ในระยะหลัง ได้ยินคนบ่นกันมากขึ้นว่า โลกโซเชียลมีเมียนั้นไม่น่าอยู่เอาเสียเลย อย่างที่ได้เขียนไปในตอนที่แล้วว่า ในโลกแห่งการฉอดนั้น มีลักษณะคล้ายกับการสร้างเมืองพาราสาวัตถี ที่ ‘ใครไม่มีปรานีใคร’ ขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย
ในโลกที่ไม่มีใครฟังใคร ดังนั้น หากใครพูดอะไรเบาๆ ก็จะไม่มีใครได้ยิน ทุกคนจึงต้องพยายามทำตัวเขื่อง ตะโกนเสียงดัง พ่วงด้วยอาการหิวแสงที่มีทั้งเบาและหนัก เพื่อให้ตัวเองพูดอะไรออกไปแล้วต้องมีคนคอยฟัง ไม่ว่าจะฟังเพราะชอบหรือเพราะชิงชังหมั่นไส้ก็ตามที
วิธีคิดแบบนี้มักทำให้เกิดอาการ ‘แพ้ไม่ได้’ ยิ่งถ้าใครเป็นคนดังหน่อยก็จะต้องรักษาตัวให้ดี พลาดอะไรไม่ได้เลย เพราะการ ‘โค่นคนดัง’ ได้ จะเป็นเหมือนการเล่นเกมสะสมแต้มความดัง (และความเสียงดัง) ให้กับตัวเองมากขึ้นไปทีละเล็กละน้อยเพื่อเอาไปแลกกับคนติดตามที่คิดเหมือนกับตัวเอง เป็นการขยาย echo chamber ให้ใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังเป็น echo chamber อยู่ดี
เอาเข้าจริงแล้ว ทั้งหมดนี้ก็คือ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ในรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สร้างความสูงต่ำผ่าน ‘ความเสียงดัง’ ในดินแดนที่เชื่อกันว่ามีโครงสร้างอำนาจอันแบนราบ – แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก
ผมไม่ได้เห็นแย้งอะไรกับการ ‘ด่ามา-ด่ากลับ’ นะครับ แต่ปัญหาของการ ‘ด่า’ หรือการใช้ ‘ความเสียงดัง’ ในโซเชียลมีเดีย มีอยู่หลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญมากๆ เรื่องหนึ่ง ก็คือการ ‘ให้เหตุผล’
คำว่า ‘ให้เหตุผล’ นั้น ในภาษาอังกฤษมีอยู่สองคำใหญ่ๆ นั่นคือ rationalizing กับ reasoning ซึ่งเราอาจแปลเหมือนๆ กัน คือเป็นการใช้ (หรือให้) เหตุผล แต่สองคำนี้ต่างกันมาก
rationalizing คือการสร้าง ‘ข้อสรุป’ ขึ้นมาก่อน แล้วถึงประกอบสร้าง argument ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรมให้กับข้อสรุปพวกนั้น แต่ reasoning เป็นกระบวนการตรงข้าม เพราะมันคือการค่อยๆ รวบรวมข้อมูล ข้อสังเกต และหลักฐานต่างๆ ขึ้นมา เพื่อจะหา ‘ข้อสรุป’ ในภายหลัง
ด้วยเหตุนี้ บ่อยครั้งมากที่ rationalizing (ซึ่งเราพบได้มากกับคนที่มีอาการ ‘ฉอดเก่ง’) ได้กลายเป็นรากของอคติที่เรียกว่า confirmation bias ไป เพราะสมองของมนุษย์ไม่ชอบความผิดพลาด
ทุกครั้งที่เรา rationalize แล้วถูก (หรือชนะ)
สมองจะหลั่งโดปามีนออกมา ทำให้เรารู้สึกดี
เหมือนได้เฉลิมฉลอง ‘ความถูกต้อง’ ของเรา
ตัวอย่างของ rationalizing ที่เห็นได้เยอะมากๆ ก็คือการโต้เถียงกันในโลกโซเชียล ประเภทที่มีการแหกโน่นแหกนี่ แล้วต่างฝ่ายต่างก็เถียงกันอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่มักมี ‘ธง’ ปักไว้อยู่แล้วที่ปลายทาง จึงจัดเป็น rationalizing มากกว่า reasoning ดังนั้น สุดท้ายก็จะเป็นการเถียงกันที่เปล่าประโยชน์ เพราะไม่มีใครฟังใคร ทุกคนต่างต้องพยายามใช้ ‘ความเสียงดัง’ ในทุกรูปแบบ (ตั้งแต่ใช้คำหยาบกว่า หรือใช้ ‘ลูกหาบ’ หรือ ‘สาวก’ มาช่วยเถียง) สุดท้ายต่างฝ่ายต่างเถียงจนเหนื่อยแล้วก็เลิกรากันไปโดยไม่ได้ประโยชน์ในทางสติปัญญาอะไร
ข้อถกเถียงที่ rationalize ดีๆ อาจฟังดูน่าเชื่อถือหรือ valid ได้นะครับ คือสอดคล้องต้องกันไปหมด แต่ valid ไม่ได้แปลว่า true (เหมือนนิยายที่ ‘สมจริง’ ไม่ได้แปลว่า ‘จริง’) แต่หลายคนก็พอใจแค่ valid คือได้ทำให้ตัวเองสบายใจว่าฉันถูก ฉันชนะก็เอาแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระตุ้นให้โดปามีนหลั่งได้พอใจแล้ว
ซึ่งอาจเรียกว่า ‘การสำเร็จความใคร่ทางโดปามีน’ ก็น่าจะได้
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ก็คือเมื่อมีการต่อสู้กันในทางวาทะบนโซเชียลมีเดีย ในระยะหลังเราจะเห็นการใช้คำว่า ‘ไม่มีมารยาท’ กันค่อนข้างเยอะ เลยทำให้นึกสงสัยขึ้นมาว่า คำว่า ‘มารยาท’ นั้นหมายถึงอะไรได้บ้าง
เรื่องนี้ เคยมีคนอธิบายเอาไว้ว่า คำว่ามารยาทที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า etiquette หรือ manners นั้น ในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดหรือ ‘แผ่’ ออกมาจากศูนย์กลางสองแห่ง คือ ‘วัด’ กับ ‘วัง’ หรือจากผู้ปกครองศาสนจักรหรืออาณาจักร
นั่นคือพระที่เป็นใหญ่ (เริ่มตั้งแต่ศาสดามาจนถึงพระสันตะปาปาหรือพระสังฆราช) หรือกษัตริย์ ราชา หรือหัวหน้าเผ่า มีอัธยาศัยชอบพอในกิริยาอย่างไร ก็กำหนดให้คนในสังคมที่ตัวเองปกครองต้องมีอัธยาศัยประมาณเดียวกันไปด้วย จึงเกิดดอกออกผลมาเป็น ‘มารยาท’ ที่อิงอยู่กับ ‘ความเป็นผู้ดี’ (ที่ถูกกำหนดโดย ‘อำนาจ’) สูงมาก
แต่นอกจากนี้แล้ว ยังมีคำว่า ‘มารยาท’ อีกแบบหนึ่ง
ที่แปลมาจากคำว่า civility
ซึ่งในหนังสือเรื่อง Metropolis โดย เบ็น วิลสัน (Ben Wilson) เล่าถึงลอนดอนยุค 1660s เอาไว้ว่า ตอนนั้นน่าจะเป็น ‘คลื่นลูกแรก’ ของการ ‘เห่อร้านกาแฟ’ กัน
ที่สำคัญก็คือ อังกฤษเป็นสังคมชนชั้น มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนต่างชนชั้นเอาไว้ชัดเจน แต่เมื่อร้านกาแฟบูมขึ้นมาพร้อมๆ กับการค้าในระดับนานาชาติ จึงทำให้คนต่างชนชั้นจำเป็นต้องมาพบปะผสมปนเปกันได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คนจน คนรวย ขุนนาง พ่อค้า คนชั้นล่าง คนชั้นสูง ล้วนสามารถเข้าร้านกาแฟได้ ที่สำคัญก็คือ ‘ต้องเข้า’ เสียด้วย เพราะในยุคนั้น ร้านกาแฟก็คือ ‘โซเชียลมีเดีย’ นี่เอง ถ้าไม่เข้าก็อาจจะ ‘ตกข่าว’ ได้ เพราะร้านกาแฟคือที่ชุมนุมของข้อมูลข่าวสารในแทบทุกวงการ โดยคนต่างวงการกันก็จะมีร้านประจำต่างกันไป พ่อค้าเข้าร้านหนึ่ง กวี นักเขียน เข้าร้านอีกร้านหนึ่ง นักแสดงและนักเขียนบทละครเข้าอีกร้านหนึ่ง เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร้านกาแฟของลอนดอนในศตวรรษที่สิบเจ็ด จึงคือการเข้าไป ‘ปะทะสังสันทน์’ กันเต็มตัว
คำถามก็คือ เมื่อคนที่ต่างกันมากขนาดนั้นเข้าไปอยู่ด้วยกัน จะไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมาหรือ?
คำตอบก็คือ – ไม่, ไม่ก็เพราะพร้อมกับการปะทะสังสันทน์เหล่านั้น ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า civility หรือ ‘กิริยามารยาท’ แบบคนเมืองขึ้นมาด้วย มันจึงกลายมาเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นไม่ให้การเสียดสีปะทะกันทางความเห็นและการถกเถียงกันนั้นครูดกันจนบาดเจ็บ
ชาวชนบทอาจพูดจากันกระโชกโฮกฮาก ด่ากัน หรือไม่ต้อง ‘มากมารยาท’ นัก นั่นเพราะคนชนบทอยู่ในโลกที่รู้จักกันเกือบหมด รู้ว่าใครมาด่าฉัน คนคนนั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จะตามตัวเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ในโลกของ ‘เมือง’ ที่เพิ่งเกิดใหม่ ผู้คนแออัดยัดเยียด จึงเกิดภาวะ ‘นิรนาม’ ขึ้นมา หากถูกด่า ถูกปล้น ถูกแทง ไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าใครทำ
ดังนั้น เมื่อเข้ามาอยู่ในที่แออัดคับแคบแต่ร้อนแรงไปด้วยบรรยากาศและการโต้เถียงอย่างร้านกาแฟ จึงเกิด ‘กิริยามารยาท’ ในการเข้าสังคมเพื่อใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งนี้เอง ที่เรียกว่า civility
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นกาอธิบายว่า civility จึงไม่เหมือน etiquette หรือ manners ที่เกิดจากการกำหนดของราชสำนักหรือศาสนจักร แล้วแผ่ซ่านออกมาในหมู่ ‘ผู้ดี’ ทว่า civility คือกิริยามารยาทที่ ‘เกิดขึ้นเอง’ จากคนชั้นกลางที่เริ่มถือกำเนิดขึ้นมาใหม่
หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง civility ก็คือความสุภาพธรรมดาๆ
ที่เกิดจากการ ‘เคารพ’ กันและกันนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ civility จึงคือมารยาทที่มีความ ‘เท่ากัน’ ในเชิงอำนาจสูง และกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลอนดอนเติบโตขึ้นมาเป็นมหานคร และต่อมาในศตวรรษที่สิบแปดกับสิบเก้า ก็กลายมาเป็นมหาอำนาจของโลก
หากเราพิจารณาดูโซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ โดยเนื้อแท้ของมันก็ไม่ต่างอะไรนักกับ ‘ร้านกาแฟ’ ในลอนดอนยุค 1660s ที่ผู้คนเข้าไปปะทะสังสันทน์กัน ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหัวข้อต่างๆ ที่หลากหลายนับไม่ถ้วน
แต่หากข้อถกเถียงเหล่านั้น เต็มไปด้วย rationalization หรือการคิดหาเหตุผลมารองรับ ‘ธง’ ที่ปักไว้ และเป็นไปโดยปราศจาก civility เสียแล้ว – ก็อาจกล่าวได้ว่าโลกของโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ คือโลกที่ ‘ไม่มีใครปราณีใคร’ และเป็นโลกที่ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย
อาจเป็นไปได้ว่า สภาวะทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก็เพราะเราอยากสำเร็จความใคร่ทางโดปามีนเท่านั้นเอง
ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า