เราคงจะได้ยินคำว่า ‘Brexit’ กันมาบ้าง มันก็คือการที่สหราชอาณาจักรซึ่งประกอบด้วยประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ได้มีการลงประชามติ (EU Referendum) ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ของปีที่ผ่านมา ซึ่งในวาระครบรอบ 1 ปี ก็ถือเป็นโอกาสเหมาะที่เราจะมาทบทวนทางเลือกของอังกฤษ และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยกัน
การลงประชามติ (EU Referendum) เพื่อออกจากอียูของอังกฤษเมื่อปีที่แล้วนั้นเป็นเหมือนการตกลงกันทั้งประเทศว่าจะตัดสินใจเลือก ออกหรือไม่ออก? ผลลัพท์ที่ได้คืออังกฤษเลือกที่จะ ‘ออก’ (51.9% จากผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด) ดังนั้นคำถามต่อมาคือ จะออกจากอียูในรูปแบบไหน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่น่าจับมองว่ารัฐบาลอังกฤษจะพาประเทศไปในทิศทางเช่นไร
การที่อังกฤษ ‘ออก’ จากอียูนั้น สามารถออกได้หลายแบบ โดยเราจะแบ่งตามประเภทความสัมพันธ์ของคู่รัก เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น คือ 1. แต่งงาน (เป็นตลาดเดียว) 2. เป็นแฟน (สหภาพศุลกากร) และ 3. เป็นแค่กิ๊ก (ทำเขตการค้าเสรี) ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละทางเลือกย่อมมีผลกระทบที่แตกต่างกันไป
ขออธิบายก่อนว่า แต่ละประเทศก็จะมีตลาดสินค้าและบริการเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นตลาดภายในประเทศ ตลาดก็จะมีสินค้าหลายๆ อย่าง ตั้งแต่หมู เห็ด เป็ด ไก่ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ และอะไรต่อมิอะไรที่เราผลิตได้ ส่วนของที่เราผลิตเองไม่ได้เราก็นำเข้า อะไรที่เราทำเก่ง ทำเยอะ ทำแล้วต้นทุนถูก เราก็ส่งไปขายที่ตลาดอื่น โดยแต่ละตลาดก็จะมีการปกป้องตัวเองจากตลาดอื่น พูดง่ายๆ ก็คือ ป้องกันสินค้าจากตลาดอื่นเข้ามาปะปนกับตลาดตัวเอง บางตลาดจะมีป้อมปราการของตัวเองสูง บางตลาดก็ต่ำ หรือบางตลาดก็ไม่มีเลย
3 ทางเลือก 3 ความสัมพันธ์
1. แต่งงาน (ตลาดเดียว)
หากอังกฤษแต่งงานกับอียู ก็เหมือนเป็นคนๆ เดียวกัน ครอบครัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวสามารถไปมาหาสู่กันได้ มีงานเลี้ยงรื่นเริง (ประชุมคณะกรรมาธิการอียู) อยู่เป็นประจำ และคุยกันว่าจะมีลูกกี่คนดี (จะไปไล่เจรจาการค้ากับประเทศไหนดี)
การเป็นตลาดเดียว หมายถึง การรวมสองตลาด (หรือมากกว่า) เข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่งทำได้โดยการทุบกำแพงของตัวเองเพื่อให้สินค้าและบริการจากตลาดอื่นเข้ามาได้ง่ายขึ้น กำแพงที่ว่านี้ก็จะเหมือนกำแพงบ้านแต่ละหลัง คือจะมีหลายวัสดุ และมีความสูงที่ต่างกัน บางบ้านก็จะติดแก้วกันโจรขโมยปีนเข้ามา กำแพงที่เป็นที่นิยมกันก็คือ ภาษีนำเข้าและโควต้าจำกัดการนำเข้า นอกจากนั้นแล้ว การเป็นตลาดเดียวจะทำให้ ‘ประชากร’ ของแต่ละตลาดสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างเสรี ดังนั้น ชาวสเปนจะยังคงอาศัยในอังกฤษได้เหมือนเดิม หรือชาวอังกฤษจะยังคงอาศัยในฝรั่งเศสได้อย่างที่ผ่านมา
2. ลดสถานะเหลือแค่แฟน (สหภาพศุลกากร)
สหภาพศุลกากร หมายถึง สองประเทศจะลดกำแพงระหว่างกัน และสร้างกำแพงกับประเทศอื่นๆ เหมือนกัน ซึ่งก็คือการที่สองประเทศจะเก็บอัตราภาษีกับประเทศอื่นเหมือนกันนั่นเอง เช่น อิตาลีและฝรั่งเศสเก็บภาษีในไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยในอัตราเดียวกัน หากไทยจะส่งออกไปประเทศไหนก็เจอกำแพงภาษีที่สูงเท่ากัน ซึ่งในกรณีนี้ก็เหมือนกับอังกฤษและอียูเป็นแฟนกัน แล้วประกาศกับคน (ประเทศ) อื่นว่า ‘เราทั้งคู่เป็นแฟนกันแล้วนะ คนอื่นอย่ามายุ่ง’
นอกจากนั้น สินค้าที่เข้ามาในตลาดหนึ่งก็สามารถถูกส่งเข้าไปในอีกตลาดหนึ่งได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีอีกรอบ เช่น หากไทยส่งยางพาราเข้าไปในตุรกี หลังจากมีการบวกภาษีแล้ว ยางดังกล่าวสามารถส่งไปในเยอรมนีได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอีกครั้งหนึ่ง
แต่ที่ต้องระวังคือ หากอังกฤษรักษาความสัมพันธ์กับอียูแบบสหภาพศุลกากร ผลคือ อังกฤษก็จะไม่สามารถไปเจรจาการค้าเสรีอื่นๆ ได้ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของอียู มองในอีกมุมหากอังกฤษจะไปคุยเล่น (เจรจาการค้า) กับใครก็ต้องขออนุญาตจากอียู (แฟน) ก่อน ถึงจะทำได้
3. เราเป็นได้แค่กิ๊ก มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน (เขตการค้าเสรี)
เรามักจะจะคุ้นเคยกับเขตการค้าเสรีในรูปแบบ FTA มากที่สุด ลักษณะก็เหมือนเป็นกิ๊กกัน ไม่มีอะไรลึกซึ้ง จึงเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่นิยมมากที่สุด เรื่องที่คุยกัน ก็คือ การกำจัดกำแพงภาษี รวมถึงการกำหนดโควต้าในสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ตาม หากอังกฤษเลือกออกประตูนี้ อังกฤษก็จะมีอิสระในการปฏิรูปรูปแบบการค้าระหว่างประเทศใหม่ทั้งหมด สามารถเจรจาการค้า กับประเทศอื่นได้อย่างอิสระ และยังสามารถปฏิรูปนโยบายเกษตรและพาณิชย์ได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องทำตามกฎระเบียบของอียูอีกต่อไป เหมือนกับอังกฤษสามารถไปจีบหรือเป็นกิ๊ก (เจรจาการค้า) กับคน (ประเทศ) อื่นๆ ได้อีกหลายคน โดยไม่ต้องสนใจ เพราะเราก็ไม่ได้ผูกพันธ์กับใครอยู่แล้วหนิ
เกี่ยวอะไรกับไทย?
มาถึงประเด็นที่ว่าแล้วเราเกี่ยวอะไรด้วย ไทยเรานั้นเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก นั่นหมายความว่า เราฝากความกินดีอยู่ดีไว้กับความต้องการของคนต่างชาติ ปีใดที่เขาต้องการสินค้าเราเยอะ เศรษฐกิจเราก็ดี แต่ปีใดที่รสนิยมคนต่างชาติเปลี่ยน คนต่างประเทศไม่กินข้าวไทยอีกแล้ว เครื่องเล่นดีวีดีก็ไม่เป็นที่ต้องการ เมื่อนั้นเราก็จะต้องคิดหาทางออกให้กับประเทศ
แม้ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกไปอังกฤษเพียง 2% จากการส่งออกทั้งหมดของทั้งประเทศ แต่หากอังกฤษเลือกเป็นตลาดหรือทำสหภาพศุลกากรกับอียูต่อไป ความฝันที่จะมี FTA ไทย-อังกฤษก็ดูจะมืดมน นักเรียนไทยที่ลอนดอนที่ฝันอยากจะซื้อปลาร้าขวดก็คงต้องฝันต่อไป อย่างไรก็ตาม หากอังกฤษเลือกรักษาความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจกับอียูเพียงเขตการค้าเสรี จากแต่งงานเหลือความสัมพันธ์แบบกิ๊ก ความหวังที่เราจะเห็นเขตการค้าเสรีไทย-อังกฤษก็ดูจะไม่ไกลเกินเอื้อมนัก
Brexit เป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าวันหนึ่งอังกฤษจะออกจากอียู และเหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพยุโรปได้ในอนาคต
จึงนำมาสู่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เพราะโมเดลการรวมเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN) โดยมีประเทศไทยของเรารวมอยู่ด้วยนั้น เป็นโมเดลการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ถอดแบบมาจากอียู และกำลังถูกสั่นคลอนจากการออกกลุ่มของอังกฤษ เหตุการณ์นี้อาจนำเป็นกรณีศึกษาสำหรับอาเซียนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางภูมิภาคในอนาคต รวมถึงไทยด้วย เพราะหากในอนาคตประเทศไทยไม่พอใจกับการอยู่ในอาเซียนอีกต่อไป ไทยก็สามารถย้อนกลับมามองการตัดสินใจของอังกฤษได้ ว่าควรตัดสินใจอย่างไร และการตัดสินใจนั้นส่งผลกระทบอย่างไร
สำหรับกรณีของ Brexit เชื่อว่ารัฐบาลไทยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็คงจับตาดูความเคลื่อนไหวของอังกฤษกรณี Brexit อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากเห็นคือ การจัดตั้งศูนย์จับตาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คอยอัพเดตเรื่องราวให้ประชาชนคนธรรมดาได้รู้ถึงความเคลื่อนไหว โดยอาจทำเป็นศูนย์สังเกตการณ์ Brexit Watch ขึ้นมาก็ได้