เมื่อพูดเรื่อง ‘คนอ้วน’ กับ ‘เครื่องบิน’ เราอาจจินตนาการถึงเรื่องต่างๆ ได้หลายเรื่อง เช่นเรื่องคนอ้วนที่ชอบนั่งเครื่องบิน คนอ้วนที่ชอบซื้อเครื่องบิน หรืออาจเป็นเรื่องคนที่ทำเงินได้จากการซื้อขายเครื่องบินแล้วเอามากินจนอ้วน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะพูดถึงต่อไปไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย แต่เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมาระยะหนึ่ง จนถึงขนาดเคยถูกนำไปเป็นข้อสอบของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเด็นดังกล่าวได้แก่ข้อถกเถียงที่ว่าสายการบินควรเก็บค่าตั๋วคนที่มีน้ำหนักเกินมากว่าคนทั่วไปหรือไม่?
การจะตอบคำถามเหล่านี้ นักจริยศาสตร์เห็นว่าอย่างน้อยเราจำเป็นต้องตอบสองคำถามสำคัญให้ได้ก่อน คำถามแรกคือคนอ้วนต้องรับผิดชอบต่อความอ้วนของตนหรือไม่ และคำถามที่สองคือการกำหนดความรับผิดชอบให้คนอ้วนจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนักเครื่องเกินในทางปฏิบัติจริงหรือ ซึ่งจนถึงตอนนี้ สังคมยังคงยกประโยชน์ให้จำเลยอ้วนๆ อย่างผู้เขียนอยู่ เพราะยังไม่อาจหาหลักฐานที่ชัดเจนมาเอาผิดพวกเราในประเด็นทั้งสองนี้
เครื่องบิน Airbus A380 ที่บินจากซิดนีย์ไปลอนดอน ต้องจ่ายค่าน้ำมันมากขึ้นถึงประมาณ 16,500 บาทต่อเที่ยว หรือ 50 ล้านบาทต่อปี และทำให้เส้นทางการบินนี้กำไรลดลง 13% เนื่องจากสองกิโลที่เพิ่มขึ้นนี้
ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องค่าตั๋วของคนอ้วนถูกจุดขึ้น เมื่อสายการบินหลายสายเริ่มพยายามผลักดันให้มีการเก็บค่าตั๋วคนอ้วนเพิ่มเป็นพิเศษ โดยใช้เหตุผลเดียวกับการเก็บค่าน้ำหนักกระเป๋าส่วนเกิน ก็คือน้ำหนักตัวส่วนเกินทำให้เครื่องบินต้องใช้น้ำมันมากขึ้น
ค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ใช่น้อยๆ สายการบินสัญชาติออสเตรเลีย Qantas เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผู้โดยสารของพวกเขามีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 2 กิโลกรัมต่อคน น้ำหนักเหล่านี้เพิ่มต้นทุนการประกอบกิจการให้พวกเขามหาศาล ตัวอย่างเช่น เครื่องบิน Airbus A380 ที่บินจากซิดนีย์ไปลอนดอน ต้องจ่ายค่าน้ำมันมากขึ้นถึงประมาณ 16,500 บาทต่อเที่ยว หรือ 50 ล้านบาทต่อปี และทำให้เส้นทางการบินนี้กำไรลดลง 13% เนื่องจากสองกิโลที่เพิ่มขึ้นนี้
เมื่อประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่เพียงจำนวน แต่ยังรวมถึงน้ำหนักตัว สายการบินจึงเริ่มร้องขอความเห็นใจ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของสายการบินที่เพิ่งกล่าวถึงเสนอว่าเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนนี้ได้ หากผู้โดยสารยอมให้เก็บค่าตั๋วคนที่น้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 บาท และเพื่อความแฟร์ต่อผู้ใช้บริการ สายการบินก็จะยอมลดราคาให้ในอัตราที่เท่ากัน หากผู้โดยสารมีน้ำหนักเบากว่า 50 กิโลกรัม
แน่นอนว่าข้อเสนอทำนองนี้ยากที่จะรอดจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คนจำนวนมากรู้สึกว่าความอ้วนนั้นเป็นอะไรที่ติดตัวเหมือนสีผิว หน้าตา รูปร่าง รวมถึงการจะชอบกิน ชอบอ้วน หรืออ้วนเพราะกรรมพันธุ์อะไรก็แล้วแต่นั้น เป็นเรื่องส่วนตัวของเรา สำหรับพวกเขา กฎดังกล่าวจึงมีลักษณะเหยียดและละเมิดสิทธิ
คำถามแรกคือคนอ้วนต้องรับผิดชอบต่อความอ้วนของตนหรือไม่
จริงๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีคำตอบสักทีเดียว วิธีตอบคำถามนี้ที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง แต่ยังไม่น่าพอใจเท่าไหร่ คือการตอบว่าธุรกิจการบินเป็นกิจการของเอกชน ซึ่งมีหน้าที่ทางจริยธรรมเพียงอย่างเดียวคือการทำกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น โจทย์ของสายการบินจึงมีเพียงว่าราคาตั๋วแบบไหนที่สร้างกำไรสูงสุด คำตอบนี้ไม่ได้อธิบายว่าการเก็บเงินคนอ้วนชอบธรรมหรือไม่ แต่เป็นการอธิบายว่าเอกชนไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนี้
อย่างไรก็ตาม คำตอบนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจแก่ผู้บริหารสายการบินนัก เพราะในแง่ธุรกิจ ลูกค้าในปัจจุบันคงไม่ยอมควักเงินเพิ่มให้แน่ๆ หากไม่มีคำอธิบายที่ดูเลือดเย็นน้อยกว่านี้ มิหนำซ้ำหากอธิบายไม่ดี ลูกค้ายังอาจจะทิ้งกันดื้อๆ ด้วยความกังวลดังกล่าว ทุกวันนี้สายการบินส่วนใหญ่ก็หลีกเลี่ยงไปเก็บเงินค่า ‘ขนาดตัวส่วนเกิน’ แทน คือถ้าใช้ที่เกินหนึ่งเบาะก็ต้องจ่ายเพิ่ม ไม่เกี่ยงว่าน้ำหนักตัวเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่มีใครค้านเท่าไหร่ แต่ก็ด้วยความจริงที่ว่าคนน้ำหนักเยอะไม่จำเป็นต้องมีขนาดตัวส่วนเกินไปด้วย เราจึงไม่สามารถประยุกต์เรื่องขนาดตัวมาใช้กับน้ำหนักตัวได้ทันที
เมื่อคนน้ำหนักเยอะจำนวนมากไม่ได้ไปเบียดเบียนพื้นที่ลูกค้าคนอื่นเสมอไป คนที่มีปัญหาก็เห็นจะมีเพียงสายการบินที่ต้องเปลืองน้ำมันเพิ่ม จึงยากที่คนส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่าเราควรเก็บเงินคนน้ำหนักเกินเพิ่มหรือไม่
แล้วตกลงการเก็บเงินคนอ้วนเพิ่ม ชอบธรรมรึเปล่า?
ฝ่ายสนับสนุนอย่าง Peter Singer นักปรัชญาสายอรรถประโยชน์นิยมระดับตำนาน ได้ออกมาชี้ว่าการเก็บเงินดังกล่าวไม่ได้สร้างปัญหาเชิงหลักจริยศาสตร์เลย และยังให้ผลลัพธ์ที่ดีในทางปฏิบัติด้วยซ้ำ
ที่ไม่ผิดในเชิงหลักจริยศาสตร์ก็เพราะการโดยสารเครื่องบินไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน หากเป็นกรณีที่มีคนอ้วนเจ็บป่วยแล้วต้องใช้เตียงขนาดพิเศษในโรงพยาบาลรัฐ รัฐอาจไม่ควรเก็บค่าเตียงเพิ่ม เพราะการเข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้นเป็นสิทธิสำคัญ แต่การขึ้นเครื่องบินนั้นไม่ใช่ สังคมจึงไม่จำเป็นต้องมอบบริการด้านน้ำหนักให้กับทุกคนอย่างไร้เงื่อนไข
นอกจากนี้ การเก็บเงินก็ไม่ใช่การละเมิดสิทธิในการเลือกของคน เพราะการที่คนมีสิทธิเลือกหรือเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลือกทำหรือเลือกเป็นสิ่งนั้นได้ฟรีเสมอไป หากทางเลือกเหล่านั้นไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยผู้เลือกต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากตน เช่น คนที่เลือกแพ็คกระเป๋าเกินก็ต้องจ่ายค่าน้ำหนักเพิ่ม หรือหากเราเกิดเป็นคนตัวใหญ่ เราก็คงไม่สามารถใช้ข้ออ้างเรื่องพันธุกรรมไปขอให้เจ้าของร้านเสื้อผ้าลดราคาเสื้อไซส์ใหญ่ราคาแพงกว่าปกติให้กับเรา
ส่วนเรื่องผลลัพธ์ที่ดีในทางปฏิบัติ Singer ยกตัวอย่างว่า เป็นการจูงใจให้คนอเมริกาและแคนาดายอมลดความอ้วน หากสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับระบบเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือ รวมเป็นมูลค่ากว่า 8.47 ล้านล้านบาท
ข่าวดีของคนอ้วนอย่างพวกเรา คือข้อเสนอของ Singer ยังไม่ได้ตอบคำถามสองข้อ
สำหรับคำถามข้อแรกที่ว่า คนอ้วนต้องรับผิดชอบต่อความอ้วนของตนเองจริงๆ หรือไม่นั้น งานวิจัยเชิงสาธารณสุขที่พยายามต่อยอดข้อถกเถียงของ Singer พบว่าเรื่องนี้ไม่จริงเสมอไป ปัจจัยทางสังคมนั้นส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อความอ้วนของคน ตัวอย่างเช่น เด็กที่เกิดมายากจนมักจะอ้วนง่ายและต้องกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการกำหนดให้คนแหล่านี้ต้องรับผิดชอบให้พวกเขา ในแง่หนึ่งจึงผิดในเชิงหลักการ เพราะถือเป็นการ ‘กระทืบซ้ำ’ คนที่ถูกสังคมทำร้ายอยู่แล้ว
คำถามที่สองคือการกำหนดความรับผิดชอบให้คนอ้วนจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนักเครื่องเกินในทางปฏิบัติจริงหรือ
สำหรับเรื่องผลลัพธ์ในทางปฏิบัตินั้น มีข้อค้นพบจำนวนมากที่ขัดแย้งกับความเห็นของ Singer เช่นการกำหนดความรับผิดชอบให้กับคนอ้วนสร้างผลลบมากกว่าบวก เพราะจะทำให้คนอ้วนจะเครียดมากขึ้น กินเยอะขึ้น และอ้วนมากขึ้นถ้าจะเอากันแบบสุดโต่ง ก็ถึงกับมีการยกตัวเลขจาก The Wall Street Journal มากล่าวอ้าง ว่าวงจรการกินให้อ้วนและลดความอ้วนนั้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ เฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดความอ้วนนั้น ก็มีมูลค่ากว่า 4.865 ล้านล้านบาทต่อปี ทั่วโลกเลยทีเดียว
ดังนั้นตราบใดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าความอ้วนเป็นการเลือกของคนอ้วนหรือสังคมมากกว่ากัน หรือการกำหนดภาระความรับผิดชอบให้คนอ้วนนั้นจะสร้างผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบ เราก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าการเก็บเงินคนอ้วนเพิ่มนั้นชอบธรรมหรือไม่ และตราบนั้น สังคมก็ควรยกประโยชน์ให้จำเลยอ้วนๆ อย่างพวกเราไว้ก่อน