ด้วยความตระหนักถึงวัฒนธรรมมุสลิมและวัฒนธรรมของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานในยุโรป และการผสมผสานวัฒนธรรมที่กฎหมายควรจะรองรับทุกมิติ ซึ่งส่งผลต่อรัฐสวัสดิการและการยอมรับสถานภาพโดยกฎหมาย การให้กฎหมายรับรองการจดทะเบียนสมรสแบบผัวเดียวหลายเมีย จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงมาตลอด
เพราะแค่การมีสถานะแม่เลี้ยงเดี่ยวกับ ‘ภรรยาที่เพิ่มมา’ อาจจะเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ แต่ให้คุณค่าความหมายที่แตกต่างกัน ลองคิดดูสิ สมมติว่าเราต้องไปรับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์เราเป็นเมียอีกคนนึงเหมือนกันแต่กลับต้องกรอกว่าแม่เลี้ยงเดี่ยวแทน เพราะกฎหมายยังไม่ยอมรับภรรยาที่เพิ่มขึ้นมา แย่ยิ่งกว่าสถานการณ์สมมติว่าเราเป็นแฟนกันอยู่กินด้วยกันแต่พอเวลารับพัสดุภัณฑ์แทน กลับต้องบอกว่าเป็นญาติเป็นเพื่อนแทนอีกนะ
ผัวเดียวหลายเมียไม่มีท่าทีที่จะได้ยอมรับกันง่ายๆ
หลายคนกล่าวว่า ครั้งหนึ่งเคยบอกว่าการอนุญาตจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันเป็นการทำลายความหมายคุณค่าของการแต่งงานซึ่งนั่นก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงอคติ แต่สิ่งที่ทำลายคุณค่าความหมายของสถาบันการแต่งงานอย่างถึงแก่นคือการจดทะเบียนสมรสผัวเดียวหลายเมียต่างหาก มากไปกว่านั้นการแต่งงานประเภทนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการบีบบังคับแต่งงาน และการแต่งงานกับเยาวชนของพวกอนุรักษ์นิยม
มันจึงมีนานาจิตตังว่าด้วยผัวเดียวหลายเมียที่ยังคงอีรุงตุงนัง หาข้อสรุปไม่ลงตัวสักที เพราะยังเชื่อว่าไม่น่าจะเข้ากันได้ดีกับรูปแบบครอบครัวเดี่ยว และก็ใช่ว่ามนุษย์กำลังอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัย ทุพภิกขภัย จนต้องแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมียหรือเมียเดียวหลายผัว เพื่อป้องกันความเสี่ยงสูญพันธุ์ และเพิ่มการคุ้มครองดูแลกันในสถานบันครอบครัว แต่บางทีผัวเดียวหลายเมียอาจจะมีประโยชน์กับความสัมพันธ์สำหรับผู้สูงอายุในการดูแล บางฝ่ายก็เชื่อว่าเป็นการสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตย (แต่ก็ไม่ได้พูดถึงการยอมรับเมียเดียวหลายผัว) อย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่สามารถยอมรับได้ทางกฎหมาย แม้แต่ในรัฐที่เสรีประชาธิปไตยและหัวก้าวหน้า เพียงแต่พออดทนได้บ้าง[1]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผัวเดียวหลายเมียเป็นผลผลิตของสังคมชายเป็นใหญ่ (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมียเดียวหลายผัวจะเป็นผลผลิตของสังคมหญิงเป็นใหญ่นะ) ประเด็นถกเถียงเรื่องการยอมรับทางกฎหมายจึงเป็นความสนใจเรื่องผู้ชายเป็นศูนย์กลางผู้หญิงจะสามารถยอมรับได้ถ้าจะเป็นคนรักของชายคนเดียวกัน แต่จินตนาการไม่ออกเลยว่าเมียเดียวหลายผัวจะมีหน้าตาเป็นแบบใดเมื่อผู้หญิงครอบครองชายคนรักได้จำนวนมากกว่าหนึ่ง จนไม่ตั้งคำถามถึงมัน
อย่างไรก็ตาม มันก็เริ่มมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสนับสนุนการแต่งงานหลายคนรักนี้ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ระยะหลังๆ และรุ่นต่อๆ ไปจะอยู่กันเป็นทีมมากขึ้นมากกว่าเป็นคู่ๆ สิทธิสมรสหมู่หรือมีคนรักได้หลายคนน่าจะได้รับการยอมรับทางกฎหมายที่เป็น polyamory ไม่ใช่ polygamy ด้วย คือมีคนรักได้หลายคนด้วยความซื่อสัตย์และยินยอมพร้อมใจไม่ว่าเพศไหนก็ตาม ไม่ใช่ผัวเดียวหลายเมียที่ผู้ชายเป็นศูนย์กลาง เพราะกฎหมายเป็นสถาบันพื้นฐานที่บ่งชี้ถึงความเท่าเทียม เสรีภาพและความยุติธรรม ย่อมต้องไม่เลือกปฏิบัติให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
หันมาดูประเทศไทยที่เปรียบได้กับจักรวาลคู่ขนาน
การแต่งงานผัวเดียวหลายเมียได้รับการยอมรับทางกฎหมายมานานโข ยาวนานร่วมพอๆ กับประวัติศาสตร์ชาติและระบบศักดินา กฎหมายไม่เพียงรองรับการแต่งงานผัวเดียวหลายเมีย แต่ยังรับรองสถานภาพภรรยาประเภทต่างๆ อีกด้วยนะเออ จำแนกเป็น เมียกลางเมือง เมียกลางนอก เมียกลางภาษี เมียพระราชทาน เมียเชลย ช่วยจัดระดับศักดินาระหว่างภรรยาด้วยกันเอง หากเป็นเมียหลวงหรือเมียพระราชทานให้ถือศักดินากึ่งหนึ่งของสามี หากเป็นเมียน้อยให้ถือศักดินากึ่งหนึ่งของเมียหลวง และกำหนดให้เมียหลวงถือว่ามีสิทธิและอำนาจเหนือเมียคนอื่นๆ
กว่าเราเริ่มจะหันมาตระหนักถึงคุณค่าผัวเดียวเมียเดียว และความไม่ศิวิไลซ์ของผัวเดียวหลายเมียก็เมื่อเริ่มคำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์ทั้งเรื่องเพศและการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก่อนจะมีกลุ่มหนุ่มๆ รวมตัวกันเป็นคณะราษฎร มันก็มีชนชั้นกลางปัญญาชนมีผู้คนมากมายทั้งผู้หญิงผู้ชายอยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมกับการปกครอง ไม่ใช่ปล่อยให้ชนชั้นสูงปกครอง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นสูงด้วยกันเอง ยิ่งเมื่อสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงปี พ.ศ. 2472-2475 นับตั้งแต่การพังทลายของตลาดหุ้นในอเมริกา และในปี พ.ศ. 2474 อังกฤษประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ ซึ่งเงินบาทของสยามผูกไว้กับเงินปอนด์สเตอร์ลิง อย่างไรก็ตามรัฐบาลชนชั้นสูงเลือกที่จะแก้ปัญหาให้ชนชั้นกลางได้รับผลกระทบมากที่สุด อันได้แก่ข้าราชการระดับกลาง ลูกจ้างในบริษัทห้างร้านของชาวต่างประเทศ ด้วยการลดเงินเดือนลดจำนวนข้าราชการ มีการปลดข้าราชการถึงสองครั้งในนาม ‘ดุลยภาพ’ พร้อมทั้งเก็บภาษีรูปแบบใหม่ที่ซ้ำซ้อนกับภาษีรูปแบบเดิมที่เรียกเก็บอยู่ ขณะที่ชนชั้นสูง ชนชั้นเจ้านาย ขุนนาง ด้วยกันไม่ต้องแบกรับภาระภาษีใดๆ ยิ่งตอกย้ำถึงความไร้ประสิทธิภาพอ่อนแอของรัฐบาลชนชั้นเจ้าและมุ่งหวังแต่จะรักษาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนเอง ที่นอกจากไม่รู้จักที่จะทำให้เกิดการลงทุนภายในให้เกิดผลผลิต แต่ยังใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย บริโภคสินค้าต่างประเทศเพื่อประกาศบารมีสถานะทางชนชั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประมุขที่มักเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแทนที่จะช่วยกันประหยัดอยู่ในประเทศ[2]
การเรียกเก็บภาษีเฉพาะชนชั้นราษฎรผู้ชายจำนวนมาก อันเป็นผลผลิตของระบบเกณฑ์แรงงานไพร่ ชายชนชั้นภายใต้การปกครองจึงต้องแต่งงานสร้างครอบครัวให้ช่วยกันหารายได้มาจ่ายภาษีที่แพงระยับ[3] และการแต่งงานชายสามัญชนสมัยนั้นเป็นเรื่องยากที่จะแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมีย รวมทั้งชนชั้นกลางหลายๆ บ้านยังเป็นการไปแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง การมีเมียมากย่อมนำไปสู่การจัดการที่มากขึ้นนอกจากเรื่องปากท้องและจ่ายภาษี อาจเป็นภาระมากกว่าจะเป็นแรงงานช่วยกันทำมาหากิน ต่างจากชายชนชั้นสูงที่ไม่ต้องจ่ายภาษีนี้ ซ้ำยังมีเมียจำนวนมาก สะสมเมียเสมือนแรงงานบริวาร เนื่องจากการแต่งงานแบบผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นเจ้าและขุนนางอำมาตย์เป็นที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับในฐานะประกาศ ‘บารมี’ ยิ่งมีเมียมากยิ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตา เพราะสะท้อนถึงความมั่งคั่งและความสามารถในการเลี้ยงดูบริวารไพร่พลได้ แถมช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ดึงฐานอำนาจความภักดีมาในรูปแบบของเครือญาติเกี่ยวดองกัน[4]
ผัวเดียวหลายเมียกลายเป็นความล้าหลังและอัปยศของรัฐบาล เมื่อต้องเผชิญหน้ากับโลกตะวันตกสมัยใหม่ มิชชันนารีที่เข้ามาภารกิจช่วยให้รัฐบาลมีความศิวิไลซ์และเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับโลกภายนอก ต่างต่อต้านอย่างยิ่งกับการแต่งงานเช่นนี้ของพวกชนชั้นนำ ผ่านงานเขียนต่างๆ เช่น The romance of the harem ปี พ.ศ. 2415 และ The English governess at the Siamese court ปี พ.ศ. 2413 ของแอนนา เลียวโนเวนส์ ข่าวที่แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอบรัดเลย์ลงใน Bangkok Calendar ในปี พ.ศ. 2406 และบทความใน Bangkok Recorder ในปี พ.ศ. 2409
และการศึกษาสมัยใหม่ที่มิชชันนารีนำเข้ามาก็ทำให้ผู้หญิงสามัญชนไทยจำนวนมากเริ่มอ่านออกเขียนได้แล้ว พวกเธอกลายเป็นหญิงสมัยใหม่หัวก้าวหน้า ไม่ได้อยากเป็นและเห็น ‘เมียทาส’ เป็นห่วงสถานภาพลูกผู้หญิงด้วยกัน และก็เริ่มอิดหนาระอาใจกับการปกครองของรัฐบาล พวกเธอแสดงออกผ่านสิ่งพิมพ์หนังสือพิมพ์ นิตยสารผู้หญิงๆ ไม่เพียงท้าทายโครงสร้างปิตาธิปไตยของรัฐบาลสังคม เชิดชูความเสมอภาคระหว่างชายหญิง อิสรภาพในความรักทั้งการอยู่เป็นโสดและการตัดสินใจเลือกคู่ครองเอง ไม่ใช่การถูกคลุมถุงชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งงานผัวเดียวหลายเมียที่ถือว่าเป็นการกดขี่สตรีอย่างรุนแรง[5] แต่ยังเผยแพร่ความรู้สังคมการเมือง กระตุ้นให้หันมาวิพากษ์วิจารณ์ มีคอลัมน์ที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้หญิงทิ้งจดหมาย เพื่อแสดงถึงความทุกข์ร้อนความยากลำบากไม่พอใจในความไม่เสมอภาคทางเพศ
วัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นปกครอง ถูกต่อต้านโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิง ไม่ศิวิไลซ์[6] การต่อต้านระบบแต่งงานผัวเดียวหลายเมียไม่เพียงเป็นการตั้งคำถามต่อการนิยามสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศ แต่ยังเป็นการท้าทายต่อต้านชนชั้นศักดินาอำมาตย์ข้าราชการนักการเมืองผู้ชาย แสดงความไม่ต้องการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฐานะความล้าหลัง การเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในขณะนั้นส่วนหนึ่งเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมชนชั้นสูงไปในตัว และแสดงความหวังถึงระบอบการปกครองใหม่ที่ประชาชนเป็นแหล่งที่มาของอำนาจจะสามารถแก้ไขสถานภาพผู้หญิงได้ ไม่กดขี่สตรีอย่างที่เป็นอยู่ กลายเป็นเพื่อนหญิงพลังหญิงชักชวนกันปลดแอกจากขนบจารีตดั้งเดิมภายในประเทศกำลังกดขี่ผู้หญิง ที่ไม่ต่างอะไรกับประเพณีรัดเท้าเด็กผู้หญิงของจีน[7] เช่นเดียวกับนิตยสาร สัตรีนิพนธ์ ที่จำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 ประกาศว่าเป็นนิตยสารที่ดำเนินกิจการด้วยผู้หญิงและเรียกร้องกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว ขณะเดียวกันก็มีการเขียนฎีกา ขอให้มีกฎหมายจำกัดจำนวนภรรยาของผู้ชาย ทว่าก็ไม่ได้รับการสนใจจากรัฐบาล [8]
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร รัฐบาลหัวประชาธิปไตยก็พยายามยกระดับสถานภาพของผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชาย อย่างน้อยที่สุดก็โดยสถานภาพทางกฎหมายบางประการ เช่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากเป็นเพียงราษฎรชนชั้นภายใต้การปกครอง ผู้หญิงกลายเป็นพลเมืองเช่นเดียวกับผู้ชาย มีสิทธิในการเลือกตั้งเสมอภาคตามหลักรัฐธรรมนูญพร้อมกันในปี พ.ศ. 2476 และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว ที่ผู้ที่มีคู่สมรสอยู่แล้วจะจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ ถ้าจดทะเบียนซ้อน การสมรสครั้งหลังเป็นโมฆะ เท่ากับเป็นกฎหมายแต่งงานผัวเดียวเมียเดียว แล้วก็การเร่งสร้างวัฒนธรรมครอบครัวผัวเดียวเมียเดียวส่งเสริมให้ผัวเมียเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ทุบตี ดูหมิ่น เหยียดหยาม ไม่ทอดทิ้งภรรยาเมื่อเบื่อแล้วให้ตกระกำลำบาก ผ่านประกาศนโยบายของรัฐบาลทั้งวิทยุ หนังสือ บทความ
ความศิวิไลซ์ที่มาในรูปแบบของระบอบการปกครองใหม่ การแต่งงานผัวเดียวเมียเดียว การให้เกียรติคุณค่าภรรยา ทำให้ชนชั้นนำนักการเมืองไม่กล้าเปิดเผยความสัมพันธ์แบบผัวเดียวหลายเมียจนกระทั่งประชาธิปไตยเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 แม้ผู้นำขณะนั้นกลับใจต้องการฟื้นฟูในช่วงปลายทศวรรษแต่สุดท้ายก็เกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2500 กลับไปสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้งที่ผู้นำเผด็จการทหารมีเมียน้อยจำนวนมหาศาล
จนได้ฉายาว่า “ชื่อเหมือนปลา หน้าเหมือนเหี้ย เมียเป็นร้อย” เอ๊ะ ปลาอะไรน้าาาาา…
เฉลย ปลาสลิด….สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จ้า
ทั้งดารา ผู้ประกาศข่าว นักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์ นางแบบ นางงาม นางเอกหนัง เกือบร้อยนางเสร็จแกหมดล่ะ มีทั้งผ่านเอเยนต์ที่จ้างมาคอยดีลให้ 2-3 คน ไปจนถึงใช้หน่วยงานราชการมาเป็นข้ออ้าง ครั้งหนึ่งเมื่อเขาอยากได้สาว 18 ดาวสังคม ที่ปรากฏภาพตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารบ่อยครั้ง จึงแกล้งสร้างข่าวขึ้นมาว่ากองทัพบกต้องการสร้างหนัง แต่ยังขาดนางเอก แสร้งทำทีทาบทามเธอเพื่อที่จะได้เกี้ยวพาราสี แล้วชวนมาเป็นเมียน้อย[9]
บรรดาเมียน้อยทั้งหลายต่างได้รับบ้าน เงินเดือน เครื่องประดับ และทรัพย์สินจำนวนมากมาย ซึ่งความร่ำรวยของเขาก็ไม่ได้มาจากไหน มาจากการเป็นเผด็จการทหารที่ตรวจสอบไม่ได้ ใช้อำนาจหน้าที่เบียดบังและยักยอกถ่ายเททรัพย์ของรัฐนำมาลงทุนและปรนเปรอนางบำเรอ
อันที่จริง มันก็ไม่เสมอไปหรอกนะที่ประเทศเผด็จการฟาสซิสต์การแต่งงานผัวเดียวหลายเมียจะเฟื่องฟูลอย ประเทศระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพแล้วอัตราผัวเดียวหลายเมียมันจะถอยจม แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ที่ผ่านมาประชาธิปไตยจะผลิบาน เฟื่องฟู ถดถอย สามารถใช้การแต่งงานผัวเดียวหลายเมียเป็นดัชนีชี้วัดได้เหมือนกัน
กับประเทศไทย การมีอยู่ของผัวเดียวหลายเมีย ต่างจากประเทศโลกที่ 1 ที่มีเสรีภาพ ยอมรับความหลากหลายมากพอทั้งเสรีภาพทางเพศและการวิจารณ์โดยไม่ต้องถูกลอบฆ่าลอบทำร้ายหรือหาช่องทางทางกฎหมายปิดปาก ชายชนชั้นปกครองไทยใช้ผัวเดียวหลายเมียประกาศถึงอำนาจอันล่วงละเมิดไม่ได้ เพราะเป็นการแต่งงานในรูปแบบอุปถัมภ์ที่สามีมีสถานะสูงกว่า ภรรยาเป็นเพียงมาสนองอำนาจและความบ้ากามของชายผู้มีอำนาจก็เท่านั้นและยังสามารถใช้ทรัพยากรรัฐไปกับเรื่องส่วนตัวได้อย่างไม่จำกัด ภายใต้ระบอบที่คนเราไม่เท่ากันและชายเป็นใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยและเสรีภาพเสื่อมถอย การประกาศผัวเดียวหลายเมียของชายชนชั้นนำอย่างเปิดเผยเป็นทางการจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เพื่อเป็นการประกาศอำนาจอันเหลือล้นไม่เพียงบนเนื้อตัวร่างกายเมียของเขา แต่ยังประกาศต่อสาธารณชนว่าใครก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ไม่ว่าจะสะสมเมียจำนวนมากราวกับเครื่องอุปโภคบริโภคหรือใช้ความรุนแรง
ว่าแล้วกลับไปดู ซีรีส์ HBO เรื่อง Big Love (2006-2011) ดีกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] www.washingtonexaminer.com/weekly-standard/polygamy-versus-democracy ; www.economist.com/democracy-in-america/2015/07/09/the-case-for-monogamy ; www.opendemocracy.net/en/transformation/love-without-monogamy/
[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2560 (พิมพ์ครั้งที่ 7), น. 78-80, 86-87.
[3] ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. อำนาจของสตรีสยามกับชายโสด:แรงงานชายขอบหลังเลิกทาสและไพร่.วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2561), น. 227-281.
[4] Loos, Tamara. Sex in the Inner City: The Fidelity between Sex and Politics in Siam. The Journal of Asian Studies 64(4), November 2005, 881-909.
[5] Loos, Tamara. Subject Siam: family, law, and colonial modernity in Thailand. Chiang Mai, Thailand : Silkworm Book, 2006 ,Pp. 136-141.
[6] Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok : Love, Sex, and Popular Culture in Thailand. Chiang Mai, Thailand : Silkworm Book, 2006.
[7] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. “ผัวเดียวเมียเดียว” ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480. กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556, น. 46-47.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 83.
[9] คณะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์. จอมพลของคุณหนู ๆ. พระนคร : จักรวาลการพิมพ์, 2507, น. 142-143.