หลายๆ คนเดินทางมาอังกฤษคงจะอยากมาดูละครเวที โดยเฉพาะละครเพลง อังกฤษมีย่านดังๆในกรุงลอนดอนอย่าง เวสต์ เอนด์ (West End) ที่มีโรงละครมากมาย บางโรงตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด ย่านนั้นเป็นย่านที่มีละครให้เลือกชมหลากหลาย บางโรงจะเล่นละครเรื่องนั้นเรื่องเดียวมามากกว่าสิบปี บางโรงเปลี่ยนทุกหกเดือน บางโรงเปลี่ยนทุกฤดูกาลอะไรก็ว่าไป ดิฉันเคยนึกรำคาญด้วยซ้ำ ตามประสาคนที่ไม่เข้าใจ ว่าทำไมโรงนี้เล่นละครเรื่องเดิมมานานเหลือเกิน แต่ตอนหลังก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ทำเงินได้ตลอด จะเปลี่ยนทำไม เช่น Les Miserables, The Phantom of the Opera หรือ The Lion King
หลายๆ คนอาจจะเกาหัวแกรกๆ จะดู Lion King ทำไมไม่ไปอเมริกา มันเกิดที่อเมริกานะ จะได้ original อ้าว อันนั้นก็เรื่องของคุณสิ ก็นี่มาอังกฤษ เอ๊ะ! เดี๋ยวก่อน อย่าไปหาเรื่องเขา เอาใหม่ๆ ถ้าเรามีโอกาสไปอเมริกาก็คงจะได้ไปค่ะ แต่เผอิญต้องมาอยู่อังกฤษ แล้วอยากดู เลยขอดูก่อน อ้อ ขอวิชาการสักนิดนึง เอาจริงๆ จะบอกว่า Lion King เป็นงานแบบอเมริกันก็ไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันดัดแปลงมาจากพระคัมภีร์ไบเบิล (ตำนานโจเซฟ) และดัดแปลงจากบทละครของเชกสเปียร์สองเรื่องนั่นคือ แฮมเลต (Hamlet) … พ่อตาย เพราะถูกอาสังหาร แต่วิญญาณพ่อยังปรากฏ … โดยมีคู่หูกิลเด็นสเติร์น (Guildenstern) และรอเซนครานซ์ (Rosencrantz) ที่กลายมาเป็นทีโมนกับพุมบา และอีกเรื่องคือ แมคเบธ (Macbeth) … แม่มดสามตนกลายเป็นหมาในสามตัว
ว่าแต่จะมาเถียงเรื่องที่มาของละครทำไม อยากดูก็ไปดูเถอะค่ะ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ถ้าอยู่อังกฤษ ก็ไปดู Lion King ได้ที่โรงละครไลเซียม (Lyceum) เล่นมามากกว่าสิบปีแล้วค่ะ วิธีหาโรงละครนี่ไม่ยากเลย ถ้าตั้งต้นจากริมแม่น้ำเทมส์ฝั่งลอนดอน (ฝั่งที่มีบิ๊กเบน ซึ่งดิฉันชอบเรียกเล่นๆ ว่าฝั่งพระนคร และฝั่งตรงข้ามซึ่งเรียกว่า ซัธธอร์ค (Southwark) ดิฉันชอบเรียกว่าฝั่งธนฯ) ให้ไปที่สะพานวอเทอร์ลู (Waterloo Bridge) ซึ่งเป็นสะพานที่สามจากซ้ายของบิ๊กเบน ถ้านับสะพานเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) เป็นสะพานแรก ถึงสะพานวอเทอร์ลูแล้วไม่ต้องข้ามสะพาน แต่เดินตรงหันหลังให้สะพานย้อนมาเรื่อยๆ จะเจอโรงละครไลเซียม ตึกสีขาวๆ ครีมๆ ดูเล็กๆ ถ้าเห็นสัญลักษณ์ Lion King ใหญ่โตแปลว่าคุณมาถูกทางแล้ว
ดิฉันไม่เคยไปดู Lion King ที่ไลเซียมหรอกค่ะ แต่ดิฉันเคยเดินผ่านไปบ่อยๆ เพราะตอนที่ทำปริญญาโท ดิฉันศึกษางานของนักเขียนคนหนึ่งเพื่อทำวิทยานิพนธ์ และเขาทำงานอยู่ที่นี่ระหว่างที่เขียนนวนิยายที่ดังที่สุดของเขา นักเขียนท่านนี้คือ แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) นักเขียนชาวไอริช ที่ย้ายมาอยู่กรุงลอนดอน ฟังชื่ออาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึงผลงานที่ดังที่สุดของเขาทุกคนจะต้องรู้จักแน่นอน แบรม สโตเกอร์เป็นผู้เขียน แดรกคูลา (Dracula) ค่ะ ทุกคนอาจจะเคยได้ยินตำนานผีดูดเลือดมาจากหลายที่ เคยได้ยินตำนานของวลาดจอมเสียบ (Vlad the Impaler) ซึ่งมาจากยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกันมาบ้าง แต่คนเขียนนวนิยายสยองขวัญเล่มนี้เป็นนักเขียนไอริช ที่มาอยู่กรุงลอนดอน สโตเกอร์ไม่เคยเดินทางไปยุโรปกลางด้วย แต่ค้นข้อมูลเกี่ยวกับตำนานและวัฒนธรรมต่างๆ จากห้องสมุดอย่างเดียว นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าแดรกคูลาจะเป็นปีศาจร้ายจากทวีปยุโรป แต่ฉากส่วนใหญ่ในนวนิยายเรื่องแดรกคูลาอยู่ในประเทศอังกฤษ และที่สำคัญอยู่ในกรุงลอนดอนเป็นส่วนใหญ่ด้วย
ถึงแม้เรา ณ ปัจจุบันจะรู้จักแบรม สโตเกอร์ในฐานะผู้เขียนวรรณกรรมเรื่องแดรกคูลา แต่ถ้าเป็นชาวลอนดอนที่ชอบดูละครจะรู้จักสโตเกอร์ในฐานะนายโรงของโรงละครไลเซียม ผู้ช่วยนักแสดงใหญ่ และต้องรู้จักกับเจ้าของโรงละครอย่าง เซอร์ เฮนรี เอิร์ฟวิง (Sir Henry Irving)
แบรม สโตเกอร์นี่แหละค่ะ นายโรงเก็บกดที่ดิฉันหมายถึง ดิฉันอยากเล่าเรื่องของสโตเกอร์ให้ฟังเพราะชีวิตของสโตเกอร์อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งให้เราได้เข้าใจคนที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่เดิมตามกระแสหลักอย่างไม่มีทางแปรผันอะไร แท้จริงกลับกำลังทุกข์ทรมานกับการเดินตามกระแสนั้น ปัญหาที่ดิฉันคิดว่าชัดที่สุดคือเรื่อง เพศวิถี ซึ่งดิฉันจะขยายความต่อไป
แบรม สโตเกอร์นั้นเป็นคนมีบุคลิกลักษณะขัดแย้งกันเองหลายประการอยู่ เขามีชีวิตที่ผกผัน ตอนเด็กๆ เคยป่วยหนักจนไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนฝูง ได้แต่นอนเตียง ฟังแม่และญาติพี่น้องเล่านิทานบ้าง ตำนานบ้าง เรื่องจริงบ้าง พอหายดีก็เริ่มเล่นกีฬามากขึ้น กลายเป็นหนุ่มนักกีฬาร่างกายแข็งแรง จากนั้นก็ได้เรียนมหาวิทยาลัย กลายเป็นนักศึกษาหัวดี แต่งงาน ชีวิตดูจะมีความสุข แต่เขาก็ต้องทนทุกข์กับรายได้จากสำนักงานไปรษณีย์ที่ค่อนข้างต่ำ
เขาเริ่มเขียนนวนิยายเล่มแรกชื่อ The Primrose Path ซึ่งหมายถึงทางไปยังนรก (ไม่ได้สวยงามแต่อย่างใด) เล่าเรื่องชายไอริชที่เดินทางไปทำงานเป็นช่างซ่อมฉากที่ลอนดอน ก่อนจะหลงแสงสีและนำมาสู่หายนะของชีวิตเขาเอง แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก สโตเกอร์ได้ชมละครเรื่องแฮมเลต (Hamlet) ของเชกสเปียร์ ซึ่งนำแสดงโดยนักแสดงชื่อดังในสมัยนั้นอย่างเฮนรี เอิร์ฟวิง (Henry Irving) สโตเกอร์ได้วิจารณ์ละครแฮมเลตของเอิร์ฟวิงในทางที่ดีมาก เอิร์ฟวิงจึงเชิญเขามารับประทานอาหารร่วมกัน จนก่อให้เกิดมิตรภาพและทำให้สโตเกอร์และภรรยาเดินทางไปพักอาศัยที่กรุงลอนดอน สโตเกอร์จึงได้งานเป็นผู้ช่วยประจำตัวเฮนรี เอิร์ฟวิง ณ โรงละครไลเซียม ซึ่งเอิร์ฟวิงเป็นเจ้าของ ณ ตอนนั้น ทัศนคติของเขาต่อกรุงลอนดอน ที่แสดงออกผ่านนวนิยายที่เขียนก็เปลี่ยนไป เขากลับหลอมรวมตัวเองเข้ากับกรุงลอนดอนที่เขาเคยมองว่าเป็นแสงสี เป็นดินแดนแห่งมายาและบาปได้เป็นอย่างดี และกลับชี้ให้เห็นว่ากรุงลอนดอนเป็นหัวใจสำคัญของจักรวรรดิอังกฤษในขณะนั้นอีกด้วย
แบรม สโตเกอร์นั้นทั้งรักและชื่นชมเซอร์ เฮนรี เอิร์ฟวิงอย่างจริงใจและยอมทุ่มกายถวายชีวิตให้แก่เซอร์เฮนรี เอิร์ฟวิง แต่เซอร์เฮนรี เอิร์ฟวิงน่าจะไม่ได้รักสโตเกอร์ เท่ากับที่สโตเกอร์รักเขา
เซอร์เฮนรี เอิร์ฟวิงเป็นนักแสดงละครเวทีมากความสามารถ และในฐานะผู้จัดการโรงละครไลเซียม เขาตีความบทละครและคัดเลือกนักแสดงอย่างจริงจัง – เดิมโรงละครเป็นของมิสซิสเบทแมน (Mrs. Bateman) แต่เอิร์ฟวิงเกิดทะเลาะกับมิสซิสเบทแมนเรื่องการคัดเลือกนักแสดง จนมิสซิสเบทแมนเลิกยุ่ง และย้ายไปเป็นผู้จัดการโรงละครอื่นแทน
เอิร์ฟวิงได้ตีความเพิ่มมิติให้ตัวละครยิว ไชล็อค (Shylock) ในบทละครเรื่อง เวนิสวาณิช (The Merchant of Venice) ให้ดูน่าสงสารมากกว่าทำให้เป็นตัวร้าย มีฉากหนึ่งที่ไชล็อคเดินทางกลับบ้านแล้วพบว่าเจสสิกา (Jessica หรือ เชสสิกา ตามการสะกดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ลูกสาวหายตัวไปกับผู้ชายเสียแล้ว ไชล็อค ซึ่งแสดงโดยเอิร์ฟวิงเองนั้น เดินไปเคาะประตูบ้านอันว่างเปล่าเพราะลูกสาวหนีหายไป แม้เปล่าประโยชน์ก็ยังจะเคาะ ก่อนจะทรุดตัวลงร้องไห้
ความเก่งกาจทางการแสดงของเอิร์ฟวิงนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่อาจดึงดูดสโตเกอร์ จนผู้เขียนมองว่า สโตเกอร์ได้นำเอาตัวละครต่างๆ ที่เอิร์ฟร์วิงเล่นไปสร้างเป็นปีศาจร้ายในวรรณกรรมของเขาหลายเรื่อง ไชล็อคกลายเป็นเมอร์ทัฆ (Murtagh) จอมหน้าเงินในนวนิยายเรื่อง The Snake’s Pass, บทจอมมารเมฟิสโตเฟลีส (Mephistopheles) ผู้ยุยงให้เฟาสท์ (Faust) หรือ เฟาสตัส (Faustus) ยอมตกนรกเพื่อแลกกับความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกกลายเป็นแดรกคูลาเพื่อเชื้อเชิญให้คนเข้ามาเป็นบริวารมารร้ายเหมือนตัวเอง (หลายๆ แหล่งยืนยันตรงกันว่าแดรกคูลาได้ต้นแบบมาจากเอิร์ฟวิง) เป็นต้น นอกจากนี้ สโตเกอร์ยังชื่นชมเอิร์ฟวิงเหมือนเป็นเทวดา
ความสัมพันธ์ของสโตเกอร์กับเอิร์ฟวิงนั้น ทำให้สโตเกอร์ได้พบเจอนักเขียนหรือศิลปินดังๆ หลายท่าน ได้เข้าสู่วงสังคมชั้นสูง อาจจะเพราะเหตุนี้ด้วย สโตเกอร์จึงรักเอิร์ฟวิงหนักหนา ไม่ว่าเอิร์ฟร์วิงจะใช้ให้ทำอะไร ไม่ว่าจะสิ่งนั้นจะเกี่ยวกับโรงละครหรือไม่ก็ตาม สโตเกอร์ก็ยินดีทำให้หมด แถมลูกชายสโตเกอร์ สโตเกอร์ก็ตั้งชื่อให้ว่า เอิร์ฟวิง ด้วย เมื่อเอิร์ฟวิงเสียชีวิต สโตเกอร์ก็เขียนหนังสืออุทิศให้
อย่างไรเสีย วรรณกรรมของสโตเกอร์นั้นมักจะถูกนักวิจารณ์ รวมทั้งตัวดิฉันเองด้วยในฐานะคนที่ทำวิทยานิพนธ์และบทความวิชาการเกี่ยวกับแดรกคูลา มองว่าเป็นงานเขียนเหยียดเพศ เหยียดผู้หญิง เหยียดชาติพันธุ์ และลักษณะเหยียดต่างๆ เหล่านี้ ดูเหมือนจะขัดกับการเลือกเอาบทที่เอิร์ฟวิงเล่นเป็นตัวร้าย เป็นปีศาจ มาเป็นตัวร้ายในนวนิยายด้วย
อย่างนี้แปลว่า สโตเกอร์ทั้งรักทั้งเกลียดเอิร์ฟวิงเหรอ เราจะอธิบายแดรกคูลาและเพศวิถีของสโตเกอร์อย่างไรดี นักวิจารณ์หลายท่าน เช่น แมตต์ คุก (Matt Cook) มองว่านวนิยายเรื่องแดรกคูลาที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1897 หลังจากเหตุการณ์ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนดังและไอคอนของชาวเกย์ถูกจับเข้าคุกในปี ค.ศ. 1895 เพราะมีพฤติกรรมอันไม่สมควรอย่างยิ่ง (Gross indecency) ซึ่งหมายถึงเป็นชายรักชายนั่นแหละ
ถึงแม้นักวิจารณ์หลายคนจะมองว่าแดรกคูลาสร้างมาจากเออร์วิง แต่นักวิจารณ์อีกกลุ่มกลับมองว่าเป็นไวลด์มากกว่า แดรคูกลากับไวลด์มีจุดร่วมในแง่ที่ว่า พยายามหาคนเข้ามาร่วมอยู่ในลัทธิแปลกๆ แถมยังทำให้ผู้ชายทุกคนแทบจะสูญสิ้นความเป็นชายกันหมด แดรกคูลานั้นเหมือนเป็นพลังทางเพศนอกขนบที่ไม่อาจควบคุมได้ ถ้าแดรกคูลามีต้นแบบมาจากเอิร์ฟวิงและไวลด์ แล้วทัศนคติของสโตเกอร์ที่มีต่อเพศวิถีแบบชายรักชายคืออะไรกันแน่?
ดิฉันขอแสดงความเห็นสอดคล้องกับ ลิซา ฮอปคินส์ (Lisa Hopkins) ผู้เขียนหนังสือ Bram Stoker: A Literary Life ว่า สโตเกอร์เกลียดเพศวิถีของตัวเองและพยายามควบคุมเพศวิถีอันเลื่อนไหลของตัวเอง เพราะเขาก็น่าจะกลัวถูกจับเข้าคุกเหมือนกับไวลด์ สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ลิซา ฮอปคินส์ได้กล่าวว่า สโตเกอร์นั้นรู้จักกับเฮนรี ลาบูแชร์ (Henry Labouchere) ผู้แก้ให้กฎหมายควบคุมพฤติกรรมทางเพศกว้างขึ้น สามารถใช้ลงโทษชายรักชายได้โดยไม่ต้องหาหลักฐานว่ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือไม่ และปรับการลงโทษให้เบาลง เพราะการลงโทษเดิมคือจำคุกตลอดชีวิตนั้นรุนแรงเกินไป จนแทบไม่มีการตัดสินลงโทษใดๆ เกิดขึ้น เพศวิถีบางด้านของสโตเกอร์จึงต้องถูกซ่อนเร้นและถูกนำเสนอในรูปแบบของปีศาจร้าย แต่กระนั้น แดรกคูลาก็เป็นปีศาจร้ายที่มีเสน่ห์ตราตรึง เป็นที่จดจำ และหลายๆ คนก็มองว่ามีแรงดึงดูดทางเพศอีกด้วย
หากสังคมคุกคามและพยายามกดเหยียดเพศวิถีแบบรักต่างเพศอย่างมากจนสโตเกอร์ต้องพยายามทำตัวไม่ให้อยู่นอกลู่นอกทาง แต่สโตเกอร์กลับต้องเจอกับความหลากหลายทางเพศวิถีที่โรงละคร โรงละครไลเซียม (และโรงละครอื่นๆ) เหมือนเป็นพื้นที่ลับในสมัยวิกตอเรียนที่ผู้คนต่างเข้ามาเรียนรู้บทบาทของคนอื่นๆ จินตนาการตัวเองเป็นคนอื่นที่เป็นไม่ได้ รวมถึงเล่นบทที่เราเป็นไม่ได้ในชีวิตจริง ถึงแม้ผู้ชมจะชื่นชมเซอร์เฮนรี เออร์วิงในฐานะนักแสดงดังปานใด เซอร์เฮนรี เออร์วิงก็ได้รับคำวิจารณ์ว่าเล่นละครเหมือนผู้หญิงเกินไป เล่นเป็น โอเธลโล (Othello) ซึ่งเป็นแม่ทัพมัวร์ ก็ดูเหมือนผู้หญิงเกินไป เล่นเป็นแฮมเลตก็ดูไม่สมชาย
ลูกสาวของ เอลเล็น แทร์รี (Ellen Terry) นักแสดงนำคู่ขวัญของเออร์วิงที่ชื่อ อีดิธ เครก (Edith Craig) ก็เล่นละครที่โรงนี้ด้วย และหลายๆ คน โดยเฉพาะคนในโรงละครก็ทราบว่าเธอเป็นเลสเบียน คบกับนักแสดงด้วยกันที่ชื่อ คริสโตเฟอร์ ซิน จอห์น (Christopher St John) ผู้มีชื่อจริงว่า คริสตาเบล มาร์แชล (Christabel Marshall) เครกยังเคยเล่นเป็น โดนอลเบน (Donalbain) พระโอรสองค์เล็กของกษัตริย์ดันแคน (Duncan) ในละครเรื่องแมคเบธอีกด้วย (สำหรับคนที่อาจจะสงสัยว่า เอ…ยุควิกตอเรียนนี่เขาไม่จับผู้หญิงที่เป็นเลสเบียนกันเหรอ ส่วนหนึ่งดิฉันเข้าใจว่า คนสมัยนั้นไม่พยายามให้ข่าวเรื่องหญิงรักหญิงหลุดออกไปมากนัก เพราะความคิดเรื่องเพศแบบวิกตอเรียนไม่เคยมองว่าผู้หญิงมีอารมณ์ทางเพศอยู่แล้ว หรือถึงมี ก็มองว่าไม่ได้มีในเชิงรุก ผู้หญิงที่แสดงอารมณ์ทางเพศออกมาจถูกสังคมรังเกียจ การไม่เปิดเผยว่าหญิงรักหญิงมีอยู่นั้นอาจเป็นวิธีทำให้อารมณ์ทางเพศของผู้หญิง ‘ไม่ปรากฏ’ ก็เป็นได้) สิ่งที่พีคที่สุดเกี่ยวกับสโตเกอร์คือ เอลเล็น แทร์รี นักแสดงคู่ขวัญของเอิร์ฟวิงนี่แหละที่เรียกสโตเกอร์ นายโรงสูงโปร่งหุ่นนักกีฬาว่า “คุณแม่” (Mama) ตลอดเวลาเลย
ความสัมพันธ์ของสโตเกอร์กับนักเขียนผู้เป็นไอคอนของชาวเกย์ก็สะท้อนให้เห็นว่าสโตเกอร์กำลังพยายามเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจเพศวิถีอันหลากหลายของตัวเองที่สังคมไม่ยอมรับ สโตเกอร์รู้จักกับไวลด์ในฐานะรุ่นน้องที่เคยชื่นชม แถมสโตเกอร์ยังเคยเรียนกับ เซอร์ วิลเลียม ไวลด์ (Sir William Wilde) พ่อของออสการ์ ไวลด์อีก แต่แล้วก็ต้องบาดหมางกันเพราะทั้งคู่ต่างจีบ ฟลอเรนซ์ บอลคอมบ์ (Florence Balcombe) เหมือนกัน และท้ายที่สุดฟลอเรนซ์เลือกสโตเกอร์ ไม่ใช่ไวลด์
งานเขียนเรื่องแดรกคูลาอาจเป็นเครื่องตอกย้ำความเกลียดกลัวไวลด์และเพศวิถีของตัวเอง แต่ในที่สุด เมื่อไวลด์พ้นโทษ ออกจากคุกและเดินทางหนีไปยังปารีส สโตเกอร์ได้เดินทางไปเยี่ยมไวลด์ ดิฉันไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อทั้งคู่ได้พบกัน แต่คิดว่าความบาดหมางและความขัดแย้งหลายๆ อย่างคงจบลง นักเขียนอีกคนที่เป็นไอคอนของชาวเกย์ที่สโตเกอร์เคยติดต่อด้วยคือ วอลต์ วิตแมน (Walt Whitman) กวีชาวอเมริกันร่วมสมัยที่สูงอายุกว่าสโตเกอร์ แต่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกการเขียนกลอนรูปแบบใหม่ให้เป็นสไตล์อเมริกัน และเล่าเรื่องของชาติอเมริกัน ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย สโตเกอร์ไม่ชอบกลอนของวิตแมนเลย และเห็นว่าดูไร้สาระ ไม่หนักแน่น และออกไปทางผู้หญิง
แต่เมื่ออายุมากขึ้น ได้อ่านอีกครั้ง สโตเกอร์กลับประทับใจอย่างมาก ถึงขั้นเขียนจดหมายติดต่อวิตแมน และเล่าความประทับใจให้ฟัง และได้บอกกับวิตแมนว่า “ผมสูงหกฟุตสองนิ้ว หนักสิบสองสโตน (ราวๆ เจ็ดสิบเจ็ดกิโลกรัม) เวลาไม่สวมอะไรเลย เคยวัดรอบอกได้สี่สิบเอ็ดถึงสี่สิบสองนิ้ว” (I am six feet two inches high and twelve stone weight naked and used to be forty-one or forty-two inches round the chest.) ชาวสีม่วงหลายคนมาอ่านคงจะบอกว่า เฮ้ย! อย สส นน นี่หว่า สโตเกอร์ถึงขั้นบรรยายเรือนร่างของตัวเองให้วิตแมนฟังเลยทีเดียว ฟังดูส่อนัยทางเพศอย่างเห็นได้ชัด
หากจะกล่าวว่าสโตเกอร์เป็นนักเขียนที่เหยียดเพศหรือเกลียดกลัวเพศวิถีที่หลากหลายโดยสังเกตจากงาน เราอาจต้องยอมรับว่า เขาแสดงตัวว่าเกลียดกลัวหรือเหยียดออกไปแบบนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขากำลังพยายามเรียนรู้ที่จะไม่เกลียดกลัวตัวเอง และเขาก็กลัวว่าจะถูกจับได้และลงโทษ
ดิฉันยังคงยืนยันคำเดิมว่างานเขียนของแบรม สโตเกอร์มักจบลงในแบบที่ความผิดปกติหรือปีศาจร้ายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และเน้นย้ำว่ายังไงเสียกฎเกณฑ์ของสังคมก็เป็นผู้ชนะ แต่กระนั้นเอง ดิฉันก็รู้สึกอยู่เสมอว่า งานของสโตเกอร์ มีช่องว่างให้เราตั้งคำถามเสมอๆ ราวกับว่า เขาตั้งใจเปิดช่องว่างเล็กๆ น้อยๆ นั้นไว้เอง ช่องว่างเหล่านั้นทำให้เราเห็นว่าฝ่ายที่ขนะ ฝ่ายพระเอก ฝ่ายคนดีมีศีลธรรมก็ไม่ได้ดีสักเท่าไร – ดูอย่างแดรกคูลา – อาจารย์แวน เฮลซิง (Van Helsing) คู่ปรับแดรกคูลา ในนวนิยายนั้น สำหรับดิฉันแล้ว หลายๆ ครั้งก็พูดไม่รู้เรื่อง แถมทำตัวเป็นป๋า เลี้ยงผู้ชายอีกสามคนที่จะไปปราบแดรกคูลา แถมมีเครื่องเจาะเลือดถ่ายเลือดอีก แล้วแวน เฮลซิงจะต่างอะไรจากแดรกคูลา แค่ยืนอยู่คนละด้านเท่านั้นเอง
หรือตอนจบของนวนิยายเรื่อง The Lair of the White Worm (นิยาย ไม่ใช่หนังนะคะ หนังนี่หลุดมาก แต่ดี) นั้น แทนที่จะจบด้วยการแต่งงานของคู่พระเอกนางเอก กลับจบลงด้วยซากสัตว์สารพัดชนิดที่ระเบิดออกมาจากโพรงงู ภาพซากศพเหม็นเน่าและเลือดที่สาดกระเด็นไปทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงชัยชนะของฝ่ายพระเอก กลับกลายเป็นฉากจบที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าการปราบปีศาจงูคือความรุนแรงหรือไม่ จะเห็นได้ว่าสโตเกอร์เองก็พยายามจะตั้งคำถามกับชัยชนะของฝั่งคนดีอยู่บ้างเหมือนกัน
ที่โรงละครไลเซียม ณ วันนี้ พวกเราก็คงจะเดินเข้าไปดูละคร Lion King อย่างสบายใจ เจอเพื่อนพูดคุยพบปะปราศรัยสนุกสนาน พนักงานเดินตั๋วก็จะบอกทางคุณให้ไปนั่งยังที่ของคุณ แต่ถ้าเป็นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน คุณอาจเดินทางมาที่นี่เพื่อดูละครเชกสเปียร์สักเรื่องหนึ่ง ณ ตรงทางเข้านั้น ชายร่างสูงหุ่นนักกีฬาสวมสูทเรียบร้อยคงจะยืนยิ้มแย้ม ต้อนรับลูกค้าอย่างคุณที่ปากทางเข้า ภาพชายร่างสูงคนนั้นทำหน้าที่เชิญลูกค้าเข้าโรงละครไลเซียมคงเป็นภาพที่คนสมัยนั้นเห็นจนชินตา แต่น้อยคนนักที่จะเห็นแรงกดดันภายใต้รอยยิ้มเรียกลูกค้าของนายโรงที่ชื่อ แบรม สโตเกอร์