มันมีคัมภีร์สันสกฤตหนึ่งชื่อ พฤหัตสํหิตา (Bhŗhatsamhitā) เขียนโดย ‘วราหมิหิร’ (อ่านชื่อ ช้าๆ ชัดๆ นะฮะ) ซึ่งแปลเป็นไทยด้วยนะเออ โดยแสง มนวิทูร (พ.ศ.2443-2516) นักวิชาการกรมศิลปากรด้านภาษาบาลีและสันสกฤตที่เคยแปลศิลาจารึกและวรรณกรรมศาสนาคัมภีร์มาแล้วมากมายเช่น ชินกาลมาลีปกรณ์, ศาสนวงศ์, รัตนพิมพวงศ์, รสวาหินี และ ภควัทคีตา[1]
คัมภีร์พฤหัตสํหิตานี้ถือว่าเป็นต้นเค้าของ ตำรานรลักษณ์ และ ตำราตรีภพ ของนักโหราศาสตร์ไทย[2]
ในฉบับแปลเป็นไทย อธิบดีกรมศิลปากรเขียนคำนำให้ว่า ในโลกของพุทธศาสนิกชนเริ่มมีการสร้างพระพุทธรูป เดิมก็แค่ทำเป็นรูปดอกบัวบ้าง บัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์บ้าง ธรรมจักร กองมูลดิน หรือสถูปบ้างพอเป็นเครื่องหมายแทนบุคคลที่เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ กระทั่งเมื่อศาสนาพุทธไปอยู่ในวัฒนธรรมกรีกจึงเริ่มมีการสร้างพุทธรูปที่เป็นรูปมนุษย์ ซึ่งก็จะออกกรีกหน่อยๆ แล้วพี่อินเดียก็มาประยุกต์
แต่ก็นั่นแหละ รูปมนุษย์ที่สร้างก็ใช่จะเป็นมนุษย์แขกที่จะเห็นได้ทั่วไป แต่เป็นยอดมนุษย์เช่นเดียวกับอุลตร้าแมน ด้วยการสร้างให้มีลักษณะมงคลตามตำราลักขณา ดูนรลักษณ์ที่เชื่อกันมาว่า ลักษณะทางกายภาพใดเป็นมงคล อวมงคล ซึ่งก็เป็นตำราโหรศาสตร์โบราณน่ะแหละใช้ในการสร้างรูปเทวดายักษ์มาร มนุษย์ ชนชั้นสูง คหบดี กระฎุมพี คนรวยคนจน ไพร่ทาส
ตำราความเชื่อเหล่านี้มีกระจัดกระจายไปตามสังคมพหุวัฒนธรรม แล้วก็ถูกรวบรวมจัดระเบียบโดยวราหมิหิร กล่าวว่า เขามีชีวิตในช่วงราวๆ พ.ศ.1050-1150 จนกลายเป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่แต่งเป็นคำฉันท์ อธิบายฤกษ์งามยามดี ราศี ดาวนพเคราะห์ นรลักษณ์ของมนุษย์บุรุษ สตรี หมาแมวสัตว์ต่างๆ ว่าใครจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ยาจก คนทุกข์ คนร้ายฆ่าพราหมณ์ โดยพิจารณาจากความสูงน้ำหนัก การเดินอากัปกิริยา ผิวพรรณ เสียง เช่น
“เท้า ของคนผู้เป็นใหญ่ไม่มีเหงื่อ นิ่ม สีเหมือนภายในกลีบบัว นิ้วชิดกัน เล็บแดงงาม ซ่นงาม อุ่น ปราศจากเส้นเอ็น ตาตุ่มราบเรียบ อูมเหมือนหลังเต่า”
“ขนมีขุมละเส้น เป็นลักษณะของพระเจ้าแผ่นดิน ขุมละสองเส้นเป็นลักษณะของบัณฑิต พราหมณ์ผู้คงแก่เรียน คนมีขนขุมละสามเส้นขึ้นไปเป็นคนยากจน มีความทุกข์ ผมก็เหมือนกัน มีขุมละสามเส้นขึ้นไป เป็นได้ทั้งเขาติเตียนและเขานับถือ”
“พระเจ้าแผ่นดินมีพระชงฆ์ลีบ เป็นผู้มีบุญน้อย ลำบาก ยากจน อยู่ใต้อำนาจสตรี การปกครองต่ำ ราชอาณาจักรลดน้อยลง จะตายในต่างประเทศ แต่พระชงฆ์มีเนื้อมาก อายุยืน” [3]
ไม่เพียงลักษณะทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังอธิบายไปจนถึง
“สั่งขี้มูกครั้งเดียว มีขี้มูกออกมา 2-3 ก้อน เป็นลักษณะของคนมีทรัพย์ สั่งขี้มูกมีเสียงดัง เป็นคนใจดี สั่งขี้มูกหลุดรวมกันออกมาคราวเดียวหมด พึงทราบเถิดว่าเป็นลักษณะของคนมีอายุยืน” [4]
เป็นโหรยุคนั้นก็น่าเห็นใจนะ
รูปเคารพพระพุทธเจ้าจึงต้องมีลักษณะที่ต่างไปจากรูปเหมือนมนุษย์มนา แต่ต้องเหมือนกษัตริย์ตามตำราเช่น หูยานเนื้อมาก ตาเหมือนกลีบบัว คิ้วโก่งกว้างเหมือนหอยสังข์ คอเป็นปล้องเหมือนหอยสังข์ แขนสองข้างเหมือนงวงช้าง กลม และห้อยลงถึงเข่า นิ้วมือยาวไม่มีหนังย่น รักแร้ใหญ่เนื้อนูนเต็ม อกนูนหนาเสมอกัน สะเอวเหมือนสิงห์ ท้องน้อยนูน แข้งกลม ถ้าสร้างผิดไปจากนี้ถือว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้า
แน่นอนในเมื่อบอกลักษณะถี่ยิบขนาดนี้ มีหรือจะไม่อธิบายอวัยวะเพศ พฤหัตสํหิตา ยังบอกต่ออีกว่า ผู้ที่มีองคชาติเล็กเป็นคนมีทรัพย์ แต่ไม่มีลูก องคชาติโตจะไร้ทรัพย์ องคชาติคดซ้ายไร้บุตรไร้ทรัพย์ องคชาติงอขึ้นข้างบนเป็นคนยากจน องคชาติซ่อนอยู่ในฝักเป็นพระเจ้าแผ่นดิน (น่าจะหมายถึงมีหนังหุ้มปลายยาว หัวไม่เปิด) ผู้มีลูกอัณฑะเม็ดเดียวจะตายในน้ำ เม็ดอัณฑะไม่เท่ากันเป็นนักเลงผู้หญิง อัณฑะหดอายุน้อย อัณฑะยานอายุยืนนาน ใครถ่ายปัสสาวะเสียงดังเป็นคนมีความสุข ใครถ่ายปัสสาวะไม่มีเสียงเป็นคนไร้ทรัพย์ และถ้า
“สายปัสสาวะมี 2-3-4 สาย บิดเป็นเกลียวไปทางขวา พึงทราบเถิดว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปัสสาวะกระจายพร่าไป เป็นคนไร้ทรัพย์”[5]
และหากใครมีน้ำกามกลิ่นเหมือนหญ้าฝรั่น (คือ saffron น่ะแหละ) เป็นพระเจ้าแผ่นดิน กลิ่นเหมือนน้ำผึ้งเป็นคนมีทรัพย์ กลิ่นเหมือนคาวปลามีลูกมาก กลิ่นเหมือนเนื้อสดมีโภคสมบัติมาก กลิ่นเหมือนสุราน้ำหมักส่าถือว่าจะเป็นเจ้าพิธีบูชายัญ หากมีกลิ่นเหมือนน้ำทะเลเป็นคนจน และถ้า
“องคชาตเวลาพองใหญ่มาก เป็นคนไร้ทรัพย์ พองมีเนื้อพอสมควร เป็นคนมีความสุข พองครึ่งหนึ่งเหมือนเสือเห็นเหยื่อหรือเหมือนอึ่งอ่าง เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” [6]
เช่นเดียวกับตำรา ‘มหาปุริสลักษณะ’ ใน คัมภีร์บาลีมหาปทาสุคต ทีฑนิกาย มหาวัคค และคัมภีร์ ลลิตวิสตระ ของศาสนาพุทธมหายาน ที่ระบุว่าอวัยวะเพศมหาบุรุษจะซ่อนอยู่ในฝัก (โกโสหิตวตฺถคุยฺโห) ซึ่งไม่เพียงเชื่อกันเฉพาะศาสนาพุทธ ในศาสนาเชนก็เช่นกันที่นักบวชจะเปลือยกาย และที่วัดเชน Shravanabelagola ก็ได้สร้างรูปเคารพ Gomateshwara เมื่อ ค.ศ.981 ให้สูงใหญ่ 57 ฟิต ซึ่งมีอวัยวะเพศอยู่ในฝักหนังหุ้มปลาย เพื่อแสดงถึงการละเว้นในกาม เกิดมาเพื่อประพฤติพรหมจรรย์[7]
หากอยากจินตนการถึงอวัยวะเพศของพระพุทธเจ้าเป็นเช่นไร ก็ให้อ้างอิงของโคมเตศวรของศาสนาเชน ส่วนปัสสาวะกับกลิ่นน้ำกามนั้น คิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะไปอ้างอิงที่ไหน
เพราะนั่นก็เป็นเพียงจินตนาการและความคิดความอ่านของโลกเก่า เก่ามากกกกก ซึ่งยังต้องเชื่ออีกด้วยว่ามนุษย์แต่ละคนมีคุณค่าไม่เท่ากันโดยกำเนิด เป็นคนดีคนชั่ว มีชะตากรรมอมทุกข์หรือมีสุข เป็นคนชั้นสูงหรือชั้นต่ำ เป็นเจ้าคนนายคน หรือคนรับใช้ บ่าวไพร่ โจรป่าต่ำทรามใจบาปหยาบช้าฆ่าพ่อฆ่าแม่ฆ่าพราหมณ์ได้ลงคอ ด้วยลักษณะทางกายภาพ กลิ่นน้ำว่าว ความสามารถในการฉี่หรือสั่งขี้มูก
สำนึกเช่นนี้สัมพันธ์กันได้ดีกับระบบวรรณะที่กำหนดโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมว่ากลุ่มชาติพันธุ์ สีผิวและตระกูลใดจะต้องประกอบอาชีพอะไร จะเป็นนักปกครองนักการเมือง อาจารย์นักบวช พ่อค้า เกษตรกร หรือกรรมาชีพที่สัมพันธ์กับการเข้าถึงทรัพยากร คุณภาพชีวิต โภชนาการและสุขอนามัย
มันก็ไม่น่าแปลกหรอกหากคัมภีร์จะบอกว่า คนแก้มตอบไม่มีโภคทรัพย์ คนที่ตีนคด เล็บหยาบ สีซีด สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นจะเป็นคนมีความทุกข์ คนหน้าสกปรกไม่เกลี้ยงเกลาผิวพรรณไม่ผุดผ่องจัดว่าเป็นหน้าคนมีทุกข์ ใครมีร่างกายหยาบมีเส้นเอ็นถือว่าไม่น่าปรารถนา
สำนึกเช่นนี้ก็ส่งทอดตกค้างมาในวัฒนธรรมพุทธแบบไทยๆ ประติมานวิทยาพุทธรูป ที่ไม่ว่าตอนตรัสรู้ในวัยหนุ่ม หรือปรินิพพานในวัยชราก็แทบไม่เห็นความแตกต่างของวัย พระพุทธเจ้าที่เหี่ยวที่สุดเท่าที่เราจะเห็นได้ก็คือตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา
แถมจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นบรรยากาศแวดล้อมก็ตั้งใจแยกพระพุทธเจ้า พระราชาพระราชินี ชาวไพร่ทาส ทหาร เทวดายักษีโจรป่า ออกจากกันไม่เพียงด้วยเครื่องแต่งกาย แต่ยังด้วยสีผิวรูปพรรณสัณฐานและช่วงวัย ชาวบ้านร้านตลาดจึงผิวจะคล้ำกว่า เตี้ยกว่าหน้าสั้นหน้าแก่ ฟันหลอ นมยานหลังค่อม ที่จะไม่เห็นได้ในกลุ่มชาววัง
ดังนั้น การสร้างหรือวาดพระพุทธเจ้าให้ต่างไปจากขนบดั้งเดิมเก่าแก่จึงกลายเป็นปัญหา ไม่ใช่เพราะทำลายความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับพุทธลักษณะ แต่เพราะมันไปทำลายโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่จัดลำดับช่วงชั้นไว้แล้วว่าใครมีคุณค่าอำนาจสูงต่ำกว่ากัน ใครต้องก้มกราบใคร และใครจะต้องเป็นฝ่ายผิด-ฝ่ายถูกเสมอ โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลอะไรใดๆ ทั้งสิ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] วราหมิหิร. แสง มนวิทูร (ผู้แปล). ลักษณะของบุรุษสตรีและประติมา. พระนคร : กรมศิลปากร, 2505
[2] อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย.คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2549
[3] วราหมิหิร. แสง มนวิทูร (ผู้แปล). ลักษณะของบุรุษสตรีและประติมา. พระนคร : กรมศิลปากร, 2505, น. 3
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 19
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 5
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 7
[7] อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. ผูกนิพพานโลกีย์ ตำรากามสูตรสัญชาติไทย.คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2549