เคยเลิกสนับสนุนดาราหรือคนดังคนไหนเพราะความเห็นอันไม่พึงประสงค์ของเขาบ้างไหม?
คุณคงพอจะนึกหน้าพวกเขาออกอยู่บ้าง ทั้งคนที่ตั้งสเตตัสพูดบางอย่างที่ไม่ควรพูด แสดงความไม่รู้ มีอคติร้ายแรง เล่นมุกที่ไม่น่าขำขันในศตวรรษนี้ หรือออกมาสนับสนุนบางสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเขลา ความคะนอง ความไม่รู้ ไม่ว่ามันจะผ่านมานานแล้วเพิ่งมีคนพบเลยแคปมาแฉย้อนหลัง หรืออาจจะเพิ่งพูดไปเมื่อเร็วๆ นี้ และนั่นทำให้สิ่งที่เกิดตามมาคือกระแสต่อต้านรุนแรงที่ได้ชื่อเรียกว่าปรากฏการณ์ ‘Cancel Culture’ ที่ผู้คนรวมตัวกันเทหรือเลิกสนับสนุนดาราคนดัง
Cancel Culture คือปรากฏการณ์การบอกเลิกสนับสนุนคนดัง นักแสดง ศิลปิน เมื่อวันดีคืนดี ดาราเหล่านี้ได้แสดงความเห็นที่ไม่โอเคลงบนโซเชียลมีเดีย และกลายเป็นเหตุการณ์ที่มวลชนร่วมกันแหก แบน และรณรงค์ให้คนเลิกสนับสนุน งดติดตามและซื้อผลงานเพลง ภาพยนตร์ ศิลปะ เพื่อตอบโต้กับการกระทำและคอมเมนต์เหล่านั้น มีการใช้ Hashtag ในโซเชียลมีเดีย เพื่อแบนใครบางคนอย่างออกรส สร้างทีมต่อต้านแบนอย่างจริงจัง
Cancel culture เริ่มได้รับการพูดถึงในปี ค.ศ. 2015 และแพร่หลายในปี ค.ศ. 2018 เป็นปรากฏการณ์แสดงความก้าวหน้าของคนในสังคมที่ไม่ยอมทนความไม่รู้ ความคะนอง และมุกตลกที่ไม่โอเค และรู้สึกว่าการแบนคนที่ไม่ได้เรื่องก็สมควรแล้วนี่
โลกนี้ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ แล้วทำไมดาราผิดพลั้งบ้างไม่ได้
เดือนเมษายน ในงาน DVF Awards 2019 Katy Perry ออกมาพูดถึงกระแสวัฒนธรรมการเทคนดัง ชวนให้คนหยุดคิดอีกครั้งถึงกระแส Cancel Culture นี้ เธอมองว่าปรากฏการณ์นี้ส่งผลในมุมร้ายเหมือนกัน เพราะเหมือนแฟนๆ จะเรียกร้องให้ศิลปินต้องฉลาด ก้าวหน้า และสมบูรณ์แบบหมดจดมากเกินไป ทั้งที่มนุษย์เราก็เคยผิดพลาดกันทั้งนั้น
“ฉันเคยประหม่าที่จะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราฉันเข้าใจว่าภาระแห่งการเป็นคนสมบูรณ์แบบนั้นหนักหนาเกินกว่าจะทำได้ดี แต่เวลาผ่านไป ฉันถามตัวเองและคนรอบตัวว่าเราโตขึ้นจริงๆ หรือจากความสมบูรณ์แบบที่ผิดพลาดไม่ได้?” —Katy Perry ณ DVF Awards 2019
Jon Ronson ผู้เขียนหนังสือ So You’re Been Publicly Shame ได้พูดถึงวัฒนธรรมแหก ประณาม ทำให้อับอายบนอินเตอร์เน็ตนี้ว่า เป็นพฤติกรรมที่ปากว่าตาขยิบมากๆ บางครั้งก็ทวีความรุนแรงจนเกินเหตุ จากที่เป็นกลุ่มผู้แสวงหาความยุติธรรม เพื่อให้สังคมที่ดีงาม กลายเป็นกลุ่มบุลลี่สาธารณะที่สนุกปาก พร้อมจะว่าร้าย หั่นคนที่ทำผิดพลาดให้ไม่เหลือเป็นชิ้นดี
ทำไม Cancel Culture ถึงเป็นภัยและไม่ทำให้เกิดผลดี
- คนเราเปลี่ยนได้ และทำผิดพลาดกันทั้งนั้น
- ทวีตหรือสเตตัสโง่ๆ สักอัน ไม่ได้บอกตัวตนของเขาทั้งหมด แต่ถ้าเขาทำเรื่อยๆ ก็ค่อยมาว่ากัน
- เกิดความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน เมื่อคนสองคนทำสิ่งเดียวกันแต่ได้รับผลตอบรับแง่ลบไม่เท่ากัน
- เราต้องเลิกที่จะหั่นชำแหละ ทำให้คนที่เราไม่เห็นด้วยแหลกเป็นชิ้นๆ เราควรจะใจเย็นให้ความรู้ สงครามปะทะกันบางครั้งจบที่ได้ความสะใจเท่านั้น ไม่มีใครได้ความรู้หรือเปลี่ยนใจ
- การรุมประนามหยามเหยียดคนที่ทำผิดจนเขาแทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ทำให้เราดูตาสว่าง ดูตื่นตัว แต่ทำให้เราสงสัยว่าต่างคนต่างสว่าง แล้วทำไมโลกมันมืดๆ
ในโลกอินเตอร์เน็ต ความผิดพลาดของพวกเราสามารถมองเห็นได้ง่ายดายกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา ในชีวิตส่วนที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ เราก็มีผิดพลาดบ้าง แต่ไม่มีใครแคปและบันทึกเก็บไว้
- ความดังและชื่อเสียงคือตัวตนที่ถูกขยายออกไปให้ใหญ่พอให้ทุกคนได้เสพ บันทึก และส่งต่อ เมื่อดาราทำอะไรผิดพลาด ความผิดนั้นได้ถูกขยายจนใหญ่โต จนอาจต้องกลับมาฉุกคิดว่าโทษนี้เหมาะสมไหม คนนึงต้องออกจากอาชีพเพราะความผิดนี้จริงไหม
- บางครั้งคำพูดของพวกเขาในอดีต ได้ถูกแคป ถูกส่งต่อ ถูกตีความ โดยไม่ได้ดูบริบทของสิ่งที่พูด เกิดการทำเป็น Quote ที่แชร์ง่ายโดยไม่ต้องสนใจบริบทของคำพูดนั้น
เป็นเพราะเชื่อว่าสิ่งที่ถูกสนใจยิ่งมีค่า เลิกสนใจสิจะได้ไม่มีราคา!
“Fame is the last currency. – Jarett Kobek”
นิยายแนวโลกลบเรื่อง I Hate The Internet เขียนโดย Jarett Kobek เล่าถึงตัวเอกที่เผลอพูดจาในโลกที่ชื่อเสียงคือหนึ่งในของมีมูลค่า เทียบได้กับค่าเงิน ต่อให้บางคนมีเงิน แต่ยังซื้อความดังความสนใจจากคนอื่นไม่ได้ หนังสือเล่มนี้พูดถึง Quote ที่ว่า “Fame is the last currency.” เมื่อชื่อเสียงคือเงินตราสุดท้ายที่เหลืออยู่บนโลกนี้ ความดัง การมีชื่อเสียงนั้นทำให้เกิดมูลค่า คนดังย่อมขายได้และอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ มีเม็ดเงินจากความดัง และมีคนติดตามมากมาย
ในโลกที่มีคนจำนวนหยิบมือที่ถูกเก็บไว้จ้องมอง ติดตาม รักและสนับสนุน แต่ความรักที่เรามีให้พวกเขานั้นเปราะบางกว่าที่คิด
กลไกนี้เกี่ยวพันกับ ‘Attention Economy’ หรือเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าจากการให้ความสนใจ เป็นระบบที่ต้องทำทุกวิถีทางดึงความสนใจของคนให้ได้ยาวนานและต่อเนื่อง ยิ่งถูกสนใจ ถูกพูดถึง ยิ่งมีแต้มต่อ คนที่ได้รับความสนใจเยอะจะเกิดมูลค่าขึ้นมาก การมีวัฒนธรรม Cancel Culture จึงอยู่บนฐานความคิดที่เชื่อว่า หากเป็นคนดังที่ไม่ได้เรื่องก็ไม่ควรทำอาชีพอยู่ในวงการนี้อีกต่อไป การเลือกไม่สนับสนุนคือการลดมูลค่าของชื่อเสียงของคนคนนั้น เหล่าคนดังจะถูกลดค่าลงไปเองหากไม่เอ่ยถึง ไม่เป็นที่น่าพึงใจ ไม่เป็นที่รัก
Cancel Culture จึงบอกเป็นนัยๆ ว่า พวกเราปุถุชนเสพชีวิตดาราเสมือนเราเสพกระแสข่าวสาร เราคาดหวังให้เขาอัพเดตเรื่องราวในชีวิต เราติดตามเขาทุกย่างก้าว คนดังคือชุดข้อมูลที่เรากด subscribe ไว้ เมื่อเขาไม่อัพเดตเราก็หงุดหงิดและท้วงถามว่าเขาไปไหน เมื่อเขาทำสิ่งที่เราไม่พอใจสักครั้ง เราก็ตัดสินใจว่าต้องยกเลิกการรับข้อมูลของพวกเขาไปจากความสนใจของเรา เราก็ยกเลิกเขาไปอย่างง่ายดายเมื่อเขาไม่เป็นตามที่เราคาดหวังและไม่สมบูรณ์แบบ
เราต้องแยกให้ได้ระหว่างดาราที่ทำผิดกฎหมาย ลงมือทำร้ายผู้อื่น มีเหยื่อที่ชัดเจน โดยมีพฤติกรรมร้ายแรงต่อเนื่องยาวนาน เช่น Bill Cosby หรือ Harvey Weinstein ซึ่งอนาคตของพวกเขาได้ถูกทำลายด้วยพฤติกรรมของเขาไปแล้ว บางคนอาจโดนกระแสตอบกลับแต่ก็ยังกลับมาทำอาชีพต่อได้ อาจจะอื้อฉาวเพียงชั่วครู่ เช่น Woody Allen, Kevin Spacet หรือ Louis CK ส่วน Logan Paul ดาราวัยรุ่นจากยูทูปผู้ไปถ่ายศพคนตายในป่าโดยไม่ให้เกียรติ ก็ถูกกระแสต่อต้านรุนแรง เวลาผ่านไปไม่นานยังกลับมาทำวีดีโอหาเงินได้ต่อไป ไม่ได้ถูกแคนเซิลจริงๆ แต่อย่างใด แถมยังมี Kanye West ผู้ทวีตสนับสนุนทรัมป์ พูดสัมภาษณ์ไปในเชิงว่า การเป็นทาสนั้นเลือกได้ (Slavery was a choice) และยังมีลิสต์ดาราที่ถูกประนามจากคำอีกมากมายไม่จบสิ้น
หากคนดังยอมรับ ขอโทษ และเปลี่ยนใจ การให้อภัยก็อาจสำคัญ คนเราเปลี่ยนกันได้
แม้หลายคนมองว่า Cancel Culture แสดงความก้าวหน้าของสังคมที่จะไม่ยอมทนต่อเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ถูกต้อง ดีแล้วไม่ใช่เหรอที่เราทุกคนในฐานะผู้เสพต้องคอยสอดส่อง ตรวจทาน และจับผิดคนที่ทำผิด หากมีคนที่ทำผิดหรือพูดอะไรไม่เข้าท่า ก็ต้องทำให้เขาอับอายขายขี้หน้า เป็นบรรทัดฐานของสังคม เช่น คนที่เล่นมุกเหยียดผิวสี เหยียดชนกลุ่มน้อย มองคนรักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดปกติไม่พึงประสงค์ มุกตลกเหล่านี้แม้จะดูไม่ทำร้ายใคร แต่อาจทำให้คนคิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคม เราก็อาจต้องวิจารณ์ตักเตือน
แต่สิ่งที่ต้องระวังให้มากๆ ก็คือหาเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการวิจารณ์พฤติกรรมกับการทำโทษตัวบุคคลจนหมดหนทางในอาชีพ ลองนึกว่า การลงโทษของเรามันใหญ่โตไปรึเปล่ากับสิ่งที่เขาทำหรือพูด ยิ่งหากเป็นเรื่องส่วนตัวยิ่งต้องคิดให้ดีๆ เราต้องใจเย็น นึกว่าความผิดนี้ควรได้รับโทษขนาดไหน เราควรเท เลิกสนับสนุน หรือ shame ใครสักคนเพียงเพราะคำพูดคำเดียวของเขาจริงไหม เพราะคนดังก็เหมือนพวกเราส่วนใหญ่ที่บางครั้งก็พูดบางสิ่งที่เขาจะเสียใจในภาคหน้า เพียงแค่ไม่มีใครสนใจจะแคปข้อความเราเก็บไว้ประจานในวันหน้า
จริงๆ แล้ว มันยากมากที่จะยอมรับว่าคนมีชื่อเสียงที่เรารัก สนใจ เฝ้ามอง และติดตาม เขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดได้สมบูรณ์หมดจด เขาไม่ได้ติดตามข่าวสาร ขาดความรู้พื้นฐานเรื่องสังคม ไม่เข้าใจหน้าที่พลเมือง เขาไม่ได้ฉลาดอย่างที่เราหวัง ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงกับของเรา หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราเฝ้าฝันว่าเขาจะเป็น เราเก็บเขาเหล่านั้นไว้ชื่นชมได้อยู่ไหมในโลกที่ทุกคนแม่งไม่สมบูรณ์แบบ
หากดาราออกมาพูดอะไรที่ไม่ได้เรื่อง ไม่ควรพูด ไม่ว่าจะด้วยความคะนอง เข้าใจผิด หรือไม่รู้ข้อเท็จจริง หากทำเพียงครั้งเดียว อย่าได้ประนามและฉีกรุมประชาทัณฑ์หั่นจนเขาหมดอนาคตเพียงเพราะพลาดหรือไม่รู้ เปิดโอกาสให้เขายอมรับและขอโทษ คำพูดผิดๆ ครั้งเดียวไม่ควรเป็นตัวตัดสินชีวิตและอาชีพของเขาทั้งหมด แต่ถ้าเขายังทำซํ้าๆ อย่างไม่เรียนรู้ ก็แคนเซิลไปได้เลย
เมื่อเรากลับมามองตัวเราเอง เราต่างมีความผิดพลาดกัน เราเคยโง่มาก่อนหรือยังโง่อยู่แต่ไม่รู้ตัว เรามีวันที่ไม่รู้มาก่อน ลองย้อนกลับไปดูตัวเองในวันเก่าๆ ที่โพสต์อะไรไม่ได้เรื่อง แค่ไม่มีใครแคปเราคนเก่าที่ยังไม่รู้เก็บไว้ มีกี่สเตตัสที่เราแอบลบไป มีกี่ความเห็นที่เราเปลี่ยนใจ เราต่างผลิใบได้ถ้ายังไม่ตาย คนเราเปลี่ยนแปลงกันได้จริงๆ นะ ค่อยๆ ให้ความรู้และนำพากันไปสู่การตื่นรู้อย่างไม่เกรี้ยวกราด
คนดังก็เหมือนเราส่วนใหญ่ที่บางครั้งก็พูดสิ่งที่เขาจะเสียใจในภาคหน้า ในโลกอินเตอร์เน็ตที่ความผิดพลาดของเราสามารถถูกมองเห็นได้ง่ายกว่าเวลาที่ผ่านมา
แค่ลองใจเย็นๆ อย่ารุมทึ้งเพียงเพราะเราตาสว่างกว่าเขา ตื่นรู้กว่าเขา เพราะเราแคนเซิลทุกคนไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Jon Ronson, So You’ve Been Publicly Shamed
Jarett Kobek, I Hate the Internet
The ‘Cancel’ Culture Is Toxic And Limits Someone From Growing In His Or Her Career
Why Cancel Culture Doesn’t Work