ไอดอลอีกแล้ว? หลายท่านที่คลิกมาอ่านอาจจะคิดงี้ โถ่ ก็เข้าใจหน่อยนะครับว่า ตอนนี้กำลังอิน (คนเขียนก็เป็นแฟนคลับเหมือนกันนี่) แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ รอบที่แล้วก็เขียนเรื่องตัวไอดอลไปแล้ว ก็คิดได้ว่า ไม่ควรจะพลาดเขียนเรื่องคนที่คอยอุดหนุนไอดอลสิ หรือแฟนๆ นั่นล่ะครับ เพราะก็เป็นของที่อยู่คู่กันจริงๆ
บ้านเราเวลาพูดถึง ‘ติ่ง’ ก็มักจะหมายถึงแฟนเพลงเกาหลีสายจริงจังกัน ในทางกลับกัน หลายคนก็เข้าใจว่า ถ้าจะเรียกแฟนคลับไอดอลญี่ปุ่น ก็ต้องเรียกว่า ‘โอตะ’ ซึ่งอาจจะหยวนได้ เพราะแฟนๆ ที่ญี่ปุ่นก็มักจะเรียกพวกแฟนสายจริงจัง พร้อมเพย์ให้กับวงอย่างหนักว่า XXXโอตะ นั่นเอง (แทนค่า XXX ด้วยชื่อวง) ซึ่งก็อาจจะติดภาพกับคนที่จ่ายหนักเพื่อซื้อสินค้าของไอดอล และอาจจ่ายหนักยิ่งขึ้นเพื่อซื้อซีดี หรือเอาบัตรจับมือ ภาพลักษณ์เลยอาจจะดูไม่เท่นัก บางคนห้องก็ประดับประดาไปด้วยรูปไอดอล แต่ถ้าบอกว่า ในยุครุ่งเรืองของไอดอลช่วง 70-80 คนที่เป็นแฟนคลับสายฮาร์ดคอร์ ก็คือกลุ่มคนที่ดูเหมือนแก๊งซิ่งมอเตอร์ไซค์ พร้อมจะลุยใส่ทุกคนที่เข้ามายุ่มย่ามกับไอดอล ก็อาจจะงงได้ว่า ทำไมยุคนี้กับยุคนั้น ต่างกันได้ขนาดนี้
กลุ่มแฟนคลับของไอดอลยุครุ่งเรือง เรียกตัวเองว่า ชินเอไต Shineitai(親衛隊)ซึ่งรากศัพท์เดิมก็มีความหมายว่าเป็น Guards หรือ หน่วยองครักษ์นั่นเอง
ซึ่งพวกเขาคือกลุ่มเด็กหนุ่มวัยรุ่นอายุ 10 กว่าปี ระดับหัวหน้าก็ยังแค่ประมาณ 20 ปีเท่านั้น แต่ทุกคนพร้อมที่จะทุ่มเททุกอย่างให้ไอดอลที่ตัวเองรัก
ภาพลักษณ์ของ ชินเอไต หลักๆ คือทุกคนจะมีผ้าพันรอบหัว ถ้าตำแหน่งสูงปลายผ้าจะยาว หรือมีสีต่างกันไป ใส่คู่กับชุดฮัปปิ (ชุดคลุมใส่ตามงานเทศกาล) มีชื่อกลุ่ม ที่อาจตั้งตามชื่อไอดอลที่เชียร์อยู่ บางกลุ่มใส่ชุดปฏิบัติการรบเหมือนกับพวกแยงกี้ คล้ายเด็กแว้นญี่ปุ่นก็มี เวลามีคอนเสิร์ตก็มักจะเห็นพวกเขาเหล่านี้ยืนเรียงกันเป็นตับอยู่แถวหน้าเวที
ระหว่างการแสดง หน้าที่ของพวกเขาคือ ส่งเสียง ‘คอล’ หรือการเชียร์แบบมีระบบระเบียบ ตรงไหนต้องตะโกนว่าอย่างไร จะมีการซ้อมมาก่อนอย่างชัดเจน คอยคุมไม่ให้มีใครตะโกนเชียร์มั่ว เพราะเป็นการรบกวนตัวไอดอล รวมไปถึงจัดแถวดูความเรียบร้อย ควงแท่งไฟเป็นจังหวะ (ไม่ใช่ควงคบเพลิงแบบแถวชายหาดนะ) ปิดท้ายด้วยการยิงเทปรุ้งพร้อมๆ กันตามจังหวะที่นัดกันมา
ฟังดูก็อาจจะเหมือนกับแค่กลุ่มแฟนเพลงไปตามคอนเสิร์ต แต่จริงๆ แล้ว หน้าที่ของพวกเขามีเยอะกว่านั้นครับ ชินเอไต ส่วนมากแล้วจะขึ้นทะเบียนอย่างชัดเจนกับบริษัทบริหารไอดอล พวกเขาจึงทำหน้าที่เหมือนอาสาสมัครในการดูแลไอดอลที่รัก ซึ่งก็มีตั้งแต่ เมื่อคอนเสิร์ตจบ ก็จะไปตั้งแถวยืนป้องกันไม่ให้ใครเข้าถึงตัวไอดอลแบบมั่วๆ ได้ ใครท่าทางไม่ไว้ใจก็โดนสอยออกไปก่อน เรียกได้ว่าสมกับเป็นองครักษ์ของไอดอลยุครุ่งเรืองที่เป็นเหมือนกับ ดอกไม้อันสูงส่ง ที่เหมือนจะแตะถึง แต่ก็แตะไม่ถึงนั่นเอง
นอกจากนี้ ชินเอไตยังต้องทำหน้าที่อื่นอีกสารพัด เช่น เขียนไปรษณียบัตรหรือโทรขอเพลงไปตามสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้ไอดอลที่ชอบได้มีช่องทางออกอากาศมากขึ้น ไปทำหน้าที่เป็นคนขาของไอดอลตามอีเวนต์ต่างๆ หรือกระทั่งมีหน้าที่ออกไปกว้านซื้อแผ่นซีดีของไอดอล เพื่อให้ยอดขายพุ่งติดชาร์ตได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ค่ายเพลงเป็นคนรับผิดชอบให้ครับ (สร้างอุปสงค์เทียมชัดๆ)
ฟังดูก็เป็นงานที่ทุ่มเทไม่น้อยนะครับ ดังนั้น ในชินเอไตก็มีระดับความสัมพันธ์แบบบนล่างชัดเจน รุ่นพี่พูดอะไรรุ่นน้องต้องฟังและทำตาม แถมทุกคนต้องมาซ้อมการคอลตามที่โล่งที่หาได้ทุกวัน เพื่อจะคอลกันได้แม่นยำ ถ้ามีเพลงใหม่ทุกสามเดือน ก็ซ้อมมันทั้งปีนั่นล่ะครับ (นี่มันเหมือนรับน้องในบางประเทศเลย) และด้วยกิจกรรมแบบนี้ ภาพลักษณ์แบบนี้ ทำให้บางทีก็ดูไปไม่ต่างกับแยงกี้จริงๆ แถมช่วงแรกๆ กลุ่มชินเอไตแต่ละกลุ่มก็มีการปะทะกันด้วย จนสุดท้าย ก็สงบศึกกันได้ด้วยการจัดตั้งพันธมิตรชินเอไตในเขตต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น เพื่อประสานงานและช่วยเหลือกัน บางทีเวลามีไอดอลหน้าใหม่ขึ้นมา รุ่นพี่ก็จะสั่งให้รุ่นน้อง แตกกลุ่มไปรับหน้าที่เชียร์ไอดอลอีก
พวกเขาเหล่านี้ แม้จะเป็นอาสาสมัครทำด้วยใจ แต่ก็ได้เงินช่วยจากค่ายเพลงบ้าง และหลายคนพอเรียนจบก็เข้าทำงานกับบริษัทต่ออีก กลายเป็นกิจกรรมของวัยรุ่นไฟแรงที่น่าสนเหมือนกัน
ในยุคนั้นเราก็จะเห็นรถตู้หรือรถแต่ง พ่นแอร์บรัชเป็นรูปไอดอลที่ชอบออกวิ่งกันเป็นแก๊ง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยุคไอดอลรุ่งเรืองจบลง และแนวเพลง J-Pop เข้ามาแทน ทำให้การเชียร์ไอดอลกลายเป็นเรื่อง เชย และ เห่ย ไป ชินเอไตก็ค่อยๆ สลายไปพร้อมกับยุคสมัย
แต่พอช่วงปี 2000 หลังจาก Morning Musume กลับมาสร้างตลาดไอดอลใหม่ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ AKB48 มาทำให้วงการรุ่งเรือง ก็เริ่มมีกลุ่มที่เชียร์ไอดอลกลุ่มใหม่ มีการคาดหัว แต่งชุดฮัปปิเหมือนๆ กัน แต่ลุคจะออกไปทางโอตาคุ และมีทีเด็ดคือการควงแท่งไฟเชียร์แบบเร็วๆ ตะโกนเชียร์ แต่จะไม่ดุแบบเดิม ซึ่งคนก็เรียกการเชียร์ไอดอลแบบนี้ว่า โอตะเก オタ芸 หรือ การแสดงของโอตาคุ ไปแทน
ปัจจุบันนอกจากจะไม่มีชินเอไตแล้ว เพราะคนที่แต่งชุดปฏิบัติการรบแบบเดิมไปเชียร์ไอดอลก็มักจะถูกแซวทางเน็ตมากเสียกว่า ทางบริษัทบริหารไอดอลยังเลือกที่จะเปลี่ยนไปจัดการความปลอดภัยเอง
ยิ่งปัจจุบันไอดอลญี่ปุ่นเน้นความเป็นไอดอลที่เป็นกันเอง ไปพบหาได้ เข้าใกล้ตัวได้มากกว่าเดิม ถ้ามีกลุ่มองครักษ์มากั้นไว้ตลอดคงลำบาก พูดไปของแบบนี้มันก็เป็นไปตามกาลเวลาจริงๆ
แต่สิ่งที่ยังตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ คงเป็นการคอลเวลาดูแสดงสดนั่นล่ะครับ ผมเคยไปดูคอนเสิร์ต Nogizaka46 ที่พอการแสดงเริ่ม คนทั้งฮอลล์ก็ส่งเสียงเชียร์ ควงแท่งไฟพร้อมกัน แถมเปลี่ยนสีแท่งไฟตามเพลงด้วยครับ (ปกติจะเปิดสีตามเมมเบอร์ที่ตัวเองชอบ) ที่สำคัญ ทุกคนคอลชื่อไอดอลตรงกันหมด เป็นจังหวะ บางทีก็คอลยาว เช่น “น่ารักสุดๆ มิโอนะ” หรือกระทั่ง วู้ วู้ วู้วววววว พร้อมกันหมด เหมือนกับผ่านห้องเชียร์มาด้วยกันซัก 3 เดือน เล่นเอาผมอึ้งว่า ไปซ้อมกันตอนไหนหว่า กลายเป็นว่า ยุคอินเทอร์เน็ตแบบนี้ ก็มีตั้งแต่ ตัวศิลปินมาอัดคลิปอธิบายวิธีการเชียร์ในแต่ละเพลง หรือถ้าไม่มี อยากรู้ว่าเพลงไหนคอลอย่างไร ก็เสิร์ช YouTube ได้ มีตัวอย่างให้ดูตามเพียบ สามารถซ้อมของใครของมันแล้วไปร่วมเชียร์พร้อมกันทีหลังได้
คงเพราะรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไป จากแต่เดิมยุคอนาล็อก ต้องออกมาเจอกันถึงจะทำกิจกรรมร่วมกันได้ ทำให้ชินเอไตต้องมีกฎเข้มงวดในการปกครองกันเอง รวมไปถึงการวางตัวของไอดอล ทำให้แฟนคลับต้องทำหน้าที่แบบนั้น แต่พอยุคปัจจุบันที่ไอดอลวางตัวให้เข้าถึงง่ายมากกว่า และแฟนๆ ก็สามารถติดต่อสื่อสารกันผ่าน Social Network และเรียนรู้วิธีการทำกิจกรรมร่วมกันผ่านทางคลิปต่างๆ ได้ ก็ทำให้การเชียร์ไอดอลเป็นเรื่องของปัจเจกมากยิ่งขึ้น
ก็น่าสนใจว่ายุคสมัยเปลี่ยน ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปด้วยนะครับ แต่ถึงจะเป็นปัจเจกแค่ไหน แต่สุดท้าย เวลาเชียร์ ก็รักษามารยาท และคิดถึงจิตใจของไอดอลที่เราชื่นชอบด้วยก็ดีนะครับ จากใจโอตะ Nogizaka46 คนหนึ่ง