[คำเตือน : เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในหนัง]
สำหรับผม การดูหนังของ Woody Allen (โดยเฉพาะพักหลังๆ) ก็คล้ายกับเกมวัดดวงอยู่ไม่น้อย นั่นเพราะหลายครั้งก็จะได้เจอเข้ากับหนังของเขาที่ชอบ อย่าง Midnight in Paris หรือ Blue Jasmine แต่เช่นกันที่ก็มีอีกบางเรื่องที่ผมรู้สึกเฉยๆ หรือกระทั่งไม่ค่อยจะปลื้มเท่าไหร่ เช่น To Rome With Love หรือ Magic in the Moonlight นับเป็นเรื่องดีที่ Cafe Society ซึ่งแม้จะไม่อาจเรียกว่าประทับใจอย่างที่สุด แต่ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มหนังของอัลเลนที่ผมชอบอยู่พอตัว
ในเรื่องนี้ วูดดี้ อัลเลน ก็ยังคงเป็น วูดดี้ อัลเลน ที่เราคุ้นเคย นั่นคือ หนังยังอุดมไปด้วยบทสนทนาอันเผ็ดร้อนและฉวัดเฉวียน ทั้งยังเป็นเรื่องราวของชีวิตสุดวิบัติที่เหมือนถูกทุกจัดวางไว้แล้วด้วยบทละคร และแน่นอน ดนตรีแจ๊ซที่เป็นหัวใจสำคัญในหนังของเขา ซึ่งในหนังเรื่องนี้ก็เลือกใช้ยุค 1930s มาเป็นฉากหลัง
หนังเล่าเรื่องของ Bobby เด็กหนุ่มชาวยิวจากย่านบร๊องซ์ นิวยอร์ค ที่อยากหลบหนีชีวิตในอพาร์ทเมนต์ซอมซ่อกับพ่อและแม่ จึงได้ตัดสินใจเดินทางข้ามทวีปมายังมหานครลอสแองเจลีส และฝากฝังตัวเองไว้กับ Phil คุณลุงผู้เป็นเอเย่นดาราชื่อดั่งในฮอลลีวู้ด ที่นั่นบ๊อบบี้ได้พบกับ Veronica หรือ Vonnie เลขาสาวสวยจากเนบราสก้า และเกิดตกหลุมรักหล่อนเข้าในทันที โดยหารู้เลยว่าแท้จริงแล้วหญิงสาวกำลังปลูกต้นรักลับๆ อยู่กับลุงของเขา นี่เองที่ในเวลาต่อมาจะนำสภาวะหัวใจสลายมาสู่ชีวิตของบ๊อบบี้
จุดหนึ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ คือตัวบ๊อบบี้ไม่ได้มีลักษณะของตัวเอกผู้รอบรู้ ทรงภูมิ ออกค้นหาปรัชญาชีวิตอะไรพรรณอย่างนั้น กลับกันคือตัวเขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มธรรมดาที่ไม่มีความรู้เฉพาะทาง ไม่มีกระทั่งทักษะการแสดงอันโดดเด่น เขาเดินทางสู่ดินแดนแห่งโอกาสโดยไม่ได้มาดหมายถึงอนาคตอันรุ่งโรจน์ หรือความฝันที่จะได้เป็นดาราใหญ่ กลับกัน บ๊อบบี้เพียงต้องการการสัมผัสชีวิตอีกแบบที่บร๊องซ์ไลฟ์ไม่อาจให้กับเขาได้ เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่กระหายความแปลกใหม่ และในจุดหนึ่งเมื่อได้ทดลองชีวิตอีกด้านจนสมใจแล้ว เขาก็พร้อมที่จะหวนกลับสู่บ้านเกิด โดยไม่สนใจแม้แต่น้อยว่าหน้าที่การงานในตอนนั้นจะรุ่งเรืองถึงขนาดใด
ตรงนี้เองที่วอนนี่เป็นดั่งภาพกลับของบ๊อบบี้ นั่นคือทั้งสองเป็นตัวละครที่ต่างก็เดินทางมาสู่พื้นที่แห่งใหม่ด้วยความหวังทำนองเดียวกัน เพียงแต่หากเรามองบ๊อบบี้ว่าเป็นเด็กหนุ่มที่ขาดความทะเยอทะยานจากเมืองใหญ่ วอนนี่เองก็เป็นดั่งเด็กสาวจากรัฐบ้านนอกที่ฝันใฝ่ในชีวิตอันพุ่งทะยาน ขนาดแม้จะเคยถูกฟิลหักอกไปครั้งหนึ่งและได้บ๊อบบี้มาช่วยดามหัวใจไว้ แต่เมื่อหนุ่มใหญ่กลับมาขอคืนดี หญิงสาวก็เลือกใช้อนาคตของคนรักทั้งคู่เป็นตัวช่างน้ำหนัก ระหว่างคนหนึ่งที่ความมั่นคงในชีวิตยังไม่คงที่ กับอีกคนที่มั่งมีทั้งเงินทองและชื่อเสียง แน่นอนว่าวอนนี่ย่อมเลือกคนหลัง
ภาวะใจสลายในเรื่องนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะแม้บ๊อบบี้จะอกหักจนต้องระหกระเหินกลับบ้าน ทว่าชีวิตจากนั้นของเขาก็หาได้ทิ้งดิ่ง หรือเกลือกกลิ้งเหมือนผู้แพ้ แน่ล่ะว่าการต้องเสียหญิงคนรักให้กับญาติสนิทไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำใจยอมรับ แต่บ๊อบบี้ก็เลือกที่จะวางความเจ็บปวดเอาไว้ข้างๆ และดำเนินชีวิตต่อไปอย่างคนไม่เจ็บตัว โชคดีที่เขาได้งานเป็นผู้ดูแลไนท์คลับของพี่ชาย และโชคดีว่ากิจการก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างที่เขาเองก็ไม่ได้คาดหวัง ชีวิตของเด็กหนุ่มในนครนิวยอร์คพุ่งทะยานขึ้นในแทบทุกวัน แต่กระนั้นแล้วเขาก็ไม่อาจจะลืมความรักในวานวันอันขบเผาะไปได้ และดังว่าวอนนี่เองก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ คือต่อให้เธอจะรักฟิลขนาดไหน หากทว่าอีกใจหนึ่งเธอเองก็ยังมิอาจลืมบ๊อบบี้ไปได้
เราอาจพูดได้ว่า ความรักระหว่างบ๊อบบี้กับวอนนี่ นั้นถูกยึดโยงอยู่กับภาพอดีต กล่าวคือ แม้ชีวิตของทั้งคู่จะดำเนินไปคนละเส้นทาง หากแต่เมื่อความเป็นจริงของอดีตเป็นสิ่งที่จะดำรงค์อยู่ถาวร และไม่อาจลบเลือนไปได้ เช่นนั้นแล้วความรักของทั้งสองเองก็จะยังดำเนินอยู่เรื่อยไป แม้สิ่งนั้นจะชัดเจนอยู่ได้แค่ในจิตใจของทั้งคู่ และไม่อาจแสดงออกให้คนอื่นรับรู้ต่อความจริงที่ปิดซ่อนนี้ได้
อย่างที่ในฉากหนึ่ง บ๊อบบี้ได้พูดกับวอนนี่ว่า ‘Life is a comedy written by a sadistic comedy writer’, ชีวิตเป็นเพียงละครชวนหัวที่เขียนขึ้นโดยนักประพันธ์เรื่องตลกจอมซาดิสม์
ความรู้สึกรักที่ไม่อาจหลีกหนี ซ้ำร้ายที่อดีตคนรักยังมาดองเกี่ยวกันด้วยสายใยของครอบครัว คงไม่มีเรื่องอะไรจะน่ารันทดชวนหัวยิ่งไปกว่าเรื่องราวของบ๊อบบี้ และวอนนี่ ซึ่งก็แน่นอนว่า นักประพันธ์แสนซาดิสที่เขียนบทละครชีวิตอันชวนขบขันนี้ขึ้นมาก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือวูดดี้ อัลเลน เองนี่แหละ
อัลเลนจัดวางความรักของเรื่องนี้ไว้ให้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ ฉับพลัน เห็นได้จากตัวฟิลและบ๊อบบี้เองก็ตกหลุมรักวอนนี่อย่างปุบปับตั้งแต่แรกเห็น หรือกระทั่งพี่เขยของบ๊อบบี้ก็ถึงขนาดเคยกล่าวว่า แม้ภรรยาของเขาจะไม่ใช่หญิงสาวที่สวยที่สุดซึ่งเขาเคยเดท ทว่าในชั่ววินาทีที่เขาได้พบเธอก็รู้ได้ทันทีว่าหล่อนนี่แหละคือคนที่ใช่ ลักษณะของการรู้แจ้งแน่ใจที่ปรากฏขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนนี่เองที่กำหนดทิศทางความเป็นไปของตัวละครอย่างไม่มีทีท่าผ่อนปรน อีกทั้งตัวละครในเรื่องต่างก็ไม่เคยที่จะกล่าวโทษการตัดสินใจอันทันด่วนของตัวเองในเรื่องความรัก ไม่ว่าการเลือกนั้นจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดต่อผู้คนที่ตนผูกพันธ์ กระนั้นแล้วความรักก็เป็นเรื่องของปัจเจกษ์ที่ใครอื่นก็ไม่อาจรู้เรื่องนี้ได้ดีไปกว่าบุคคลผู้นั้นที่กำลังตกหลุมรัก