“…เพราะเบบี้บูมเมอร์ผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก ว่าเบบี้บูมเมอร์เป็นเจเนอเรชันที่เลวทรามต่ำช้าที่สุด และลิดรอนเอาทุกอย่าง ซึ่งพี่ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความหวัง”
วีรพร นิติประภา – ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ Mad About เล่มสอง
1
ใครคือเบบี้บูมเมอร์?
อาจเป็นเรื่องยากสักหน่อยที่จะจำกัดความหรือ ‘ขีดเส้น’ ลงไปให้ชัดเจน ว่าคนที่เกิดตั้งแต่ ปี พ.ศ. นี้ถึง ปี พ.ศ. นี้ คือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แต่ถ้าอ้างอิงจากเว็บไซต์ thaihealthreport.com (ซึ่งเป็นเว็บที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งแม้จะมีกลิ่นอายการแบ่งแบบสังคมอเมริกันอยู่บ้าง แต่เข้าใจว่าได้ปรับให้เหมาะกับสังคมไทยแล้วพอสมควร) เราจะพบว่า เว็บนี้แบ่งคนออกเป็นรุ่นต่างๆ ไว้ชัดเจน ซึ่งรุ่นที่อยากหยิบยกมาพูดถึงกันมีอยู่สองรุ่น ได้แค่ Silent Generations กับ Baby Boomers
เราอาจรู้สึกว่า คนสองรุ่นนี้เป็นผู้อาวุโสสูงวัยด้วยกันทั้งคู่ แต่เอาเข้าจริงแล้วคนสองรุ่นนี้มีอะไรบางอย่างแตกต่างกันไม่น้อย
เว็บที่ว่านี้บอกว่า คนในรุ่น Silent Generations นั้น เกิดในในช่วงปี 2468-2485 (หรือ 1925 ถึง 1942) ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีอายุราว 75 ถึง 92 ปี พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นผู้อาวุโสมากๆ เป็นคนรุ่นที่มีชีวิตอยู่ในยุคที่โลกปั่นป่วนวุ่นวาย มีสงครามโลก และเกิดเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก ดังนั้น คนในรุ่นนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักหน่วงพอสมควร
ในขณะที่ Baby Boomers เป็นคนที่เกิดในช่วงปี 2486 ถึง 2503 (หรือ 1943 ถึง 1960) ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีอายุราวๆ 57 ถึง 74 ปี คนกลุ่มนี้เติบโตมาในยุคหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง เป็นยุคที่สังคมและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จึงพูดได้ว่า คนกลุ่มนี้ ‘สบาย’ กว่าคนรุ่นก่อน เพราะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ๆ ถึงระดับเป็นตาย แต่กระนั้นก็ถือว่า ‘เกิดทัน’ คนรุ่นก่อน ทำให้ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ มาจากคนรุ่นก่อน แต่ไม่ได้ประสบด้วยตัวเองจริงๆ
แน่นอน การพูดว่าคนรุ่นไหนเกิดช่วงไหน มีลักษณะนิสัยอย่างไร ย่อมเป็นการ ‘เหมารวม’ แน่ๆ เพราะคนในแต่ละรุ่นแต่ละกลุ่ม ย่อมไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันไปหมดทุกคน แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างหลากหลายกันไป ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันต่อไปนี้ ย่อมไม่ใช่การพูดถึง ‘เบบี้บูมเมอร์ส’ แต่ละคนเป็นรายตัวไปหรอกนะครับ แต่คือการพูดถึง ‘ลักษณะร่วม’ บางอย่าง ที่ก่อให้เกิดเป็น ‘บูมเมอร์สกระแสหลัก’ (Mainstream Boomers) จนกระทั่งเกิดคำเรียกเฉพาะที่เอาไว้เรียกวิธีคิดร่วมของบูมเมอร์ส – ว่า Boomerism
เป็น Boomerism หรือวิธีคิดแบบความแก่กระแสหลักนี้เอง ที่ถูกบางคนมองว่าสร้าง ‘อันตราย’ บางอย่างให้กับโลก!
2
[Discalimer : ถัดจากบรรทัดนี้ไป เวลาเอ่ยคำว่า ‘บูมเมอร์ส’ ผมจะหมายถึงคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์สที่สมาทานวิธีคิดแบบ Boomerism หรือวิธีคิดแบบคนแก่กระแสหลักนะครับ ไม่ได้หมายถึงเบบี้บูมเมอร์ทุกคนไปนะครับ อย่าได้เข้าใจผิดไปเชียว]
ผมเข้าใจว่า คนแรกๆ ที่ออกมาพูดถึง (และออกแนว ‘โจมตี’) บูมเมอร์ส ก็คือนักเขียนอเมริกัน (ผมไม่รู้ว่าเขาอายุเท่าไหร่ แต่หน้าตาดูยังไม่น่าจะไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมนักหรอก – ถ้ามองในสายตาของบูมเมอร์ส!) ชื่อว่า บรูซ กิบนีย์ (Bruce Gibney)
กิบนีย์เขียนหนังสือชื่อ A Generation of Sociopaths : How the Baby Boomers Betrayed America โดยเชื่อมโยงความเสื่อมถอยในด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาเข้ากับพวกบูมเมอร์ส โดยเขาบอกว่า บูมเมอร์สมีลักษณะร่วมกันหลายอย่างที่มีลักษณะเชิงลบ แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นโดยสันดานหรือโดยพันธุกรรมหรอกนะครับ ทว่าเป็นเงื่อนไขทางสังคมและช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ต่างหาก ที่ทำให้บูมเมอร์สมีลักษณะอย่างที่ว่า
เขาบอกว่า บูมเมอร์สเป็นคนรุ่นแรกในโลกที่ ‘สบาย’ และถูกเลี้ยงดูมาอย่างค่อนข้างตามใจ (เขาใช้คำว่าถูกเลี้ยงมาอย่าง Permissively) ซึ่งหลายคนอาจจะเถียงนะครับว่าไม่เห็นจริงเลย เพราะคนรุ่น 60-70 ปี นี่ สมัยก่อนถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวดกันจะตายไป แต่เราต้องไม่ลืมว่าเป็นคนรุ่นนี้นี่แหละ ที่เติบโตมาในช่วงที่โลกปลอดสงคราม เศรษฐกิจก็ดี เริ่มมีทีวีดู เข้าถึงสื่อขนาดใหญ่อย่าง Mass Media จึงมีโอกาสกรีดกรี๊ดกับดาราดังๆ เป็นรุ่นแรก ลองนึกภาพความบ้าดาราอย่างเอลวิส เพรสลีย์ หรือเดอะบีทเทิลส์ ดูก็ได้ (คนรุ่นนี้บ้ากันถึงขั้นไปดูคอนเสิร์ตเอลวิส เพรสลีย์ แล้วถอดกางเกงในโยนขึ้นไปบนเวทีให้เอลวิสกันเลยทีเดียว) หรือไม่อีกที – ลองนึกย้อนกลับไปหากางเกงขาบาน รองเท้าส้นตึก หรือกระโปรงระดับไมโครสเกิร์ตยาวแค่ 12 นิ้ว (คือแค่สองคืบ) ดูก็ได้, ว่าเป็นคนรุ่นไหนที่ใส่กันทั้งบ้านทั้งเมือง
พูดได้ว่า คนรุ่นบูมเมอร์ส เป็นคนรุ่นแรกที่ ‘เงื่อนไขทางสังคม’ เอื้อให้ไม่ต้องอยู่ในระเบียบแบบแผนมาก ไม่ใช่ว่าคนรุ่นไซเลนต์จะไม่อยากกรีดกรี๊ดกับดาราดังๆ หรอกนะครับ แต่เงื่อนไขทางสังคมมันไม่เอื้อ ก็เกิดสงครามโลกอยู่ หวอดังก็ต้องวิ่งหนีลงไปหลบภัยใต้ดิน อาหารการกินก็ไม่ค่อยจะมี ผู้คนบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนกล่นอยู่รอบตัว จะเอาเวลาที่ไหนไปกรี๊ดดาราบ้าแฟชั่น โลกของคนรุ่นไซเลนต์จึงเป็นยุคแห่งความเคร่งขรึมจริงจัง เราจะเห็นว่าในยุคนั้น เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในหลายประเทศ โดยมีเป้าหมายจะสร้างสังคมให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
แล้วสร้างให้ใครล่ะ?
อ้าว! ถามได้ – ก็สร้างให้พวกบูมเมอร์สนี่ยังไงล่ะครับ!
พวกบูมเมอร์สจึงมีโอกาสเติบโตมากับความก้าวหน้าใหม่ๆ ในโลก เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้พบกับการมาถึงของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ ทีวี จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้ปะทะกับ ‘ป๊อบคัลเจอร์’ และโลกาภิวัตน์เต็มตัว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ บูมเมอร์สเป็นเหมือน ‘ลูกคนโต’ ที่พ่อแม่ (คือคนรุ่นไซเลนต์) ตามใจ เพราะพ่อแม่ลำบากมาก่อน เลยไม่อยากให้ลูกต้องลำบากตามไปด้วย แม้บูมเมอร์สจะทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ก็ไม่ใช่การทำงานหนักเพราะถูกเงื่อนไขทางสังคมและประวัติศาสตร์ผลักให้ ‘จำเป็นต้องทำ’ เหมือนคนรุ่นก่อน (ซึ่งถ้าไม่ทำก็อดตาย) บูมเมอร์สส่วนใหญ่สร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อสร้าง ‘อาณาจักร’ ของตัวเองแทบทั้งนั้น (ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ)
กิบนีย์บอกว่า ปัญหาจำนวนมากในโลกยุคนี้เกิดขึ้นเพราะบูมเมอร์ส ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะบูมเมอร์สเกิดมาในยุคที่ทรัพยากร (ยัง) มีมาก บวกกับมีสภาวะ ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ คือเงื่อนไขทางสังคมไม่ได้ยากแค้นเกินไป แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังทันเห็นร่องรอยความยากลำบากของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ดังนั้นลักษณะเด่นของบูมเมอร์สจึงคือการกอบโกยสร้างเนื้อสร้างตัวเพราะกลัวลำบาก ส่งผลให้มีสำนึกสาธารณะต่ำกว่าคนรุ่นก่อนหน้า (และที่จริงก็คนรุ่นหลังด้วย)
กระแสบูมเมอร์ส หรือ Boomerism ในอเมริกา เริ่มสถาปนาตัวเองอย่างชัดเจนในราวปลายทศวรรษเก้าศูนย์ ซึ่งกิบนีย์บอกว่า อเมริกา (และโลก) ยังโชคดีอยู่นิดหน่อย ที่มีบารัค โอบามา มาขัดตาทัพอยู่ถึงแปดปี ไม่อย่างนั้นโลกที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของบูมเมอร์ส น่าจะดิ่งลงเหวไปเร็วกว่านี้
บางคนอาจบอกว่า อ้าว! แล้วโอบามาไม่ใช่บูมเมอร์สหรอกหรือ กิบนีย์แก้ตัวแทนโอบามาว่า เขาเกิดร่วมยุคกับเบบี้บูมเมอร์ในอเมริกาก็จริง แต่เขาไม่ใช่บูมเมอร์สในความหมายนั้น เพราะนอกจากโอบามาจะเกิดปลายยุคเบบี้บูมเมอร์แล้ว เขายังได้รับการเลี้ยงดูในวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วย (เช่น ไปอยู่อินโดนีเซีย เป็นคนผิวสี ฯลฯ) ทำให้โอบามาไม่ใช่บูมเมอร์สกระแสหลักหรือมีวิธีคิดแบบ Boomerism
นักเขียนอีกคนหนึ่ง คือ ลินเน็ต โลเปซ (Linete Lopez) เขียนไว้ใน Business Insider (หลังเกิดการโหวต Brexit และทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจ) ว่า
บูมเมอร์สเป็นกลุ่มคนที่ ‘ครองโลก’ มาแล้วหลายสิบปี ทั้งในด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้น บูมเมอร์สจึงมี ‘อำนาจ’ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมากกว่าคนในเจนเนอเรชั่นอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ บูมเมอร์สยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของคนรุ่นก่อนหน้าอยู่ ทำให้ไม่กล้า ‘ซ่า’ มากนัก แต่เมื่อคนรุ่นก่อนหน้าเริ่มโรยราหรือล้มหายตายจาก โลกก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของบูมเมอร์สเพียงกลุ่มเดียว ที่สำคัญ บูมเมอร์สเป็นคนกลุ่มที่ถูกหล่อหลอมมาโดยวัฒนธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกัน (เช่นเห่อเอลวิส เพรสลีย์ ก็เห่อกันไปทั้งสังคม หรือแต่งตัวแบบไหนก็แต่งกันไปเกือบทั้งหมด ฯลฯ) ทำให้บูมเมอร์สกระแสหลักที่มีจำนวนมากมีความแข็งแกร่งทางการรวมตัวท้ังในแง่พฤติกรรมและวิธีคิด แต่ถ้าหันมามองคนรุ่นใหม่มิลเลนเนียลส์ เราจะพบว่าคนกลุ่มนี้เติบโตมาในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เทคโนโลยีการสื่อสารในโลกออนไลน์ทำให้คนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประมาณกันว่า ข้อมูลราว 90% ของข้อมูลที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งหมดในประวัติศาสตร์ เพิ่งสร้างขึ้นในราว 3 ปีที่ผ่านมานี่เอง ดังนั้น โลกในปัจจุบันจึงกลายเป็นโลกที่หลากหลายมาก ถึงขนาดที่ Pew Research Center เคยรายงานการสำรวจคนยุคมิลเลนเนียลส์ในอเมริกาว่า เป็นกลุ่มคนรุ่นที่มีความหลากหลายทางความคิดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็ดีใช่ไหมครับ แต่โลเปซบอกว่า เป็นไอ้เจ้าความหลากหลายเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถรวมตัวกันจนเกิด ‘เสียงร่วม’ ที่จะไปไปต่อสู้ต่อรองกับเหล่าบูมเมอร์สได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าดูความคิดทางการเมือง เคยมีผลการสำรวจของ Harvard Kennedy School บอกว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ในอเมริกานี่ ส่วนใหญ่ไม่เอาทั้งสังคมนิยม (Socialism) และทุนนิยม (Capitalism) แต่มีกระแสธารความคิดที่แตกฉานซ่านเซ็น ไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อนเลือกซ้ายหรือขวาหน้าหรือหลังเหมือนบูมเมอร์ส – ที่ถ้า ‘บ้า’ อะไรแล้วก็จะบ้ากันไปเหมือนๆ กันหมด (บางทีการส่งความเชื่อผิดๆ ให้กันทางไลน์ แล้วก็เชื่อกันเป็นตุเป็นตะกันไปทั้งเจนเนอเรชั่นบูมเมอร์สก็อาจมีรากมาจากสำนึกแบบนี้เหมือนกันนะครับ) ประกอบกับบูมเมอร์สนั้นครอง ‘อำนาจ’ อยู่ ทั้งอำนาจทางการเงิน ทางสังคม ทางการเมือง และที่สำคัญก็คือ ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ (เช่นในโลกตะวันออกต้องยึดถือความกตัญญู จะไปเถียงหรือตรวจสอบพ่อแม่ผู้อาวุโสไม่ได้ เป็นต้น) ก็เลยทำให้มิลเลนเนียลส์ไม่มีทางเอาชนะบูมเมอร์สได้
ที่ว่ามาทั้งหมดนั่น เป็นเรื่องของ Boomerism ในอเมริกาและในระดับโลกเสียเป็นส่วนใหญ่นะครับ
แล้วสถานการณ์ของ Boomerism ในไทยล่ะ, มันเป็นยังไง?
3
ถ้าดูสังคมการเมืองไทย เราจะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่ากลุ่มคนที่เป็นผู้ควบคุม สถาปนา และจัดวางโครงสร้างสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งแสดงจิตเจตนากันอย่างชัดแจ้ง ว่าจะจัดวางควบคุมกันต่อไปในอนาคต อย่างน้อยที่สุดก็ 20 ปี ข้างหน้า – คือคนกลุ่มไหน
ก็พวกบูมเมอร์สกระแสหลักนี่แหละครับ!
โดยส่วนตัว ผมแอบคิดว่าลักษณะเฉพาะสองอย่างที่บูมเมอร์สไทยมี ‘เหนือ’ บูมเมอร์สในโลกตะวันตก ก็คือ 1) บูมเมอร์สสุดที่รักของเรามีสำนึกครอบครองและยึดกุม ‘อำนาจทางศีลธรรม’ เอาไว้กับตัวมากกว่าบูมเมอร์สอเมริกา และมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ บูมเมอร์สไทยมีแนวโน้มชอบคิดว่าตัวเอง ‘เป็นคนดี’ กว่าคนรุ่นอื่นๆ ซึ่งก็นำไปสู่ความเชื่อฝังลึกเรื่อง Good Old Days หรือสมัยก่อนบ้านเมืองดีกว่านี้ – เด็กสมัยนี้มันไม่ได้เรื่อง, อะไรทำนองนั้น
และ 2) บูมเมอร์สกระแสหลักไทย มีความตื่นตัวในทางเทคโนโยลีการสื่อสารต่ำกว่าบูมเมอร์สในโลกตะวันตก เดิมที บูมเมอร์สไทยก็ไม่เคยชินกับการวิเคราะห์หรือการคิดแบบมีมโนทัศน์ (Conceptualization) อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเปิดรับเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารน้อยกว่า จึงยิ่งทำให้มีความสามารถในการเปิดกว้าง เข้าใจโลก วิเคราะห์และตรวจสอบตัวเองและโลกรอบข้างน้อยกว่า ทำให้เกิดอาการคับแคบทางความคิดตามไปด้วย ซึ่งถ้านำไปผนวกเข้ากับข้อที่ 1) ก็พลอยก่อให้เกิดอาการคับแคบทางศีลธรรมเป็นผลพวงตามมา
ความคับแคบเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่รู้หรือสภาวะที่เรียกว่า ‘อวิชชา’ (Ignorance) ขึ้นในหลายมิติ เช่น ไม่รู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว หรือบางส่วนที่รู้ก็ไม่รู้จะรับมืออย่างไร เพราะประสบการณ์ที่เคยมีใช้ไม่ได้อีกแล้วในโลกใหม่ เมื่อไม่รู้ก็ย่อมเกิดความกลัว ทั้งกลัวโลกสมัยใหม่และกลัวว่าตัวเองจะพ้นสมัย (Obsolete) และหมดความสำคัญไปในเวลาเดียวกัน ยิ่งเมื่อคนรุ่นนี้เคยครอบครองอำนาจมานานยาว (บูมเมอร์สบางคนอยู่ในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่ยุคตุลาคม) ความกลัวก็ยิ่งทบทวีคูณ ทั้งกลัวหมดความสำคัญ และหวาดกลัวต่ออนาคตว่า ‘เด็กสมัยนี้’ (ที่อ่อนด้อยเหลือเกิน) จะพาสังคมในอนาคตดำเนินไปในแบบที่ไม่ ‘เหมาะสม’ (คือไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุปโลกน์ของตัวเอง) ดังนั้น ภารกิจสำคัญ (และอาจเป็นภารกิจสุดท้ายก็ได้) ของบูมเมอร์สไทยในปัจจุบัน จึงคือการเร่งสถาปนา Boomerism ให้ฝังรากลึกลงไปในมิติต่างๆ ของสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ ‘เครื่องมือ’ ที่ตัวเองคุ้นเคยที่สุด เช่นกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ไล่ลงมาถึงกฎหมายอื่นๆ และการเทศนาสั่งสอนด้วยวิธีต่างๆ
Boomerism ในอเมริกาอาจเริ่มต้นในปลายยุคเก้าศูนย์ (อย่างที่กิบนีย์บอก) แต่ในไทย เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า ความพยายามของ Boomerism ที่จะ ‘เป็นอมตะ’ กำลังปรากฏเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน
The MATTER เพิ่งสรุปรวมการผ่านกฎหมายต่างๆ เพื่อการ ‘ควบคุมโลกใหม่’ เช่น ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมสื่อฯ (ภายใต้ชื่อเรียกว่า ‘คุ้มครอง’), ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ (ที่ให้นิยามของคำว่าความมั่นคงกว้างมากจนแทบจะกลายเป็นกฎอัยการศึกออนไลน์), ความพยายามจะตั้งศูนย์กลางความมั่นคงไซเบอร์ หรือการปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดีย (ไปดูรายละเอียดได้ใน www.facebook.com/thematterco) ซึ่งเมื่อดูในภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่า บูมเมอร์สไทยมีอาการ ‘กลัว’ อย่างชัดเจน ยิ่งกลัวก็ยิ่งต้องพยายามเข้าไปกำกับควบคุมโลกไซเบอร์ให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง แต่โลกที่ว่านี้ เป็นโลกที่บูมเมอร์สไม่รู้จักถ่องแท้ ไม่เข้าใจ ‘ไวยากรณ์’ ของมัน การพยายามจะควบคุมจึงประดักประเดิดโลกอย่างยิ่ง สะท้อนถึงอวิชชาหรือความไม่รู้ให้เห็นชัดเจน
หลายคนบอกว่า กฎหมายเหล่านี้ผ่านความเห็นชอบกันรวดเร็วเหลือเกิน ซึ่งก็สอดคล้องกับที่หลายคนวิเคราะห์ว่าลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของ Boomerism ก็คือความขยัน เพราะบูมเมอร์สถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังหนุ่มสาวแล้วว่า ชีวิตมีอยู่เพื่อทำงาน (Live to Work) เพื่อสร้างอาณาจักร และที่สุดจึงเพื่อกำกับและควบคุม ดังนั้น เมื่อบูมเมอร์สเริ่มตระหนักว่าตัวเองกำลังจะพ้นสมัย เวลาที่เหลืออยู่มีน้อยลงเรื่อยๆ บูมเมอร์สจึงต้องยิ่งเร่งสร้างรากฐานของสังคมในอนาคต ด้วยการ ‘ขยัน’ ทำโน่นนี่ให้มาก เป็นการลงทุนลงแรงด้วยความปรารถนาดี ด้วยเจตนารมณ์ที่งดงามล้นเหลือ เพื่อมอบมรดกอันทรงคุณค่าต่างๆ ให้กับคนรุ่นหลัง โดยไม่ได้ดูเลยว่ามันเหมาะสมกับโลกใหม่หรือเปล่า และคนอื่นๆ ที่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปตามแผนการของบูมเมอร์สนั้น – ต้องการสิ่งเหล่าน้ันหรือเปล่า
ทั้งหมดที่เขียนมา ไม่ได้มีเจตนาจะเหยียดวัย ประสบการณ์ หรือเหยียดความอาวุโสแต่อย่างใดนะครับ เพราะสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าในตัวแน่ๆ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า คนรุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สั่งสมอำนาจมาชั่วชีวิต แล้วใช้ไม้บรรทัดเดียวในการกำหนดมาตรฐานให้คนอื่นๆ ในโลก – สามารถก่อปัญหาให้เกิดกับโลกและคนรุ่นหลังได้อย่างไรบ้าง
แน่นอน – ต้องย้ำอีกทีว่า, ไม่ใช่ว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ทุกคนจะต้องสมาทานวิธีคิดแบบ Boomerism ไปเสียทั้งหมดนะครับ แต่กระนั้นก็ดี เบบี้บูมเมอร์ที่ ‘ไม่บูมเมอร์ส’ นั้น ส่วนใหญ่มักไม่ได้มีที่ทางในอำนาจกระแสหลัก คนเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาพเดียวกับคนรุ่นหลังอื่นๆ คือถูกบูมเมอร์สซัดให้ซวนเซไปกับคลื่น Boomerism จนด้อยอำนาจ และที่สุดก็แทบไม่อาจต่อกรอะไรกับโครงสร้างอำนาจที่สร้างขึ้นบนฐานของ Boomerism ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ Boomerism สามารถผลักดันตัวเองให้ขึ้นครองอำนาจได้ด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรม
Boomerism และความแก่กระแสหลักที่ไม่เคยคิดตรวจสอบตัวเอง – จึงมีอันตรายด้วยประการฉะนี้, นี่เอง