ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีประเด็นร้อนเรื่องไหนที่ดึงดูดความสนใจของชาวญี่ปุ่นได้เท่ากับการยิงมิซไซล์ของคิมน้อย ข้ามหัวประเทศญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทร เดชะบุญที่ไม่มีผู้ได้รับความเสียหาย แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวญี่ปุ่นทางตอนเหนือ ที่ต้องตื่นด้วยเสียงปลุกของระบบเตือนภัย J-Alert ในโทรศัพท์มือถือของตัวเองในยามเช้า เรียกได้ว่าประสาทเสียกันตั้งแต่หัววันนั่นล่ะครับ แต่มองในอีกแง่ ก็ดีที่มีการเตือนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน แม้อาจจะมีเวลาให้เตรียมตัวได้น้อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลยครับ
ที่ผ่านมา ถ้าใครเคยอยู่ญี่ปุ่น หรือไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงเกิดภัยพิบัติ (หรือกระทั่งดูรายการทีวีหรือละครญี่ปุ่นที่มีคนอัดมาปล่อยในเน็ต) ก็อาจจะคุ้น กับสัญญาณเตือนทางทีวี ที่จู่ๆ ก็โผล่มาเวลาเราดูรายการทีวีด้วยเสียงดัง ปิ๊บๆ แล้วตามด้วยข้อความขึ้นมาบนจอ ซึ่งเท่าที่เคยเจอมาก็มักจะเป็นข่าวด่วน เช่น มีแผ่นดินไหวในพื้นที่ ระดับความแรงเท่าไหร่ หรือมีพื้นที่เสี่ยงซึนามิ เมืองอะไรบ้าง แนะนำให้ลี้ภัย หรือกระทั่ง ไต้ฝุ่นเข้าพื้นที่ไหน ความรุนแรงเท่าไหร่ ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ก็มีแจ้งหมด ซึ่งข้อดีของเขาก็คือ ด้วยความที่ระบบทีวีของเขาแบ่งย่อยซอยตามพื้นที่มาก ทำให้มีแต่เฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ที่จะได้รับข้อความเตือน ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ดูทีวีต่อไปกันอย่างสบายใจเฉิบ
แต่พอถึงยุคปัจจุบันที่ทีวีก็ลดความสำคัญลง และไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะเปิดทีวีอยู่เสมอ ทางการญี่ปุ่นเขาก็ต้องหาทางที่จะเตือนให้ประชากรได้ทราบถึงอันตรายอย่างทั่วถึง จึงเป็นที่มาของระบบ J-Alert (全国瞬時警報システム) ระบบเตือนภัยฉับพลันทั่วประเทศ ถ้าเป็นไทยๆ ก็คงต้องใส่คำว่า บูรณาการ เพื่อให้ดูดี เพราะเป็นระบบที่สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยครอบคลุมหมด ตั้งแต่ โทรทัศน์ ลำโพงกระจายเสียงตามท้องถิ่น วิทยุ อีเมล รวมไปถึงระบบเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งระบบนี้ก็เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2007 และเวลาส่งข้อความเตือน ก็ส่งทั้งภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ จีนกลาง เกาหลี และโปรตุเกส เพื่อชาวต่างชาติที่อาศัยในญี่ปุ่นด้วย (โปรตุเกสเพื่อชาวบราซิลในญี่ปุ่น)
ระบบการทำงานของ J-Alert อาศัยการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น ข้อมูลก็จะส่งมาที่หน่วยดับเพลิงและการจัดการภัยพิบัติ (Fire and Disaster Management Agency) แต่ถ้าแปลจากญี่ปุ่นจะเหลือแค่ กรมดับเพลิง 消防庁 โดยถ้าเป็นเหตุเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ข้อมูลก็จะมาจากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ถ้าเป็นข้อมูลเรื่องภัยจากการโจมตีหรือก่อการร้าย ข้อมูลจะมาจากรัฐบาล
ทันทีที่ได้รับข้อมูล กรมดับเพลิงจะส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม SuperBird B2 หรือ ระบบอินเทอร์เน็ต LGWAN ไปยังท้องถิ่นต่างๆ เพื่อกระจายสัญญาญต่อไปยังระบบอื่นตามที่บอกไป ซึ่งระบบ J-Alert จะมีการใช้เตือนตั้งแต่เรื่องภัยพิบัติ แผ่นดินไหว (น่าจะบ่อยสุดแล้ว) ซึนามิ ภูเขาไฟประทุ สภาพอากาศเลวร้าย รวมไปถึงภัยอันตรายจากการโจมตีต่างๆ ส่วนการเตือนเรื่องการยิงมิซไซล์ เพิ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง
แต่ถึงจะเป็นไอเดียที่เหมาะสมกับประเทศที่เจอภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยๆ และมีภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ แต่ช่วงแรกที่เริ่มใช้ระบบ J-Alert ท้องถิ่นต่างๆ ก็ไม่ค่อยขยับตัววางระบบนี้ในท้องถิ่นตัวเอง ด้วยเหตุผลหลัก คือ งบประมาณ แต่ก็ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นโชคดีในโชคร้ายได้หรือไม่ เพราะเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวโทโฮคุขึ้นในปี 2011 อัตราการวางระบบ J-Alert ในท้องถิ่น ก็เพิ่มจาก 45.7% ในเดือนมีนาคม กลายเป็น 98.4% ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน จะเรียกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาก็ได้ เจอแบบนี้ มีงบเท่าไหร่ก็ต้องรีบเปย์ก่อนล่ะครับ ไม่งั้นชาวบ้านรู้เข้าก็โวยแน่นอน
จนในที่สุดก็ครบ 100% ทั่วประเทศในปี 2014 ได้ซะที แต่ปัญหาที่ก็ยังไม่หมด แม้จะใช้ระบบที่รวดเร็วแล้ว ก็อาจจะต้องใช้เวลาถึง 20 วินาที กว่าที่จะมีการประกาศผ่านระบบต่างๆ ถึงตัวผู้รับข้อความ ทำให้ทางการก็พัฒนาระบบใหม่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยร่นเวลาในการเตือนเหลือแค่ 2 วินาทีเท่านั้น และก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกระตุ้นให้ท้องถิ่นเร่งอัปเกรดระบบให้ครบก่อนที่ระบบเดิมจะถูกยกเลิกในเดือนเมษายนปี 2019
ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ ในยุคมือถือแบบเดิม การรับสัญญาณเตือน J-Alert ก็ถูกฝังลงมาในระบบเลย แต่ในยุคปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือมีหลากหลายรุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน บวกเข้ากับการที่มีผู้ให้บริการสัญญาณรายใหม่ที่เป็นระบบ MNVO ที่เช่าสัญญาณจากเจ้าใหญ่มาบริหารต่ออีกทีเกิดมากขึ้น ทำให้เกิดเหตุที่โทรศัพท์บางรุ่น ไม่สามารถรับสัญญาณเตือนภัย J-Alert ได้แบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะเครื่องที่ไม่ล็อคซิมกับผู้ให้บริการ จนต้องมีการมาช่วยอธิบายว่าทำอย่างไรจึงจะรับข้อความ J-Alert ได้ หรือถ้ารุ่นที่ไม่รองรับจริงๆ ก็ต้องไปโหลดแอพเตือนภัยฟรีของ Yahoo! Japan มาใช้รับสัญญาณแทน
แต่เอาเข้าจริงๆ มีคนไปสอบถามคนญี่ปุ่นเหมือนกันว่า พอได้รับสัญญาณเตือนภัยมิซไซล์แล้ว รู้สึกอย่างไร เขาก็บอกว่า ได้ข้อมูลแค่ว่าให้หาสถานที่ปลอดภัยหลบภัย ทำให้เขาเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
ที่สำคัญ ระยะเวลาระหว่างการเตือนมิซไซล์ จนถึงสัญญาณแจ้งว่ามิซไซล์ผ่านประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว เป็นเวลาแค่ 4 นาทีเท่านั้น ก็ไม่รู้ว่าต้องวิ่งเร็วขนาดไหนถ้าต้องการหาที่ปลอดภัยหลบภัยให้ได้ ผมคุยกับคนญี่ปุ่นที่รู้จักกัน เขาก็บอกว่า ระบบดังมาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถือว่าเป็นความซวยของเขาที่อยู่ตรงที่เป้าหมายการยิง โอกาสรอดคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก อืม… ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งครับ
ส่วนตัวผมเองก็เจอระบบ J-Alert เตือนบ้าง เคยเจอแบบที่โทรศัพท์ในสำนักงานดังขึ้นพร้อมกันจนตกใจ แล้วไม่กี่วินาทีต่อมา พื้นดินก็ไหว เล่นเอาตกใจเหมือนกัน และช่วงปี 2011 หลังจากแผ่นดินไหวโทโฮคุไม่นาน ผมก็ต้องไปติดต่องานที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นก็นอนโรงแรมในโตเกียว โทรศัพท์ Prepaid เครื่องที่ใช้ที่ญี่ปุ่นจู่ๆ ก็ดังขึ้นตอนเช้าตรู่ เล่นเอางงว่า เฮ้ย! เราไม่ได้ตั้งปลุกไว้ในเครื่องนี้นี่หว่า พอหยิบมาดู อ้อ แผ่นดินไหว อืม เค เค แล้วก็นอนต่อ กลายเป็นว่า โรงแรมโยกซ้ายขวาได้อย่างเมามันครับ แต่ ทำอะไรคนง่วงนอนอย่างผมไม่ได้ ผ่านเหตุการณ์ไปโดยที่ตัวยังนอนอยู่บนเตียงนั่นล่ะ
ทำให้คิดได้ว่า ถึงระบบเตือนจะดี แต่ที่สำคัญคือ ให้ความรู้กับคนด้วยว่า ระบบดังแล้วควรจะทำอะไรถึงจะปลอดภัยนั่นเองครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.fdma.go.jp/html/intro/form/pdf/kokuminhogo_unyou/kokuminhogo_unyou_main/J-ALERT_gaiyou_h28.pdf
www.kantei.go.jp/jp/tyoukanpress/201704/21_a.html