“เราควรต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจ และเห็นเราเป็นคนธรรมดาก่อน ต้องทำให้เค้าเข้าใจ LGBT ในฐานะมนุษย์คนนึง ไม่ได้ตลกกว่าคนอื่น มีมุกมากกว่าคนอื่น ไม่ได้ปากจัดกว่าใคร เพียงแค่เราเป็นมนุษย์คนนึง ถ้าเราอธิบายให้คนเข้าใจเราแบบนี้ เค้าก็จะไม่เห็นข้อเสียของการที่เราได้สิทธิ เราไม่ได้ไปเรียกร้องสิทธิจากคนอื่น เราแค่ต้องการให้เราเท่ากัน”
กว่า 1 ปี ที่พินิจ งามพริ้ง อดีตแกนนำกลุ่มเชียร์ไทย เพาเวอร์ และอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เดินทางกลับมายังประเทศไทย พร้อมเปลี่ยนตัวเอง ในบทบาทใหม่ของผู้หญิงชื่อ ‘พอลลีน งามพริ้ง’ ซึ่งแม้จะเป็น 1 ปีที่หลายๆ คนเพิ่งรู้จักพอลลีน แต่ความจริงเธอได้อยู่เบื้องหลังพินิจ ต่อสู้ กันมาอย่างยาวนานตลอดช่วงชีวิต ในการที่จะก้าวข้ามผ่านเพศ
The MATTER ชวน พอลลีน งามพริ้้ง คุยถึงพินิจอีกหนึ่งตัวตนของเธอก่อนจะมาเป็นวันนี้ เรื่องราวในการต่อสู้ของทั้งคู่ ชีวิตของเธอในวันนี้ที่ก้าวผ่านเส้นแบ่งเพศ รวมถึงสิทธิ์และความเข้าใจ LGBT ในไทยกัน
กลับมาหนึ่งปีที่ได้เปิดเผยตัวเองเต็มที่ มองตัวเองในหนึ่งปีเป็นยังไงบ้าง
เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขเพราะว่าเราไม่เคยคิดว่าเราจะกลับมาเมืองไทยแบบที่มีคนรู้จักเยอะแยะขนาดนี้ จริงๆ แค่กล้าเดินบนถนน แค่เป็นพอลลีนเดินไปในสถานที่ต่างๆ แค่นี้ก็ดีมากแล้ว แต่กลายเป็นว่าเรามีคุณค่ากับสังคมในภาคส่วนต่างๆ ด้วย ก็ยิ่งรู้สึกดีไปใหญ่ เดิมพินิจก็มีคนรู้จักในแวดวงกีฬาพอสมควร เราก็มีต้องปรับตัวบ้าง โดยเฉพาะสายตาคนที่มองเราก็มีหลากหลาย บางทีเราเจอคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ หรือสายตาคนที่คาดเดาได้ยาก มันก็มีทำให้เราอึดอัดบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็คือรู้สึกสบายใจ
ตอนนี้มาเป็นพอลลีนแล้ว มองว่าคาแรคเตอร์ของพอลลีนกับพินิจแตกต่างกันยังไง ต่างกันแค่ไหน
มันแตกต่างกันด้วยความเป็นหญิงเป็นชาย คือพินิจไม่ใช่คนที่เบี่ยงเบนทางเพศ พินิจก็เป็น straight โดยตรงเลย ส่วนพอลลีนเป็นผู้หญิง เราไม่ได้อยู่ตรงกลางด้วยกันทั้งคู่ พินิจก็คือพอลลีนที่ต้องการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ชาย แล้วก็ทำทุกอย่างที่พอลลีนมองว่าผู้ชายควรจะต้องทำ เช่น ต้องมีความรู้ มีบารมี และจะเป็นคนที่บุ่มบ่าม ห่าม บู๊ ชอบโชว์ว่าเจ๋ง สู้เพื่อคนอื่น หงุดหงิดกับปัญหาสังคม แต่กลับกันพอลลีนจะไม่ซีเรียสเรื่องนั้น พอลลีนอยากจะฉีกจากความเป็นพินิจ ที่ไม่ต้องไปให้สังคมรอบข้างมีอิทธิพลกับเรา และจะต้องเป็นตัวเองที่มีความสุขด้วยตัวเอง นี่คือความแตกต่าง
แต่สิ่งที่ทั้งคู่จะแชร์กันคือ การคิดแบบเป็นระบบแบบพินิจพิเคราะห์ ที่ติดตัวพินิจมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นหลายอย่างที่พินิจทำจะมีความละเอียด ถี่ถ้วน ซึ่งพอเรามาเป็นพอลลีนแล้ว หลายคนจึงเข้าใจว่าเพราะมันมีสองบุคลิกอยู่ในตัวคนๆ เดียว มีการคิดสองแบบ คือพร้อมที่จะลุย ในขณะที่การลุยนั้นจะมีกลยุทธ จะมีแผนซ้อนแผนอยู่เรื่อยๆ นี่ก็คือความแตกต่าง และในความแตกต่างก็จะมีจุดร่วมกัน
แปลว่าก่อนหน้านี้ พอลลีนควบคุมพินิจหรือว่าอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า
อยู่เบื้องหลัง เป็นการ support เป็นความคิดที่สองของพินิจตลอดเวลา บางทีเวลาโมโห พินิจจะไม่ไว้หน้าใคร นึกจะโพล่งก็โพล่งมา แต่ในบางทีพอลลีนก็ควบคุมในจุดที่พินิจจะทำแล้วไม่ได้ทำ ก็คือการยับยั้งชั่งใจ ไม่ได้ควบคุมเบ็ดเสร็จเพราะยังไงพินิจก็ต้องออกหน้าตลอดเวลา พอลลีนก็ได้แค่ใส่ความคิดในมุมของพอลลีน ที่เป็นมุมของผู้หญิงเข้าไป
ตอนเป็นพินิจ พอลลีนเป็นเหมือนฝ่ายสนับสนุน แล้วตอนนี้พอมาเป็นพอลลีนแล้ว เราปฏิบัติกับพินิจต่างจากเดิมไหม
พูดถึงพินิจไม่ได้หมายความว่าเป็นอีกคนหนึ่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา เป็นอีกความคิดหนึ่ง ตอนนี้ก็ปฏิบัติต่างกันชัดเจน พอเป็นพินิจ เขาพยายามจะกดความเป็นพอลลีนไว้ ไม่ให้ใครรู้เลย เพราะว่าตอนนั้นไม่มีใครรู้จักพอลลีน ก็ไม่มีความจำเป็นที่พอลลีนจะต้องขึ้นมา เรามีการต่อสู้กันทั้งนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมก็คือการต่อสู้ทางจิตใจ รูปธรรมก็คือการทำร้ายตัวเอง มันมีช่วงเวลาเถียงกันว่าทำไมทำแบบนั้น หรือแบบนี้ และเราจะทำร้ายตัวเอง ฝั่งหนึ่งตบ ฝั่งนึงชก มันเป็นการต่อสู้ และพินิจก็กดเราลงไป
พอถึงตอนนี้ เราก็คิดว่าเราไม่ควรทำแบบนั้น เรายอมรับกับทุกคนว่ามีพินิจอยู่ ยังมีความเป็นชาย ขณะเดียวกันพอลลีนก็เป็นผู้หญิงหวาน เซ็กซี่ แต่ความแมนก็มี ที่ถ้าใครรังแก ก็พร้อมจะสู้ มองว่าเราอยู่ด้วยกันได้ดีกว่า
ความคิดของพอลลีนกับพินิจมีต่อสู้กันไหม
มันคือการต่อสู้ที่จะออกมาเป็นบทนำ แต่ไม่ได้ต่อสู้แบบขัดแย้ง เป็นการยับยั้งชั่งใจมากกว่า อย่างเมื่อก่อนพินิจทานข้าวเสร็จ ผู้ชายส่วนใหญ่ก็จะไปพักผ่อน สูบบุหรี่ หรือดูทีวี แต่ในมุมพอลลีนก็จะบอกว่าให้ไปช่วยภรรยาล้างจาน หรือถ้าภรรยาล้างเสร็จแล้วเราก็จะรู้สึกผิดว่าทำไมเราไม่ไปช่วยงานเขาบ้าง ทั้งเราจะมีความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ดูแลแม่เท่าที่ควรตอนเป็นพินิจ แม่ก็จะกลัวเรา ไม่ค่อยโทรหาเรา ไม่กล้าขอเวลาจากเรา เราก็รู้สึกผิดในแบบผู้หญิงของพอลลีน ที่เราอยากจะดูแลแม่ ใกล้ชิดแม่มากกว่านี้
ตอนนี้ที่เป็นพอลลีนแล้วพินิจได้คลายความกังวลเรื่องที่เคยห่วงไปทั้งหมดแล้วหรือเปล่า
ไม่ทั้งหมด แต่ก็ส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลอะไรแล้ว เพราะว่าตอนนี้มองตัวเองก็ไม่เห็นพินิจแล้ว เพียงแต่ว่าเราแชร์สมองและร่างกายกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตอนแรกเราก็ไม่อยากจะมีความเป็นพินิจเลย เราอยากเป็นผู้หญิงใส่กระโปรงสวยๆ แต่พอถึงจุดนึงเราก็มองว่า แบบนี้ก็มีจุดที่เราเป็นธรรมชาติ เพราะว่าเราก็แชร์ความรู้ ประสบการณ์มาด้วยกัน สกิลหลายอย่างก็คือทำในฐานะพินิจมา สุดท้ายเราก็รู้สึกโอเคกับมัน อย่างเช่นเรื่องเล่นกีฬา เตะฟุตบอล ชกมวย หรือทำกิจกรรมที่พินิจเคยทำ ตอนนี้เราว่าผู้หญิงก็ชกมวยได้ มีกล้ามได้ ถ้าร้องคาราโอเกะก็ไม่ต้องร้องเพลงผู้หญิง ดัดเสียงแหลมๆ อย่างเดียว ร้องทั้งเพลงผู้หญิงผู้ชายไปเลย มันก็ค่อยๆ หล่อหลอมความเป็นพอลลีนให้กลมกล่อม ไม่ต้องปฏิเสธว่าเป็นพินิจมาก่อน เพียงแต่ว่ามองกระจกแล้วสิ่งที่สัมผัสได้คือเราไม่ใช่พินิจแล้ว แต่เขาอยู่ในใจ
ทำไมพอลลีนกับพินิจถึงอยู่ร่วมกันไม่ได้
อันนี้คือการแสดงออกที่มันอยู่ร่วมกันไม่ได้เพราะว่าเราไม่ต้องการก้ำกึ่ง พอลลีนก็อยากให้พินิจเป็นพินิจแบบนั้น ไม่ต้องการให้พินิจเป็นเกย์ หรือรสนิยมทางเพศเบี่ยงเบน ด้านพินิจก็ไม่อยากเห็นพอลลีนแบบก้ำกึ่ง ต่างคนก็ต่างคิดว่ามันต้องทางใดทางนึง อย่างช่วงแรกๆ ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมน ไม่ได้เป็นพอลลีนเต็มตัว เวลาแต่งหญิง แต่งหน้าก็จะรู้สึกขัดๆ ไม่สบายใจที่ก้ำๆ กึ่งงๆ ถึงตัดสินใจที่จะต้องมาเป็นพอลลีนเลย ซึ่งก็มีกระบวนการต่อสู้กันนาน ไม่ได้ต้อสู้กับพินิจ แต่ต่อสู้กับความกังวลของพินิจที่แคร์ชาวบ้าน สังคม และคนอื่น มันเป็นการต่อสู้กับสังคมซึ่งเรามโนไปเองว่ามันจะไม่โอเค
ทำไมมันถึงใช้ระยะเวลาหลายสิบปีในการต่อสู้ ทำไมไม่เปิดเผยตั้งแต่วัยรุ่น
จุดเปลี่ยน ณ ตอนนั้นก็คือมีความรู้สึกว่า อยากเป็นที่ยอมรับ พอรู้ว่าการที่จะได้รับการยอมรับได้คือ การต้องเป็นผู้ชายเพราะทุกคนมองว่าเราเป็นผู้ชาย แทนที่เราจะบอกว่า ฉันเป็นผู้หญิง เราจึงลุกขึ้นยืนแล้วบอกว่าฉันเป็นผู้ชาย ก็อยากให้เป็นผู้ชายก็เป็นผู้ชายแล้ว และพิสูจน์ในความเป็นผู้ชาย พอพิสูจน์แล้วได้รางวัล ได้รับการยอมรับ จากการชกกับเพื่อนผู้ชายครั้งแรก เพื่อปกป้องเพื่อนผู้หญิง พอชกกันเสร็จพ่อก็ดีใจว่า เราจากเด็กอ่อนแอ มาสู้คนแล้ว และไม่ได้ไปแกล้งเขาก่อน เนื้อเรื่องมันแมนมากๆ ที่ปกป้องผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้คิดว่าเราปกป้องผู้หญิง เราแค่ปกป้องเพราะเป็นเพื่อนเรา ซึ่งพ่อปลาบปลื้มมากกับสิ่งที่ทำ ให้รางวัลเรา ให้เงินไปโรงเรียนเพิ่ม 5 บาท เราก็คิดว่านี่ไง เราได้รับการยอมรับแล้ว
หลังจากนั้น ก็วิ่งกับพ่อทุกเช้า พ่อก็ฝึกชกมวย ชกแบบป้องกันตัวเอง ทั้งพ่อและแม่ก็แฮปปี้ เราเปลี่ยนท่าการจับช้อน จับแก้ว ทุกคนก็แฮปปี้ เราก็ทำตามความหวังของคน เพื่อที่ทำให้เขาแฮปปี้มาเรื่อยๆ นั่นคือสาเหตุที่มันยาวนานเพราะว่าเราก็เอ็นจอยกับที่คนแฮปปี้กับเรา มันจึงยากขึ้นเรื่อยๆ เล่นฟุตบอล เข้ามหาวิทยาลัย เรียนจบ ทำงานให้พ่อแม่ภูมิใจ ทำงานให้เจ้านายแฮปปี้ พอเป็นหัวหน้าก็ให้ลูกน้องแฮปปี้ สุดท้ายความท้าทายในชีวิตเรามันก็อยู่ที่ทุกคนแฮปปี้ แล้วพอทุกคนแฮปปี้หมดแล้วเรากลับมามองตัวเอง แล้วเราแฮปปี้หรือป่าว
พินิจเคยคิดว่า คนเราเกิดมาเพื่อทำเพื่อคนอื่น แต่พอถึงจุดนึง ในความเป็นจริงแล้วเราเครียดมากเลย เราจะมีมุมมืดของเราตลอดเวลาในมิติที่เราออกไปแล้วคนอื่นแฮปปี้ แต่พอเราอยู่กับตัวเองแล้วเราไม่แฮปปี้เลย พอถึงจุดนั้นแล้วก็เลยคิดว่าไม่ใช่
คนเราเกิดมาไม่ได้ทำให้คนอื่นแฮปปี้ คนเราเกิดมาเพื่อเป็นตัวของเรามีความสุขกับตัวเราด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด ก็คือมีความสุขกับตัวเรา แล้วพอเรามีความสุขกับตัวเรา เราก็แบ่งความสุขในความเป็นของตัวเรานี่แหละไม่ต้องไปเป็นคนอื่นให้คนอื่นเขาแฮปปี้ดีกว่าไหม ส่วนใครจะแฮปปี้กับเราหรือไม่มันก็เป็นเรื่องของเขา
พอลลีนได้เรียนรู้อะไรจากพินิจในวันก่อน
เยอะมาก พินิจเรียนรู้เรื่องการเป็นตัวของตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องมีอิทธิพลของสังคมมากำหนดแบบเป๊ะๆ เช่น ผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ ผู้ชายต้องบู๊ ผู้ชายต้องวางกล้ามแล้วต้องเก๊กแมน ผู้ชายไม่สามารถทำกิจกรรมของผู้หญิงได้ พินิจเรียนรู้ว่าจริงๆผู้ชายก็ทำได้ เรียนรู้แต่ว่าตัวเองไม่ได้ทำ ส่วนพอลลีนก็เรียนรู้ว่าการเป็นผู้หญิงก็ไม่จำเป็นจำต้องมีอะไรที่ตายตัว ต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันที่จะอยู่เป็นตัวของตัวเองไม่ต้องไปยึดโยงกับบริบทหรือ stereotype ที่สังคมกำหนด ว่าหญิงต้องแบบนี้ ชายต้องแบบนี้ ทั้งพินิจและพอลลีนก็เรียนรู้ในสิ่งที่ว่ามันควรจะอยู่ด้วยกันได้
ยังมีคาแรคเตอร์ของพินิจที่ยังเหลืออยู่ไหม
ครั้งคราว อย่างเมื่อกี้ขับรถมามากับแม่ ก็เจอรถที่เขาจอดซ้อนไม่ยอมไป เราก็โมโหในรถ เผลอตะโกนด่าออกไปอย่างเมื่อก่อนว่า ‘ไอสัส’ แต่ถ้าเป็นพอลลีนเราคงตะโกนด่าว่า ‘อีดอก’ เราก็คุยกับแม่บอกว่าไม่อยากเป็นแบบนี้เลย ไม่อยากเอาพินิจออกมาใช้ เวลาโมโหแล้วควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นพอลลีน พอลลีนก็จะไม่ทำ ไม่หงุดหงิดกับเรื่องแค่นั้น อย่างมากก็รอเสียเวลาไม่กี่วินาที แต่ว่าปัจจุบันก็ค่อยๆ น้อยลงแล้ว พยายามที่รู้ตัวเอง พออารมณ์หรือความรุนแรงออกมาก็พยายามระงับมัน
คนข้ามเพศคนอื่น พอข้ามเพศแล้วอาจจะไม่ได้พูดถึงตัวเองก่อนเปลี่ยนแปลง แต่พอเป็นพอลลีนเต็มตัวแล้ว ทำไมยังพูดถึงพินิจอยู่
แต่ละคนมันจะมีกระบวนการข้ามเพศที่ไม่เหมือนกัน ของพอลลีนมีช่วงเวลาที่ปฎิเสธตัวเองค่อนข้างนาน เราไม่ได้แสดงออกในความเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่ต้น มันเกิดในช่วงปฏิเสธตัวเองที่ยาวนาน และยังพยายามเป็นผู้ชายแบบจริงๆ ด้วย ซึ่งกว่าพินิจจะรู้สึกว่าเป็นแมนจริงๆ ก็อายุผ่านไปประมาณเกือบ 30 ปี ถึงจะรู้สึกสบายใจกับการเป็นผู้ชาย ผ่านการพิสูจน์ตัวเอง พยายามเล่นกีฬา มีกล้าม ทำงานในฐานะผู้ชาย ต่อสู้ที่จะเป็นพินิจมานาน ดังนั้นเราต้องยอมรอบ และไม่ปฏิเสธในการเป็นพินิจ เพราะว่าทุกอย่างที่เราเรียนรู้มา มันมาในฐานะพินิจหมดเลย มันอาจจะต่างจากผู้หญิงข้ามเพศคนอื่นที่ถึงแม้ไม่ได้เปลี่ยนเป็นผู้หญิง แต่ว่าในช่วงเวลาวัยรุ่น เขาไม่ได้ปฏิเสธตัวเอง อาจจะเป็นเกย์ ตุ๊ดเด็ก หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาเป็นแบบนั้น เขาเลยไม่รู้สึกว่ามันมีจุดแบ่งระหว่างชายกับหญิง แต่ของพอลลีนเราเปลี่ยนแบบแมนมาเลย เป็นผู้ชายที่แม้มีช่วงสับสนแต่ก็หายไป โดนพินิจกลบไป จนถึงจุดนึงที่ไม่ได้แล้ว
พอมาเป็นพอลลีน เราถึงมองว่า อย่าลืมรากเหง้าของตัวเอง ว่าเราเคยเป็นใคร เพราะถ้าลืม ยิ่งเป็นการปฏิเสธความจริง ถ้าเราบอกว่าเราเป็นพอลลีน แต่บอกว่าเราไม่ใช่พินิจ ไม่เคยเป็น และไม่ให้ใครพูดถึง ซึ่งมันเป็นข้อเท็จจริง อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการโกหกเพื่อบอกความจริง ถ้าเรายอมรับความจริงในฐานะที่เราเป็นพอลลีนได้ เราก็ควรจะต้องยอมรับความจริงว่าเราเคยเป็นพินิจและมีความพินิจอยู่ในตัวอยู่ด้วย
ทำไมถึงเคยบอกว่า พินิจเป็นผู้ชายในอุดมคติ
พินิจไม่ใช่ผู้ชายที่ดีที่สุดในโลกหรอกนะ แต่คือผู้ชายในมิติที่พอลลีนมองว่าต้องเป็นแบบนั้น ในเมื่อเราเป็นพอลลีนไม่ได้ ณ ขณะนั้น เราก็ต้องเป็นผู้ชายในนิยามที่พอลลีนต้องการ คือเป็นผู้ชายในอุดมคติของพอลลีน เราคิดถึงเส้นทางที่เราผ่านมาที่เราต่อสู้กันมา นึกถึงความยากลำบากหลายๆ อย่าง เช่น แอบแต่ง เสียเงินเสียทองไปแอบเหมือนเป็นอาชญากรข้างถนน แต่งในรถ ในโรงแรม มีเวลา 5 นาทีก็ขอแต่งสักนิดนึง ดูกระจกเสร็จแล้วก็ลบทิ้งแต่จริงๆ ไม่อยากลบเลย ทำไงเราถึงจะมีตู้เสื้อผ้าที่มีเสื้อผ้าผู้หญิงของเราโดยไม่ต้องไปไว้ในท้ายกระบะรถ หรือไม่ต้องโยนทิ้ง เรานึกถึงช่วงเวลาต่างๆ เหล่านั้นแล้ว เรารู้สึกว่าเราผ่านมาด้วยกันทั้งคู่ แล้วไม่มีใครรู้มาก่อน ไม่มีใครที่เป็นเพื่อนเราที่เป็นประจักษ์พยานเรื่องนี้เลย นอกจากพินิจกับพอลลีน มันก็ต้องเสียสละซึ่งกันและกันในการที่จะต้องเอาตัวเองไปสู่จุดที่ลำบากอย่างนั้น
อย่างเช่นตอนที่ไปอเมริกา พินิจเป็นผู้บริหารที่ในตำแหน่ง CEO แต่พินิจต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อไปลำบาก ไปเริ่มต้นอาชีพใหม่ หางานในเมืองที่โหดที่สุดอย่างนิวยอร์ก ต้องแบกกระเป๋าขณะที่ตัวเองเทคฮอร์โมนแล้วแรงก็ไม่ค่อยมี แบกกระเป๋าขึ้นลงรถไฟไม่รู้กี่สถานี พอเรานึกถึงสิ่งที่เราผ่านมาด้วยกันเพราะว่าเราไม่มีเพื่อนคนอื่นที่รู้เลยที่ไปสู้แบบนั้น เราคิดถึงแล้วเราก็น้ำตาไหล แล้วมีก็แค่เราสองคนที่ต่อสู้เรื่องนี้ และเขาก็ยอมที่จะทิ้งหลายๆอย่าง เพื่อที่จะให้เราได้เป็นพอลลีน
มีโอกาสที่พินิจจะกลับมาไหม
อนาคตก็เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน แต่ถ้าถามตอนนี้ก็คือไม่ เราเผด็จการเบ็ดเสร็จแล้ว ก็คือเราแต่งตัวเป็นผู้หญิงมาจะ 2 ปีแล้ว เทคฮอร์โมนมา 5 ปีแล้ว ผ่าตัดหน้าอกแล้ว เหลือเพียงจุดจะผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่ และจะผ่าตัดเมื่อไหร่แค่นั้นเอง เพราะว่าเราไม่ได้มีความภูมิใจกับอวัยวะเพศตรงนั้น เบ็ดเสร็จคือเบ็ดเสร็จในเชิงความคิด และรูปลักษณ์ภายนอกมันเบ็ดเสร็จแล้ว เราเป็นผู้หญิง เราคิดเป็นผู้หญิง แต่เบ็ดเสร็จในที่นี้ไม่ใช่ว่าเราไม่ฟังความคิดคนอื่น ยึดอำนาจเค้าแล้ว เราก็ถามเค้าด้วยว่าแบบนี้โอเคไหม เพราะคนเรามันจะอยู่ได้นานแค่ไหนอะ พินิจก็อยู่มาแล้ว 50 ปี พอลลีนเองก็ยังเหลือเวลาไม่นานเลย ก็อยากใช้เวลาตรงนี้ ตักตวงความเป็นพอลลีน
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจจะไม่ได้ต้องยึดติดกับความเฟมินีนมากเกินไป ไม่ต้องยึดติด หรือให้ใครมาบอกว่าเราต้องเป็นผู้หญิงแบบไหน เราก้าวข้ามเพศมาแล้ว ก็ควรจะก้าวข้ามความเป็นเพศให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าพินิจจะกลับมา แต่มันจะกลมกลืน และมีความสมดุลมากขึ้น
ทำไมเลือกเปลี่ยนเป็นพอลลีนที่อเมริกา
จริงๆ ก่อนหน้านั้น เราเดินทางไปทั่ว ทั้งยุโรป อังกฤษ อเมริกา แต่เราคุ้นเคยกับความเป็นอเมริกันมากที่สุด จากช่วงชีวิตวัยรุ่นที่เราดูหนัง เคยไปทำงาน ไปใช้ชีวิตที่นั่นช่วงหนึ่ง เลยมีความรู้สึกว่ามันสะดวกสบายกว่า ทั้งเรื่องภาษา การใช้ภาษาอังกฤษ และเราก็มีคอนเนคชั่นบางอย่าง บวกทั้งช่วงที่เราค้นหาข้อมูล เราค้นหาจากที่อเมริกาค่อนข้างเยอะ และเรามีเพื่อนทรานเจนเดอร์ที่นั่นด้วย
ประเด็นคือ จริงๆ ที่ไหนก็ได้ ที่อิทธิพลของสังคมไม่มาครอบคลุมเรามากเกินไป ไม่เช่นนั้นเราก็จะฉีกออก กลายมาเป็นตัวเองมากไม่ได้ ตอนไปอเมริกาเราก็รู้สึกว่า อาจจะมีรู้จักคนไทย แต่เค้าก็ไม่ได้รู้จักเราในฐานะอื่นๆ มาก่อน มันเลยไม่มีอิทธิพลใดๆ มากำหนดเรา เราเป็นตัวเองได้เต็มที่
ทรานเจนเดอร์ที่อเมริกา กับบ้านเราแตกต่างกันไหม
ต่างกัน เราค่อนข้างเซอร์ไพรซ์ว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีคนที่อายุ 40-50 ปี แล้วค่อยมาเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนกันตั้งแต่ต้น แต่ทรานเจนเดอร์ที่นู่นจะเป็นคนอายุเยอะมากกว่าที่เมืองไทย เริ่มมาเปลี่ยนเป็นทรานเจนเดอร์ตอนอายุ 40-50 ปี เยอะมาก อันนี้คงคล้ายๆ เรา แบบลองทุกอย่าง พยายามเป็นผู้ชายมาทุกอย่างแล้ว แต่ทำไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญของเขาคือ เค้าไม่ได้แคร์สังคมมากเท่าเมืองไทย ที่พอลลีนเป็นแบบนี้ เพราะถึงจุดนึงเราคิดว่าสังคมไม่ควรมีอิทธิพลเหนือเรา และที่อเมริกาเค้าก็คิดแบบนี้เหมือนกัน
และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนกันคือ การให้เกียรติของสังคม พูดเฉพาะที่เราไปอยู่คือสังคมเมือง ที่เปิดกว้าง และเค้าก็ให้เกียรติในความเป็นตัวตนของเรา เวลาเราไปไหนคนก็จะให้เกียรติ เรียกเราว่า ‘มาดาม’ บางทีมีคนเรียกผิด แรกๆ เราก็ไม่กล้าทักท้วง แต่ก็จะมีคนบอกเราว่า ถ้าใครเรียกผิดให้แก้เลย ไม่งั้นเค้าจะเรียกผิดไปเรื่อยๆ บางคนผิดเพราะเค้าแกล้งเรา บางคนผิดเพราะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเค้าไม่เข้าใจเราต้องรีบอธิบายให้เค้าเข้าใจ เค้าจะให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง
ทั้งพอลลีนก็เกือบจะไปอยู่ในจุดที่เปลี่ยนคำนำหน้านามที่นู่น ที่มีหน่วยงานช่วย แม้ว่าเราจะยังไม่ผ่าตัดก็ทำได้ เพราะเค้าเคารพอัตลักษณ์ที่เราแสดงออก แต่เมืองไทยยังมีการตัดสินคนอยู่ เช่น ถ้าเดินผ่าน จะไม่มีการถามว่านี่กะเทย หรือผู้หญิง แต่จะถามว่าผู้ชาย หรือผู้หญิง ซึ่งมันหนักกว่า เพราะคำทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับการเคารพจากการที่เราแสดงออก เค้าเอาตัวเค้าเป็นหลักในการตัดสินเรา
แต่ว่าก็มีการกลั่นแกล้งนะ แรงกว่าที่เมืองไทยด้วย หนักๆ คือมีการตามล่ากันเลย แต่กฎหมายเค้าเคร่งครัดในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นการกลั่นแกล้งก็จะผิดกฎหมาย ก์คือว่าคนละแบบ ของอเมริกาจะสุดโต่งเลย ระหว่างการยอมรับและเกลียดชัง แต่เมืองไทยการยอมรับมันอยู่ตรงกลางๆ อาจจะมีคนที่กลัวอยู่บ้าง แต่จะไม่กลายเป็นความเกลียดชังเท่าไหร่ ของเราจะมองว่าโอเค อย่ามาทำความเดือดร้อนให้เราแล้วกัน หรือจะเป็นกะเทยก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี หรือจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายก็ได้ขอให้เป็นคนดี เอ๊ะ คนดีมันต้องเป็นอยู่แล้วรึเปล่า มันไม่เกี่ยวกับว่าต้องเป็นเพศไหน ผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ดีก็เยอะ ในอีกมุมนึงเราก็สงสารคนถ้าเกิดเค้าก็มีดีมีเลวอยู่ในตัว เค้าจะเป็นเพศอื่นไม่ได้หรอ ดังนั้นคนไทยก็ยังก้าวข้ามไม่ได้จริงๆ หรอก ถึงสิทธิ เสรีภาพของคนในการแสดงออก
ช่วงนี้มีการเดินหน้าของสิทธิ LGBT ในไทยเยอะ เช่นกฎหมายแต่งงานของเพศเดียวกัน มองสถานการณ์ของ LGBT ในไทยยังไง และยังขาดอะไรอยู่
สิทธิของ LGBT ดีขึ้น และช่วงนี้เหมือนเป็นเทรนด์เลยว่า ใครเหยียด LGBT คือล้าสมัย อาจจะเป็นเพราะว่า เราเพิ่งเปิดโลกทัศน์ของตัวเองในฐานะ LGBT ในประเทศไทย ก่อนหน้านั้นไม่มีความรู้ตรงนี้เลย เราก็เห็นว่ามันก็ดีขึ้น และมีคนตระหนักรู้เรื่องนี้มากขึ้น
แต่ปัญหาก็คือว่า ถ้าการต่อสู้ต่างๆ เป็นการต่อสู้เพื่อตัวเอง มันจะไม่มีพลังเท่ากับต่อสู้เพื่อคนอื่น หมายความว่าถ้าคน LGBT เอาแต่เรียกร้องสิทธิ คนที่จะเข้าใจก็จะน้อยกว่าคนทั่วไปที่เข้าใจ และมาช่วยเราเรียกร้องสิทธิ ที่เราพูดอย่างนี้หมายความว่า
ก่อนอื่นเราควรต้องทำให้คนทั่วไปเข้าใจ และเห็นเราเป็นคนธรรมดาก่อน ทำให้เค้าเข้าใจ LGBT ในฐานะมนุษย์คนนึง ไม่ได้ตลกกว่าคนอื่น มีมุกมากกว่าคนอื่น ไม่ได้ปากจัดกว่าใคร เพียงแค่เราเป็นมนุษย์คนนึง ถ้าเราอธิบายให้คนเข้าใจเราแบบนี้ เค้าก็จะไม่เห็นข้อเสียของการที่เราได้สิทธิ เราไม่ได้ไปเรียกร้องสิทธิจากคนอื่น เราแค่ต้องการให้เราเท่ากัน แค่นั้นเอง
เรามองว่ามันเป็นกระบวนการที่ดี แต่อาจจะต้องปรับวิธีการ คุยให้คนอื่นเข้าใจ ไม่ใช่คุยให้ LGBT เข้าใจกันเอง เราก็ต้องทำตัวให้คนอื่นเข้าใจ เอาตัวเองเข้าไปเป็นพาร์ทหนึ่งของสังคม ไม่ใช่เอาตัวของเราเป็นส่วนสำคัญ หรือส่วนหลักของสังคม ในประเทศไทย แต่บางอย่างเราไม่มีสิทธิเหมือนกัน แล้วทำไมเราจะมีสิทธินั้นไม่ได้
จริงๆ เราไม่ได้มองแค่เรื่องการแต่งงานนะ มันมีเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ในการระบุเพศ ก็ยังมีเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ และให้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น เรื่องกฎหมายเองก็เรื่องนึง แต่เรื่องความเข้าใจก็ต้องถูกยกระดับด้วย มันก็จะมีเรื่องการเลือกปฏิบัติ สถานที่บางอย่างไม่ให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้า หรือทั่วไปในชีวิตประจำวัน ที่ถูกพูดถึงปมด้อย เราจึงมองว่ากฎหมายต้องมาพร้อมความเข้าใจ