ณ วันที่ 8 มีนาคม 2561 เวลา 13.30 นาฬิกา ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ บ. 447/2558 ระหว่างเคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ฟ้องคดี กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 2 ว่ามีคำสั่งให้ธรรมศาสตร์เรียกเคทไปเซ็นสัญญาจ้างบรรจุเป็นอาจารย์ภายใน 60 วัน
เท่ากับว่า เคทซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจะได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศ และอีกหมุดหมายหนึ่งของวงการการศึกษา หลังจากการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเพื่อให้ยอมรับผู้หญิงในฐานะอาจารย์สอนหนังสือ เพราะแต่ก่อน ‘ครู’ ยังเป็นอาชีพที่หมายถึงผู้ชาย ผู้หญิงที่ถูกจ้างตามโรงเรียนรัฐบาลต่างถูกเลือกปฏิบัติต่างๆ นานา ไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นข้าราชการเหมือนครูผู้ชาย นำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมของบรรดาครูบาอาจารย์ผู้หญิง จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2479 ที่ยอมรับให้ข้าราชการหญิงมีสถานะทัดเทียมกับข้าราชการชาย ข้าราชการครูหญิงได้รับสิทธิของข้าราชการอย่างเสมอภาค รับเงินเดือนเท่ากับข้าราชการครูชาย ได้รับบำเหน็จบำนาญเช่นเดียวกัน[1]
ทว่าอาชีพครูบาอาจารย์ที่ต้องอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงอาชีพหนึ่ง เหมือนกับแม่บ้าน ภารโรง แม่ครัว วิศวกร คนกวาดถนน นักแสดง แม่ค้า ช่างแต่งหน้าทำผม เพราะในบริบทสังคมที่ไม่ได้ให้คุณค่าความเป็นคนเท่าเทียมกัน เชื่อว่าครูอาจารย์เป็นอีกฐานันดรหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ สูงส่งจนตั้งคำถามไม่ได้ เถียงไม่ได้ คิดแย้งไม่ได้ ต้องมีห้องน้ำขี้เยี่ยวต่างหาก ต้องมีพิธีกรรมจัดวันไหว้โดยเฉพาะ
สำนึกเช่นนี้แหละ อาจารย์จึงไม่ตระหนักว่าตนเองเป็นแรงงานหนึ่ง แม้แต่อาจารย์มหาลัยก็ไม่คิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานในมหาลัย แยกตัวเองออกจากแรงงานอื่นๆ ที่ไม่ได้สอนหนังสือ แม้จะเป็นพนักงานมหาลัยเหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การตั้งสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย เพื่อสวัสดิการที่ดีเรียกร้องสิทธิประโยชน์และจุดสมดุลระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง แม้ว่าอาจารย์จะมีสภาพการจ้างงานไม่มั่นคง ไม่มีอายุจ้างงานตลอดชีวิต ไม่มีสวัสดิการดีๆ เผื่อแผ่ไปถึงครอบครัว[2]
คนที่จะมาเป็นครูบาอาจารย์ต้องถูกพิจารณาว่าเอี่ยมอ่องเรี่ยมเร้เรไร ไม่มีพฤติกรรมที่ไม่ดีงาม เพราะนอกจากจะเชื่อว่าครูจะต้องควรค่าแก่การสักการะเคารพบูชา ยังต้องเป็นแบบอย่าง เป็นแม่พิมพ์ให้กับนักเรียนนักศึกษาเด็กและเยาวชน ด้วยชุดความคิดที่ว่าเด็กไม่มีสมองคิดเองไม่เห็น
และในบริบทสังคมชุดเดิมแห่งนี้ การมีเพศที่ไม่ใช่ผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ได้มีเพศวิถีรักต่างเพศ ก็ถือว่าถูกลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความน่าเชื่อถืออันควรค่าแก่ตำแหน่งหน้าที่ครูบาอาจารย์ และเกิดความหวาดกลัวว่าเด็กนักเรียนนักศึกษาจะเลียนแบบ เอาเป็นแบบอย่าง (มันยังเหลือคนคิดแบบนี้อยู่จริงๆ นะ)
ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ไม่ว่าอาชีพใด เพศสภาพเพศวิถีใด ก็มีคุณค่าความเป็นคนเท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุนี้ การที่ LGBT จะประกอบอาชีพครูบาอาจารย์จึงกลายเป็นปัญหาเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ล้าหลังมากๆ ทางด้านความคิด แต่เราก็เห็น ว่ามีเกย์กะเทยประกอบอาชีพครูอาจารย์มาบ้างแล้วประปราย แต่นั่นก็เป็นการยอมรับในระดับส่วนบุคคล
จะชอบหรือไม่ก็ตาม เสรี วงษ์มณฑาก็ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะในสังคมไทยคนแรกๆ ที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นกะเทย และอยู่ในแวดวงการศึกษาวิชาการ เธอได้มาเป็นอาจารย์มหาลัยธรรมศาสตร์ เพราะตอน ป. ตรี นางสอบชิงทุนไปเรียนโทต่างประเทศได้ (แต่ก่อนจะได้ทุน นางก็เกือบไม่ได้นะ เพราะนางเปิดตัวเป็นกะเทย ทำให้มีคณะกรรมการบางคนเสนอให้คัดชื่อออก) แล้วต้องกลับมาสอนใช้หนี้ทุนมหา’ลัย ในฐานะอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ นางก็ต้องเก็บมือเก็บไม้เก็บอาการ คุมโทนเสียง แต่ก็ยังแต่งตัวฉูดฉาดจัดจ้าน แล้วนางก็พยายามพัฒนาวิชาชีพตนเองเรื่อยมา ภายใต้การสนับสนุนอย่างเมตตาของ อดุล วิเชียรเจริญ คณบดีคนแรกของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การแสดงความชัดเจนในเพศสภาพไปพร้อมกับประกอบอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยของเสรี นางกล่าวว่าต้องประสบปัญหาภายในมหาลัยเรื่อยมา ขณะเดียวกันยังถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากนอกมหาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัลลภ ปิยะมโนธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ประกาศตนชัดเจนว่าต่อต้านความหลากหลายทางเพศ ว่าเสรีเป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องและทำให้รักเพศเดียวกัน ‘แพร่ระบาด’ เสรีจึงท้าทายจัดงานโต้วาทีที่โรงแรมเอเชียเดือนสิงหาคม 2530[3] ซึ่งเป็นปีที่นางยุติบทบาทคณบดีคณะวารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แม้ว่าใครต่อใครเรียกเธอว่า ‘ดร. เสรี’ หรือ ‘อาจารย์’ แล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยผลักดันอะไรหรือทำให้สังคมยอมรับว่า LGBT ประกอบอาชีพครูได้
อย่างที่นางได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Male ฉบับ มกราคม 2537 ว่า ”…พี่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ แต่พี่ก็ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีกับการต่อสู้กลุ่มหรือเรียกร้องอะไรเกี่ยวกับเกย์ พี่ไม่อยากยุ่งเกี่ยว เพราะพี่ทราบว่าการต่อสู้ที่ถูกต้องไม่ใช่การรวมตัวกันเพื่อต่อรอง แต่พี่ว่าการต่อสู้ที่ถูกต้อง คือการที่ต่างคนต่างทำงานของตนให้ดี การพิสูจน์งานก็เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าเป็นคนมีค่าต่อสังคม”[4]
สำหรับนาง การขับเคลื่อนในยุคแรกๆ ในการสร้างความยอมรับของ LGBT คือเป็นแต่เพียงตัวใครตัวมัน เรียนหนังสือให้สูงๆ ได้ ‘เป็นเจ้าคนนายคน’ ก็รอดแล้ว
เมื่อ 2539 สถาบันราชภัฏหรือวิทยาลัยครูออกกกฎระเบียบไม่ให้เกย์กะเทยสอนหนังสือ และออกกฎไม่รับเด็กที่ ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ ที่เข้ารับเป็นนักศึกษา ไม่ต้องให้เรียนวิชาชีพครูตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ข่าวสดก็ลงบทความพิเศษ ‘เกย์กับอาชีพครูปัญหาที่สังคมจะต้องช่วยกันทบทวน’ ว่าเป็นมาตรการป้องกันภัยต่ออาชีพครู เพราะความเป็นเกย์แสดงออกมากน้อย เบี่ยงเบนทางเพศมากน้อย อยู่ที่ความสำรวม ความมีสติ และเพื่อเป็นการป้องกัน “เฉพาะเกย์จะไปลูบๆ คลำๆ ของสำคัญของเด็กผู้ชาย หรือทำกรีดกรายแบบผู้หญิง หรือชอบจีบปากจีบคอเถียงผู้ใหญ่ ชอบนินทา สอดเสียด จะใช้ทำงานแบบผู้ชายก็ไม่ยอม ครั้นจะใช้ให้เป็นผู้หญิง คุณเธอที่เป็นเกย์ก็บอกว่าฉันเป็นชาย ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนปกครองลำบาก”[5]
ข้อห้ามของสถาบันราชภัฏนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์รุนแรงในกระแสสังคม เช่นนักเขียนซีไรท์ วานิช จรุงกิจอนันต์ วิจารณ์ว่าลำพังปรกติสถาบันราชภัฏก็เชยอยู่แล้ว มาออกกฎเกณฑ์แบบนี้ยิ่งเชยไปใหญ่[6]
ใช่ ถือว่าเป็นความเชยในเชยกว่า เชยกว่าอดีต เพราะขนาดในในปี 2529 นิตยสารเกย์ Midway สัมภาษณ์ความคิดเห็นบุคคลสาอาชีพต่างๆ ที่มีอิทธิพลทางสังคม ในคอลัมน์ ‘ต่างคนต่างคิด’ ในหัวข้อเกย์เป็นครู หลายคนก็ไม่คิดว่าจะก่อให้เกิดปัญหาอะไร[7] ‘ครูอ้วน’ มณีนุช เสมรสุต ขณะที่ยังสาวสะพรั่ง เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุค คว้ารางวัล Asian Amateur Singing Contest ปี 1980 ที่ฮ่องกง เมื่อถามทัศนคติเธอว่า หากมีลูกชายแล้วต้องเรียนหนังสือกับเพื่อนเกย์หรือครูบาอาจารย์ที่เป็นเกย์ นางตอบว่าโนสนโนแคร์คร่าาาาา เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว นางไม่ห่วงไม่กังวลว่าการเรีนหนังสือกับเกย์จะทำให้ลูกศิษย์พลอยเป็นเกย์ตาม นางตอบแบบมั่นอกมั่นใจว่า ถ้าหากลูกชายตัวเองเป็นเกย์ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเขา พ่อแม่เลือกทางให้ลูกได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งลูกต้องตัดสินใจเลือกเอง พ่อแม่บังคับจิตใจไม่ได้[8]
กรี๊ดดดด มอบมงให้ครูค่ะ…
กรณีที่คนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันทำมาหากินยึดอาชีพครูบาอาจารย์มักจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเคลื่อนไหวในระดับปัจเจก สร้างความยอมรับเป็นรายบุคคล ไม่ได้เข้าไปรื้อสร้างโครงสร้างรักต่างเพศนิยม ให้ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
เผ่าทอง ทองเจือ อดีตอาจารย์ในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) โรงเรียนแมนๆ ซึ่งก็เคยรับบทเกย์ เล่นหนังเรื่องเดียวกับเสรี วงษ์มณฑา แต่ไม่ได้เข้าฉากด้วยกัน ในเรื่อง ‘ฉันผู้ชายนะยะ’ (2530, กำกับโดยพันธุ์เทวนพ เทวกุล) เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเกย์ชื่อดัง 2 หัวเรื่องความชอบร้องชอบรำ ชอบของสวยๆ งามๆ แต่เด็ก และความสัมพันธ์กับชายคนรัก ว่าบุคลิกเช่นนี้ เนื่องจากคุณแม่มีลูกยากและอยากได้ลูกสาวตอนท้อง จึงทำเสื้อผ้าผู้หญิงเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อโตมาเผ่าทองจึงเกล้าจุกใส่กระโปรง พูดคะ-ขา ชอบปักดอกไม้ประดิดประดอยแต่เด็ก พอเรียนประถมจึงถูกครูต่อว่าที่บ้านว่าทำไมไม่สอนให้ลูกพูดครับผม[9]
การยอมรับ LGBT ในฐานะอาชีพครูอาจารย์จึงลักปิดลักเปิด ไม่มีมาตรฐานชัดเจนในการรับมาทำหน้าที่สอนหนังสือ และถูกเลือกปฏิบัติอย่างร้ายกาจมาตลอด เหมือนกับในปี 2555 ที่ผู้บริหารโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไม่ยอมรับนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่เป็นกะเทยมาเป็นครูฝึกสอน อ้างว่าเพราะเธอมีบุคลิกที่ไม่เหมาะสมที่จะสอนหนังสือในโรงเรียนชายล้วน ไม่สามารถสร้างให้นักเรียนในโรงเรียนเป็นสุภาพบุรุษและมีอัตลักษณ์เป็นผู้นำได้ และจะทำให้นักเรียนเลียนแบบพฤติกรรม เมื่อนิสิตที่เป็นหญิงข้ามเพศออกมาเคลื่อนไหว คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว ก็เรียกเธอไปเจรจาไม่ให้ออกสื่อ และยุติการเคลื่อนไหว ซึ่งเธอเองก็เกรงว่าจะมีผลเสียต่อการเรียนจบการศึกษาจึงยอมจำนน ก่อนที่คณบดีนำดอกไม้มาขอโทษ ผอ.โรงเรียนสวนกุหลาบ
…และแล้วความเคลื่อนไหวก็ถูกลืม
กระทั่งมาถึงกรณีล่าสุดของ เคท ครั้งพิบูลย์ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์แล้วตั้งแต่ 2557 แต่พอมาถึง 2558 คณะกรรมการกลั่นกรองของหาวิทยาลัยกลับเข้ามามีมติไม่เห็นชอบให้จ้างเธอซะงั้น ด้วยการออกคำสั่งไม่ให้จ้างเธอเป็นอาจารย์
ไม่เพียงทางมหาวิทยาลัยจะเข้ามาแทรกแซงการพิจารณาการจ้างอาจารย์ของคณะไม่ให้รับเธอทำงานทั้งๆที่ทางทางคณะรับเธอเป็นอาจารย์แล้ว แต่ยังสร้างเงื่อนไขใหม่ในการพิจารณา อาศัยจากข้อความและรูปต่างๆในโลกออนไลน์เป็นเกณฑ์ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีขณะนั้น ก็ออกตัวว่า ต่อไปจะนำพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกทางโซเชียลมีเดียมาใช้ประกอบการพิจารณา เพราะมีอาจารย์บางคนมีพฤติกรรมการใช้ Social Network ไม่เหมาะสม
เรื่องอะไรเหมาะสม-ไม่เหมาะสม ก็ยังคงต้องมานั่งถกกันอีกทีนะ
แม้ทางธรรมศาสตร์จะเลี่ยงไม่พูดประเด็นเรื่องเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะมีรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้ว เถียงอย่างไรก็แพ้ แถมดู homophobia ย้อนแย้งกับจุดขายและภาพลักษณ์ว่าโปรเสรีภาพและความหลากหลายภายในมหา’ลัย แต่ก็อ้างศีลธรรมจริยธรรมจรรยาบรรณแทน ซึ่งพฤติการของเธอใน Facebook และ Instagram ที่ธรรมศาสตร์หยิบมาเป็นข้ออ้างไม่จ้างเธอนั้น ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่นข้อความบ่นตัดพ้อของเคทเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศการไม่ยอมรับเพศสภาพของเธอ และการที่นางโชว์รูปลิปสติกรูปกระเจี๊ยวสีชมพูที่เพื่อนซื้อมาให้
สำหรับศาลสถิตยุติธรรมแล้ว คำสั่งของธรรมศาสตร์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสั่งให้เพิกถอนคำสั่งตามที่เคทฟ้องร้อง ศาลยังกล่าวอีกว่า การโชว์ลิปสติกสีชมพูรูปจู๋นั้นไม่ได้เป็นการประพฤติชั่วร้ายหรือส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัย ไม่ทำให้เสื่อมเสียมาตรฐานในวิชาชีพและสถาบันการศึกษา และการใช้สื่อสารสาธารณะ ก็เป็นการเผยแพร่ข้อมูลเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นเพื่อนและผู้ติดตาม ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะทั่วไป และก็เป็นสิทธิเสรีภาพการสื่อสารตามรัฐธรรมนูญ
เพล้ง…เสียงหน้าแตก
แม้ผลคำตัดสินของศาลจะทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานได้ว่าไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีใดก็สามารถได้รับการยอมรับเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา หรือการแสดงออกเรื่องเพศและพฤติการในโซเชียลมีเดียเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญปกป้องคุ้มครอง อย่างไรก็ดีการฟ้องร้องในครั้งนี้ก็เป็นความพยายามสร้างบรรทัดฐานในการรับสมัครงานในสถาบันศึกษา แผ้วถางทางให้ LGBT จำนวนมากในการสมัครงานเป็นครูบาอาจารย์ในอนาคตต่อไป ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อตัวเองเท่านั้น
แม้นี่จะเป็นเพียงความสำเร็จอีกก้าวหนึ่ง แต่ขบวนการเคลื่อนไหวยังต้องดำเนินต่อไปก็ตาม เพราะนี่ก็เป็นเพียงศาลชั้นต้นเท่านั้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็กำลังพิจารณาว่าจะอุทธรณ์เพื่อต่อสู้คดีอย่างไร ภายใน 30ทวัน ไอ้เราก็หวังว่าผู้บริหารระดับมหา’ลัยธรรมศาสตร์จะมีสติปัญญา เพดานความคิดไม่ตื้นเขินและใจกว้างมากพอที่จะยอมรับความหลากหลาย ไม่อุทธรณ์ให้เป็นที่น่าอับอายแก่มหาลัยต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] เปรมสิรี ชวนไชยสิทธิ์. ผู้หญิงกับอาชีพครูในสังคมไทย พ.ศ. 2456-2479. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539, น. 148, 163-169.
[2] prachatai.com ; prachatai.com/journal
[3] จับเข่าคุยกับ แสนพัน บัณฑิต, มิถุนา. ปีที่ 4 ฉบับที่ 43 (กันยายน 2530), น.39-42.
[4] เสรี วงษ์มณฑา ถูกเมาท์มาเยอะ วันนี้ขอเมาท์…สักที ถึงกะเทยสวะ, Male ปีที่1 ฉบับที่ 9 (มกราคม 2537), น. 25.
[5]Male, ปีที่4 ฉบับที่ 32 (2539), น. 19.
[6] สาวคันไฟ. ครูเอ๋ยครูเกย์. Midway ปีที่ 7 ฉบับ 84 (n.d.) น.147-149.
[7] Midway. ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 (พฤศจิกายน 2529), น. 28-29.
[8] Midway. ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 (พฤศจิกายน 2529), น. 28-29.
[9]บ่ายวันหนึ่งกับเผ่าทอง ทองเจือ. Neon ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 (2528) น. 81-82.; สัมภาษณ์เผ่าทอง ทองเจือ, มิถุนา. ปีที่ 2 ฉบับ 23 (2528), น. 101-107.