จากกรณี ‘น้องเก้า’ เด็กอายุ 10 ขวบจับไมค์แสดงความเห็นบนพื้นที่เวทีการเมือง นำมาซึ่งข้อถกเถียงมากมายบนโซเชียลมีเดีย คนจำนวนมากแสดงความชื่นชมความสามารถในการพูดบนเวทีขนาดใหญ่ของเด็กที่อายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น ขณะที่อีกจำนวนไม่แพ้กันแสดงออกถึงความเป็นห่วง และตั้งคำถามถึงความเหมาะสมกับการอนุญาตให้เด็กคนหนึ่งได้เข้าถึงพื้นที่ทางการเมืองที่ใหญ่ขนาดนี้
สิ่งเหล่านี้อาจมีผลกระทบที่ตามมาอันเป็นข้อกังวลที่เราควรตระหนักไว้บ้างรึเปล่า ทว่าหากเวทีลักษณะนี้ไม่ได้ต้อนรับเด็ก หรือเยาวชนในการแสดงความเห็น มันควรจะมีเวทีที่ไหนอีก หรือเด็กๆ ควรทำได้แค่เฝ้ามอง เราลองมาสำรวจความคิดกัน
ก่อนอื่นเลย ผมเชื่อว่าใครที่มีโอกาสได้พูดต่อหน้าสาธารณชนมาบ้างน่าจะพอทราบกันดีถึงความตื่นเต้น และรับรู้ได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ว่ากันว่า การพูดต่อหน้าสาธารณชนนี่สำหรับหลายคนเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายเสียอีก มันต้องใช้ความกล้าหาญพอสมควรเลย และน้องยังมีความสามารถในการเรียบเรียง การนำเสนอความคิด มีจังหวะการพูด มีแววนักพูดที่โดดเด่น ในวัยเพียงเท่านี้ น้องเก้าสมควรได้รับคำชื่นชมจริงๆ
ประเด็นต่อมา ผมหวังว่าจะไม่มีใครคิดว่า เด็กและเยาวชนไม่ควรมีสิทธิแสดงความเห็น ความเชื่อของตัวเองต่อประเด็นทางการเมืองหรอกนะครับ อันที่จริง การได้เห็นเด็กๆ และเยาวชนรุ่นใหม่มีความสนใจ และความตระหนักรู้ทางการเมืองมากขึ้น ก็ดูจะเป็นค่านิยมที่น่าชื่นชมในสังคมสมัยใหม่นี้ เพียงแต่ว่า ประเด็นปัญหาคงไม่ใช่เรื่องส่วนนี้ หากแต่เป็นข้อกังวลจากคนจำนวนมาก เนื่องจากเวทีการเมือง โดยเฉพาะที่เป็นระดับประเทศ ย่อมมีผลกระทบที่อาจไม่คาดคิดตามมาก็ได้ โดยต้องไม่ลืมว่า น้องเก้าที่อายุ 10 ขวบ นี้ยังไม่นับว่าเป็นเยาวชน (อายุ 15-20 ขวบ) เสียด้วยซ้ำ
ยิ่งในยุคที่เต็มไปด้วย digital footprint ทุกอย่างที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมีโอกาสสูงที่จะอยู่ไปอีกนาน และเราก็คงปฏิเสธความจริงอันโหดร้ายไม่ได้ ว่าประเด็นการเมืองเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในประเทศไทย ไซเบอร์บูลลี่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เด็กอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรืออาจเลยเถิดไปสู่การเฝ้าจับตาสืบค้นข้อมูลของบุคคลโดยภาครัฐ ผู้มีอำนาจ หรือใครก็ตามที่ไม่ประสงค์ดี สิ่งพวกนี้เป็นบางอย่างที่นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อสู้และเผชิญอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราคงไม่ใสซื่อขนาดจะเชื่อได้ว่า คนเหล่านี้จะมีข้อยกเว้นเพียงเพราะเห็นว่าเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ
นี่คือความโหดร้ายที่น่ากลัว
จึงไม่แปลกที่จะมีผู้แสดงความเป็นห่วงในกรณีลักษณะนี้
ข้อกังวลยังมีอีกหลายอย่าง อาทิ หากในสังคมของน้องไม่ได้ต้อนรับความเห็นที่แตกต่าง หรือการมีชื่อเสียงในเส้นทางนี้ตั้งแต่อายุเพียงเท่านี้ อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับความยุ่งยากในการดำเนินชีวิต มันจะเป็นผลกระทบที่ตามมาอย่างหนีไม่พ้น
เมื่อเรามีกรณีตัวอย่างทั้ง ‘คชโยธี’ เยาวชนช่วยชาติ ที่ปัจจุบันไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็ดูเหมือนจะมีมือดีเอารายละเอียดชีวิตของคชโยธีมาเปิดเผยอยู่เรื่อยๆ หรือ ‘น้องหยก’ เด็กอายุ 14 ย่าง 15 ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และดูเหมือนว่าจะติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ ทำให้ต้องอยู่ด้วยตนเองเพียงลำพัง บ้านหลังที่สองอย่างโรงเรียน ก็แสดงออกชัดเจนว่าไม่ต้อนรับน้อง ถึงขนาดเดินเรื่องขอให้น้องย้ายโรงเรียน ไม่ว่าเราจะมีความเห็นทางการเมืองแบบไหน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับสิ่งที่คชโยธีและหยกแสดงออก คำถามสำคัญคือ สังคมเราไม่สามารถมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ และเยาวชนได้แสดงความเห็นทางการเมืองเชียวหรือ เราดูเป็นสังคมที่คับแคบอยู่เหมือนกันนะ
ด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกัน ไม่แปลกที่จะมีคนเป็นห่วงน้องเก้า และมองว่าเด็ก 10 ขวบนั้นเร็วเกินไปที่จะพร้อม หรือให้ความยินยอมที่จะรับมือกับผลกระทบที่ตามมา ผู้ปกครองของน้องควรคิดให้ถี่ถ้วนมากกว่าหรือไม่ นี่ควรเป็นประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็ก ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวด้วยมั้ย
ถึงอย่างนั้น อีกด้านหนึ่งของความเห็นในสังคม ก็กลับไปสู่คำถามสำคัญเมื่อสักครู่นี้ แล้วเวทีการเมือง โดยเฉพาะบนเวทีอย่างพรรคก้าวไกลที่ชูความเป็นหัวก้าวหน้าเสรีนิยม เวทีลักษณะนี้ก็ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นเวทีที่ไม่ว่าใคร จะเด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ก็ควรมีสิทธิในการแสดงความเห็นหรือไม่ นี่ควรจะเป็นมาตรฐานของสังคมประชาธิปไตยขนานแท้รึเปล่า เพราะถ้าไม่ใช่เวทีที่แห่งนี้ จะมีพื้นที่ที่ไหนอีกถึงจะอนุญาตให้เด็กๆ ได้แสดงความเห็นทางการเมืองแบบนี้ได้
ทีนี้ ความเห็นส่วนตัวของผมมองว่า ขอให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า เราไม่พึงคิดว่าเด็กต่ำกว่า 18 เป็นกลุ่มคนไม่มีวุฒิภาวะ หรือไม่มีวิจารณญาณที่ดีพอหรอกนะครับ แต่มันมีเหตุผลบางอย่าง ว่าทำไมเราถึงอนุญาตให้คนที่อายุ 18 ขึ้นไปเท่านั้นถึงมีสิทธิเลือกตั้ง
หากเราต้องการรักษาบรรยากาศของการสนับสนุนความกว้างขวางและหลากหลายทางความคิด ด้วยความไม่เดียงสาของเด็กๆ และเยาวชน เราต้องอนุญาตให้พวกเขาค่อยๆ เผชิญกับความท้าทายทางความคิด ได้เฝ้ามองผู้ใหญ่ในสังคม ได้มีความฉงนสนเท่ห์ ได้ตระหนักคิดและเรียนรู้ ได้ก่อร่างสร้างวิจารณญาณ พัฒนาทัศนคติ ตั้งค่าองศาทางความคิดของตัวเองขึ้นมาผ่านพลวัตรของสังคม เป็นกระบวนการที่แม้แต่ผู้ใหญ่จำนวนมาก รวมถึงผู้เขียนเองก็ยังคงต้องศึกษาเรียนรู้ร่วมกันไป เพื่อคงความสุกงอมเชิงตรรกะทางความคิดเอาไว้
ดังนั้นเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มา เด็กและเยาวชนจึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรจะต้องรับผิดชอบคำพูดใดๆ อันเป็นเพียงการแสดงความเห็น ความเชื่อทางการเมืองของตน พวกเขาต้องรอดพ้นจากความรับผิดชอบเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่การมีความเห็นทางการเมืองในประเด็นเรื่องใหญ่ๆ ในประเทศอย่างเรื่องรัฐบาล รัฐสภา รัฐธรรมนูญ ฯลฯ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องราวต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เช่น พวกเขาย่อมมีสิทธิสงสัยว่าทำไมต้องยืนตรงเคารพธงชาติ ชาติคืออะไร ชาตินิยมเป็นยังไง เพลงสรรเสริญในโรงหนังมาจากไหน ทำไมต้องสวดมนต์ก่อนขึ้นห้องเรียน ศาสนาคืออะไร หรือจะเป็นประเด็นยิบย่อยทั่วไป ทำไมกางเกงขายาวถึงสุภาพกว่าขาสั้น ซึ่งยกเว้นชุดนักเรียนและกางเกงยีน ขณะที่ชุดนักเรียนผู้หญิงดูจะมีประโยชน์ใช้สอยได้น้อยเสียเหลือเกิน ใครกันเป็นคนออกแบบ ทำไมห้ามใช้เครื่องคิดเลขแทนที่จะสอนวิธีใช้ ทำไมห้ามเด็กพูดคำหยาบแต่ผู้ใหญ่ก็พูดกันเป็นปกติ แล้วโลกนี้มีคำหยาบไปทำไม หรือเราควรสอนเขาให้รู้จักวิธีใช้คำหยาบตามกาละและเทศะ ไหนจะเรื่องเพศศึกษา ฯลฯ
เพราะเช่นนั้น การที่พวกเขาได้มีพื้นที่บนเวทีการเมืองขนาดใหญ่ อันจะตามมาด้วยความรับผิดชอบ และผลกระทบที่พอสมควร สิ่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่สีเทาที่สังคมต้องใส่ใจอย่างยิ่ง ส่วนตัวผมคงยินดีเห็นน้องเก้าได้มีพื้นที่แสดงออกเช่นนี้ในช่วงเวลาที่สังคมได้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริงเสียก่อน
เพื่อความปลอดภัยของน้อง
และเพื่อตอกย้ำถึงความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ในสังคม
จริงอยู่ บนโลกนี้เรามีตัวอย่างนักเคลื่อนไหวอายุน้อยมากมาย เช่น ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักกิจกรรมจากบ้านสวนกง หรือเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) และชิเย บัสติดา (Xiye Bastida)สองนักกิจกรรมวัยเยาว์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ขอให้เราตระหนักคิดดีๆ ว่าการได้เห็นนักกิจกรรมในวัยเด็ก มันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้ใหญ่ในสังคมล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาบางอย่าง หรือสร้างสังคมที่ดีไว้ให้พวกเขา บีบให้พวกเขาต้องออกมาเรียกร้องบางอย่างเพื่ออนาคตของพวกเขาใช่หรือไม่
เราจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองเด็ก และเยาวชนก็ด้วยเหตุผลทั้งหลายที่กล่าวมา และเราก็ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นจรรยาบรรณสื่อ บางสำนักนำเสนอเรื่องของน้องให้ผู้คนได้ทั้งเห็นหน้า ชื่อจริง และโรงเรียน โดยลืมไปรึเปล่าว่าน้องยังเป็นเด็กอายุ 10 ขวบอยู่ ขอบเขตในการนำเสนอข่าวคืออะไรกันแน่
โดยสรุปผมชื่นชมน้องเก้ามาก และหวังว่าน้องจะดำเนินเส้นทางชีวิตไปในทางการเมือง ถ้านั่นเป็นหมุดหมายชีวิตที่น้องใฝ่ฝัน อยากให้น้องได้มีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างปลอดภัย ขณะที่ผมคงอดแสดงความเป็นห่วงไม่ได้ บางทีอาจเพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยอ่อนโยนกับใคร
ทั้งนี้น้องเก้ายังมีเวลาให้ได้ตั้งคำถามและหาคำตอบ เพื่อเตรียมพร้อมในการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมนี้ และมันไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด หากวันหนึ่งน้องจะเลือกเปลี่ยนความคิดตามความเหมาะสม นั่นก็คือวิจารญาณตามวุฒิภาวะ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมยังคงเชื่ออย่างถึงที่สุด ว่าความรับผิดชอบทางการเมืองควรตกเป็นของผู้ใหญ่ในสังคม ก่อนที่เราจะส่งถึงมือเด็กรุ่นใหม่
อ้างอิงจาก