การเลิกสนับสนุนบุคคลหรือสินค้าเป็นวิธีที่ผู้คนใช้ในการสื่อสารความไม่พอใจของพวกเขา
อาจจะมาในรูปแบบการคว่ำบาตร การแบน และสำหรับรูปแบบที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียล่าสุด คือการแคนเซิล (Canceling) ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหลากหลายแบบในหลากหลายพื้นที่ ทั้งวิธีการที่แบรนด์ องค์กร หรือผู้มีชื่อเสียงวางตัว ไปจนถึงการจุดชนวนของการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนผู้ไม่เคยมีเสียงเป็นของตัวเองมาก่อนให้เป็นที่ตระหนักรู้ไปทั่วโลก
มันเริ่มมาจากอะไร ลักษณะของมันเป็นยังไง และการแคนเซิลส่งผลในแง่บวกเพียงอย่างเดียวเลยหรือเปล่า?
อย่างที่ว่าไป การแคนเซิลเป็นวิวัฒนาการของการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นเมื่อโซเชียลมีเดียมาถึง โดยเริ่มแรกมาจากมูฟเมนต์ #MeToo และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดในนาม Cancel Culture จากบริบทและภาษาที่คนผิวดำนำมันมาใช้ในมูฟเมนต์ Black Lives Matter (BLM)
โดยในเชิงคอนเซ็ปต์แล้วจุดประสงค์ของการแคนเซิลมักทำเพื่อให้ผู้ที่มีชื่อเสียงและอำนาจตระหนักรู้ถึงความเห็นของคนหมู่มาก พร้อมทั้งเรียกร้องความรับผิดชอบและความเปลี่ยนแปลงในการกระทำเหล่านั้นด้วย โดยการกระทำเหล่านั้นอาจเป็นการนำเสนอแนวคิดที่เป็นภัยต่อกลุ่มที่มีความเปราะบาง มุกตลกที่ล้าหลังจากค่านิยมปัจจุบัน การกระทำที่ผิดกฎหมายแต่ด้วยชื่อเสียงและอำนาจทำให้ไม่ได้รับโทษ ฯลฯ
ต่างจากการคว่ำบาตรรูปแบบอื่นที่มีมาก่อนหน้า คุณสมบัติหลักของการแคนเซิลคือการกระทำที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย โดยมากแล้วมักเริ่มขึ้นบนทวิตเตอร์ และในขณะที่จะมีผู้คนหลากหลายแบบที่ร่วมวงการแคนเซิล รูปแบบ วิธีการ และการเป็นไปของมันมักมีความคล้ายคลึงกันระหว่างมูฟเมนต์
“มันเป็นการกล่าวโดยร่วมกันว่า ‘พวกเราเคยยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคุณ และเราจะเลิกสนใจคุณในแบบที่เราเคยทำ’ กล่าวคือพวกเราอาจไม่มีอำนาจ แต่อำนาจที่เรามีคืออำนาจในการหยุดสนใจคุณ” แอนน์ ฮัดสัน (Anne Hudson) นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์แอฟริกันอเมริกัน มหาวิทยาลลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาบาร่า กล่าวกับ Vox เกี่ยวกับคอนเซปต์ของการแคนเซิล และพูดว่ามันเหมือนการคว่ำบาตร เพียงแต่แทนที่จะเล็งไปยังธุรกิจ การแคนเซิลเล็งไปยังตัวบุคคล
เมื่อพูดถึงในบางกรณี เช่น การแคนเซิล ฮาร์วี ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) หรือ อาร์ เคลลี่ (R. Kelly) สามารถส่งแรงกระเพื่อมในสังคมในแง่บวกได้จริง เพราะด้วยการโจมตีที่ตัวตนและการกระทำที่ไม่อาจให้อภัยได้ของพวกเขานั้นนอกจากจะทำให้เกิดการคว่ำบาตรออกนอกโซเชียลมีเดียแล้วยังสร้างความตระหนักรู้ของสังคมต่อการล่วงละเมิดทางเพศโดยคนที่มีอำนาจในวงกว้าง แถมยังเป็นการขยายเสียงให้แก่ผู้เสียหายจำนวนมากนอกเหนือจากเคสนี้อีกด้วย
เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมทางอินเทอร์เน็ตอื่นๆ เมื่อผู้คนจำนวนมากโอบรับมัน รูปแบบของมันปรับเปลี่ยนไปได้เสมอ ในกรณีนี้ การแคนเซิลซึมออกจากเพียงใช้กับคนที่มีชื่อเสียง แต่เป็นกับใครก็ตามที่มีพื้นที่การพูดอะไรก็ตาม แม้แต่ในคนร่วมมูฟเมนต์คนอื่น และเมื่อคนคนนั้นพูดหรือกระทำในเรื่องที่ขัดกับคุณค่าที่กลุ่มใดๆ ให้ค่า การโจมตีที่ตัวบุคคลนั้นๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อหวังผลเดียวกับที่ผู้มีอำนาจโดน
แต่เมื่อเอามันไปใช้กับมิติอำนาจที่แตกต่าง ระดับของ ‘ความผิด’ ที่แตกต่าง และบริบทที่ก่อให้เกิด ‘ความผิด’ นั้นๆ ให้เกิดขึ้นที่แตกต่างออกไปแล้ว การแคนเซิล ความหมาย และผลของมันเปลี่ยนไปหรือไม่?
ในวิดีโอชื่อ Canceling โดยนักปรัชญาและวิดีโอครีเอเตอร์นาตาลี วินน์ (Natalie Wynn) ที่เธอวิเคราะห์การแคนเซิลผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของเธอที่ถูกชุมชนคนข้ามเพศบนทวิตเตอร์แคนเซิลจากการให้นักแสดงชายข้ามเพศภาพยนตร์ผู้ใหญ่ บัค แองเจิล (Buck Angel) มาพากย์เสียงในวิดีโอของเธอ โดยสาเหตุที่เธอโดนเป็นเพราะแองเจิลเคยแสดงแนวคิด Transmedicalism หรือการเชื่อว่าคนจะเป็นคนข้ามเพศได้ก็ต่อเมื่อมีการผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้น
โดยเสียงที่แคนเซิลให้เหตุผลว่าการที่นาตาลีให้พื้นที่กับแองเจิลถือว่านาตาลีมีความเห็นเดียวกันกับเขาโดยปฏิเสธไม่ได้ โดยเธอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะแง่ลบของการแคนเซิลว่า มักมีการลดทอนความหมาย (Abstraction) และการเหมารวมจากแนวคิดสารถนิยม (Essentialism) ที่เปลี่ยนความหมายของตัวเหลือกหนึ่งในการสร้างวิดีโอของเธอ ให้กลายเป็นตัวตนและความเชื่อของเธอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเธอมีการพูดถึงและต่อต้านแนวคิด Transmedicalism อย่างสม่ำเสมอในผลงานอื่นๆ ของเธอก่อนหน้านี้
กรณีดังกล่าวคือหนึ่งในข้อควรระวังในการแคนเซิล เพราะว่าในบางบริบท การกระทำของคนคนหนึ่งไม่ได้สะท้อนตัวตนของเขาโดยแท้จริง และหลายๆ ครั้งมันสามารถนำไปสู่ผลเสีย เช่น การทำให้คนคนหนึ่งหลุดออกจากชุมชนและการเคลื่อนไหวหนึ่ง เพียงเพราะ ‘ความผิด’ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือตัวตนของเขาเลย
นอกจากนั้นข้อควรระวังที่สองไม่ห่างกันมากนัก คือ Guilt by association ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากวิธีการของการแคนเซิล นั่นคือการตัดขาดบุคคลนั้นๆ ออกจากชุมชนของเขา
“การโจมตีครั้งนี้ทำให้คุณคิดว่าการมีอยู่ของคุณคือการเป็นปฏิปักษ์ของการเคลื่อนไหวและไม่มีอะไรเปลี่ยนความรู้สึกได้นอกจากการสลายตัวไป มันทำให้คุณแยกออกจากเพื่อนของคุณพร้อมทั้งทำให้พวกเขาเริ่มเชื่อว่าการเกี่ยวข้องกับคุณนั้นก็เป็นปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน” โจ ฟรีแมน (Jo Freeman) นักเขียนและนักรัฐศาสตร์เฟมินิสต์เขียนในบทความ Trashing: The Darkside of Sisterhood ที่อธิบายประสบการณ์การถูกผลักออกจากการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์
ในท่อนที่เลือกมา เธออธิบายสิ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อใครสักคนถูกแคนเซิล นั่นคือผลของมันมักลามไปสู่คนรอบข้าง เช่น เพื่อนและคนใกล้ตัวของคนนั้นๆ โดยแม้แต่การไม่พูดเองหรือการไม่ร่วมวงก็ถือได้ว่าเป็นการเห็นด้วยต่อเรื่องนั้นๆ และเป็นความผิดในระดับเดียวกัน ซึ่งไม่เป็นจริงเสมอไป บางครั้งการไม่ร่วมวงมีเหตุผลอื่นที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการรอเวลา ความเข้าใจที่แตกต่างในฐานะคนใกล้ตัวในบริบทของการกระทำนั้นๆ หรือความไม่เห็นด้วยต่อวิธีการดังกล่าวก็เป็นได้
และสุดท้ายในข้อควรระวังคือการมองไปยังปลายทางของการเคลื่อนไหวนั้นๆ การแคนเซิลในตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไปเราสามารถเรียกได้เต็มปากหรือไม่ว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องเต็มร้อย? บ่อยครั้งที่เราเห็นคนผู้มีอำนาจกลับมาจากการโดนแคนเซิลได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่บางครั้งคนระดับกลางๆ ในการเคลื่อนไหวเดียวกันหายออกไปจากการเคลื่อนไหวเพราะโดนแบบเดียวกันใน ‘ความผิด’ ที่อาจน่าได้รับคำวิจารณ์ แต่ถึงกับขับออกไปเลยก็อาจเป็นที่กังขาได้
ในทุกการเคลื่อนไหวต้องคำนึงถึงบริบท และนั่นอาจจริงที่สุดเมื่อเราพูดถึงการเคลื่อนไหวที่ ‘ได้ผล’ ในระดับนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก