ตอนเด็กๆ เราแค่แข่งสะกดคำ ครอสเวิร์ด ว่ายน้ำ เล่นไวโอลิน กวาดถ้วยรางวัลมาเป็น 10 ก็นับว่าเป็นคนเก่งของพ่อแม่แล้ว แต่พอโตมา เราก็ไม่ได้สานต่อสิ่งเหล่านั้น กลายเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีความสามารถพิเศษอะไรเลย มันก็เศร้าเหมือนกันนะ
ในวัยผู้ใหญ่ ไม่แปลกที่เราจะชอบมีความคิดประมาณว่า ‘ทำไมเราถึงไม่เก่งอะไรเลย’ เข้ามาในหัว เครื่องดนตรีที่เคยเรียนมาตอนเด็กก็ถูกวางทิ้งไว้จนฝุ่นจับหมดแล้ว ถึงจะปัดฝุ่นมาลองเล่นอีกครั้ง ก็เล่นได้อยู่ไม่กี่เพลง เหรียญทองที่ได้จากการแข่งแชร์บอลถูกแขวนไว้หน้าทีวีที่บ้านพ่อแม่ก็ซีดหมองไปพร้อมกับความสามารถทางร่างกาย ที่ตอนนี้แม้แต่วิ่งตามรถไอศกรีมก็ยังหอบแฮ่ก
ยิ่งมองดูและเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เก่งกว่ายิ่งชวนให้ท้อใจ เพื่อนสมัยประถมคนนั้นที่เต้นเก่งมาก ได้อยู่หน้าเวทีตลอด ตอนนี้กลายเป็นดาว TikTok คนดัง ส่วนหนุ่มนักว่ายน้ำที่เคยจีบเราตอนมัธยม ก็ไปเป็นตัวแทนทีมชาติซะแล้ว มีแต่เราที่ไม่มีความพิเศษอะไรเลย ไม่รู้จะเขียนอะไรลงไปในช่องความสามารถพิเศษในใบสมัครงานด้วยซ้ำ
เรื่องราวของเด็กอัจฉริยะ ผู้ใหญ่ และเด็กธรรมดาคนอื่น
“ความเด่นดังมันจะอยู่กับเราแค่ช่วงเวลาหนึ่งแหละ สมัยเด็กเราเรียนคาราเต้ เรียนว่ายน้ำ แล้วก็ลงแข่งมันทุกรายการ คาราเต้ก็ได้ไปแข่งระดับจังหวัด ว่ายน้ำก็เหรียญคล้องอยู่ที่บ้านเต็มเลย ถึงตอนนั้นจะไม่ได้อยากเด่นดังนะ แต่ก็มีสาวมากรี๊ดเต็มไปหมด มันทำให้เรารู้สึกพิเศษ กล้าแสดงออก ภาคภูมิใจ แต่ตอนนี้ด้วยหน้าที่ในชีวิตก็ไม่ได้สานต่อ คาราเต้ตอนนี้นะ ลืมไปหมดแล้ว ให้ต่อยตีกับใครก็คงเป็นมวยวัด หรือว่ายน้ำก็คงไม่ได้มีใครมากรี๊ดแล้ว (หัวเราะ) พอถอดความสามารถอะไรพวกนี้ออกไป เราก็กลายเป็นคนธรรมดาคนนึง” – ซาโต้, 27 ปี
“ตอนประถมเราสอบได้ที่ 1 ตลอด ครูทุกคนรักเรา ผู้ใหญ่ทุกคนชื่นชม แต่มันก็แค่โลกใบเล็กแหละเนอะ ทีนี้พอเราเข้ามัธยม โลกมันใบใหญ่ขึ้นไง จากที่ 1 กลับกลายเป็นรองโหล่ ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เรามันก็คนธรรมดาคนนึง เราไม่ได้เก่งที่สุดเหมือนเดิมแล้ว แต่สิ่งที่เจ็บปวดคือการที่เราได้รู้ว่าโลกนี้สนใจแต่คนเก่ง คนพิเศษ คนมีความสามารถ ช่วงมหาลัยเราเลยพยายามใหม่อีกครั้ง ล้มลุกคลุกคลานอยู่เหมือนกัน ตอนนี้ไม่รู้นะว่าเก่งหรือยัง แต่ก็ได้มาอยู่ในจุดที่พอใจแล้วแหละ” – เค, 28 ปี
ไม่ว่าใครก็ดีใจกับการที่เด็กคนหนึ่งมีความสามารถอะไรบางอย่างก่อนเด็กคนอื่น เด็กที่อ่านหนังสือเป็นเล่มออกตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน หรือเด็กที่เล่นเปียโนเป็นเพลงได้ก่อนที่จะพูดได้เสียอีก มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) นักข่าวชาวแคนาดาที่เคยเป็นแชมป์วิ่งอนาคตไกลในวัยเด็ก หลังจากที่เขาพ่ายแพ้ในวัย 15 ปี เขาก็ล้มเลิกความตั้งใจในการวิ่ง แต่เมื่อกลับมาตั้งใจวิ่งอีกครั้งในช่วงมหาวิทยาลัย เขาก็พบว่าตัวเขาเองไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง
และเขาได้ให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า ผู้ใหญ่มักจะคิดว่าการที่เด็กคนหนึ่งมีความสามารถพิเศษอะไรขึ้นมาก่อนเวลา นั่นคือสัญญาณของการเติบโตขึ้นเป็นคนเก่ง แต่นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ซึ่งแกลดเวลล์ ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่าความสำเร็จของเด็กที่มีพรสวรรค์ในการเรียนรู้กับผู้ใหญ่ที่มีพรสวรรค์จากการลงมือทำเองนั้นแตกต่างกัน การที่เขาคว้าเหรียญแข่งขันวิ่งในวัยเด็กมานับไม่ถ้วน ไม่ได้การันตีว่าโตขึ้นมาเขาจะเป็นนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จ
มีงานศึกษาที่เก็บข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กว่า 200 คน พบว่ามีแค่ 34% ของพวกเขาเท่านั้นที่มีความสามารถพิเศษบางอย่างก่อนใครในสมัยเด็ก และอีกเหตุผลที่จะมาสนับสนุนคือคนอัจฉริยะในประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้มีวัยเด็กที่โดดเด่น อย่างเช่น นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) ที่เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักนิติศาสตร์ หรือ แรมบรังด์ ฟาน แรยน์ (Rembrandt van Rijn) ศิลปินคนสำคัญของประวัติศาสตร์ยุคบาโรค แม้แต่ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) นักฟิสิกส์ที่ทำให้เราต้องปวดหัวกับทฤษฎีบททวินามในช่วงมัธยม เขาเหล่านี้ไม่ได้มีช่วงวัยเด็กที่โดดเด่นไปกว่าใคร
แกลดเวลล์ยังบอกอีกว่า การที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความสามารถพิเศษก่อนใครนี่แหละ ที่ทำให้เด็กคนอื่นกลายเป็นเด็กธรรมดา เพราะการที่เด็กคนหนึ่งได้รับความสนใจมากกว่า จะสร้างบรรยากาศที่ทำให้เด็กคนอื่นรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาทั่วไป จะพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถเป็นได้อย่างเด็กดาวเด่นคนนั้นหรอก อย่างตัวเขาเองในวัย 13 ที่ถูกผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกว่าใครเพราะความสามารถในการวิ่งของเขา ก็ทำให้เด็กคนอื่นยอมแพ้ที่จะวิ่งให้ได้เร็วเท่า ซึ่งใครจะรู้ว่าถ้าเหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้น เด็กคนอื่นถูกให้กำลังใจว่าพวกเขาเองก็เป็นนักวิ่งได้ จะมีนักวิ่งที่จะประสบความสำเร็จในอีก 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นมาบนโลกนี้อีกกี่คน
ไม่เห็นเป็นอะไร ถ้าเราเป็นคนธรรมดา
ถ้าในวันนี้เรากลายเป็นคนธรรมดาแล้วก็ไม่เป็นไร ซาโต้ (พ่อหนุ่มนักว่ายน้ำและคาราเต้ที่เราสัมภาษณ์ไว้ด้านบน) เองก็บอกเอาไว้ว่า ถึงตอนนี้จะไม่มีใครมากรี๊ดตอนเขาว่ายน้ำอีกต่อไปแล้ว แต่สกิลการว่ายน้ำของเขาก็จะติดตัวเขาไปตลอด เขายังใช้มันในการว่ายลดน้ำหนัก หรือถ้าสักวันเขาเผลอก้าวขึ้นเรือข้ามฟากพลาดจนพลัดตกน้ำไป เขาก็จะเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำได้
การจะเก่งกับเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าต้องใช้เวลา แรงกายแรงใจ แต่ก็ใช่ทุกคนจะมีเหลือเฟือนี่นะ ทุกวันนี้เราหมดเวลา หมดแรงกายแรงใจไปกับการทำงานแล้ว การจะเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความสุขกับการนอนฟังเพลง เล่นกับแมว รดน้ำต้นไม้ ก็โอเคแล้ว
ทำอะไรที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข เราไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าใครก็ได้ ลองหัวเราะให้กับความสามารถพิเศษที่ดูเหมือนไม่พิเศษเลยของเราเอง อย่างการยืนรอคิวร้านบุฟเฟต์ได้สองชั่วโมงโดยไม่ท้อใจ หรือการหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วว่าดาราในข่าวลือคือใคร ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เรารู้สึกว่า ‘เราก็เก่งเหมือนกันนี่’
สิ่งสำคัญคือการไม่ซ้ำเติมตัวเองว่าเราเป็นคนธรรมดา ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแล้วรู้สึกน้อยใจ เราสามารถเปรียบเทียบเพื่อเป็นแรงบันดาลใจได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบมากจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียกับใจเรา โอบกอดการเป็นคนธรรมดาและอยู่กับมันอย่างมีความสุข
หรือที่จริงแล้วเราอาจมีพรสวรรค์เป็นปรมาจารย์ไทเก๊กก็ได้นะ แค่เรายังไม่เคยลองไปรำไทเก๊กเท่านั้นเอง
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Proofreader: Runchana Siripraphasuk