“ถ้าหากสื่อมวลชนก้าวข้ามความกลัว แล้วมองประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก จะช่วยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ จะไม่ทำให้เราถอยหลังลงคลอง แล้วไม่กล้าพูดจา ไม่กล้าวิจารณ์ เราถึงมองว่าการตั้งคำถามและการทำหน้าที่สื่อเป็นสิ่งสำคัญมาก”
มีสื่อไว้ทำไม? – คำถามที่ถูกยกขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง เมื่อสังคมต้องการพึ่งพิงพลังของสื่อ พร้อมกันนั้น สื่อหลายสำนักที่พร้อมตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ ก็ถูกท้าทายและคุกคามอยู่บ่อยครั้ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เหมือนกรณีของ เดวิด สเตร็คฟัสส์ นักวิชาการอเมริกันและผู้ประสานงานระหว่างต่างประเทศของสำนักข่าว The Isaan Record ผู้ถูกยกเลิกการจ้างงานจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังอาศัยอยู่ในไทยมากว่า 30 ปี ทำให้ใบอนุญาตทำงานและวีซ่าทำงานของเขาสิ้นสุดไปด้วย ซึ่งเชื่อมโยงไปกับการตรวจสอบ The Isaan Record และกล่าวหาว่าเป็นสื่อล้มเจ้า
ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการสำนักข่าว The Isaan Record ยังถูกตำรวจเรียกสอบปากคำในช่วงวันหยุด โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ที่ต้องทำเช่นนั้น ก็เพราะ “นายสั่งมา” รวมถึง มีการขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัวของบรรณาธิการสำนักข่าวอีกด้วย
The MATTER ได้พูดคุยกับ หทัยรัตน์ พหลทัพ ทั้งในประเด็นสื่อท้องถิ่นที่ The Isaan Record คอยรายงานข่าวเชิงลึกในภาคอีสาน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนในท้องที่มาโดยตลอด ไปจนถึงความท้าทายและการถูกคุกคามในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
การทำงานที่ The Isaan Record เป็นยังไง
จริงๆ เราเป็นทีมเล็กๆ ฝ่ายภาษาไทยมีอยู่ 4 คน ฝ่ายภาษาอังกฤษ 1 คน ทั้งหมดในกองบรรณาธิการมี 5 คน คนหนึ่งมีหน้าที่ในการเป็นเลขานุการกองบรรณาธิการ นักข่าวของทีมเรา อย่างเราก็ทำทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และบางทีก็ถ่ายภาพเอง วิดีโอเองบ้าง ซึ่งน้องอีกสองคนก็ตัดต่อได้ เขียนข่าวได้ และก็ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ได้ เป็นทักษะ one man journalist คือไปไหนไปคนเดียวได้เลย
แต่ว่าทีมงานเราก็ไม่ได้มีแค่นี้ ส่วนใหญ่เราทำงาน เราก็มีรับจ้างช่วยเขียนด้วย อย่างที่เราเคยจ้างช่างภาพจาก Thai News Pix มาช่วยถ่ายภาพตอนที่เราทำเรื่องเกี่ยวกับการทวงคืนผืนป่า ที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วเราอยากได้ช่างภาพมืออาชีพ ให้เขาทำเป็น photo essay หรือในบางกรณีที่เราทำซีรีส์ เราก็จ้างให้คนเขียนบทความให้ ให้คนช่วยเขียนบ้าง
ในแง่ของเนื้อหา The Isaan Record ต่างจากที่อื่นอย่างไรบ้าง
ด้วยสโลแกนว่า สื่ออีสาน เพื่อคนอีสาน มันต่างอยู่แล้ว เพราะว่าแทบไม่มีคนที่ทำงานเจาะไปเฉพาะคนอีสานเลย อย่างสื่อในภาคอีสานมีหลายสื่อมาก ส่วนใหญ่เขาก็จะทำข่าวทั่วไป ทำข่าวนู่นนี่นั่น แต่เจตนารมณ์ของเราชัดเจนว่า เราจะเปิดพื้นที่ให้สำหรับคนอีสาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไปอยู่ต่างประเทศ หรือเป็นแรงงานที่กรุงเทพฯ เพราะเราคิดว่าคนอีสานเป็นคนชายขอบที่ทำให้ถูกลืม แม้ว่าจะมีประชากรที่มากที่สุดในประเทศไทย แต่กลับได้รับการพัฒนาน้อยที่สุด ดังนั้น เราก็อยากให้อีสานได้รับการพัฒนา อยากให้เสียงของคนอีสานดัง และได้รับการยอมรับ
เรารู้สึกว่าปัญหาในอีสานเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องป่า เรื่องที่ดิน ตอนนี้อยากมีร่างแยกประมาณ 5 คน เพื่อจะทำประเด็นได้ทั้งหมดเลย ตอนนี้กำลังตั้งมูลนิธิเพื่อจะหางบประมาณ เพื่อมาทำสื่อเจาะไปในภาคอีสานเลย 20 จังหวัด
นอกจากนี้ ก็พยายามสร้างเครือข่ายด้วยว่า อยากให้แต่ละภาคมีสื่อของตัวเอง เพราะว่านักข่าวจากส่วนกลางลงไป บางทีอาจทำไม่ทัน ตอนนี้เรากำลังพูดคุยกับทางภาคเหนือ ถ้าหากว่าเขายังไม่รู้วิธีการในการที่จะเขียนข่าว เราฝึกให้ ไม่รู้วิธีตัดคลิปวิดีโอ เราฝึกให้ ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ไม่ได้ เราก็ฝึกให้ คือจะฝึกให้หมด ขอให้มีข่าวในพื้นที่ที่สนองความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ
ถ้าหากว่าเขามีนักข่าวจริงๆ อยู่ในพื้นที่ แล้วรายงานออกมาจะเข้าถึงและเป็นคนพูดภาษาเดียวกันมากกว่า แตกต่างจากนักข่าวส่วนกลางที่มองคนในพื้นที่ หรือว่ามองปรากฏการณ์ในพื้นที่
เหมือนกับว่า ถ้าเป็นการนำเสนอจากสื่อจากส่วนกลาง มันอาจมีทัศนคติหรืออะไรบางอย่างที่แฝงเข้าไปในการนำเสนอข่าวด้วยหรือเปล่า
เราอาจมองว่ามันมีความเข้าไม่ถึง อย่างตอนที่เราลงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราพูดภาษายาวีไม่ได้ แล้วตอนที่เราไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ชะอวด เราพูดภาษาใต้ไม่ได้ เราไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ในพื้นที่ปกาเกอะญอ เราก็พูดภาษาของเขาไม่ได้ เลยมองว่าหากว่าคนในชุมชนของเขาได้รับการอบรมโดยนักข่าวมืออาชีพ หรือคนที่เคยทำงานในสื่อหลัก แล้วรู้ความต้องการของคนในพื้นที่ และสื่อสารออกมาให้คนนอกได้เข้าใจ จะช่วยลดช่องว่างของความไม่เข้าใจ ป้องกันการสื่อสารคนละภาษาได้
อย่างในชุมชนเราพูดลาวอีสาน มีหลายคำที่คนภาคกลางไม่เข้าใจ ก็ต้องการคนที่เข้าใจภาษาลาวอีสานมาสื่อเพื่อให้เข้าตรงหัวใจ ดังนั้น การเข้าใจและการสื่อสาร จึงเป็นหัวใจของการทำ The Isaan Record
คำว่า ‘สื่อชุมชน’ ซึ่งเป็นคำพูดของอาจารย์สมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการสถานี Thai PBS หมายถึงว่า แต่ละสี มีสื่อเป็นของตัวเอง อันนั้นอาจพูดในเชิงการเมือง แต่กับ The Isaan Record ไม่ใช่แบบนั้น เราเป็นสื่อเพื่ออธิบายอัตลักษณ์ของตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกลืมไม่ให้รากเหง้าของตัวเองถูกลืม
เหมือนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ต้องมีสื่อท้องถิ่นอยู่
ใช่ เราคิดว่าสื่อท้องถิ่นจำเป็น ถ้าดูเพจต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ก็มีบางเพจที่คนตามเยอะมาก เกือบเป็นล้านเลยนะ อย่างขอนแก่นลิงก์ ก็มีคนตาม 7-8 แสนได้ เขาก็นำเสนอเรื่องราวต่างๆ เช่น มีโควิดระบาดที่ไหน เขาก็เป็นเหมือนตาสับปะรด แจ้งข่าวให้คนในพื้นที่ หรือที่อุดรธานีก็มีเพจของคนในพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เช่น ตรงนี้ วันนี้ อำเภอนี้ มีงานบุญนะ ที่นี่มีการจัดกิจกรรมนู่นนี่นั่น เหมือนไลน์กลุ่ม แต่ก็จะเป็นเพจเฉพาะที่คนในพื้นที่รู้จัก
ในช่วงหลังมานี้ เพจต่างๆ สามารถทำงานได้ดีและเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราก็อยากให้มีสื่อชุมชนแบบนี้ หลายคนอาจมองว่า สื่อโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่สร้างอันตรายใช่ไหม แต่สำหรับเราแล้ว ถ้าหากว่าเราสอนให้เขา หรือว่าฝึกให้เขาได้รู้จักการทำสื่ออย่างมืออาชีพจะลดช่องว่างได้ และจะทำให้คนสื่อสารผิด เพราะอย่างน้อยเขามีหลักวิชาชีพ มีหลักจรรยาบรรณ ทำให้เขาลดความเข้าใจผิดลงได้
จริงๆ แล้ว The Isaan Record ไม่ได้ก่อตั้งโดยคนไทยด้วยซ้ำ แต่เป็นชาวอเมริกันสองคน ที่มาสอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วเขารู้สึกว่า ในอีสานไม่มีสื่อที่จะรายงานให้คนที่ต่างประเทศเข้าใจคนอีสานได้เลย ดังนั้น จึงควรมีสื่อแบบนี้ สองคนนี้ก็เลยทำเป็นบล็อกมาก่อน และหลังจากนั้นก็เผยแพร่กันในวงการ คนที่อ่านภาษาอังกฤษ และหลังจากนั้นเขาก็เดินทางกลับประเทศ
ทีนี้ เดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streakfuss) ที่เป็น ผอ.โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาอเมริกัน ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเห็นว่าคอนเซ็ปต์ดี เขาเลยรู้สึกว่า โอเค เดี๋ยวเขาจะช่วยหาทุน ซึ่งส่วนหนึ่งของทุนก็เอามาจาก Council on International Educational Exchange (CIEE) เป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา เขาก็ส่งนักศึกษามาฝึกงาน แล้วนักศึกษาเหล่านั้นก็มาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และหลังจากนั้นก็เกิดไอเดียว่าคนอ่านภาษาอังกฤษน้อย เขาก็เลยพัฒนาเป็นภาษาไทย แล้วก็มาพัฒนาภาษาไทยในช่วงหลังรัฐประหาร ประมาณ 1 ปี ตอนนี้ก็ประมาณ 6 ปีแล้ว ส่วนเราเข้ามาช่วงปี 2562 หลังออกจาก Thai PBS แล้ว
เห็นมีรายงานข่าวทั้งในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ตรงนี้มีข้อแตกต่างอะไรไหม
คนอ่านทั้งสองภาษามีรสนิยมต่างกัน สิ่งหนึ่งที่เราพยายามที่จะนำเสนอมากๆ ก็คือ เรื่องไหนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เราจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ เช่น กรณีทวงคืนผืนป่า คือนโยบายเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็จะแปลเป็นภาษาอังกฤษ เรื่องที่เป็นซีรีส์ เราก็ทำเป็นภาษาอังกฤษ
พอย้ายมาทำงานที่นี่ เราก็พยายามทำให้เป็นข่าวเชิงลึก เพราะว่าเรามีคนน้อย และเรารู้สึกว่า การทำข่าวที่ตามกระแส เราตามอย่างไรก็ไม่สุด เราอยากตามให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เห็นปรากฏการณ์ เห็นการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าบางทีอาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย เราเลยจะเกาะ เกาะไม่ปล่อย
เช่น กรณีโรงงานน้ำตาล เราก็ทำเป็นซีรีส์ชุด เรื่องความหวานและอำนาจ เราเจาะให้เห็นเลยว่าน้ำตาลเข้ามาในไทยอย่างไร น้ำตาลมาจากไหนในเอเชีย และมีอิทธิพลอย่างไรในประเทศไทย มีอิทธิพลอย่างไรต่ออีสาน และนำไปสู่ว่าคนอีสานได้รับผลกระทบอะไรจากโรงงานน้ำตาลที่เกิดขึ้นจากนโยบายอ้อยและน้ำตาลของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีการสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น 29 แห่งทั่วอีสาน ซึ่งตอนนี้สำเร็จไปแล้ว 2 แห่ง เหลืออีก 27 แห่งที่อยู่ระหว่างกระบวนการ EIA, HIA จะทำให้ภาคอีสานจะมีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 49 แห่ง
ดังนั้น เราก็จะตามให้ลึก ตามให้เห็นการเปลี่ยนแปลงว่า ที่เห็นเป็น PM2.5 ในขอนแก่น มาจากไหน พวกเราจะอยู่กับอ้อยที่หล่นลงตามรายทางไปอีกนานแค่ไหน แล้วชาวบ้านที่เขาจะอยู่รอบโรงงานน้ำตาลเขาจะได้รับผลกระทบอะไร คือเราเกาะไม่ปล่อย เรามีแผนที่จะตามเรื่องนี้ต่อ
และเรื่องซีรีส์ที่เราทำหลายตอนเลยก็คือ ‘1 ทศวรรษ พฤษภาคม 2553′ เผยแพร่ไปประมาณเมื่อปีที่แล้ว เป็นเรื่องของคนเสื้อแดง เพื่อให้เห็นชุดความคิดของคนอีสานว่าทำไมเขาถูกยิงตายที่กรุงเทพ และหลังจากการตายของเขานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร ได้รับบทเรียนอะไร หลังจาก คอป.ออกรายงานข้อเท็จจริงแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไหม สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรไหม เหมือนทำเป็นข้อมูลวิชาการ เราทำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และตอนนี้ทำเป็นหนังสือเป็นพ็อกเกตบุ๊ก แจกจ่ายในวงการวิชาการ ในหอสมุดต่างๆ เพราะเราอยากให้มันเป็นบันทึกว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในประเทศไทย และกับคนอีสาน
ที่บอกว่าภาคภาษาอังกฤษเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำไมเขาถึงสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ The Isaan Record ทำ
เท่าที่ฟังจากเพื่อนๆ ที่เป็นนักข่าวต่างประเทศและคนที่ทำงาน NGO ด้านสิทธิมนุษยชน เขามักอ้างอิงเรา ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นหูเป็นตา เป็นตาสับปะรดให้เขา อย่างกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิป่าที่จังหวัดชัยภูมิ เราก็นำเสนอไปเป็นภาษาอังกฤษ ตอนหลังนักข่าว Reuters ก็ตามรอยเรา เพราะว่าเราก็ได้ลงไปในพื้นที่ เขาก็ขอแหล่งข่าวเรา แลกเปลี่ยนแหล่งข่าวเรา
หรือซีรีส์เรื่อง ‘ความรัก เงินตรา และหน้าที่ เมียฝรั่งในอีสาน’ เป็นซีรีส์ที่เหนือความคาดหมายมาก เพราะยอดดูบางคลิปสูงถึง 7-8 ล้านวิว แล้วสื่อต่างชาติให้ความสนใจมาก หลายสำนักข่าวติดต่อมาเพื่อจะขอสัมภาษณ์แหล่งข่าวของเราต่ออีกที
อย่างซีรีส์ ‘1 ทศวรรษ พฤษภาคม 2553’ ที่พูดถึง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง คิดว่า การทำซีรีส์เหล่านี้ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากน้อยแค่ไหน
ด้วยตอนนี้ยอด followers ของ The Isaan Record ยังน้อยอยู่ ถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม เราไม่แน่ใจ แต่มีคนอ่านเราแน่ๆ คือจากยอดวิว ยอดคอมเมนต์ ยอดการพูดคุยกับเหล่าเพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งเวลาเราเจอนักข่าวในกรุงเทพ เขาก็บอกรู้จักซีรีส์นี้ ก็ทำให้รู้สึกว่า เกิดการรับรู้ คือการทำข่าว เพียงแค่มีคนรับรู้คนหนึ่ง ก็น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ถ้าหากเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้จะดีมาก
เราอยากเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงนโยบาย ประเทศ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น มันเป็นความฝันของคนทำข่าวว่า วันหนึ่ง ฉันอยากเห็นสิ่งที่ทำอยู่ดีขึ้น เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นพลังของสื่อมวลชนกำหนดทิศทางสังคมไปในทิศทางที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้านของการเมือง ในภาคอีสานมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์นี้หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ เห็นพัฒนาการของการเมืองของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมคนอาจบอกว่า อุดรธานี ขอนแก่น เป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง ซึ่งตอนนี้เราไม่อาจบอกว่า สองเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงอีกต่อไปแล้ว เพราะคนเสื้อแดงเขาเป็นรุ่นที่เริ่มจะอิ่มตัว และเหนื่อยจากการสู้รบของเขาในอดีตเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว เขาอาจอ่อนแรงไป แต่เราอาจเห็นปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาหลังจากการยุบพรรคของอนาคตใหม่ ตอนนั้นเราถ่ายทอดสดการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่บึงสีฐาน ตอนนั้นเป็นคลิปแรกเลยที่ The Isaan Record มียอดเข้าดู 2 ล้านวิว
หลังจากนั้น เราก็เห็นปรากฏการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ซึ่งตอนนั้นเราก็ยังใหม่กับพื้นที่อยู่ ได้รู้จักกลุ่มดาวดิน แต่เรายังไม่รู้ว่าเขาเคลื่อนไหวอย่างไร ตอนหลังมาก็เลยได้ถอดชุดความคิดของพวกเขา และเราได้ทำซีรีส์เรื่อง ‘พลังคนรุ่นใหม่แห่งที่ราบสูง’ และก็เดินสายไปพูดคุยและสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ในพื้นที่สำคัญๆ เช่น บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และโคราช ซึ่งจังหวัดเหล่านี้เป็นเมืองที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง แล้วก็ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ที่ยโสธร ซึ่งเขารวมตัวกันอย่างหลวมๆ อยู่ และตอนหลังมาเขาแทบไม่เคลื่อนไหวแล้ว เวลาเขาไปฟังการปราศรัยของนักศึกษา เขาจะไม่มีบทบาทอะไรเลย แค่ฟังเฉยๆ บทบาทการเมืองของเขาเปลี่ยนไปแล้ว
พี่เคยทำข้อมูลเป็นเชิง data journalist แบบคร่าวๆ ว่า ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดภาคอีสานมีการเคลื่อนไหวมากน้อยแค่ไหนในรอบปี เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา มีการเคลื่อนไหวมากกว่า 150 ครั้ง ทำให้รู้สึกว่า ในช่วงหลังรัฐประหาร การจัดเวที การจัดสัมมนา หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้ มันถูกกดทับอยู่ พอเราได้มาเห็นในบรรยากาศพื้นที่นี้ ส่วนหนึ่งนะ เราขอบคุณรัฐประหาร ที่ปลุกพลังของคนออกมาได้มากมายขนาดนี้ เพราะมันมีการกดทับอยู่ ห้ามพูด ห้ามแสดงความคิดเห็น แล้วคนรุ่นใหม่เขาทนไม่ได้ คนรุ่นเราหรือว่าคนรุ่นโตขึ้นไปเขาอาจยอม เขาไม่อยากเดือดร้อน แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่ยอม เขารู้สึกว่าเขาต้องอยู่กับประเทศนี้ไปอีกหลายๆ ปี เขาก็เลยยอมตายเป็นตาย ขอให้มีสิทธิในการพูด เราถึงได้เห็นพลังของการเติบโต พลังของการออกมาแสดงซึ่งสิทธิเสรีภาพของเขาทะลุเพดานเลย คือเราคุยกันคราวนี้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ทะลุเพดาน ในสายตาของนักข่าวนี่เราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ เราว้าวมาก
พอสังคมดันเพดานกันขึ้นมาขนาดนี้ ในมุมของนักข่าว เราดันไปกับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน
ตอนนี้บ้านเรามีการบังคับใช้กฎหมายบางมาตราที่ค่อนข้างรุนแรง เลยทำให้มีช่วงหนึ่ง ที่อาจเรียกว่าเป็นช่วงแห่งการเบ่งบานของเสรีภาพ ในการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยไม่ต้องเหนียม แต่ก่อนมีการพูดแบบใต้ดินใช่ไหม แล้วมียุคหนึ่งที่รู้สึกว่า ‘เฮ้ย เราสามารถพูดเรื่องนี้บนดินได้ด้วยเหรอ’ อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่า ต้องขอบคุณนักศึกษานะ ที่ทำให้นักข่าวอย่างเรา ที่ทำข่าวมา 18-19 ปี ไม่เคยพูด และไม่เคยคิดที่จะทำเลย ได้มาตระหนักรู้ และทำให้เราความกล้ามากขึ้น
หลายครั้ง ถามว่า เรากลัวถูกจับไหม เราก็กลัวถูกจับ ถูกฟ้องร้อง แต่พอนักศึกษาออกมาแบบนี้ เรารู้สึกว่าเหนียมอายน้อยลง ทำให้เรากล้าทำหน้าที่ของเรามากขึ้นว่า สังคมรอความกล้าหาญของคุณอยู่ รอพลังของสื่อมวลชนที่จะออกมาค้นหาความจริง แล้วเป็นตะเกียงและกระจกสะท้อนให้สังคมเห็นว่า ถ้าเกิดคุณไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ ก็จะเกิดปัญหาต่อไปอีก
เราต้องบอกปัญหาออกมา ไม่ใช่ไปเหยียบอยู่ใต้พรม ไปกดทับไม่ให้พูด และหากเป็นอย่างนี้ มันก็จะระเบิด ตอนนี้บ้านเราเหมือนเป็นภูเขาไฟที่รอการระเบิด ดังนั้น การถกเถียงและการเปิดพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในพื้นที่สื่อมวลชน ถือเป็นเรื่องที่ดี
ก่อนหน้านี้พี่เคยทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการตอบโจทย์ของ Thai PBS เราเคยคิดกันว่า สังคมไทยจะลดความขัดแย้งได้ ต้องมีการพูดคุยและรับฟังกัน ดังนั้น เราเลยเปิดเวทีให้มีการพูดคุยกัน แม้กระทั่งเรื่อง ม.112 ก็พูดบนดินได้ เมื่อประมาณปี 2553-2554 อาจไม่ถึงกับทะลุเพดานเหมือนยุคของนักศึกษากับเคลื่อนไหว แต่ก็มีการพูดคุยเพื่อถกเถียงไปสู่การแก้ไขปัญหาและการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อกันแบบนั้นว่า ถ้าหากว่าสื่อสาธารณะ หรือสื่อที่เป็นสื่อหลักได้ทำหน้าที่ แล้วเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกัน จะนำไปสู่การแก้ปัญหามากกว่าการกดทับ หรือการห้ามพูด ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขาทำกัน
ในมุมมองของคุณ คิดว่าสื่อส่วนใหญ่ช่วยกันขยับเพดานได้อย่างไรบ้าง
เราไม่ได้เรียกร้องให้สื่อหลักรายงานข่าวเพิ่มเติมนะ เพราะก็เชื่อว่าทุกคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว แต่เราอยากเรียกร้องไปว่า คนที่คิดว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แล้วสื่อมีหน้าที่อะไร มาช่วยกันดีกว่า ถ้าหากว่าวันนี้เรามองว่า ม.112 เป็นปัญหา ก็ต้องกลับมามองว่าสื่อมวลชนจะช่วยกันรายงานตรงไหน เพื่อจะลดปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้
เราว่ากองบรรณาธิการแต่ละกองบรรณาธิการมีอิสระอยู่แล้ว สามารถทำได้อยู่แล้วถ้าก้าวข้ามความกลัวได้ ตอนนี้ ถ้าหากว่าเราย้อนยุคไปสมัยของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่มีการล่ามโซ่แท่นพิมพ์ ทำไมยุคนั้นเขากล้าหาญขนาดนี้ ทำไมยุคนี้สื่อมวลชนซึ่งมีตั้งเยอะ แล้วมีแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย แต่ทำไมถึงไม่มีความกล้าหาญ
ถ้าหากสื่อมวลชนก้าวข้ามความกลัว แล้วมองประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก จะช่วยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ จะไม่ทำให้เราถอยหลังลงคลอง แล้วไม่กล้าพูดจา ไม่กล้าวิจารณ์ เราถึงมองว่าการตั้งคำถามและการทำหน้าที่สื่อเป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะอะไร สื่อส่วนมากถึงกลัว หรือไม่กล้านำเสนอข่าว
มีหลายปัจจัย อย่างหนึ่งก็เรื่องทุน อีกส่วนหนึ่งก็เรื่องนโยบาย ปัจจัยที่สามคือเรื่องกฎหมาย ตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกกฎหมายปิดปากสื่อเยอะมาก เริ่มตั้งแต่คำสั่ง คสช. พ.ร.บ.อะไรต่างๆ ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่มี พ.ร.บ.ควบคุมสื่อด้วย ซึ่งตอนหลังมา พ.ร.บ.ตัวนี้ไม่ถูกนำมาใช้ แต่ตัวกฎหมายนี่แหละที่ทำให้สื่อกลัว และหลังปลายปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีก็ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราสำหรับคนที่ละเมิดสถาบันกษัตริย์ ทำให้สังคมตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของความกลัว
เอาจริงๆ แล้วนายกไม่มีหน้าที่ในการประกาศใช้กฎหมายมาตราใดมาตราหนึ่ง กฎหมายต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม เริ่มตั้งแต่ตำรวจ อัยการและศาล ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายบริหารเลย แต่เป็นหน้าที่ฝ่ายตุลาการและกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การที่นายกฯ ประกาศแบบนี้จึงไม่ชอบธรรม
เราควรที่จะตั้งคำถามกับนายกฯ ว่า ใครเป็นผู้สั่งการให้คุณใช้อำนาจแบบนี้ เพราะนายกฯ ไม่มีหน้าที่ในการใช้กฎหมาย หรือละเว้นกฎหมาย กฎหมายก็คือกฎหมาย กฎหมายคือสิ่งที่ทุกคนยอมรับ ไม่ใช่คำพูดของนายกฯ ดังนั้น เรารู้สึกว่าบรรยากาศอย่างนี้มันเกิดขึ้นจากบรรยากาศแห่งความกลัวที่มีหลายปัจจัยมากดทับ
เหตุการณ์ถอนวีซ่าของคุณเดวิด ช่วยเล่าให้ฟังอีกทีได้ไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น
เราทราบมาจากข้อมูลภายในว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่ The Isaan Record จัดเวทีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนอีสาน ซึ่งเป็นการเชิญนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ศิลปิน NGO อาจมีนักศึกษา และก็มานั่งพูดคุยกันว่า อีสานจะเรียนรู้ประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ของตัวเองอย่างไร และก็คือเขาอ้างว่าคุณเดวิดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ยุยง ปลุกปั่น หรือว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่ว่าในวันนั้น คนที่ดำเนินการเป็นชื่อเรา และเราก็ไม่ได้ไปจัดเสวนา เราแค่เชิญให้เขามารวมตัวกันและให้เขาพูดปัญหาของเขาเอง และเราทำข่าว เพราะเรามีหน้าที่ในการทำข่าว
ที่ผ่านมา The Isaan Record เคยจัดเวทีเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมาบ่อยครั้ง จัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มมส. อะไรอย่างนี้ต่างๆ คือเป็นการจัดประจำทุกปีอยู่แล้ว และคราวนี้ก็คล้ายกัน แต่เป็นช่วงจังหวะที่กระแสการเคลื่อนไหวเริ่มลดลง เลยมองว่านี่คือการกลั่นแกล้งชัดๆ
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คุณเดวิดเห็นชัดเจนว่าทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทำงานร่วมกันมา 27 ปี ในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาที่เล่าให้ฟังตั้งแต่ตอนต้น และอยู่ๆ ก็มีการเลิกจ้างกลางคัน ทั้งที่ระหว่างนี้ โครงการนี้ไม่สามารถพานักศึกษามาจากสหรัฐฯ มาได้อยู่แล้ว เพราะเป็นช่วง COVID-19 และก็คุณเดวิดก็ไม่ได้มีบทบาทใน The Isaan Record เป็นแค่ที่ปรึกษา ไม่ได้เป็นกองบรรณาธิการอะไร ส่วนเราเป็นบรรณาธิการ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อที่จะทำให้เรากลัว
ตอนแรกที่เราได้รับโทรศัพท์แจ้งจากผู้ช่วยของคณบดีคณะหนึ่ง บอกว่ามีตำรวจจาก สภ.เมืองขอนแก่น เข้าไปพบคณบดี 4 คน ทำให้เป็นเหตุที่ให้เขาและทางคณบดีไม่สบายใจ ว่าคุณเดวิดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทำให้คณบดีไม่สะดวกใจที่จะให้วีซ่าต่อ นำไปสู่การที่ขอเพิกถอนการจ้างงาน และก็นำไปสู่การเพิกถอนวีซ่า และ work permit
พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ถือว่า เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ หรือคุกคามสื่อหรือเปล่า
มันก็เกิดคำถามนะ ทีแรกเข้าใจมหาวิทยาลัยขอนแก่นคงอึดอัดและถูกกดดัน ก็เข้าใจคณบดีท่านนั้น ตอนแรกยังไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามหรือกดดัน จนพอไปขอวีซ่าของคุณเดวิดและเขาเริ่มมาตรวจสอบบริษัท Buffalo Bird Productions ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแล The Isaan Record ก็เลยรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น และยังมีการขอสอบเพิ่มเติมจาก ตม.ภาค 4 ในช่วงระหว่างสงกรานต์ ทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ชอบมาพากล
ช่วงสงกรานต์ เราก็ให้น้องๆ ได้กลับบ้านกัน แต่จู่ๆ ก็ถูกเรียกสอบ เราก็ตั้งคำถามกับคนที่มาถามเราเหมือนกันว่า เกิดอะไรขึ้น มีใบสั่งไหม ใครเป็นคนสั่งคุณ บอกมาเลย เราไม่ได้ขู่ แค่บอกไปว่า เราเป็นนักข่าวนะ คือเรามีเซนส์ว่า นี่ไม่ปกติแน่ๆ และอีกอย่างเราก็เริ่มสะกิดใจตั้งแต่ได้รับสายจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้วว่ามีตำรวจเข้าไปพบ จนนำมาสู่การเพิกถอนวีซ่าของคุณเดวิด และขอวีซ่าใหม่ เรารู้สึกว่ามันผิดปกติและไม่สบายใจ หลังจากนั้น เราก็ได้รับสายจากแหล่งข่าวเยอะมากว่ามีการกดดัน ตม. เป็นใครก็ไม่รู้ แล้วบอกว่า The Isaan Record ขบวนการล้มเจ้าบ้างล่ะ หรือว่าเป็นขบวนการที่จะต้องแยกดินแดนบ้างล่ะ ซึ่งถ้าหากว่าดูเนื้อหาของเรา มันไม่ใช่เลย
ตอนที่ตำรวจเข้าไปตรวจค้น เห็นเขียนในสเตตัสเฟซบุ๊กด้วยว่า ‘ความกลัวของคนที่อยู่ในระบบไปกลั่นแกล้งคนที่กล้าหาญหรือกล้าที่จะพูดอะไรบางอย่างออกมา’ มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันสะท้อนภาพสังคมเราอย่างไรบ้าง
สะท้อนว่า เราเข้าใจว่าข้าราชการบางหน่วยงาน เขาก็มีความอึดอัดต่อสถานการณ์นี้ เราเข้าใจว่าทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แม้กระทั่งในสังคมสื่อเอง ก็จะมีคนที่จ้องทำลายหรือทำร้ายชื่อเสียงเราอยู่ ดังนั้น เรารู้สึกว่าระบบทำให้คนถูกกลืนกิน อาจจะพวกมากลากไป หรือว่าคนดีอยู่ไม่ได้ ทำให้ท้ายสุดแล้ว คนที่มีอำนาจมากกว่าก็อาจชนะคนที่มีอำนาจน้อยกว่าอยู่ดี
แม้กระทั่งในวงการข่าวก็เป็นแบบนี้นะ คนที่ยศสูงกว่าสามารถกดทับคนมีอำนาจน้อยกว่าได้ แต่อยากจะบอกว่า ในฐานะที่เราเป็นนักข่าว เราไม่ยอมนะ เราไม่ยอมกับกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากล และกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม เราก็จะสู้ให้ถึงที่สุด ตอนนี้คือไม่มีอะไรจะเสียแล้ว หลังชนฝาแล้ว
เพราะต้องรักษาความกล้าหาญของเราไว้ ?
เรียกว่า รักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นสื่อมวลชนดีกว่า
ที่บอกว่า The Isaan Record ถูกเรียกว่าเป็นสื่อล้มเจ้า เกิดขึ้นได้ยังไง
เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ ตั้งแต่ที่สัมภาษณ์ทนายอานนท์ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นคำถามที่พี่เองก็ไม่คิดว่าในชีวิตนี้จะกล้าถามคำถามนี้ เราถามว่า “ถ้าคุณอานนท์ มีโอกาสได้นั่งต่อหน้าพระพักตร์ของรัชกาลที่เก้าจะพูดว่าอะไร” มันเป็นคำถามที่นักข่าวเป็นการรวบรวมความกล้าที่สุดแล้วในวินาทีนั้น และเราก็ไม่คิดว่า ในช่วงจังหวะเวลานั้น นักศึกษาจะยกเพดานมากขนาดนี้ และเราก็รู้ว่า ม.112 เป็นปัญหาที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 หลังการรัฐประหารปีนั้น ก็มีการใช้มาเรื่อยๆ
แล้วหลังรัฐประหารปี 2557 ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด เราก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่น่าจะยาวนาน ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่คนลุกขึ้นมา ไม่ธรรมดาแล้ว และตั้งแต่วันที่เราสัมภาษณ์ทนายอานนท์ออกอากาศวันนั้น คือสัมภาษณ์เป็นเฟซบุ๊กไลฟ์ ตอนหลังมาก็ถอดเทปและแปลเป็นภาษาไทยด้วย อังกฤษด้วย และก็มีเวอร์ชั่นเป็นคลิปด้วย
ตอนนั้นเริ่มมีตำรวจมาด้อมๆ มองๆ ที่สำนักงานเรา และมีคนเห็นเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาสืบข้อมูล เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า เราอยู่ในสายตาของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ล่าสุด ก็มีกลุ่มคนรักสถาบันชื่อกลุ่มว่า กลุ่มคนขอนแก่นรักสถาบัน ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มาร่วมเวทีเสวนาที่อาจารย์ปิยบุตรมา และก็เหมือนมีการใส่ร้ายว่า The Isaan Record อยู่ในขบวนการนั้นด้วย
จากนั้น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็เดินทางมาพบกลุ่มคนเหล่านั้น The Isaan Record ก็ส่งนักข่าวไปทำงานด้วย ซึ่งในเวทีนั้นก็มีการปลุกระดมว่า The Isaan Record เข้าข้างอาจารย์ปิยบุตร ซึ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไข ม.112 และก็ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา และหลังจากนั้นก็มีการผลิตวาทกรรมแบบนี้ออกมา
คิดว่าสื่อควรนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ออกมาอย่างไร?
ขณะนี้เราตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความเกลียดชัง แล้วประวัติศาสตร์ประเทศไทยอาจซ้ำรอยก็ได้ อาจเกิดเหตุการณ์ ‘6 ตุลาฯ’ ซ้ำสอง อาจเกิด ‘พฤษภาฯ 53’ ซ้ำสอง คือมันก็จะเกิดความเกลียดชัง ท้ายสุดเราก็ไม่ได้บทเรียนอะไรเลย 10 ปีของการสูญเสียไป 94-95 ศพ มันก็จะกลับมาอีก โดยเฉพาะในคนอีสานก็จะถูกมองว่า พวกคุณไม่รักสถาบัน เพราะเป็นคนเสื้อแดง
เรารู้สึกว่า ถ้าหากเราไม่สร้างความเข้าใจ มันจะช้าเกินไป คือดังนั้น เราถึงเรียกร้องว่า สื่อทุกสื่อที่เป็นสื่อมืออาชีพควรสร้างความเข้าใจให้กับสังคม อย่านำสถาบันเป็นเครื่องมือ การสรรเสริญจนเกินงามก็เกิดการทำร้ายทำลายกันได้ หรือการสร้างความเกลียดชังก็เช่นกัน เราว่านำเสนอข้อเท็จจริง ให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการตัดสินเอง อย่าปลุกปั่นเขา อย่ายุยงเขา ซึ่งมันจะทำให้สังคมอยู่ยาก คนอยู่ร่วมกันในสังคมยากลำบาก
หมายความว่า ในช่วงเวลาที่เปราะบาง สื่อต้องเป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจ
ใช่ เป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยน คือหน้าที่ของสื่อ ถ้าในตามตำรามันมีหน้าที่หลายอย่าง สร้างความรู้ความเข้าใจ เป็นกระบอกเสียง เป็นหมาเฝ้าบ้าน เป็นกระจก เป็นตะเกียง ซึ่งมันก็จะต้องถูกถกเถียงกันในรายละเอียด
แต่เราว่า สื่อมืออาชีพต้องถือจรรยาบรรณว่า คุณจะทำอย่างไรให้สังคมไม่เกิดความแตกแยก ความเกลียดชัง จะทำอย่างไรให้สังคมอยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุข สังคมที่รักเจ้าก็อยู่ได้ หรือที่ต้องการจะแก้ไขปัญหา ม.112 ก็อยู่ได้ ไม่เกิดการห้ำหั่นกัน แต่เกิดการหันหน้าพูดคุยกัน และนำไปสู่ทางออก
คำว่าเสรีภาพของสื่อกับในสังคมไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยตอนนี้ยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ถ้าเทียบกันกับติมอร์-เลสเต ซึ่งเขาเป็นประเทศเล็กๆ เขามีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี เราก็อยากให้บรรยากาศแบบนั้นกลับคืนมานะ บรรยากาศของการถกเถียง การพูดคุย การวิพากษ์วิจารณ์กลับมาได้เหมือนเดิม และเราคิดว่าการพูดคุยการหันหน้ามาคุยกันมันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
มีค่านิยมหรือทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานสื่อที่คิดว่าควรปรับปรุงไหม
ไม่แน่ใจว่าเราจะเอาบรรทัดฐานของตัวเองไปกำหนดของคนอื่นได้ไหม แต่ว่าถ้าได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ เราอยากฝากว่า ทุกครั้งที่สัมภาษณ์แหล่งข่าว ให้ทำการบ้านและอ่านหนังสือเยอะๆ อีกเรื่องคือ เราเข้าใจว่าทุกคนที่เรียนวารสารศาสตร์ อยากจะเห็นบ้านเมืองนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี อยากเป็นกระบอกเสียง อยากเป็นกระจก อยากเป็นตะเกียง เราแค่อยากบอกคนรุ่นใหม่เท่านั้นเอง เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนทุกคนได้
แต่อยากเรียกร้องให้นักข่าวที่ยังมีอุดมการณ์อยู่ เดินตามฝันตัวเอง อย่าให้ระบบมันกลืนตัวเอง อยากให้นักข่าวเป็นที่พึ่งหวังของสังคม ไม่ได้อยากให้เขาว่าอย่างนี้จะมีนักข่าวจะมีสื่อไปทำไม
จากที่เคยทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ มาก่อน แล้วต้องย้ายไปทำที่ The Isaan Record ซึ่งเน้นประเด็นในภูมิภาค ต้องปรับตัวยังไงบ้าง แล้วเคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกหรือเปล่า
เรารู้สึกว่าตัวเองสะพานขาด เรามองด้วยสายตาของคนที่อยู่กรุงเทพฯ มานาน แต่ว่าถามว่าลืมบรรยากาศของท้องถิ่นไหม เราก็ไม่ได้ลืมหรอก ถามว่าพูดภาษาอีสานอยู่ไหม ก็ยังเว้าลาวอยู่
ตอนแรกเขามองเราด้วยสายตาแบบ ‘จิ้มข้าวเหนียวด้วยส้อม’ อยู่ ปกติเขากินข้าวเหนียวด้วยมือใช่ไหม ตอนมาใหม่ๆ เราก็จะติดวัฒนธรรมของคนภาคกลาง คนภาคกลางถ้าสังเกตดีๆ เขาจะไม่ใช้มือกินข้าวเหนียวนะ อย่างหนึ่งก็ขี้เกียจล้าง อีกอย่างก็เปื้อนมือนู่นนี่นั่น ก็จิ้มเอา แล้วสะดวกกับการจิ้มของต่างๆ บนโต๊ะ ตอนแรกเราก็คิดว่า ทำไมคนที่นี่มองเราด้วยสายตาแปลกๆ ตอนหลังก็เริ่มกลับมาคิดว่า อ๋อ เขาอยู่กันแบบนี้ แต่ก่อนเราก็กินข้าวเหนียวด้วยมือ ตอนนี้ก็กลับมากินข้าวเหนียวด้วยมือนะ ถึงจะไม่ทุกครั้งก็ตาม
ถ้าเราจะทำงานในพื้นที่ เราต้องสื่อสารด้วยภาษาเดียวกับเขา เช่น ไปคุยกับคนในท้องถิ่น แล้วเขาพูดภาษาเขมร ก็ให้เขาพูดเป็นภาษาเขมร แล้วเราก็ให้คนในทีมที่พูดภาษาเขมรได้ช่วยแปลให้ หรือบางคน ถ้าหากว่าอยากพูดภาษาอังกฤษ เราก็ให้เขาพูดภาษาอังกฤษ เพราะเราก็พอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง
มีประสบการณ์ทำข่าวที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล และรู้สึกไม่ปลอดภัยไหม
เท่าที่ทำ The Isaan Record ไม่เคยมี ที่รู้สึกคือ ถูกคุกคามก็จากเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า ถึงเขาจะไม่เคยมาเผชิญหน้ากับเราตรงๆ แต่ตอนที่อยู่ Thai PBS มีหลายครั้งเลย เพราะว่าเราอยู่โต๊ะสืบสวนสอบสวน และอยู่รายการเปิดปมด้วย บางครั้งต้องไปล่อซื้อ ต้องไปอยู่กับความขัดแย้ง และงานทีวีก็จำเป็นต้องได้ภาพด้วย
มีอยู่ครั้งนึงเคยถูกขู่ด้วยปืน ตอนไปทำข่าวเรื่องความขัดแย้งโรงงานไฟฟ้าที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งตอนนั้นเราก็อาจผิดเองที่เราทะเล่อทะล่าเกินไป เราไม่ได้ระวังทีมงาน และก็ยังเสียใจมาจนถึงขณะนี้ ว่าเราทำให้ทีมงานรู้สึกไม่ปลอดภัย หลังจากนั้นก็โดนข่มขู่ว่า อย่าเข้ามาในพื้นที่
ถามว่า เรื่องนี้ทำให้เราเลิกทำข่าวสืบสวนไหม ก็ไม่นะ แต่ก็ทำให้เราระวังมากขึ้น และก็ตอนที่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ไปทำข่าวเรื่องคนอุ้มหายที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถูกข่มขู่ว่าถ้าคุณยังทำข่าวเรื่องอุ้มหายอยู่ คุณจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกอุ้มหายไปด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ทำให้เรานอนไม่หลับ บรรยากาศในสังคมยังอยู่ภายใต้ความกลัว เราเลยต้องเรียนรู้วิธีเทคนิคการเอาตัวรอดและวิธีที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัย รวมถึง ต้องแชร์ให้ทีมงานรู้ด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย คือเราเคยเรียนจากในตำรา หรือเคยผ่านการฝึกอบรมมาบ้าง แต่มันไม่เท่ากับของจริง
ตั้งแต่ทำงานมา มีข่าวไหนที่รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ทำ หรือว่าเสียใจที่ไม่ได้ตามให้สุดๆ ไหม
มีหลายกรณีมาก เรื่องคนอุ้มหาย เรื่องสิทธิต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่เราอยากทำ และเราคิดว่าน่าจะทำได้ และถ้ามีโอกาสเราก็จะทำ ซึ่งระหว่างนี้เราก็อยู่ระหว่างการวางแผนหลายๆ กรณีอยู่ อย่างในอีสานมีการอุ้มหายหลายเคสก็ถูกทำให้เงียบหายไป ก็ควรเอาความจริงมาเปิดเผย อย่างกรณีคุณลุงเด่น คำแหล้ ที่ถูกอุ้มหายไป ตอนนี้คดีก็เริ่มเงียบลงไปแล้ว หรืออีกหลายกรณีมากที่ยังอยากทำ และคิดว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะทำ
ในฐานะที่เป็นนักข่าว ความฝันสูงสุดของอาชีพเราคือ อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นสื่อมวลชนมีเสรีภาพ อยากให้ประเทศ อยากให้คนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ อยากให้สื่อมวลชนเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน