วิชารัฐศาสตร์ในสมัยใหม่จะก้าวหน้าไปสักเพียงใดก็ตามที หลักการอันหนึ่งในระบอบการปกครองแบบโบราณของไทย ยังมีคุณค่าอย่างประเสริฐและควรจะใช้อยู่เสมอ หลักการที่ว่านี้คือการเป็น พ่อบ้านพ่อเมือง บ้านเมืองเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ […] นักปกครองต้องถือว่าพลเมืองที่อยู่ในความปกครองนั้นไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นพี่น้องลูกหลานในครอบครัวเดียวกัน […] เมื่อใดเราสามารถทำให้พลเมืองไว้วางใจรักใคร่นับถือเราอย่างเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อนั้นเราจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักปกครองที่ดี
คำกล่าวเปิดการประชุมปลัดจังหวัดและนายอำเภอทั่วราชอาณาจักร
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 27 เมษายน 2502
ทำไมคนไทยหวนหาสฤษดิ์
ไม่ว่าจะมองด้วยแว่นกรอบไหน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ
โดยสามัญสำนึกทั่วไปในสากลโลก คนทั่วไปไม่ควรอยากได้สิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการ’ เอามาครอบหัวสั่งการตัวเอง ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม
แต่กระนั้น การเป็น ‘เผด็จการ’ ของจอมพลสฤษดิ์ กลับมีลักษณะเฉพาะ ‘แบบไทยๆ’ อยู่หลายอย่าง ที่ทำให้คนไทยไม่เคยลืมเขา และหลายครั้งในหลายสถานการณ์ คนไทย (บางส่วน) ก็ถึงขั้นถวิลหาและ ‘เรียกร้อง’ อยากมีผู้นำแบบจอมพลสฤษดิ์อีกครั้งและอีกครั้ง
คำถามก็คือทำไม?
ระบอบสฤษดิ์
การขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์นั้นค่อนข้างซับซ้อน แต่เล่าอย่างย่นย่อก็คือ ประชาชนไม่พอใจผลการเลือกตั้งในปี 2500 ซึ่ง จอมพล ป. ได้เสียงข้างมาก ว่ากันว่าเป็นการเลือกตั้งที่ ‘สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์’ เช่นมีการบังคับให้ชาวบ้านเลือกแต่ผู้สมัครของพรรคจอมพล ป. (คือพรรคเสรีมนังคศิลา ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะ) หรือมีการเปลี่ยนหีบเลือกตั้ง ใช้เวลานับคะแนนนานมาก ฯลฯ
จอมพลสฤษดิ์ (ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่าเป็น ‘ลูกน้อง’ ของ จอมพล ป. ในตอนนั้น) เลยลุกขึ้นมาทำรัฐประหาร แล้วให้ พจน์ สารสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ พอเลือกตั้งใหม่ปุ๊บ ก็ได้ พลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความวุ่นวายก็ยังคงอยู่
คนหนึ่งที่เป็นเสมือนมันสมองให้กับจอมพลสฤษดิ์ (และที่จริงก็จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย) คือหลวงวิจิตรวาทการ เป็นคนหนึ่งที่แนะนำว่า จอมพลสฤษดิ์จะต้องทำ ‘ปฏิวัติ’ ยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง (คือรัฐบาลของ พลโทถนอม ในปี 2501) แล้วคนที่จะขึ้นมาครองอำนาจ ก็ต้องเป็นจอมพลสฤษดิ์ เพราะประชาชนให้การยอมรับ
การใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ ในที่นี้ หมายถึงเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ (คล้ายๆ กับคำว่า ‘ปฏิรูป’ ที่กำลังดังอยู่ในปัจจุบัน) แม้จะเกิดขึ้นด้วยการทำรัฐประหาร แต่เนื่องจากเป็นรัฐประหารที่จะทำให้เกิดกลไกที่เหมาะสมดีงามเพื่อนำมาใช้ปกครองประเทศต่อไป จึงไม่ใช่แค่รัฐประหารเท่านั้น ต้องเรียกว่า ‘ปฏิวัติ’ ยังผลให้คนไทยใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ กับการทำรัฐประหารต่อมาอีกนาน
จอมพลสฤษดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2502 และก็อย่างที่หลายคนรู้ดี นั่นคือจอมพลสฤษดิ์ กลายเป็นผู้นำที่ ‘เด็ดขาด’ ในเรื่องต่างๆ โดยมี ‘ธรรมนูญการปกครอง’ มาตรา 17 (หรือที่เรียกกันว่า ม.17) เป็นอาวุธสำคัญ ใช้ในการปราบปรามอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการวางเพลิง มีการประหารนักวางเพลิงหรือผู้เก่ียวข้องกับการวางเพลิงอย่างเด็ดขาด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาการเมืองในการใช้อำนาจของจอมพลสฤษดิ์เรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก
นั่นคือ ‘ฝ่ายบริหาร’ ควรจะมีอำนาจเหนือฝ่ายอื่นๆ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ต้องมีการคานอำนาจตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น!
เอาประชาธิปไตย แต่ฝ่ายบริหารต้องมาก่อน
ขอให้ระบอบประชาธิปไตยของไทย เป็นเสมือนกัลปพฤกษ์ที่หยั่งรากลึกจากผืนแผ่นดินไทย งอกงามเติบใหญ่ในแสงแดดและแรงฝน ออกผลเป็นกล้วยน้ำว้า มะม่วง เงาะ มังคุด หรือทุเรียน มากกว่าจะเป็นแอปเปิ้ล องุ่น อินทะผาลัม บ๊วย หรือเกาลัด
จาก ‘วิวัฒนาการประชาธิปไตยของไทย’
ออกอากาศโดย สถานีวิทยุกองทัพบก 17 สิงหาคม 2508
ถึงเป็นเผด็จการ แต่การปกครองใน ‘ระบอบสฤษดิ์’ นั้น ไม่เหมือนเผด็จการอื่นๆ ที่มักจะรังเกียจประชาธิปไตย เพราะระบอบสฤษดิ์เน้นย้ำอยู่เกือบตลอดเวลาว่า ‘เอาประชาธิปไตย’ แต่ต้องเป็น ‘ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง’ เป็นประชาธิปไตยที่เข้าถึงเนื้อ ไม่ใช่มีแค่เปลือก โดยมองว่าก่อนหน้านั้น (เช่นในยุคของ จอมพล ป. หรือยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) เป็นประชาธิปไตยท่ีลอกตะวันตกมาแค่เปลือก
และประชาธิปไตยที่ลงลึกถึงแก่นของเนื้อหา รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนคนไทย ก็ย่อมต้องเป็น – ประชาธิปไตยแบบไทย, นั่นเอง
คุณอาจสงสัยว่า ทำไมจอมพลสฤษดิ์จะต้องมาสนใจใยดีอะไรกับคำว่าประชาธิปไตยด้วย ทำไมไม่ปกครองเป็นเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จไปเลย จะได้ควบคุมประเทศได้ตามใจชอบ คำตอบก็คือ ระบอบสฤษดิ์นั้น แม้จะบอกว่าเอาประชาธิปไตย แต่ก็เป็นการ ‘เอาประชาธิปไตย’ ไปตามกระแสโลกตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งตอนนั้นมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากำลังมาแรง ไทยในฐานะประเทศที่ (เกือบ) แพ้สงคราม จึงต้องเหวี่ยงข้างเข้าฝ่ายชนะสงครามโลกอย่างเต็มตัว เช่นให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย เพื่อทำสงครามเวียดนามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์ที่กำลังก่อตัวรุนแรงในอินโดจีน ที่สำคัญ การ ‘เอาประชาธิปไตย’ ของไทยในสมัยนั้น ไม่ใช่การ ‘เอา’ ที่แก่นหรือเนื้อหาของประชาธิปไตยจริงๆ แต่เป็นการ ‘เอา’ เพื่อผลลัพธ์อะไรหลายอย่าง และอย่างหนึ่งก็คือการ ‘เอา’ ประชาธิปไตย เพื่อ ‘ไม่เอา’ คอมมิวนิสม์
การสถาปนา ‘ประชาธิปไตย’ ในระบอบสฤษดิ์ จึงไม่ใช่การสถาปนาประชาธิปไตยแบบสากลโลกเสียทีเดียว แต่เป็น ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ที่มีลักษณะเฉพาะหลายอย่าง เช่น จอมพลสฤษดิ์บอกว่าไม่ต้องมีหรอก-พรรคการเมือง เพราะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนก่อความวุ่นวายมากมาย ไม่มีระเบียบวินัย คำที่ฮิตมากในช่วงน้ันก็คือการที่ทั้งนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ทำตัวเหมือนโสเภณี คือขายตัวแลกเงิน
โดยหลักประชาธิปไตยแล้ว นักการเมืองคือตัวแทนของประชาชน แต่ในตอนนั้น ถ้าถามว่าใครคือตัวแทนของประชาชนได้ดีที่สุด คำตอบของระบอบสฤษดิ์ย่อมต้องเป็นคณะปฏิวัติ (ของจอมพลสฤษดิ์) นั่นเอง เพราะคณะปฏิวัติรู้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว จะต้องมีพรรคการเมืองไปอีกทำไม
คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ นั้น เป็นคำที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะคณะปฏิวัติบอกว่าได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้น ระบอบนี้จึงเป็น ‘ตัวแทน’ ของเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย โดยสถานีวิทยุกองทัพบกออกอากาศในวันที่ 31 สิงหาคม 2508 ว่า
การที่ระบอบปัจจุบันสามารถรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนมาใช้ในการบริหารประเทศ จนสร้างเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นได้น้ัน แสดงว่าระบอบนี้ซึ่งในทางการเมืองแยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติมากขึ้นนั้น มีคุณค่าต่อปวงชนชาวไทยในทางการปฏิบัติ กล่าวคือ ระบอบนี้สามารถแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย
…
เพื่อที่จะสร้างประเทศให้ทันสมัย จึงต้องอาศัยสิ่งสำคัญหลายประการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เสถียรภาพทางการเมือง
ประชาธิปไตยแบบไทยในระบอบสฤษดิ์ จึงเป็นประชาธิปไตยที่เน้น ‘เสถียรภาพ’ ว่ามีความสำคัญสูงสุด เพราะถ้าปราศจากเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว บ้านเมืองก็จะล้มลุกคลุกคลาน ไม่สามารถ ‘พัฒนา’ ไปเป็นประเทศที่ทันสมัยได้ แต่จะให้มีเสถียรภาพได้ ก็ต้องทำให้อำนาจของฝ่ายบริหารอยู่เหนืออำนาจของฝ่ายอื่นๆ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติมากขึ้น เป็นเอกเทศมากขึ้น ทำอะไรต่อมิอะไรได้โดยอัตโนมัติมากขึ้น และทำให้ ‘การเลือกตั้ง’ มีผลต่อการ ‘ตั้งรัฐบาล’ น้อยลง
ยิ่งเมื่อได้รับการเสริมอำนาจด้วยวิถีหวาดกลัวคอมมิวนิสม์อันเป็นมรดกจากลัทธิ McCarthyism ของอเมริกาด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คนที่คิดเห็นเป็นอื่นไปจากอำนาจรัฐ (ทั้งที่เป็นคอมมิวนิสม์จริงๆ, ที่เป็นกบฏผีบุญด้วยความเชื่อทางลัทธิศาสนา, หรือที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาลแบบนักเขียนนักหนังสือพิมพ์) ล้วนถูก ‘เหมารวม’ ว่าเป็นอันตรายต่อ ‘เสถียรภาพ’ ของรัฐบาลทั้งสิ้น และถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จนในที่สุดก็เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘การกดขี่ทางปัญญา’ ขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งมาระเบิดออกในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ประชาธิปไตยในระบอบสฤษดิ์ จึงเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ที่มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จรวมศูนย์ โดยคำว่าประชาธิปไตย / เสถียรภาพ / การพัฒนา / ความทันสมัย / เผด็จการ / อำนาจนิยม เข้ามาคลุกความหมายย้อนแย้งกันไปมาตามใจชอบของระบอบสฤษดิ์ จนแลดูเวียนหัวไปหมด ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่
ยิ่งถ้าไปดูวาทกรรม ‘คนดี’ ของจอมพลสฤษดิ์ ก็จะยิ่งเวียนหัวเป็นทบเท่าทวีคูณ เพราะจอมพลสฤษดิ์เคยยืนยันมั่นเหมาะว่าจะไม่มีวันยอมให้ใครโกงกินกอบโกยเป็นอันขาด แม้เป็นระดับ ‘ชั้นผู้ใหญ่’ ในคณะปฏิวัติ ก็ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่ร่ำรวยขึ้นหลังปฏิวัติ ทุกคนทำงานกันด้วยความสุจริต แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมแล้วก็เป็นอย่างที่รู้กันว่าตัวจอมพลสฤษดิ์เองมีทรัพย์สินและเรื่องอื้อฉาวมากมายแค่ไหน
นับตั้งแต่วันที่จอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงบัดนี้ เวลาก็ล่วงมาแล้วราว 58 ปี
หากบอกว่า เมื่อ 58 ปีที่แล้ว สังคมไทยต้องการ ‘คนอย่างจอมพลสฤษดิ์’ จริงๆ คำถามก็คือ เมื่อผ่านมานานขนาดนี้แล้ว สังคมไทยยังต้องการคนอย่างจอมพลสฤษดิ์อยู่อีกจริงหรือ
สลัดสฤษดิ์ไม่หลุด
เวลามีอะไรคับขัน สังคมไทยชอบเปลี่ยนโหมดเข้าไปอยู่ในภาวะ ‘อยากมีสฤษดิ์’ ตลอดเวลา
ฐานสำนึกสำคัญของระบอบสฤษดิ์ ก็คือการปกครองแบบ ‘พ่อบ้านพ่อเมือง’ ซึ่งดูเผินๆ ก็คือการปกครองด้วย ‘ความรักใคร่ไมตรี’ แต่ความรักใคร่ไมตรีนั้น มีกลไกสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงมันเอาไว้คือมาตรา 17 ซึ่งก็คือการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ในยุคโน้น การควบคุมเป็นไปค่อนข้างง่ายกว่ายุคนี้ เพราะแค่มีมาตรา 17 กับคำพูดว่าข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ก็คล้ายจะควบคุมสังคมได้ทั้งหมด ทำให้สังคมดูเหมือนมี ‘เสถียรภาพ’ ในแบบที่รัฐบาลต้องการได้แล้ว แต่ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่คลับคล้ายมาตรา 17 (เช่นกฎหมายเบอร์ 44) ดูเหมือนจะยังไม่พอ เพราะประชาชนและเทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนโฉมไปมาก การ ‘ควบคุม’ สิ่งที่เรียกว่า ‘สื่อ’ เป็นไปได้ยากขึ้น เราจึงเห็นความพยายามดิ้นรนเพิ่มอำนาจให้รัฐด้วยวิธีอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่นเพิ่มอำนาจในการเข้าถึงพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ (รวมไปถึงการ ‘ดักฟัง’ ประชาชน หรือความพยายามบังคับผู้ให้บริการให้เปิดเผยข้อมูลด้วยวิธีต่างๆ) และยังไม่มีใครรู้ว่า พรบ.คอมพิวเตอร์ที่กำลังจะประกาศใช้ รวมไปถึงร่าง พรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ไม่มีอะไรต่างไปจากวิธีคิดของระบอบสฤษดิ์ เพียงแต่ ‘แน่น’ ขึ้น และไม่ต้องแคร์คำว่าประชาธิปไตยมากเท่าระบอบสฤษดิ์
ญี่ปุ่นอาจมี The Lost Decade คือช่วงเวลาที่สูญหายไปราว 10 ปี เพราะหายนะทางเศรษฐกิจ ถ้านับจากระบอบสฤษดิ์ถึงยุคนี้ 58 ปี ที่ผ่านมาก็อาจเรียกได้ว่าเป็น The Lost Six Decades ได้เหมือนกัน เพราะคล้ายว่าสังคมไทยยังย่ำเท้าอยู่ที่เดิม ไม่ได้เคลื่อนตัวไปไหนเลย แถมยังอาจเคลื่อนถอยหลังย้อนกลับด้วย
เราอาจเปลี่ยนคำว่าปฏิวัติเป็นปฏิรูป แต่ยังคงพร่ำเพรียกเรียกหา ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ที่มีฐานคิดต่างๆ ขัดแย้งในตัวราวกับเป็นโรคไบโพลาร์ ภาครัฐยังคงมีสำนึกในการปกครองแบบระบอบสฤษดิ์ และภาคประชาชนบางส่วนก็ยังคงเรียกร้องหาคนอย่าง ‘จอมพลสฤษดิ์’ กันอยู่ เรายังคงต้องการให้เสถียรภาพทางการเมืองหรือความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยอยู่เหนือหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน เรายังคงอยากให้มีคนมาใช้อำนาจแทนเราในแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตรวจสอบไม่ได้ แต่ไม่ยอมลุกขึ้นมาทำตัวเป็น Active Citizen กระวีกระวาดใส่ใจตรวจสอบอำนาจรัฐด้วยสำนึกที่ว่าเราทุกคนคือเจ้าของอำนาจนั้น
เรายังคงแสดงอาการ ‘สลัดสฤษดิ์ไม่หลุด’ เสมอมา และอาการที่แสดงให้เห็นนี้ น่าจะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงโรคเรื้อรังบางอย่างที่ไร้ชื่อ
มันคือโรคที่ตอบได้ยาก-ว่าที่รักษาไม่หาย เป็นเพราะมันเป็นโรคร้ายไร้ยารักษาจริงๆ – หรือว่า,
มีใครพยายาม ‘เลี้ยงไข้’ เอาไว้หรือเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ ‘การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’ โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ