กรี๊ดดดดด…หนูหอกจะมาไทย!!!
เรียก Britney Spears แบบนี้ รู้เลยว่าเกิดยุคไหน เหมือนกับที่เรียก Christina Aguilera ว่า ‘กฤษณา อัครลีลา’ ต้องเป็นพวกเกิดทันยุคนิตยสาร pop (เอาเป็นว่า เราสามารถหมุดหมายนิตยสาร Pop ให้เป็นอีกยุคนึงของวัฒนธรรมเก้งกวางชะนีวัยรุ่นกระฎุมพีไทยได้ เช่นเดียวกับ Channel V ดีเจตะแง้ว) แน่นอน
โอเค ดักแก่พอหอมปากหอมคอ
ประเด็นคือชีจะมาไทยคร่าาาาาาาา….หลังจากปล่อยให้ตัวแม่ ตัวป้า อย่าง Madonna, Kylie Minogue, Mariah Carey เพื่อนร่วมอนุบาล Disney อย่าง Christina Aguilera และรุ่นน้องจากอนาคตอย่าง Lady Gaga เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
บริทนีย์ถือได้ว่าเป็นนักร้องชาวอเมริกันอีกนางที่ทรงอิทธิพลต่อเกย์ ทรานส์ และแดร๊กควีนทั้งหลาย เช่นเดียวกับ Judy Garland, Donna Summer, Spice Girls ตั้งแต่อัลบั้มแรก…Baby One More Time (1999) ก็ทำให้เธอรับตำแหน่งป๊อปไอคอนยุค Y2K อย่างรวดเร็ว ได้รับสมัญญานามมากมาย ตั้งแต่เจ้าหญิงเพลงป๊อป ไปจนถึงมาดอนน่าคนถัดไป (แต่นั่นก็อวยจนเกินเหตุไป และหมิ่นเบื้องสูงอย่างพระแม่มาดอนน่าจนเกินไป)
และอัลบั้มในปีถัดๆ มา หนูหอกก็กลายเป็นขวัญใจชาวเก้งกวาง เป็นขวัญใจชาวเกย์ ขึ้นหิ้ง ‘เจ้าแม่’ แห่งสังคมเกย์พหุเทวนิยม อันเนื่องมาจากสูตรสำเร็จรูปของการเป็น Gay Icon ที่ 1 เป็นชะนีโดดเด่น ประสบความสำเร็จในชีวิตมีอิทธิพลเหนือชะนีทั้งปวง ซึ่งบริทนีย์เองก็เคยเฉาตายกลางแสงสปอตไลท์แต่ก็ ‘Stronger’ กลับมาผงาดอีกครั้งราวกับพืชล้มลุก 2. แกร่งเฟี้ยวเปรี้ยวแซ่บ sexy ซึ่งแรกๆ นางก็มีเหลือล้น 3. เพลงแดนซ์มีท่าเต้นให้ cover ตามได้ และ 4. มีบทเพลงที่ให้กำลังอกกำลังใจ เยียวยาชีวิตจากประสบการณ์ความล้มเหลว เจ็บปวดไม่ว่าจะเป็นอกหัก รักคุด ไปจนถึงประสบการณ์การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอย่างการเลือกปฏิบัติ กดทับข่มเหง การถูกข่มขืน เหมือนกับ You’ll see (1995) ของ Madonna, Beautiful (2002) ของ Christina Aguilera, Hair (2010) Til It Happens to You (2015) ของ Lady Gaga
ว่าแต่ว่าหญิงรักหญิงมี Icon มั้ย วัฒนธรรมบันเทิงร่วมระหว่างเลสเบี้ยนเป็นอย่างไร แล้วทำไมถึงไม่โดดเด่นเท่าเกย์ หรือว่าใน LGBTs ก็มีการจัดลำดับช่วงชั้นกันอีกที แล้ว lesbian ก็ถูกทำให้เป็นชายของของชายขอบอีกทีในสังคมปิตาธิปไตยรักต่างเพศนิยม
แม้ว่าเพลงและ MV ของบริทนีย์จะหมกมุ่นอยู่แต่ตัวเอง และภาพลักษณ์ตัวเองต่อสื่อมวลชนมาเป็นทศวรรษตั้งแต่ Lucky (2000), I’m Not A Girl Not Yet A Woman (2001), Piece Of Me (2007), If U Seek Amy (2008), ยัน I Wanna Go (2011) แต่ก็แน่นอน นางยังรู้ดีว่าแฟนคลับนางมีเพศสภาพใด ฉะนั้นส่วนผสมระหว่างงานศิลปะ ความกระเสือกกระสนประคับประคองมิตรรักแฟนเพลงที่เหลืออยู่ และความพยายามโชว์ให้เห็นว่ามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวสังคมเพื่อความหลากหลายทางเพศ นางก็คลอดออกมาเป็นอัลบั้มที่ 8 ในปี 2013 ‘Britney Jean’ เธอเอาใจเก้งกวางด้วยการกล่าวผ่านสื่อต่างๆ ว่า บรรดากระบุงเพลงเกือบทั้งหมดนี้ในอัลบั้มได้แรงบันดาลใจจากชุมชนเควียร์ จากเพื่อนสาวๆ ของเธอที่เป็นทีมเสื้อผ้าหน้าผม ซิงเกิลและวลีเด็ด “Work Bitch” ซึ่งเธอก็ให้สัมภาษณ์ว่าตั้งใจสื่อสารกับแฟนคลับชาวเกย์ และคำว่า ‘bitch’ ‘อีดวก’ ก็เป็นแสลงที่มาจากเก้งกวางที่เธอได้คลุกคลีตีโมงด้วย
จากรายงานประจำปี 2016 ขององค์กรอิสระเฝ้าระวังสื่อมวลชนเพื่อพิทักษ์สิทธิความหลากหลายทางเพศ GLAAD (formerly the Gay & Lesbian Alliance Against Defamation) ที่เผยโพลล์สำรวจพัฒนาการความยอมรับความหลากหลายทางเพศของกลุ่มอเมริกันผู้ที่ไม่ใช่ LGBTs อายุ 18 ปีขึ้นไป 2,032 คน เช่น รู้สึกอึดอัดใจที่ต้องเห็นคนรักเพศเดียวกันเดินจับมือกัน 36% ในปี 2014 ลดลงมาเหลือ 29 % ในปี 2015 หรือ ไม่สบายใจที่ให้ลูกเรียนกับครูบาอาจารย์ที่เป็น LGBT 30% ในปี 2014 ลดลงมาที่ 29% ในปี 2015 ซึ่งเจ๊บริทเธอก็ได้แสดงความเป็นมิตรแท้ LGBTs เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2016 เที่ยงคืนสี่สิบห้าตามเวลาท้องถิ่นด้วยการทวีทขอบคุณ GLAAD พร้อมกล่าวว่า
“ We still have A LOT of work to do to achieve social change”
ทว่าในคราวโปรโมตอัลบั้ม Britney Jean ในปี 2013 นางได้ให้สัมภาษณ์กับคลื่นวิทยุ 99.7 NOW FM ซึ่งไปทะลึ่งชมเก้งกวางที่เป็นแฟนคลับกลุ่มใหญ่ของเธอ “adorable and hilarious” ฟังแล้วได้แต่มองบน ซ้ำไม่กี่สัปดาห์ให้หลังนางยังแสดงความไม่รู้สี่รู้แปดรู้แดดรู้ฝนอะไรเลยเกี่ยวกับเพศสภาพเพศวิถี ด้วยการพูดกับสำนักข่าว Pride Source ชมเกย์อย่างหน้าชื่นตาบานว่า “They’re Somewhat Girls”
เดาว่านางคงมานึกได้ทีหลังว่า “Oops! …I Did It Again”
ไม่ต่างไปจากดารานักร้องไทยที่อวยเกย์กะเทยกันแบบท่องจำกันมา “พี่ๆ เพศนี้ เป็นเพศที่น่ารัก” “เป็นเพศที่สร้างสีสัน” พอให้เอาตัวรอดไม่ให้ถูกด่าว่าตัวเองใจแคบไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ
แต่แฟนคลับก็คือแฟนคลับที่ยังคงให้อภัย นางยังคง ‘Overprotected’ เสมอ เราก็ต่างภาวนาว่า “Someday (She Will Understand)” ขณะที่ศิลปินอื่นแม่กว่า จริงจังกับเรื่องเคลื่อนไหวสังคมมากกว่า บทเพลงการแสดงของพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวสังคมการเมือง เหมือนกับที่อีกแม่ชาวเกย์ Beyoncé ต่อต้าน racist ผ่านการแสดงคอนเสิร์ตของเธอ หรือกรณียกิจในด้านสังคมสงเคราะห์ สาธารณประโยชน์ บริการสังคมของ Liza Minnelli, Annie Lennox และ Madonna
แม้ว่าบริทนีย์จะแป็ก เธอ failed ชนิดคะมำไม่เป็นท่า สติหลุดกู่ไม่กลับ ดันทุรังที่จะกู้บัลลังก์กลับมากี่ครั้ง ‘One More Time’ ก็ไม่ปัง ไม่เจิศจรัศเปล่งประกาย ‘Glory’ เท่าเมื่อแรกฉายแสง และแม้ว่าโลกทัศน์ต่อความหลากหลายทางเพศของเธอยังคงคลุมเครือ มีหลายสื่อประโคมข่าวว่าเธออาจจะเป็นผู้หนึ่งที่เคร่งศาสนาและไม่ยอมรับการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การสนับสนุน LGBTs ของเธออาจจะเพื่อเอาใจแฟนเพลงเก้งกวางจะเป็นเพียงการพยุงตลาดแฟนคลับเท่านั้น แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอยังคงเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมเกย์ และวัฒนธรรมเกย์ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงานเธอ พอๆ กับที่วัฒนธรรมเกย์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เป็นอเมริกัน ที่ Americanization ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเกย์สมัยใหม่สากล ที่เกย์แทบทั่วโลกมี gay icon ร่วมกัน
จะด้วยความรู้ตัวหรือจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ด้วยตัวของ gay icon เอง ก็ได้กลายเป็นกำลังใจให้เกย์วัยรุ่นและเยาวชนได้กล้าหาญเปิดเผยตัวตน มีความภาคภูมิใจกับเพศสภาพตนเอง
ในหลายสังคมทั่วโลกที่ยังไม่ยอมรับเพศสภาพของพวกเขาและเธอ บรรดาตัวแม่ถูกนำมาเป็นโล่ห์และที่พักใจให้ลูกสาวพร้อมเผชิญต่อแรงกดดันของสังคม ซึ่งนั่นก็เป็นคุณูปการที่มหาศาล แถมไม่เพียงเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างหมู่เกย์ด้วยกัน สร้างพื้นที่บรรยากาศปลอดภัย ทำให้เก้งกวางในแชร์อัตลักษณ์ มีวัฒนธรรมร่วมกัน แต่ยังเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างเกย์กับผู้หญิงผู้ชายที่เป็นแฟนคลับศิลปินเดียวกัน เปิดโอกาสให้เพศสภาพต่างๆ ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน[1]
แต่ไม่ได้หมายความว่า พอเป็น gay icon แล้ว จะต้องทำ CSR ด้านเกย์หรือเพศสภาพเพศวิถีอื่นๆ เป็นภารกิจนอกเหนือจากผลิตผลงานในอุตสาหกรรมบันเทิง หรือพอเป็น LGBTs ได้เป็นไอดอลแล้วจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อ LGBTs ด้วยกัน เพราะผู้บริโภคซื้อสินค้าเขาไม่ใช่ซื้อทัศนคติและจิตใจของเขา แต่อาชีพที่ต้องพึ่งพิงความนิยมชมชอบก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสร้างหรือรักษาประชานิยมนั้นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตามก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศสภาพเกย์ก็มีอิทธิพลไม่ใช่น้อยต่ออุตสาหกรรมบันเทิง อย่างน้อยที่สุด การแสดงจิตสำนึกยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศก็เป็นการตลาดอย่างนึงที่ถูกนำมาใช้แพร่หลาย ซึ่งนั่นก็มีผลดีต่อการเคลื่อนไหว LGBTs ที่บุคคลสำคัญใช้ชื่อเสียงและศักยภาพของเธอดึงมวลชนให้หันมาสนใจประเด็นนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าขบวานการเคลื่อนไหวมันย่อมไม่หยุดนิ่ง เซเลปศิลปินที่หากินกับลูกค้ากลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องทำการบ้าน update อยู่เรื่อยๆ
ดังนั้นสำหรับหนูหอกบริทนีย์ …You better work bitch !!!
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Forenza, B. (2016, March 14). Exploring the Affirmative Role of Gay Icons in Coming Out. Psychology of Popular Media Culture.