยังคงรักนิติและเคารพพ่อของเขาพร้อมกับหวังให้นายพลเข้าใจเธอ
คนที่แยกเรื่องการเมืองกับเรื่องส่วนตัวไม่ออกกลับเป็นนิติ—ที่สำหรับผู้เขียน เขามองความรักความใคร่และอุดมการณ์เป็นเรื่องเดียวกัน แยกจากกันไม่ออก ขณะที่ฝ่ายหญิงแยกแยะได้ดีกว่า รักแฟนมั้ยก็รัก แต่เผด็จการก็ต้องไล่ เราเดทด้วยกันได้กระหนุงกระหนิงกันได้ แต่ถ้าเดินขบวนต่อสู้รัฐบาลว่าที่พ่อสามีก็พร้อมลุย ความมุ่งมั่นดุดันอย่างมั่นคงของ คำสรวยทรงพลังมากจนนิติเกิดความหวาดกลัวขึ้นมาในใจอย่างประหลาด จนคำสรวยต้องคอยกระตุ้นให้เขาเข้มแข็งขึ้นมา
มากไปกว่านั้นเธอยังสามารถทำให้แฟนหนุ่มตาสว่างจนได้แล้วร่วมเดินขบวน อันที่จริงความเชื่อความคิดนิติสั่นคลอนเรื่อยๆ จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเขาเองก็ไม่ได้งมงายขนาดมองไม่เห็นพฤตการณ์ของพ่อของเขา และเมื่อแฟนสาวเผชิญหน้ากับพ่อของเขาครั้งหนึ่ง พ่อเขาเองก็เริ่มเปลี่ยนความคิดที่จะโน้มเอียงมาทางขบวนการนักศึกษา เพียงแต่พ่อของเขาขี้ขลาดและเสพติดอำนาจความสุขสบายมากเกินไป จนไม่ทำอะไรนอกจากปล่อยให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนออกไปร่วมเดินขบวนในวันที่ 14 ตุลา
อย่างไรก็ตามรัฐบาลทรราชย์มีเครือข่ายและอำนาจมาก และได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายซึ่งทุกคนดูออกว่าไม่ได้อยู่เคียงข้างประชาชน ประภาสได้รับพระราชทานยศจอมพล และได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจเพื่อกำจัดนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ที่พยายามเปิดโปงทุจริตและการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาล มหาลัยเองก็สยบอยู่แทบเท้าคอมแบท อธิการบดีพิจารณาลงโทษลบชื่อของนักศึกษาออกจากมหาลัยที่เขียนข้อความแสดงออกทางการเมืองเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ กลายเป็นว่านักศึกษากล้าหาญมากกว่าผู้บริหารของมหาลัย
ขบวนการเคลื่อนไหวมีเพียงก้อนอิฐ ไม้และคำก่นด่าเป็นอาวุธ คีบรองเท้ายางดาหน้าต่อสู้กับทหารที่พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนด้วยรถถังอย่างอำมหิตไม่ต่างจากสัตว์ป่า ในตอนจบของเรื่อง
ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงความป่าเถื่อนของรัฐบาลทหารที่สั่งการ
ปราบปรามมวลชนอย่างโหดเหี้ยม รวมถึงความโกรธแค้นของประชาชน
“ทหารของชาติผู้มีข้าวกินจากภาษีอากรของประชาชน กำลังประทับปืนเล็งปากกระบอกเข้ามายังกลุ่มของนิสิตนักศึกษานักเรียนและประชาชนผู้กำลังโกรธแค้นกับการทรยศอย่างป่าเถื่อนของพวกถนอม-ประภาสและลูกชายของมัน”
และ
“เด็กหนุ่มสาวเหล่านั้น ทุ่มชีวิตเข้าสู่กับความโหดร้ายทารุณเยี่ยงสัตว์ป่าของอ้ายพวกชายชาติสุนัขในเครื่องแบบ ถือปืนซึ่งซื้อจากภาษีอากรของประชาชนมากเข่นฆ่าประชาชน…อ้ายถนอม-ประภาสและณรงค์ พร้อมด้วยบริวารของมันจงพินาศฉิบหาย ถึงแก่ความดับศูนย์ไปด้วยความทุกข์ทรมานนานาชนิด…ณรงค์กิตติขจร อ้ายเดรฉานในคราบของนักบุญ มันสั่งเอาเฮลิคอปเตอร์ขึ้นร่อนเหนือบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็ยิงปืนกลกราดลงมาถูกเด็กหนุ่มสาวและประชาชนบริเวณนั้นล้มตายเสียมากต่อมาก”
และสุดท้ายเมื่อรถยานเกราะคันใหญ่เคลื่อนที่พุ่งเข้าสู่มวลชนอย่างรวดเร็ว คำสรวยได้โผล่ออกมายืนจังก้ามือกำธงชาติไว้แน่นขวางทางรถถังไว้อย่างเด็ดเดี่ยวดวงต้าจ้องเขม็งไปยังรถยานเกาะที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ ท่ามกลางเสียงร้องห้ามปรามของประชาชนในขณะนั้น เธอไม่กลัวและไม่ไหวติง ก่อนที่ร่างของเธอจะถูกรถนั่นพุงชนจนล้มลงฟาดกับพื้นแล้วตีนตะขาบค่อยๆ บดร่างของเธอ ต่อหน้าต่อตานิติที่ร่วมขบวนกับนักเรียนอาชีวะ เขาโผวิ่งเข้าหาคำสรวยที่กลายเป็นร่างไร้วิญญาณ ทันทีทันใดเขาก็ถูกยิงจนล้มฟุบลงไปบนร่างของคำสรวย คู่รักหนุ่มสาวเสียชีวิตเคียงคู่กันท่ามกลางความโกลาหลในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
วีรสตรีแห่งถนนราชดำเนิน ทำให้เห็นว่า วีรสตรีวีรบุรุษไม่ใช่ตัวละครที่อุปโลกน์ในพงศาวดาร ผู้ที่สละความสุขสบายสละชีพเพื่อชาติไม่ใช่ทหาร ที่ชอบทวงบุญคณและอ้างว่าตนเองเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง หากแต่เป็นประชาชนพลเรือนที่ออกมาต่อสู้เพื่อชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกฆ่าตายด้วยเผด็จการทหาร