บทความนี้เขียนขึ้นในเช้าวันที่ผมเพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่น หลังจากได้รับเชิญไปปั่นจักรยานทางตอนใต้ของจังหวัด Miyagi แม้พวกผมกับเพื่อนทีม Ducking Tiger จะใช้เวลาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาแค่ 4 วัน แต่เส้นทางที่ผมรู้สึกผูกพันมากที่สุดเป็นการส่วนตัว แม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้ไปพื้นที่นี้ ก็คือการปั่นจักรยานในตามเส้นทางเมือง Natori ในจังหวัด Miyagi นั่นเอง เหตุผลก็เพราะว่า มันคือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิในปี 2011 อย่างหนักหน่วงระดับที่เรียกได้ว่า พัดทุกอย่างหายไปกับน้ำทั้งหมด
เป็นเหมือนเรื่องบังเอิญที่ปีที่แล้ว ผมได้ไปปั่นจักรยานในเส้นทางเชื่อมระหว่างภูเก็ตและพังงา ซึ่งก็ได้รับผลกระทบคล้ายกันจากสึนามิสุมาตราในปี 2004 แต่ถ้าหากนำเอาทั้งสองพื้นที่มาเปรียบเทียบกันแล้ว ก็จะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง ที่ไทยเรา เมื่อเราปั่นผ่าน เราแทบไม่เห็นผลกระทบของสึนามิหลงเหลือ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือซึนามิในครั้งต่อไป ที่ดูเหมือนกับว่า ถ้าหากมันเกิดขึ้นอีกครั้ง ‘ค่อยว่ากันอีกที’ ก็ว่าได้ รวมไปถึงการไม่มีอนุสรณ์ที่เตือนใจให้เราคิดถึงภัยอันตรายนี้อีกครั้ง ในขณะที่ในเมือง Natori แม้เวลาจะผ่านไปได้ 6 ปี แต่เมืองก็ยังพยายามพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอยู่ตลอด ทั้งการรักษาอาคารที่เหลือรอดจากสึนามิไว้เป็นเครื่องเตือนใจ และมีการวางระบบป้องกันต่างๆ โดยเอาบทเรียนจากภัยพิบัติครั้งที่แล้วเป็นข้ออ้างอิง
พอผมย้ายมาโตเกียวก่อนที่จะกลับไทย แล้วไปเดินซื้อของในห้าง ก็เจอการแจกแผ่นพับที่ชื่อว่า Bosai Manga Map (คิดว่าสะกด Bosai แทน Bousai ตามความถูกต้องทางภาษาเพื่อความสะดวกเวลาคนต่างชาติอ่าน) หรือ Disaster Prevention Map แผนที่ป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งเป็นแผ่นพับที่ด้านหนึ่งเป็นมังงะ อธิบายถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องทำแผ่นพับออกมาในยุคอินเทอร์เน็ต
ซึ่งเขาก็อธิบายว่า พอถึงเวลามีเหตุภัยพิบัติจริงๆ ก็ใช้ว่าอินเทอร์เน็ตจะใช้ได้ มีของแบบนี้ไว้ช่วยเพิ่มโอกาสรอดได้มากกว่า และยังมีมังงะอธิบายว่าถ้าหากเกิดแผ่นดินไหว ต้องรับมืออย่างไร
อีกด้านหนึ่งเป็นแผนที่ของเขต Omotesando, Harajuku และ Takeshita ที่จัดทำแผนที่นี้ขึ้นมา ซึ่งจะระบุตำแหน่งของอาคารต่างๆ ที่ใช้เป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ พร้อมกับรูปวาดจำลองของอาคารประกอบด้วยเพื่อความเข้าใจง่าย และยังมีตำแหน่งของร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันเจ้าต่างๆ ที่ใช้เป็นสถานีให้การช่วยเหลือในการกลับบ้านที่มีการแจกเครื่องดื่มและของจำเป็น รวมถึงให้ข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน ตำแหน่งของทางออกสถานีรถไฟต่างๆ ที่สำคัญ แผนที่ที่ผมถือไว้ในมือนี้ มีภาษาอังกฤษประกอบด้วยครับ ช่วยให้ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นกับภัยพิบัติแบบนี้พอใช้อ้างอิงได้ (ส่วนใครจะอ่านอังกฤษได้หรือไม่นี่อีกเรื่องนึงนะครับ ไม่แน่ใจว่าจะอ่านได้ต้องคะแนน TOEIC ประมาณเท่าไหร่)
ถ้าลองนึกย้อนไปเมื่อช่วงสงกรานต์ปีก่อน ที่ทางจังหวัด Kumamoto ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทำให้คนญี่ปุ่นตื่นตัวเตรียมหาความรู้เรื่องการป้องกันภัย จนทำให้หนังสือ Tokyo Bousai หนังสือที่ทางกรุงโตเกียวพิมพ์ออกมาเพื่อเป็นคู่มือในการเตรียมตัวป้องกันภัย ขายดีเป็นอย่างมาก ขนาดที่ห้าง Tokyu Hands ที่ผมไปซื้อ ยังจำกัดให้ซื้อคนละเล่มเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว เราก็สามารถดาวน์โหลดฉบับ PDF จากเว็บได้ฟรี ไม่ต้องเสียเงินตั้ง 100 เยนเพื่อซื้อหนังสือเล่มนี้ (แพงจัง)
ผมเองก็ได้สอยมาอ่านดูเอง เล่นเอาผมทึ่งไปเลยครับ! เพราะนี้มันเหมือนกับไบเบิลของการระวังภัยพิบัติของญี่ปุ่นที่รวมทุกอย่างไว้ในเล่มเดียว
ตั้งแต่สอนว่าจะต้องทำอะไร ควรเตรียมตัวอย่างไร (ลองอ่านเรื่อง ถุงนิรภัย ที่ผมเคยเขียนไว้ได้) ทำอย่างไรให้บ้านปลอดภัย การปฐมพยาบาล หรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง และก็ไม่ได้มีแค่แผ่นดินไหว แต่ยังรวมภัยพิบัติอื่นๆ เช่นพายุไต้ฝุ่นอีกด้วย และยังมีหน้าให้บันทึกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลของครอบครัว เอาไว้เวลาจำเป็น เกิดภัยพิบัติขึ้นจริงๆ ก็มีข้อมูลต่างๆ ในเล่มนี้ รวมถึงข้อมูลติดต่อ และสถานที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ที่จำเป็นอีกด้วย เรียกได้ว่ามีเล่มเดียวไว้อ่าน แล้วก็เก็บไว้อ้างอิงโดยเฉพาะเวลาประสบภัยอีกด้วย ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ทางกรุงโตเกียวจัดทำขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลคนของเขา เพราะของแบบนี้ มันจำเป็นเสมอครับ ยิ่งมีการวิเคราะห์กันว่า ภายในเวลา 30 ปี มีโอกาส 70% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณโตเกียว ของแบบนี้ก็ยิ่งขาดไม่ได้ เพื่อลดความเสียหายให้มากที่สุด
ยังไม่นับว่า ในระบบการศึกษาของเขาก็มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติ ที่มีสอนกันตั้งแต่ระดับอนุบาลเลยทีเดียว ทั้งในโรงเรียนที่มีการฝึกซ้อมการหนีภัย การเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยต่างๆ อยู่เสมอ จนเป็นเรื่องปกติของเด็กนักเรียนไป หนังสืออ่านเล่นให้ความรู้ต่างๆ ก็มักจะมีหนังสือเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยเสมอ (ในหนังสือมังงะให้ความรู้ที่ สนพ. ซีเอ็ด เคยแปลของญี่ปุ่นมาขายในไทยก็มีเรื่องนี้โดยเฉพาะครับ) เป็นการฝึกให้เด็กอยู่กับความปลอดภัยเสมอ ที่สำคัญในสถานศึกษาเขาก็พยายามเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษาอย่างเต็มที่
สมัยผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยที่นั่น ทีแรกก็งงว่าที่ใต้หน้าต่างหน้าชั้นเรียนทำไมมีกล่องเล็กๆ ยึดติดไว้อยู่ที่พื้น ได้มารู้ทีหลังว่า นั่นคือกล่องเก็บอุปกรณ์โรยตัวจากหน้าต่าง เวลาเกิดอัคคีภัย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกระโดดออกมาให้บาดเจ็บหนัก ของแบบนี้ นอกจากตัวปัจเจกบุคคลต้องระวังเองแล้ว สถานศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย ช่วยกันลดความเสี่ยงครับ
พอมองไปทางญี่ปุ่น เห็นความพยายามเตรียมพร้อมของพวกเขาเสมอ ก็ได้แต่คิดว่า นอกจากพวกเขาจะเอาบทเรียนจากอดีต ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาศึกษา เรียนรู้ และพยายามหาทางป้องกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะวันที่พวกเขาเลิกทำ ก็หมายถึงความตายของพวกเขาแล้ว การดำรงชีวิตโดยรำลึกเสมอว่า อาจจะมีอะไรเกิดขึ้นได้เสมอ ก็ช่วยให้ปัจเจกชนพยายามหาทางเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดของตัวเอง
แล้วพอเรากลับมามองที่บ้านเรา เวลาเกิดภัยแต่ละครั้ง เราก็เสียใจและเสียดายไปกับความเสียหายทั้งหมด แต่เราเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นมาเป็นการเตรียมพร้อม เผื่อ เวลาที่เหตุร้ายเกิดขึ้นได้แค่ไหน เพราะถ้าหากมันเกิดเหตุร้ายแบบนั้นขึ้นอีกครั้ง พวกเราจะทำอย่างไร หรือทำได้แค่ มานั่งเสียใจและเสียดายกับเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำไปมาเท่านั้น