[เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ Game of Thrones ในตอน Beyond the Wall]
ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2560 ผมประหลาดใจกับตัวเองมากที่ได้พบเห็นเรื่องสามเรื่องที่ดูเผินๆ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่กลับพ้องพานกันได้ในความรู้สึกของตัวเองจนน่าแปลกใจ
เรื่องแรกเริ่มขึ้นเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาและได้เห็นดราม่าเรื่องซอสพริกอันพิสดารอลังการ / จากนั้นก็ได้เห็นข้อถกเถียงของสองศรีพี่น้องแห่ง Game of Thrones อย่าง ซานซ่า และอาร์ย่า สตาร์ค ในตอนที่ชื่อว่า Beyond the Wall ที่เพิ่งฉายในวันนั้น / และสุดท้าย, เมื่อไปดูหนังเรื่อง I Am Not Your Negro ในช่วงเย็น ก็ได้เห็นการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนผิวดำที่ถูกเรียกว่า ‘นิโกร’ ผ่านบุคคลสำคัญสองคน คือมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และมัลคอล์ม เอ็กซ์ ที่มีแนวทางต่างกันสุดขั้ว
ไม่น่าเชื่อ – สามเรื่องนี้มีอะไรบางอย่างเหมือนกันอย่างน่าประหลาด
แต่มันคืออะไร?
พี่น้องสองสาวตระกูลสตาร์ค : ระหว่างกลัวกับโกรธ – คุณจะเลือกอะไร?
“Sometimes anger makes people do unfortunate things.”
“บางครั้ง ความโกรธก็ทำให้คนเราทำเรื่องที่ไม่น่าทำได้”
ซานซ่า สตาร์ค ผู้เป็นพี่สาวบอกกับอาร์ย่า – น้องสาวอย่างนั้น เมื่ออาร์ย่าค้นพบข้อความในจดหมายของซานซ่า และโกรธจัด
ต้องย้อนเรื่องให้ฟังเล็กน้อยนะครับ ว่าทำไมอาร์ย่าถึงต้องโกรธด้วย
จดหมายนั้นเป็นจดหมายที่ซานซ่าเขียนขึ้นตั้งแต่ซีซัน 2 โน่นแน่ะครับ ถ้าให้เล่าแบบคร่าวๆ ก็คือตอนนั้น เน็ด สตาร์ค พ่อของสองสาวถูกตัดสินประหารชีวิตโดยมีตระกูลแลนนิสเตอร์วางแผนอยู่เบื้องหลัง อาร์ย่าเลือกที่จะหนี แต่ซานซ่าหนีไม่ได้ เธอเลยตกอยู่ในเงื้อมมือของ เซอร์ซี แลนนิสเตอร์
เซอร์ซีบังคับให้ซานซ่าเขียนจดหมายนี้ขึ้นเพื่อส่งไปให้ร็อบ สตาร์ค ผู้เป็นพี่ชายของเธอ เป็นการหลอกล่อให้ร็อบ สตาร์ค เดินทางมายังเมืองหลวง
จดหมายนั้นมีข้อความประมาณว่า เอาเข้าจริงแล้ว เป็นพ่อของเธอ (คือเน็ด สตาร์ค) นั่นแหละ ที่วางแผนสมคบคิดไม่ให้ จอฟฟรีย์ แลนนิสเตอร์ เป็นกษัตริย์ แต่ถูกจับได้เสียก่อน ซานซ่ายังเขียนบอกด้วยว่า ตระกูลแลนนิสเตอร์ดูแลเธอเป็นอย่างดี ให้ทุกอย่างที่เธอต้องการ เธอจึงวิงวอนให้เขามาที่เมืองหลวง เพื่อมาถวายความจงรักภักดีต่อกษัตริย์จอฟฟรีย์ ผู้เป็นสามีของเธอ เพื่อไม่ให้เกิดความร้าวฉานระหว่างตระกูลแลนนิสเตอร์และตระกูลสตาร์ค
รายละเอียดอื่นๆ (เช่นว่า อาร์ย่ามาอ่านจดหมายนี้ได้อย่างไร) ขอเชิญไปทัศนาจากซีรีส์เอานะครับ เพราะประเด็นที่ผมอยากพูดถึง คือการตอบโต้ระหว่างอาร์ย่ากับซานซ่า
ซานซ่าบอกอาร์ย่าว่า “Sometimes anger makes people do unfortunate things.” ก็เพราะเธอรู้ว่าอาร์ย่ากำลังโกรธจัด และความโกรธก็อาจทำให้อาร์ย่าทำอะไรก็ได้
ความโกรธของอาร์ย่า ก็คือความโกรธของการเห็นคนที่ ‘คล้ายว่าจะอยู่ฝั่งตัวเอง’ (ในที่นี้เป็นถึงพี่น้องร่วมสายเลือดของตัวเองด้วยซ้ำ) กลับเขียนจดหมายที่มีเนื้อหา ‘เห็นด้วยกับศัตรู’
แม้ซานซ่าพยายามอธิบาย แต่อาร์ย่าก็ไม่รับฟังว่าซานซ่ากำลังถูกจับเป็นตัวประกัน และนั่นคือวิธีต่อสู้อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน เป็นการต่อสู้เพื่อให้เธอมีชีวิตรอด เธอจึงต้องยอมทำตามที่เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ บอกไปก่อน
แม้กระทั่งร็อบ สตาร์ค เอง – เมื่ออ่านจดหมายก็ยังรู้ว่าเป็นกลยุทธ์ในการศึกอย่างหนึ่ง แต่อาร์ย่าไม่, เธอตรงไปตรงมา เด็ดขาด และเลือกที่จะโกรธ…เลือกที่จะใช้ความรุนแรงทางตรงในการล้างแค้น
ดังนั้น เธอจึงยอมรับไม่ได้ที่เห็นซานซ่า ‘เคย’ เขียนอะไรแบบนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหนก็ตาม อาร์ย่าบอกว่า ในขณะที่เธอยืนอยู่ในฝูงชนด้านล่างของตะแลงแกง มองดูพ่อของตัวเองถูกตัดหัว ซานซ่ากลับยืนอยู่ในหมู่ศัตรู หรูหราด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับ แล้วยังยินยอมเขียนจดหมายฉบับนี้ในวัยที่โตพอสมควรแล้วด้วย
เมื่อซานซ่าบอกอาร์ย่าด้วยประโยคนั้น อาร์ย่าจึงตอบกลับไปอย่างเจ็บแสบว่า
“Sometimes fear makes them do unfortunate things,”
“บางครั้งเป็นความกลัวต่างหาก ที่ทำให้คนเราทำสิ่งที่ไม่น่าทำ”
โดยเธอเสริมด้วยว่า “I’ll go with anger.” หรือ “ถ้าเป็นฉัน ฉันจะเลือกความโกรธ”
วิธีของซานซ่าคืออดทน เฝ้ารอช่องว่างและจังหวะที่จะหนี แล้วค่อยย้อนกลับไปแก้แค้นทีหลังด้วยวิธีที่ที่ซับซ้อน แน่นอน ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วยความกลัว แต่ในเมื่อยังทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องใช้เวลารอคอย
ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นไปได้ด้วยว่า ระหว่างรอคอยนั้น ซานซ่ามีโอกาสได้เห็น ‘ตัวตน’ ของพวกแลนนิสเตอร์ ซึ่งไม่ได้มีแต่ความชั่วร้าย แต่ยังมีความเป็นมนุษย์แบบเดียวกับเธอและมนุษย์คนอื่นๆ ในโลกที่ต่างก็มีกันหลายด้านด้วย
อย่างไรก็ตาม วิธีการของอาร์ย่าเป็นตรงข้าม เธอขับเคลื่อนตัวเองด้วยความโกรธ และไม่มีวันเข้าใจได้เป็นอันขาดว่าทำไมซานซ่าถึง ‘กลัว’ ขนาด ‘ยอม’ เขียนจดหมายนั้นขึ้นมา เธอถึงกับบอกซานซ่าว่า ถ้าเป็น ‘น้องลูกหมี’ หรือลีอานา มอร์มอนต์ ที่อายุน้อยกว่าซานซ่ามาก ก็จะไม่มีวันทำอะไรแบบนั้น
ที่จริงแล้ว เป้าหมายของทั้งอาร์ย่าและซานซ่านั้นเหมือนกัน คือการโค่นล้มแลนนิสเตอร์ ดังนั้น คำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องของ ‘วิธีการ’ ที่ใช้ ซึ่งวิธีการก็มาจากวิธีคิดนั่นเอง ฝั่งหนึ่งมองว่าอีกฝั่ง ‘กลัว’ หรือ ‘ยอม’ มากเกินไป ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มองว่าอีกฝั่ง ‘โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง’ จนยอมอะไรไม่ได้เลย – มากเกินไป
เป็นคุณ – คุณจะเลือกอยู่ฝั่งไหน,
ซานซ่าหรืออาร์ย่า?
วิธีต่อสู้ของ ‘นิโกร’
ผมไปดูหนังเรื่อง I Am Not Your Negro ในตอนค่ำวันเดียวกัน หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นจากหนังสือ Remeber This House ซึ่งเป็นหนังสือของ เจมส์ บอลด์วิน แต่เป็นหนังสือที่เขียนไม่จบ
ที่เขาเขียนไม่จบ ก็เพราะเขาสะเทือนใจมากเกินไปต่อการจากไปของ ‘เพื่อน’ สามคนของเขา คือเม็ดการ์ เอเวอร์ส (คนนี้ผมจะไม่พูดถึงในที่นี้นะครับ), มัลคอล์ม เอ็กซ์ (ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆ ว่า MX ก็แล้วกันนะครับ) และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆ ว่า MLK ครับ)
ทั้ง MLK และ MX นั้น เป็นนักต่อสู้ผิวดำ (ที่ถูกเรียกในยุคนั้นว่า ‘นิโกร’) ที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสังคมอเมริกันก็ว่าได้
เป้าหมายของทั้งคู่เหมือนกัน คือการปลดปล่อยคนดำออกจากสังคมคนขาว ทว่า ‘วิธีการ’ ที่เลือกใช้ (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) กลับแตกต่างกันสุดขั้ว
MLK เติบโตมาในครอบครัวคนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษามาอย่างดี เขามีแนวคิดต่อต้านการใช้ความรุนแรงมาตลอด เขายืนหยัดในจุดยืนนี้แม้เมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงทางตรง คือการทำร้ายร่างกาย ก็ไม่เคยตอบโต้ด้วยความรุนแรงเลย
ส่วน MX เติบโตมาในครอบครัวอีกแบบ เป็นครอบครัวด้อยโอกาส เขาแทบไม่ได้เข้าโรงเรียน คำพูดโด่งดังของ MX ก็คือ By any Means Necessary หรือจะใช้ ‘วิธีการที่จำเป็น’ ใดๆ ก็ได้ในการต่อสู้ นั่นหมายรวมถึงการใช้ความรุนแรงตอบกลับแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เขาเชื่อในการต่อสู้ทางร่างกาย ดังนั้น เพื่อจะให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ เขาจึงยอมทำทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ก็ตาม
ในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ตอนนั้นมีคนเข้าร่วมถึงราวสองหมื่นคน เป็นการเดินขบวนที่ถือเป็นความสำเร็จของ MLK ผู้ต้องการให้เกิดการ ‘รวมกัน’ (Integration – ไม่ใช่ Segregation) ระหว่างคนดำกับคนขาว คือไม่แบ่งแยกกันอีกต่อไป การเดินขบวนในวันนั้นเป็นไปด้วยดี แม้มีความรุนแรงเกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐ แต่ MLK ก็ยังย้ำเรื่องการหยุด ‘ความเกลียด’ และความรุนแรงระหว่างกัน
แต่ MX กลับมีมุมมองต่อการเดินขบวนนี้ที่ต่างออกไป เขารู้สึกว่าความพยายามไม่แบ่งฝ่ายและไม่เลือกข้าง คือมีการรวมกันระหว่างคนผิวสีต่างๆ นั้น จะทำลายทั้งคนดำและคนขาว เขาคิดว่าคนผิวดำควรจะหันมาโฟกัสเรื่องช่วยเหลือกันเองมากกว่า ไม่จำเป็นต้องไปรวมอะไรกับคนขาว ต้องเป็นคนดำนี่แหละ ที่เคารพตัวเอง และต่อสู้ยืนหยัดด้วยตัวเองเสียก่อน
สุนทรพจน์สำคัญก้องโลกของ MLK คือสุนทรพจน์ที่มีชื่อว่า I Have a Dream แต่ MX ผู้เชื่อว่าควรแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดก็ได้ (By any Means Necessary) กลับรู้สึกว่า Dream ของ MLK แท้จริงแล้วคือ Nightmare หรือฝันร้าย
MLK เลือกจะต่อสู้กับคนที่โหดเหี้ยมกับเผ่าพันธุ์ของตัวเองด้วยอาวุธที่เรียกว่า Weapons of Love เขาใช้วิธีต่อต้านเชิงรับ (Passive Resistance) เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่ MX ไม่เคยไว้วางใจคนขาว เขาต่อสู้ด้วยวิธีการเดียวกับคนขาวบางกลุ่ม นั่นคือการใช้วิธีคิดแบบ Segregationism หรือการแบ่งแยก ไม่ต้องมาอยู่ด้วยกันก็ได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกับคนขาวด้วย
เมื่อดูหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกเจ็บปวด
ใช่ – อย่างหนึ่งก็คือเจ็บปวดกับความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำกับมนุษย์ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เจ็บปวดที่กระทั่งในการต่อสู้ที่มีเป้าหมายร่วมเดียวกัน มนุษย์ก็ยังเลือกวิธีการผ่านวิธีคิดที่สามารถแตกต่างกันได้สุดขั้ว
หรือว่า – นี่แหละ, คือธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์?
ถ้าคุณถามผม – ว่าในสถานการณ์ที่สุดขั้วรุนแรงขนาดนั้น, ผมจะเลือกต่อสู้ด้วยวิธีไหน วิธีแบบ MLK ที่แลดูสงบสันติ หรือวิธีแบบ MX ที่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง เอาเข้าจริง – ผมก็อาจตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ
ผมจึงอยากถามคุณกลับ – แล้วคุณล่ะครับ เป็นคุณ, คุณจะเลือกอยู่ฝั่งไหน
MLK หรือ MX?
ปรากฏการณ์ซอสพริก
เช้าวันนั้น ผมตื่นขึ้นมาพบดราม่าเรื่องซอสพริก พบว่ามันลุกลามไปไกลกระทั่งกลายเป็นวิวาทะของคนที่อยู่ต่างแดน (อ่านเรื่องราวโดยสรุปได้ที่ www.facebook.com/thematterco)
หลายคนมองว่า ดราม่าเรื่องซอสพริกเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง เป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว ทะเลาะกันด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง แต่ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น
ผมคิดว่านี่คือเรื่องใหญ่ นี่คือเรื่องที่เป็น ‘แกนกลาง’ ของการต่อสู้ใหญ่ๆ ทั้งหลายทั้งปวง
อาร์ย่ากับซานซ่าขัดแย้งกัน และอาจมีแนวโน้มถึงขั้นแตกหักทั้งที่เป็นพี่น้องที่รักกันมาก – ก็เพราะความต่างของวิธีคิดแบบนี้
MLK กับ MX แม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ทั้งสองคนเลือกวิธีการที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว – ก็เพราะความต่างของวิธีคิดแบบนี้
เรื่องซอสพริกก็คล้ายกัน
เปล่า – ไม่ได้คล้ายเพราะฝั่งไหนเลือก Anger หรือ Fear หรือฝั่งไหนเลือกวิธีการรุนแรงหรือสันติวิธีหรอกนะครับ แต่ที่คล้ายกันก็คือ แม้มีเป้าหมายร่วมกัน แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ เราจึงต่างมีวิธีต่อสู้ที่หลากหลายได้ไม่รู้จบ
ไม่มีใครจำเป็นต้องคิดและทำเหมือนใครหรอกนะครับ วิธีคิดและอุดมคติที่เป็นฐานให้แต่ละคน ทำให้แต่ละคนสามารถเลือกวิธีการของตัวเองได้สารพัด ถ้าเข้าไปดูในเว็บ dictatorwatch.org (ดูได้ที่นี่ www.dictatorwatch.org) คุณจะพบว่า เว็บนี้ประมวลวิธีการต่อสู้หลักๆ ของขบวนการต่อสู้ทางสังคมสมัยใหม่ (Modern Activism) เอาไว้ตั้ง 13 แบบแน่ะครับ แล้วนี่แค่วิธีหลักๆ นะครับ แสดงว่าจริงๆ แล้ว ยังมีวิธีอื่นได้มากกว่านี้อีก
วิธีการที่ว่ามีอาทิสร้างงานแนวอาสาสมัคร (ซึ่งเราจะพบเห็นได้การทำงานของ NGO ต่างๆ), การเข้าไปทำงานกับชุมชน ชาวบ้าน นักศึกษา ฯลฯ เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ๆ ร่วมกัน (เขาเรียกว่า Grassroots Activism), การเขียนจดหมายร้องเรียนส่งไปยังองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งก็คงนับรวมไปถึง change.org ด้วย)
นอกจากนี้ยังมีการล็อบบี้โดยตรง ซึ่งอาจจะยากหน่อยสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นคนที่มีช่องทางติดต่อสื่อสารหรือมีอำนาจบางอย่างอยู่ในมือ ก็อาจทำได้ อย่างที่เคยเห็นนักวิชาการจำนวนหนึ่งไม่ได้ใช้วิธีลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเผด็จการโดยตรง แต่ใช้วิธี ‘คุย’ อยู่เบื้องหลัง (ซึ่งก็แน่นอนว่าโดนอีกฝั่งหนึ่งด่า)
วิธีอื่นๆ มีอาทิ คนที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องกฎหมาย ก็อาจรวมกลุ่มเป็นทนายความอาสา เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย, การคว่ำบาตรโดยผู้บริโภค (Consumer Boycotts) ซึ่งจะว่าไป การ ‘แบนซอสพริก’ ก็คือวิธีการที่หลายคนเลือกใช้, การเปลี่ยนวิถีการซื้อ เช่นซื้อของผ่านบางองค์กรหรือบางประเทศ แทนที่จะซื้อผ่านบริษัทหรือประเทศที่ถูกคว่ำบาตรตามที่เคยทำมา, การบีบผ่านการลงทุน เช่น รวมตัวกันขายหุ้นของบริษัทที่ไม่มีธรรมมาภิบาลหรือทำอะไรผิดๆ เพื่อให้หุ้นของบริษัทนั้นๆ ตก ไล่ไปจนถึงการเดินขบวนประท้วง การทำอารยะขัดขืนด้วยวิธีต่างๆ หรือไปไกลถึงขั้นก่อกวนหรือสร้างปฏิบัติการกวนเมืองแบบต่างๆ
สำหรับผม – ใครจะเลือกวิธีอะไร หนักหนาหรือบางเบาแค่ไหน, ก็เชิญเลือกได้ตามใจ
สำหรับผม – ใครจะด่าหรือชมคนที่เลือกวิธีไหน หนักหนาหรือบางเบาแค่ไหน, ก็เชิญด่าได้ตามใจ
เพราะทุกอย่างมี ‘ราคา’ ที่จะต้องจ่ายทั้งนั้น
แม้แต่บทความนี้ ผมก็แอบเชื่อของผมว่า ‘ราคา’ ที่ผมจะต้องจ่ายให้ ก็คืออาจมีบางคนลุกขึ้นมาชี้หน้าด่าว่า มันคือข้อเขียนประเภทที่ปรากฏกายภายหลังเหตุการณ์มาล่องลอยทำตัวสูงส่งอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง มันจึงเป็นตัวเลือกที่น่ารังเกียจอีกแบบ ซึ่งก็ต้องบอกว่า – ช่วยไม่ได้จริงๆ นะครับ, ที่วิธีคิดจะส่งผลให้เกิดวิธีทำแบบนี้ออกมา ซึ่งถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็ไม่ได้ต่างจากกระบวนการเกิดวิธีคิดและวิธีทำของคนทั่วไปหรอกครับ
แต่เอาเป็นว่า ถ้าจำเป็นต้อง ‘เลือก’ จริงๆ ผมอาจเลือกเป็นเรื่องๆ ไป
คือถ้าเป็นเรื่องของพี่น้องสองสาวจาก Game of Thrones ผมคงเลือกวิธีการแบบอาร์ย่า คือเลือกให้ Anger ขับเคลื่อน ลุกขึ้นเอาดาบบั่นหัวศัตรูเชือดคอล้างแค้นให้ตายตกไปตามกันโดยไม่ต้องประนีประนอมอะไรใดๆ ทั้งสิ้น
ที่เลือกแบบนี้ เป็นเพราะผมรู้ว่านี่คือละคร นี่คือเรื่องแต่ง นี่คือโลกแห่งความเพ้อฝัน ดังนั้นจึงอยากเลือกสิ่งที่จะให้ลัพธ์ ‘สะใจ’ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อตอบสนองต่อ ‘โลกแฟนตาซี’ ภายในลึกๆ ที่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าขับเคลื่อนไปด้วยความรุนแรง – เหมือนสัตว์โลกทั่วไปที่เติบโตมากับกระบวนการวิวัฒนาการ
แต่ในกรณีของ MLK และ MX ถ้าจะต้องเลือกกันจริงๆ ผมคงเลือกวิธีการแบบ MLK โดยไม่คัดค้านหรือขัดขวาง MX แม้แต่นิดเดียว MX จะเลือกวิธีการอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะเขาถูกกระทำมามากเกินทนแล้ว แต่ถ้าจะต้องบอกอะไรเขา ผมก็จะบอกเขาเพียงว่า ทุกการกระทำของมนุษย์ล้วนมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายทั้งนั้น แต่ถ้าเขาคิดว่ามันคุ้ม – ก็ทำไปเถิด
แต่ที่ผมเลือกวิธีการแบบ MLK ก็เพราะผมตระหนักดีว่า – นี่คือชีวิตจริง นี่คือสถานการณ์ที่จะมีคนบาดเจ็บล้มตายและร่ำไห้เสียใจให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงๆ บาดแผลที่เกิดจากการใส่กันเต็มที่นั้นจะบาดลึก ยาวนาน และยากจะเยียวยา
ดังนั้น – ผมจะไม่มีวันเลือกผลลัพธ์ที่ให้ได้เฉพาะความสะใจเท่านั้น
แค่นี้แหละครับ
อ้าว! คุณอาจจะลุกขึ้นมาถาม – แล้วดราม่าซอสพริกล่ะ ที่เขาเถียงกันๆ กันอยู่น่ะ ถ้าเป็นผม ผมจะเลือกฝั่งไหน
คำตอบที่ผมคิดว่าคงไม่เป็นที่พึงใจ (หรืออาจถึงขั้นเป็นที่น่าถ่มถุยจากทุกฟากข้าง) ก็คือ – (ยัง) ไม่เลือก,
เอาเป็นว่า – ขอให้ใครก็ได้มาจ้างผมชิมซอสพริกเจ้าปัญหาดูก่อนได้ไหมครับ ถ้ารู้แล้วว่าซอสอร่อยแค่ไหน และได้ตังค์เท่าไหร่ – แล้วค่อยตัดสินใจเลือกอีกที!