1
ภายใต้การปกครองของ ‘ลุงตู่’ (นี่เป็นคำเรียกขานที่มีน้ำเสียงสนิทสนมนับญาติ!) หลายคนเริ่มบอกว่า สังคมไทยมีลักษณะเป็น ‘รัฐราชการ’ มากขึ้นเรื่อยๆ
หลายปีก่อน ภายใต้การปกครองของ ‘พี่แม้ว’ (อันนี้ก็นับญาติอีกเหมือนกัน!) หลายคนบอกว่า สังคมไทยมีลักษณะเป็น ‘รัฐตำรวจ’ หรือ Police State
ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่นัก ว่า ‘รัฐตำรวจ’ กับ ‘รัฐราชการ’ มีอะไรเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน แต่สารภาพตามตรงว่า ‘สภาพ’ ที่เห็นในปัจจุบันทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีการเมืองทฤษฎีหนึ่งขึ้นมา
มันเป็นทฤษฎีที่มีกำเนิดตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นทฤษฎีที่เกิดมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของ โจเซฟ สตาลิน ผู้กำลังยิ่งใหญ่อยู่ในสหภาพโซเวียตในเวลานั้น – เป็นการเฉพาะ
โปรดอย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า ทั้งคุณแม้วคุณตู่ (อันนี้เริ่มไม่นับญาติด้วยแล้ว!) มีอะไรบางอย่างเหมือนกับโจเซฟ สตาลิน หรอกนะครับ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเข้ากันได้กับทฤษฎีการเมืองนี้ ก็คือ ‘ลักษณะ’ ของ ‘รัฐไทย’ ในปัจจุบันต่างหากเล่า
ผมคิดว่า ในตอนนี้ ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับการบริหารและการปกครองรัฐไทยนั้น ได้พัฒนาจาก ‘รัฐตำรวจ’ ไปสู่ ‘รัฐราชการ’ และกำลังเดินหน้าไป ‘ไกล’ กว่าความเป็นรัฐตำรวจหรือรัฐราชการ สู่ความเป็นรัฐในแบบที่เรียกว่า Bureaucratic Collectivism ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าแปลเป็นไทยว่าอะไรดี แต่อาจพอแปลเป็นไทยงูๆ ปลาๆ ว่า เป็นแนวคิดของ ‘รัฐราชการแบบรวมฝูง’ ก็คงได้
คำถามก็คือ – แล้วอะไรคือ Bureaucratic Collectivism?
ที่จริงคำนี้ ‘โบราณ’ มากเลยนะครับ แล้วคนในโลกก็เกือบจะเลิกใช้เลิกสนใจกันไปแล้ว เพราะมันเกิดขึ้นในหมู่คนที่เชื่อในแนวทางของ ลีออน ทร็อตสกี้ (เรียกว่าเป็นพวก ‘ทร็อตสกี้อิสต์’ หรือ Trotskyist) ผู้เสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ทร็อตสกี้เป็นนักคิดสายมาร์กซิสต์ที่บอกว่าตัวเองเป็น ‘มาร์กซิสต์แบบเคร่งครัด’ (Orthodox Marxist) ซึ่งก็ต้องบอกคุณก่อนว่า มาร์กซิสม์หรือคอมมิวนิสม์ในยุคโน้นๆ น่ะ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเนื้อเดียวกัน คิดเหมือนๆ กันไปหมดหรอกนะครับ แต่ว่ามีความซับซ้อนหลากหลายอยู่ไม่น้อย โดยคนที่ดูจะแตกแถวแตกหน่อทางความคิด จนบางคนบอกว่าเป็น ‘คอมฯ’ ที่วิพากษ์วิจารณ์ ‘คอมฯ’ ด้วยกันมากที่สุด ก็คือคุณลุงทร็อตสกี้นี่แหละครับ
ในโซเวียตรัสเซีย ยุคแรกๆ ที่คอมมิวนิสม์ประสบความสำเร็จ คือยุคของเลนิน ซึ่งมีปรัชญาในการปกครองแบบที่เรียกว่า ‘บอลเชวิกเลนินนิสม์’ (Bolshevik-Leninism) ซึ่งคงไม่อธิบายในรายละเอียด ไปลองเสิร์ชหากันดูได้นะครับ แต่พอเลนินสิ้นชีพไปแล้ว ถึงคราวโจเซฟ สตาลิน ขึ้นมาปกครองประเทศบ้าง พบว่าสตาลินใช้ปรัชญาในการปกครองประเทศ (อย่างโหดร้าย) ที่เรียกว่า Marxism-Leninism (ฟังชื่อแล้วงงมากเลย!) แต่ต่อมาภายหลังถึงเรียกกันว่าเป็น สตาลินนิสม์ (Stalinism) หรือระบอบสตาลิน
เป็นไอ้เจ้าสตาลินนิสม์นี่แหละครับ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักคิดสายทร็อตสกี้ (แต่ไม่ใช่ตัวทร็อตสกี้เองนะครับ เพราะทร็อตสกี้ได้ตายไปก่อนหน้าที่สตาลินจะขึ้นครองอำนาจ) โดยนักคิดสายทร็อตสกี้ (เรียกว่า ‘ทร็อตสกี้อิสต์’) บอกว่า การปกครองของสตาลินนั้น คือการ ‘เสื่อมถอย’ ของ ‘รัฐกรรมกร’ (Workers State) จนกระทั่งกลายร่างมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า Bureaucratic Collectivism
แล้วไอ้เจ้าสิ่งที่เรียกชื่อยากเย็นนักหนาเพราะยาวเฟื้อยนี้ ก็ไม่ได้ถือกำเนิดในสหภาพโซเวียตด้วยนะครับ (ก็แหงล่ะสิ คนที่อยู่ในสังคมเผด็จการขนาดนั้นจะลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการระดับสตาลินได้ยังไง เดี๋ยวก็ขึ้นตะแลงแกงหรอก!) เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหล่าทร็อตสกี้อิสต์นอกโซเวียต (เช่นในอังกฤษหรือฝรั่งเศส) ต่างหาก ที่เป็นคนจุดกระแสเรื่องนี้ขึ้นมา
ทร็อตสกี้บอกเอาไว้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองแล้วว่า ถ้าสหภาพโซเวียตยังเป็นแบบนี้ต่อไป ก็จะเกิดความถดถอยกลายมาเป็น Bureaucratic Collectivism ซึ่งเอาเข้าจริง มันก็คือการ ‘ฉ้อฉล’ ในระดับนโยบายเหนือนโยบายขึ้นไปอีก คือเป็นการฉ้อฉลจากผู้ปกครองสูงสุด แต่ไม่ใช่ผู้ปกครองสูงสุดคนเดียวเท่านั้น ทว่ามันคือการที่ ‘ระบบราชการ’ (จริงๆ จะบอกว่าเป็น ‘ราชการ’ ก็ไม่ถูกนัก แต่เอาเป็นว่าราชการในที่นี้หมายถึง Bureacracy ก็แล้วกันนะครับ) คือผู้ ‘ควบคุม’ ระบบเศรษฐกิจ และระบบรัฐทั้งหมดเอาไว้ในกำมือ โดยทั้งหมดนี้อยู่ใต้เผด็จการสูงสุดอีกทีหนึ่ง
สิ่งที่ทร็อตสกี้กังวลใจในตอนนั้นก็คือ เมื่อเกิดความถดถอยนี้แล้ว ในที่สุดสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ จะกลายร่างไปเป็น ‘ทุนนิยม’ (ซึ่งเป็นศัตรูกันอยู่) แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เอ๊ะ! หรือชะรอยมันจะไม่ทุนนิยมขนาดนั้น เพราะถ้าระบบ Bureaucracy แบบคอมมิวนิสม์เป็นผู้ควบคุมเศรษฐกิจของรัฐทั้งหมดเอาไว้ จะเรียกได้ว่าเป็นทุนนิยมได้อย่างไร
ในเวลาเดียวกัน Bureaucratic Collectivism ก็ไม่ใช่สังคมนิยมด้วย เพราะตัวระบบราชการเองก็ไม่ใช่ ‘สังคม’ ทั้งหมด แต่เป็นกลไกที่ควบคุมสังคมอีกที ปัญหาก็คือ ตัวระบบราชการเองได้ ‘ร่วมมือ’ กับเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างสตาลิน ก่อเกิดเป็น ‘ชนชั้นใหม่’ (New Class) ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นมีศัพท์เรียกกันแบบแทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจมาก คือคำว่า Red Bourgeoisie หรือ ‘กระฎุมพีสีแดง’ ซึ่งมีนัยหมายถึงชนชั้นในพรรคคอมมิวนิสม์ที่มีสถานะ ‘เหนือ’ กว่าคนอื่นๆ ทั้งปวงในสังคม ไม่ผิดอะไรกับการที่คอมมิวนิสม์เคยโค่นล้มและประณามพวกกระฎุมพีในยุคก่อนหน้ามาแล้ว
ทฤษฎีเกี่ยวกับ ‘ชนชั้นใหม่’ ที่สำคัญทฤษฎีหนึ่ง เป็นทฤษฎีที่คุณ มิโลวาน ดิลาส (Milovan Đilas) เป็นผู้พัฒนาขึ้น ถ้าถามว่า เอ๊ะ! แล้วคุณลุงดิลาสนี่เป็นใครกัน ก็ต้องบอกว่า เขาคือรองประธานาธิบดีแห่งยูโกสลาเวีย ที่อยู่ใต้ปกครองของประธานาธิบดี โยเซิพ โบรซ ติโต (Josip Broz Tito) (เคยมีพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง ‘ติโต’ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี เป็นติโตเดียวกันนี่แหละครับ) โดยคุณดิลาสบอกว่า ภายใต้การปกครองในแบบสตาลินนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสม์ระดับสูงจำนวนมาก ทำตัวเป็น ‘ชนช้ันปกครอง’ (Ruling Class) ซึ่งก็คือชนชั้นแบบใหม่ที่สั่งสมและผลิตซ้ำทั้ง ‘อำนาจ’ ในการปกครองและทรัพย์สมบัติต่างๆ โดยเข้าไปควบคุม ‘วิถีการผลิต’ ทั้งหลายแหล่ในประเทศ เลยผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงผูกขาด ‘ความชอบธรรม’ ทางการเมืองด้วย คือกลายเป็นชนชั้นที่สามารถชี้ถูกชี้ผิดได้ จะล้วงลับตับแตกลงลึกไปถึงข้อบังคับกฎหมายอะไร เพื่อบีบให้คนอื่นๆ (ซึ่งก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเสมือน ‘ไพร่’ ในสังคมฟิวดัล) ทำในสิ่งต้องการให้ทำได้ ผลลัพธ์ก็คือ คนในระดับล่างๆ ท่ีไร้อำนาจ ไม่สามารถมีปัจเจกภาพได้ แต่กลายเป็นแค่ ‘ฟันเฟือง’ หนึ่งของระบบ Bureaucracy ขนาดใหญ่ ที่ต้องคอยรับใช้พรรคคอมมิวนิสม์เท่านั้น
ซึ่งนั่นแหละครับ คือความหมายของคำว่า Bureaucratic Collectivism!
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ด้วยวิธีคิดทางการเมืองแบบนี้ มาร์กซ้งมาร์กซิสต์อะไรไม่เหลือรอดอีกต่อไป มีแต่ระบบราชการที่เห็นคนเล็กคนน้อยเป็นแค่ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของระบอบใหญ่เท่านั้นที่ดำรงอยู่ มันจึงโหดร้าย และกดขี่บีบบังคับลึกลงไปถึงวิถีการผลิตกันเลยทีเดียว
คำถามก็คือ – แล้วทำไมผมถึงบอกว่า รัฐไทยในปัจจุบันทำให้ไพล่ไปนึกถึง Bureacrat Collectivism ขึ้นมาได้
เราเลวร้ายกันขนาดนั้นจริงหรือ?
2
เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งได้รับเชิญให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง แต่เขาไม่สนใจอยากร่วมด้วย จึงตอบปฏิเสธไป และไม่ส่งข้อมูลต่างๆ (เช่นประวัติการทำงาน) ไปให้ แต่ผู้เชิญกลับดึงดันส่งชื่อเขาให้เข้ารับการ ‘แต่งตั้ง’ จากผู้มีอำนาจระดับสูงโดยเขาไม่รู้ตัว
เป็นไปได้ว่า ผู้เชิญอาจคิดว่า เมื่อมี ‘คำสั่งแต่งตั้ง’ แล้ว อย่างไรเสียก็ต้องยอมรับตำแหน่ง เพราะเหมือนมี ‘อำนาจ’ ขนาดใหญ่มาบีบเค้นบังคับอยู่ จะปฏิเสธได้อย่างไร
แต่เพื่อนคนนี้ก็ปฏิเสธอยู่ดี
หลายปีก่อน ผมเคยเจอสถานการณ์คล้ายๆ แบบนี้เหมือนกัน คือมีหน่วยงานราชการเชิญให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการบางอย่าง และโดยไม่ทันรู้ตัว ผมก็เจอ ‘คำสั่งแต่งตั้ง’ ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งที่ว่า ผมไปร่วมประชุมด้วยครั้งเดียว แล้วก็ไม่เคยไปอีกเลย เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นการ ‘มัดมือชก’ โดยไม่ได้ถามความสมัครใจก่อน
ผมไม่ชอบวลี ‘คำสั่งแต่งตั้ง’ เอาเสียเลย เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของหน่วยงานราชการนั้น แปลว่าเรา ‘ถูกสั่ง’ ให้เข้าไป วลี ‘คำสั่งแต่งตั้ง’ นั้น มี ‘นัยทางอำนาจ’ อยู่เต็มเปี่ยม ว่ามีอะไรบางอย่างที่มีอำนาจเหนือ กำลังทำทั้ง ‘สั่ง’ และ ‘แต่งตั้ง’ เราอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันกำลังทั้ง ‘กด’ และ ‘เชิดชู’ เราไปพร้อมๆ กัน แต่ไม่ว่าจะกดหรือเชิดชู เราก็มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ‘ต่ำ’ กว่ามันอยู่ดีนั่นเอง
สำหรับผม ลำพังเรื่องของถ้อยคำก็บกพร่องร้ายกาจอยู่แล้ว (โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าเราอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการที่จะเที่ยว ‘สั่ง’ ใครต่อใครได้) แต่ที่ร้ายกาจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การแต่งตั้งโดยไม่ได้ถามความสมัครใจแบบนี้แสดงถึงการมี ‘สำนึก’ ลึกๆ ว่า โดยทั่วไป ผู้คนน่าจะยินดีหน้าชื่นจมูกบานกับการได้รับคำสั่งแต่งตั้งแบบนี้เสียจนไม่ต้อง ‘ถาม’ ก็ได้ ว่าสนใจอยากเข้าไปร่วมเป็นองคาพยพหนึ่งหรือเปล่า
สำหรับผม การที่ทั้งรัฐไทยและประชาชนไทยส่วนหนึ่งให้คุณค่ากับระบบราชการแบบนี้นี่เอง ที่สะท้อนให้เราเห็นถึงลักษณะแบบ Bureaucratic Collectivism ซึ่งแม้จะไม่เหมือน Bureaucratic Collectivism ของทร็อตสกี้เสียทีเดียว แต่ถ้าดูให้ลึกลงไป กลับมีอะไรบางอย่างคล้ายกับทฤษฎี New Class ของดิลาสไม่น้อย!
3
ทำไมรัฐไทยในปัจจุบันถึงทำให้ผมไพล่ไปนึกถึง Bureaucratic Collectivism ขึ้นมา
เราเลวร้ายกันขนาดนั้นจริงหรือ?
ในยุคของดิลาส New Class ที่เกิดขึ้น คือคนที่อยู่ในระบบ Bureaucracy ที่ร่วมมือร่วมใจกับผู้ครอบครองทุนทางสังคมทั้งหลาย ปล้นชิงและยึดครองความมั่งคั่งและอำนาจไปจากคนทั่วไป ส่วนในยุคนี้ เราเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่าหลายมิติของระบบราชการนั้น ‘เอื้อประโยชน์’ ให้กับ ‘เจ้าสัว’ ที่เป็นคนร่ำรวยหรือกลุ่มทุนต่างๆ มากกว่าประชาชนทั่วไป โดยสะท้อนออกมาในวิถีปฏิบัติหลายอย่าง ทั้งเรื่องของกฎหมายภาษีใหม่ๆ การสนับสนุนการลงทุนแบบใหม่ๆ มาตรการในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชีวิตผู้คนที่ละเลยชีวิตผู้คนแต่เอื้อให้ธุรกิจใหญ่ๆ ฯลฯ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือรัฐราชการกับกลุ่มทุนกำลังผนึกแน่นควบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนอาจเกิดเป็น ‘ชนชั้นปกครองใหม่’ หรือ New Class (ตามความหมายของดิลาส) ที่ครอบครองและยึดกุมวิถีการผลิตแทบทุกอย่าง
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของ Bureaucratic Collectivism ก็คือการริบเอาความเป็นส่วนตัวไปจากประชาชนโดยการสอดส่องไม่ให้เกิดอาการ ‘คิดต่าง’ จากชนชั้นปกครองใหม่ รัฐราชการแบบ 4.0 ในไทยที่กำลังหวาดกลัวโลกออนไลน์ก็กำลังพยายามทำอย่างนั้นเหมือนกัน โดยหาช่องทางออกกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงออนไลน์มาบังคับใช้เพื่อล้วงลึกลงไปถึงก้นบึ้งแห่งการควบคุม
ใน 1984 จอร์จ ออร์เวล เคยพูดถึงการปกครองแบบ Oligarchical Collectivism หรือการเป็นสังคมรวมฝูงที่อยู่ใต้การปกครองของคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง มีผู้วิเคราะห์ว่า Oligarchical Collectivism ใน 1984 นั้นไม่ใช่อะไรอื่น นอกจาก ‘Fictional Version’ ของ Bureaucratic Collectivism ในโลกจริง
ในยุคสมัยที่ผู้คนไม่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นปัจเจก แต่ถูกกดให้ค้อมหัวน้อมรับอำนาจจนกลายเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของระบอบใหญ่ Bureaucratic Collectivism ก็คือก้อนอากาศแห่งวัฒนธรรมนักสมาทาน (Conformist) ที่คอยหล่อเลี้ยงเป็นลมหายใจของนักสมาทานทั้งหลาย ตั้งแต่เทคโนแครตผู้ทะนงในความรู้ของตนกระทั่งถึงคนทั่วไป เพื่อที่จะได้ผลิตซ้ำแนวคิดนี้ต่อไปเรื่อยๆ เป็นการเกื้อหนุนให้ระบอบแบบนี้ดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด
ผมไม่รู้เหมือนกัน ว่าในหน้าประวัติศาสตร์ตอนนี้ เรากำลังอยู่สภาพที่เลวร้ายมากน้อยแค่ไหน แต่หากเราไม่คิดถึงเรื่องนี้ หรือไม่รู้ตัวเอาเลยว่าเรากำลังเดินหน้าไปทางไหน ก็เป็นไปได้ที่ Bureaucratic Collectivism หรือสังคมค้อมหัวแบบสัมบูรณ์ – จะเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ ในรัฐราชการ 4.0 ในอนาคตอันใกล้นี้
ตอบได้ยาก – ว่าเมื่อถึงเวลานั้น, เราจะอยู่กันอย่างไร