คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ‘ซินเดอเรลล่า’ หรอกนะครับ แต่ถึงแม้จะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ผมก็คงต้องขอเล่าซ้ำให้ฟังกันอย่างสั้นๆ อีกซักหน เพื่อที่จะเข้าใจตรงกันว่าหมายถึง ‘นางซิน’ คนนี้นะ ไม่ใช่นางซินคนอื่น
นางซินเป็นหญิงสาว (แน่ล่ะ ไม่งั้นใครๆ ก็คงเรียกหล่อนว่า นายซิน) ที่สวยเว่อร์วังระดับนางเอกดังทางช่องหลากสี ประมาณน้องขวัญ อุษามณี เป็นอย่างน้อย แต่นางซินคนนี้เธอเกิดมาอาภัพมากๆ ครับ เพราะ ‘แม่’ แท้ๆ ได้จากเธอไปอย่างไม่มีวันกลับตั้งแต่เธอยังเด็ก ส่วนพ่อของเธอก็ไปคว้าแม่ม่ายลูกติดที่ไหนไม่รู้มาทำเมีย หลังจากแม่ตายไปแล้ว
แน่นอนว่า นัง ‘แม่ม่าย’ ที่มากลายเป็น ‘แม่ใหม่’ ของนางซิน นี่แหละที่เป็นตัวอิจฉาในท้องเรื่อง เพราะลูกติดของคุณแม่คนใหม่ของเธอเองก็เป็นผู้หญิง แต่ความสวยห่างชั้นจากนางซินไปหลายสิบเบอร์ จนไม่น่าเอามาเทียบเปรียบกับนางซิน ที่สวยระดับน้องขวัญ อุษามณีได้ แถมลูกติดของแม่ใหม่คนที่ว่ายังไม่ได้มีคนเดียว แต่มีพ่วงเป็นแพ็คคู่สองคนแบบซื้อหนึ่งแถมอีกหนึ่ง โดยไม่ได้ถามนางซินเลยว่า นางอยากได้หรือเปล่า?
ดังนั้นนางซินคนที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้คือนางซินคนเดียวกับที่ วอลต์ ดิสนีย์ เขาเอามาปั้นจนกลายเป็นอีกหนึ่งเจ้าหญิงคนงามในค่ายของเขาจริงๆ นะครับ ไม่ใช่นางซินจากค่ายของช่องหลากสีแถวๆ นี้ (จริงจริ๊งงง!)
นังแม่ใหม่คนนี้ก็ย่อมต้องรักลูกในไส้ของตนเองทั้งสองหน่อมากกว่า นางซิน ที่เป็นลูกนอกไส้ แต่แค่รักน้อยกว่าก็ยังพอทำเนา นังแม่เลี้ยงใจร้ายยังทั้งโขกสับให้นางซินหาเงินเลี้ยงครอบครัว เอ๊ย! ผิดๆ ทำงานบ้านเยี่ยงทาสอยู่คนเดียว ส่วนเธอกับลูกสาวทั้งสองก็นั่งกระดิกตีนวางท่าชิคๆ คูลๆ อยู่ในบ้านเยี่ยงคุณนาย กับคุณหนู ไม่ต้องทำงานทำการแบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในละครโทรทัศน์ของบ้านนี้เมืองนี้แหละนะครับ
แต่ยังครับ เท่านี้ชีวิตของนางซินยังพังไม่มากพอ เพราะอยู่ดีๆ พ่อแท้ๆ ที่เธอรักมากมาย ก็มาล้มหายตายจากไปอีกคนมันซะอย่างนั้น ทีนี้ก็เข้าทางนังแม่เลี้ยงใจร้าย กับพี่สาวใจทรามทั้งสองคนเลยแหละ ทั้งโขกสับนู่นนี่นั่น ที่ใช้งานเยี่ยงทาสอยู่แล้ว คราวนี้เลยยิ่งใช้งานจนถึงขั้นที่เรียกว่าทาสอื่นๆ ยังยอมใจนางว่า ถึกทนได้อีกเลยเหอะ แต่นางซินก็ทำอะไรไม่ได้ แถมยังต้องจำยอมฝืนทนอยู่อย่างนั้น
อยู่มาวันหนึ่งก็มีประกาศออกมาว่า จะมีงานเต้นรำเพื่อคัดเลือกคู่ครองให้กับเจ้าชายรูปงาม สาวๆ ทั้งเมืองเป็นอันเนื้อเต้นน้ำเดินตามๆ กันไปเลยทีเดียว เพราะใครๆ ก็อยากเป็นมีชีวิตเยี่ยงเจ้าหญิง หรือราชินี กันทั้งนั้น รวมทั้งนางซินก็ด้วย
น่าเสียดายที่พี่เลี้ยงทั้งสองของเธอก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แถมนังแม่เลี้ยงใจร้ายก็ยิ่งคิดอยากเป็นแม่ยายของเจ้าชายเสียจนตัวสั่นระริก ดังนั้นนางทาสที่สวยระดับน้องขวัญ อุษามณี อย่างนางซิน จึงเป็นอุปสรรคคนสำคัญ ที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องห้ามไม่ให้นางเหยียบเข้าไปในงานเต้นรำสุดหรูนี้ได้
แต่สุดท้ายก็เป็นอย่างที่รู้ๆ กันดีนั่นแหละครับ อยู่ๆ ก็มีนางฟ้าแม่ทูลหัวมาโปรด ทั้งเนรมิตชุดราตรีอันงาม พร้อมด้วยรองเท้าแก้ว แถมด้วยรถฟักทองเทียมม้าที่เสกมาจากหนู พาเธอไปส่งถึงงานเต้นรำ และด้วยความงามระดับนางเอกช่องหลากสี เจ้าชายก็ต้องสะดุดพระทัยจนทรงขอนางเต้นรำเป็นธรรมดา
น่าเสียดายที่มนต์วิเศษของนางฟ้ามีฤทธิ์ถึงแค่เที่ยงคืน นางซินเธอเลยต้องรีบฉากหลบกลับบ้านอย่างเสียไม่ได้ ไม่ว่าใจเธอจะอยากอยู่ต่อแค่ไหนก็ตาม ด้วยการเร่งรีบที่จะกลับสู่นิวาสสถาน เธอจึงได้เผลอทำ ‘เกือกแก้ว’ ข้างหนึ่งหล่นเอาไว้เป็นของต่างหน้าให้กับเจ้าชาย และก็เป็นเจ้าเกือกแก้วนี้เองที่เจ้าชายโร่เอาไปลองสวมใส่กับหญิงสาวทั้งเมือง จนได้พบกับนางซินในที่สุด เรื่องราวจึงได้จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งพาฝัน ชวนให้สาวน้อยสาวใหญ่ฝันอยากจะเป็นซินเดอเรลล่าด้วยกันทั้งนั้น (เอิ่มม.. แต่พวกเธอคงจะไม่อยากเป็นนางซิน ช่วงที่เป็นนางทาสของนังแม่เลี้ยงกันหรอกนะ)
แต่เรื่องราวของนางซินที่เรารู้จักกันในโทษฐานที่ฝรั้งฝรั่งนี้ กลับมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในโลกวิชาการเขียนโดย ศาสตราจารย์ทางด้านภาษาอังกฤษ ประจำมหาวิทยาลัย Community College of Philadephia อย่าง Fay Beauchamp ได้เสนอไว้ว่า นิทานเรื่องนางซินนั้น เป็นของที่ชาวยุโรปอิมพอร์ตไปจากจีนสมัยราชวงศ์ถัง (ราว พ.ศ. 1161-1450) มันซะอย่างนั้น
ส่วนที่ Beauchamp เสนอเอาไว้อย่างนี้ก็เป็นเพราะเธอได้ตรวจสอบนิทานที่มีพล็อตเกี่ยวกับ แม่เลี้ยงใจร้ายกับลูกเลี้ยงที่สวยระดับน้องขวัญ อุษามณี เท่าที่หาได้หลายๆ สำนวนทั่วโลกแล้วพบว่า ในจีนมันเก่ากว่าในยุโรป (อ่อ! คุณ Beauchamp เธอยังบอกไว้ด้วยว่า ในสำนวนเดิมมันเป็นรองเท้าทองคำ ไม่ใช่เกือกแก้วทั้งในจีน และในยุโรป) แถมศาสตราจารย์คนนี้ยังบอกอีกด้วยว่า แต่สำนวนที่เก่าที่สุดจริงๆ ที่เธอพบ เป็นนิทานบอกเล่ากันปากต่อปากของชาวจ้วง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทย (จนมีหลายคนเคยพยายามบอกว่า จ้วง นี่แหละเป็นคนไทยที่เก่าแก่ที่สุด ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เรียกตัวเองว่าไทยด้วยซ้ำ) ที่กระจายตัวอยู่ในมณฑลกว่างซี ทางใต้ของประเทศจีน
แถมในจำนวนหลายๆ สำนวนที่กระจายอยู่ทางตอนใต้ของจีน บางสำนวนก็พูดถึง ‘ปลาคาร์ฟแดง’ ซึ่งก็คือที่มาของ ‘ปลาบู่ทอง’ ของอีเอื้อย อีกหนึ่งลูกเลี้ยงคนสวยกับแม่เลี้ยงใจร้าย ฉบับไทยๆ นี่แหละนะครับ
พูดง่ายๆ ว่า ทั้งนางซิน และอีเอื้อย ต่างก็มีที่มาจากนิทานเรื่องเดียวกันที่เล่ากันปากต่อปาก พร้อมๆ กับใส่สีตีไข่ หรือตัดข้อความบางอย่างออกไปตามความชอบ ไม่ชอบของคนเล่า หรือสังคมที่เล่า ซึ่งมีรากเหง้ามาจากนิทานของชาวจ้วงนี่เอง เรื่องของแม่เลี้ยงใจร้าย กับลูกสาวที่สวยระดับน้องขวัญ อุษามณี จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในหลายๆ สังคม จนนิทานเรื่องนี้สามารถเล่ากันปากต่อปากไปครอบคลุมหลายวัฒนธรรมของโลก
และจึงไม่แปลกอะไรเลยที่ถ้าในวันใดวันหนึ่ง ข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับลูกสาวคนสวย กับแม่ใจร้ายแอนด์เดอะแก๊ง ที่ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยง หรือแม่แท้ๆ ก็ตามจะเป็นที่ติดตามของใครหลายคนกันทั้งบ้านทั้งเมือง ก็เพราะมันก็โดนใจไม่ต่างจากนิทานเรื่องนางซิน ที่แม้แต่วอลต์ ดิสนีย์ ยังต้องต้อนเข้ามาเป็นเจ้าหญิงในค่ายนั่นแหละ
แต่ ‘ซินเดอเรลล่า’ ก็ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องที่ชวนฝันไปเสียหมด เพราะนิทานโบราณเรื่องนี้มีอยู่หลายสำนวนที่เล่าไว้ด้วยว่า เมื่อนางซินได้ทำเกือกแก้วหล่นทิ้งไว้ เจ้าชายก็ได้นำรองเท้าแก้วคู่นั้นออกเร่หาสาวเจ้าที่สามารถสวมเกือกแก้วได้อย่างพอดิบพอดี แต่ ‘เท้า’ ที่เจ้าชายใฝ่ฝันถึงนั้นมันต้องเป๊ะเว่อร์กับเกือกแก้วเสียจนหญิงสาวหลายคน (บางสำนวนระบุว่าเป็นลูกสาวของนังแม่เลี้ยงใจร้ายเองนั่นแหละ!) ตัดแต่งเท้าของตนเองเพื่อให้สวมใส่เกือกแก้วคู่นั้นได้อย่างพอเหมาะ แน่นอนว่าก็เพื่อที่จะได้เป็นคู่สมรสกับเจ้าชายรูปงาม
ส่วนไอ้เจ้าการตัดแต่งที่ว่านี่ ผมหมายถึงการเฉือนเท้าของตัวเองด้วยของมีคมกันสดๆ เพื่อให้บางส่วนของเท้าของพวกเธอไม่โผล่ล้ำออกไปจากเกือกนะครับ ไม่ใช่การทำเล็บเท้าสวยๆ เหมือนในสปาทุกวันนี้ (หูยย แค่นึกก็เจ็บแทนแล้วเหอะ!)
และถ้า ‘เจ้าชาย’ หมายถึง ตัวแทนของอะไรสักอย่าง ซึ่งในที่นี้จะสมมติว่าคือ “ความเป็นไทย” (ก็แน่ล่ะครับ คอลัมน์นี้ The MATTER เขาจ้างผมมาเขียนเรื่อง ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง จะให้ผมสมมติเป็นอย่างอื่นได้ยังไงล่ะ :P) เกือกแก้วที่เจ้าชายเร่หาเจ้าของก็คือ ความคาดหวังที่ความเป็นไทยมีต่ออะไรก็ตามที่เขานับรวมเป็นสมาชิก ความเป็นไทยของเจ้าชายรูปงามพระองค์นี้ไม่ได้สนใจถึงความเป็นจริงว่า ประชาชนของพระองค์มีรูปร่างอย่างไร? พระองค์สนเพียงแต่ว่า ประชาชนจะสามารถสวมใส่เกือกที่พระองค์เห็นว่าดีงามสมกับที่พระองค์คาดหวังได้หรือไม่? เท่านั้นเอง