เพื่อนนักโบราณคดี ชาวญี่ปุ่น เคยชี้ให้ผมดูคำจารึกบนเสาหินต้นหนึ่ง ในโบราณสถาน ที่ยิ่งใหญ่ระดับสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
จารึกหลักนี้เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น ด้วยอักษรคันจิ (อย่างน้อยเพื่อนนักโบราณคดีคนนี้ก็บอกอย่างนั้น) โดยพร่ำพรรณนาความถึงความความเหนื่อยยาก แสนจะลำบาก และสุดจะลำบนในการเดินทางของชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับยุคอยุธยาของไทยเรา บรรพบุรุษของพี่ยุ่นรายนี้แกรอนแรมทางผ่านทะเล เพื่อที่จะไปบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา อย่างพุทธคยา ที่ตั้งอยู่ในเขตประเทศอินเดียปัจจุบัน
ที่จริงเรื่องมันก็คงจะไม่มีอะไรให้ผมจดจำมากหรอกนะครับ ถ้าปัญหาที่ทำให้อีตาชาวญี่ปุ่นสมัยยังมีซามูไรคนนี้บ่นว่าทั้งเหนื่อยยาก ทั้งลำบากลำบน ไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาหลงทาง แถมยังไม่ใช่แค่หลงทางธรรมดา ที่อาจจะแค่เสียเวลา เพราะพี่ยุ่นคนนี้แกหลงทางอย่างสาหัสสากรรจ์ จนเกือบๆ จะพาให้แกเสียอนาคตไม่ต่างไปจากคนติดยาเลยทีเดียวแหละ
แต่เหตุการณ์มันก็เนิ่นนานมาเสียจนผมจำรายละเอียดชัดๆ ไม่ได้แล้วว่า เพื่อนนักโบราณคดีคนนั้นโม้อะไรเกี่ยวกับอีตาบรรพบุรุษร่วมชาติของเขาคนนี้ให้ผมฟังเอาไว้บ้าง จำได้ก็แต่เรื่องน่ายินดีในตอนท้าย ที่ด้วยศรัทธา, วิริยะ, อุตสาหะ หรือจะเป็นเพราะบุญบันดาล และอะไรอีกสารพัด จนแทบจะไม่ต่างจากพระถังซำจั๋ง ในนิทานเรื่องไซอิ๋ว เพราะในที่สุดพี่ยุ่นยุคซามูไรครองเมืองคนนี้ แกก็มาจนถึงศาสนสถานเก่าแก่ ที่ผมกับเพื่อนยืนอยู่ในตอนนั้นจนได้ (เย่ สาทุบุนโยเร!) ซึ่งพี่แกก็ดูจะดีใจเป็นอย่างมาก เสียจนต้องเขียนบอกไว้บนเสาหินยาวๆ แต่สรุปอย่างสั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความได้ว่า
‘กูมาถึงพุทธคยาแล้วโว้ยย!’
สิ่งที่น่าเสียดายอยู่อย่างเดียวสำหรับบรรพบุรุษพี่ยุ่นรายนี้ก็คือ จารึกที่ไอ้เพื่อนชาวญี่ปุ่นกำลังชี้ให้ดู พร้อมกับที่โม้ร่ายยาวให้ผมฟังเป็นฉากๆ อยู่ ณ ขณะจิตนั้น มันสลักอยู่บนเสาหินต้นหนึ่งของปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ไม่ใช่เจดีย์พุทธคยา ในประเทศอินเดียเสียหน่อย…
ผมก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า ไอ้เพื่อนญี่ปุ่นคนนั้นมันหลอกผมเล่นหรือเปล่า? เพราะผมเองก็ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ทั้งในภาษาพูด และภาษาเขียน ยิ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นโบราณนี่ยิ่งไม่ต้องสืบ ยิ่งพี่นักโบราณคดีชาวอาทิตย์อุทัยรายนี้แกก็มักจะอำอะไรใส่ผม กับเพื่อนคนอื่นๆ อยู่บ่อยในวงดื่มน้ำสีอำพันด้วยแล้ว ผมก็ไม่อยากจะยืนยันอะไรให้เป็นมั่นเป็นเหมาะมากนัก
แต่จะเป็นเรื่องอำกันเล่นหรือเปล่าก็ไม่สำคัญนักหรอกนะครับ เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในประวัติศาสตร์โลก เมื่อคราวที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะเดินทางไปอินเดีย แต่ไปโผล่ที่ทวีปอเมริกานั่นก็คงไม่ต่างอะไรกับคราวนี้เท่าไหร่นัก?
แถมประเด็นที่สำคัญมากกว่าในที่นี้ก็คือ การเปรียบเทียบถึงรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการเดินทางของคนในยุคกระนู้นต่างหาก
ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ เลยก็คือ การจารึก หรือจดจารอะไรไว้ในสถานที่ที่พวกเขาไปถึง อย่างเช่น จารึกของพี่ยุ่นคนที่ผมเล่าถึงไปข้างต้นนี่แหละครับ เพราะต่อให้เดินทางไปจนถึงพุทธคยาจริงสมดังใจหวัง พี่แกก็คงจะจดจารอะไรทิ้งไว้ที่นั่น ไม่ต่างจากที่เขียนไว้บนเสาหินของนครวัดอยู่นั่นเอง
อย่าลืมนะครับว่า ในสมัยนั้นจะมีอะไรที่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พี่ยุ่นคนนี้ได้เดินทางมาจนถึงพุทธคยาได้จริงมากไปกว่าการทิ้งอะไรสักอย่างไว้อนุสรณ์ ณ สถานที่แห่งนั้น เพื่อ ‘เช็กอิน’ ว่าเฮียแกได้เดินทางมาจนถึงที่นี่แล้วจริงๆ
ในขณะเดียวกัน การเช็กอินด้วยอะไรอย่างนี้ไม่เพียงแต่เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับให้อนุชนรุ่นหลัง ที่ไม่ว่าจะบังเอิญ หรือตั้งใจผ่านมา (เอิ่มม อย่างผมหรือเพื่อนนักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นคนนั้น) ยังสถานที่เหล่านี้ทราบถึงวีรกรรมของพวกเขาแล้ว ก็ยังเป็นการสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่แห่งนั้น (หรือว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่เขาหรือเธอคนนั้นนับถือก็ไม่ผิด) เพื่อเป็นการสะสมแต้มบุนไปด้วยในตัว
การเดินทางในสมัยโบราณจึงสัมพันธ์อยู่กับการบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญตบะ มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อความท่องเที่ยว และการบันเทิงเป็นสำคัญเหมือนอย่างในสมัยปัจจุบัน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบัน จะไม่มีมิติในเรื่องการแสวงบุญเอาเสียเลยนครับ ก็อย่างที่เรายังเห็นการท่องเที่ยวทำนอง ทัวร์ 9 วัด ได้อยู่เนืองๆ นั่นแหละ เพียงแต่การเดินทางในปัจจุบันอาจจะสะดวกดายยิ่งกว่ามาก ซึ่งก็สะดวกเสียจนกระทั่งมีผู้คนไปท่องเที่ยวพร้อมกัน ในสถานที่เดียวกันมากเสียจน รถติด ที่พักเต็ม กางเต็นท์ก็เบียดเสียด แย่งกันกิน แย่งกันอยู่ จนทัศนียภาพที่ต้องการไปชื่นชมเป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าชื่นชม และอีสารพัดปัญหา บลาๆๆๆ ที่กลายมาเป็นความไม่สะดวกของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน อย่างที่ได้ยินเสียงบ่นกันให้ขรมอยู่เรื่อยๆ นั่นเอง
แน่นอนด้วยว่า ในสมัยปัจจุบันมีกฎหมายห้ามขีดเขียนอะไรลงไปบนโบราณสถาน ด้วยถือว่าเป็นการทำลายคุณค่าที่มีมาแต่เดิมของโบราณสถานเหล่านี้ด้วย จึงทำให้การจะเก็บแต้มบุน หรือการประกาศวีรกรรมให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้นั้น ไม่สามารถกระทำได้อย่างง่ายๆ เช่นเดียวกับที่พี่ยุ่นคนนั้นประกาศโต้งๆ ไว้ที่ปราสาทนครวัดว่า ตนเองได้เดินทางมาถึงพุทธคยาแล้ว!
แต่ก็ไม่ใช่ว่า คนในสมัยปัจจุบันจะไม่กระทำความเช็กอิน เหมือนอย่างที่พี่ยุ่นรุ่นคุณทวดคนนี้ได้เคยทำเอาไว้ด้วยเสียหน่อย เพราะนอกจากฟังก์ชั่นเช็กอิน ในสารพัดโซเชียลมีเดียแล้ว รูปถ่ายนี่แหละครับที่ถูกใช้อยู่เป็นประจำ โทษฐานที่ดีต่อใจ และสามารถใช้เป็นประจักษ์พยานได้ว่า เราได้ไปถึงสถานที่แห่งนั้น แห่งนี้ หรือแห่งไหนแล้วอย่างมีหลักฐานกันเห็นๆ เลยอะนะครับ