*มีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนของซีรีส์ และหนังสือ*
ดูเหมือนว่าในตอนนี้ หลังจากการเข้ามาของประธานาธิบดีทรัมป์และการพร้อมใจกัน ‘หันขวา’ ในหลายประเทศ หลายคนก็เริ่มนิยามโลกของเราว่ามันเข้าใกล้ความเป็น ‘ดิสโทเปีย’ มากขึ้นทุกที มีการพูดถึงนิยายอย่าง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์และ Brave New World ของ Aldous Huxley ตีขนาบกันมาว่าเห็นไหม – มันสะท้อนสิ่งที่โลกเราเป็นอยู่ได้ดีชะมัด – พวกเขามักใช้ 1984 สะท้อนรัฐสอดแนมหรือการบิดเบือนข่าวสาร และใช้ Brave New World เพื่อสะท้อนโลกแบบสุขนิยม หรือการแบ่งคลาสว่าแต่ละคนก็ต่างมี ‘ที่ทาง’ ของตนเอง
นอกจาก 1984 และ Brave New World แล้ว นิยายอีกเรื่องหนึ่งที่คนพูดถึงกันมากในช่วงนี้ก็คือ The Handmaid’s Tale ของนักเขียนชาวแคนาดา Margaret Atwood ที่ถูกปรับเป็นซีรีส์โดย HULU บริการสตรีมมิ่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อได้ดูแล้ว ก็รู้สึกว่าโอ้โห นี่เป็นการปรับมาขึ้นจอที่ดีเลิศประเสริฐศรีจริงๆ เพราะเป็นการปรับที่ ‘ซื่อตรง’ ต่อต้นฉบับ และในขณะเดียวกันก็ขยายโลกของนิยายให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอย่างมีเหตุมีผลด้วย (Margaret Atwood เป็นที่ปรึกษาของซีรีส์ด้วย)
ที่ผ่านมาผมแนะนำซีรีส์หลายเรื่อง ซึ่งพอมาสังเกตแล้วก็อ้าว – ทำไมเป็นซีรีส์ดิสโทเปียไปเสียมากก็ไม่รู้ – ตั้งแต่ Westworld หรือ The Black Mirror ที่เป็นซีรีส์ดิสโทเปียทางด้านเทคโนโลยี มาจนถึง The Handmaid’s Tale ที่เป็นซีรีส์ที่จินตนาการสังคมดิสโทเปียที่เกิดขึ้นจากความเชื่อสุดขั้วทางศาสนาและการกดขี่ทางเพศ
The Handmaid’s Tale เป็นเรื่องราวที่เซ็ตขึ้นในโลกอนาคตไม่ไกลจากนี้ ในนิวอิงแลนด์ จับเอาช่วงเวลาหลังจากรัฐบาลถูกโค่นล้มด้วยเผด็จการศาสนาหัวรุนแรง (เป็น ‘คริสต์แท้’ ก็ว่า – ถ้าจะให้เข้ากับบทสนทนา ‘พุทธแท้’ ‘พุทธเทียม’ ในบ้านเรา) ชื่อขบวนการ ‘Sons of Jacob’ พวกเขาอ้างว่าต้องเข้ามากุมอำนาจเพราะมีกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง (ในหนังสือใช้คำว่า Islamic Fanatics) ที่กำลังจ่อจะเข้ามาโจมตี แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง
มันเป็นโลกที่ – ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม, บางคนบอกว่าเป็นเพราะมลพิษ บางคนบอกว่าเป็นเพราะ GMO และบางคนก็บอกว่าเป็นการลงโทษจากพระเจ้า – จู่ๆ การมีลูกก็กลายเป็นเรื่องหายาก สามีภรรยาจำนวนมากไม่สามารถมีลูกได้โดยธรรมชาติ กลุ่มเผด็จการจึงเข้ามาจัดระเบียบสังคมด้วยการกำหนดชนชั้นเสียใหม่ ผู้หญิงถูกแบ่งเป็นหลายกลุ่ม ตามสถานะและความสามารถของตน ซึ่งจะสวมชุดสีต่างๆ กัน ตั้งแต่กลุ่มสูงสุดอย่างพวก ‘Wife’ ที่มีศักดิ์เป็นภรรยาของนายพันนายพลต่างๆ สวมชุดสีฟ้า (หรือสีเขียวในซีรีส์) กลุ่มหญิงใช้แรงงาน ทำงานบ้าน ที่ชื่อว่า ‘Martha’ สวมชุดสีเทา (ในซีรีส์) กลุ่ม ‘Aunt’ สวมชุดสีน้ำตาล ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งสอนสังคม โดยเฉพาะสาวๆ ที่ยังสามารถมีลูกได้อยู่ และสุดท้ายคือกลุ่ม ‘Handmaid’ สวมชุดสีแดง และ ‘ปีก’ ที่ศีรษะสีขาวนวล เพื่อไม่ให้สายตาของเธอสอดส่ายมองอะไรได้ – กลุ่มนี้เองที่เป็นที่มาของชื่อเรื่อง – พวกเธอถูกบังคับให้เป็นทรัพย์สมบัติของครอบครัวนายพลเพียงเพื่อหน้าที่เดียว – นั่นคือ ‘มีลูก’ ให้เขา (ผ่านทาง ‘พิธีกรรม’ ที่เมียของเขารู้เห็นเป็นใจ)
เช่นเดียวกับนิยายหรือซีรีส์ดิสโทเปียนหลายเรื่อง The Handmaid’s Tale โฟกัสไปที่ตัวละครเล็กๆ ตัวหนึ่ง ซึ่งในที่นี้คือ Offred (ชื่อเดิมว่าจูน) ‘แฮนด์เมด’ ที่ต้องรับใช้ครอบครัวของผู้พันเฟร็ด วอลเตอร์ฟอร์ด (ที่ต้องชื่อ Offred เพราะจะได้บอกว่า ‘นี่เป็นทรัพย์สินของเฟร็ด’ นั่นเอง – ถ้าเธอย้ายไปอยู่บ้านหลังอื่น ก็จะชื่ออื่นตามเจ้านาย เช่น Ofglen ก็คือ ‘ของเกล็น’)
ผ่านทางสายตาและอดีตของเธอ เราจะได้สำรวจโลกและกฎที่คุมมันอยู่ เราจะเห็น ‘กระบวนการ’ ที่กลุ่มอำนาจใหม่ค่อยๆ เข้ามาครอบงำสังคม ว่ามัน ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ อย่างไร (ซึ่งอาจสะท้อนโลกความเป็นจริงไม่มากก็น้อย) – และเราก็อาจเอาใจช่วยให้เธอสามารถปลดพันธนาการที่เกาะกุมตัวเธออยู่ (และพร้อมกันหากเรามองโลกในแง่ดีไปกว่านั้น, เราก็อาจหวังให้เธอสามารถล้มล้างระบอบเผด็จการได้และกลายเป็นแคตนิส เอเวอร์ดีนแห่งฮังเกอร์ส์เกม – แต่เอาล่ะ นิยายไม่เคยไปไกลขนาดที่ว่า)
ความดีงามของซีรีส์ (และของนิยาย) เรื่องนี้, อย่างที่ได้บอกไปแล้วนั่นแหละครับ, ว่านอกจากโปรดักชั่นที่ดูดีมาก การแสดงที่เยี่ยมยอด (เพราะแสดงอารมณ์ได้จำกัด แต่ต้องแสดงออกมาให้ได้) ของอลิซาเบธ มอสในบทออฟเฟร็ดแล้ว, ส่วนที่ชวนให้ประทับใจมากคือฉากแฟลชแบ็คต่างๆ ที่แสดงให้เห็นกระบวนการว่าเผด็จการศาสนาหัวรุนแรงค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในสังคมอย่างไร และทำไมผู้คนจำนวนมากจึงไร้กำลัง (หรือไร้ความตั้งใจ) ที่จะต่อกรกับมัน
มันเริ่มจากเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นว่าจู่มีกลุ่มศาสนาปรากฏตัวตามท้องถนนมากขึ้น เขยิบขึ้นเป็น จู่ๆ ก็มีคนที่เธอไม่รู้จัก มาด่าว่าเธอเป็น ‘อีตัว’ เพียงเพราะเธออยู่ในชุดออกกำลังกาย, จู่ๆ พนักงานร้านกาแฟที่เธอใช้ประจำ ก็เปลี่ยนเป็นผู้ชาย โดยไม่รู้ว่าผู้หญิงคนก่อนหน้าไปไหน, จู่ๆ บัตรเครดิตของเธอก็ใช้ไม่ได้, จู่ๆ ผู้หญิงทั้งหมดก็โดนไล่ออกจากงาน, จู่ๆ รัฐบาลก็ประกาศว่าผู้หญิงจะไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินได้อีกต่อไป และจะโอนไปให้ผู้ชายที่ดูแลเธอ (เช่น สามี) เป็นคนครอบครองแทน จนถึงตอนนี้ สามีของเธอก็บอกเธอว่า – ไม่เป็นไร – เขาจะดูแลเธอเอง – แต่อีก ‘จู่ๆ’ หนึ่งต่อมา ก็สายเกินไปเสียแล้ว
กระบวนการเปลี่ยนโลกเช่นนี้สมจริงอย่างมากในสายตาของผม, เหมือนกับที่เขาบอกนั่นแหละครับ, เราจะไม่รู้สึกว่า ‘เป็นเรื่องของเรา’ จนกว่าเราจะโดนกดขี่ เหยียบย่ำเสียเอง และเมื่อนั้น เราก็ไม่มีปากมีเสียงพอที่จะพูดอีกแล้ว
ตอนที่ HULU ไพล็อต The Handmaid’s Tale ตอนแรกออกมา พวกผู้นิยมทรัมป์บางส่วนพากันก่นด่าว่านี่เป็นการ ‘ประดิษฐ์’ ของฝ่ายซ้าย เพื่อตอบโต้กับการที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีแน่ๆ แต่พวกเขาไม่ได้ตระหนักเลยว่า นิยายเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1985 สามสิบปีก่อนที่ทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีเสียอีก! และยิ่งไปกว่านั้น การตัดสินใจสร้างซีรีส์นี้ก็มีขึ้นตั้งแต่ก่อนทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีด้วย Margaret Atwood บอกว่า “เหล่านักแสดงตื่นขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกา (หลังวันเลือกตั้ง) แล้วก็พากันคิดว่า – สิ่งที่ตัวเองทำอยู่ (สร้างซีรีส์เรื่องนี้) – จู่ๆ ก็มี ‘ความหมาย’ เปลี่ยนไปเสียแล้ว ฉันคิดว่าถ้าฮิลลารี่ได้เป็นประธานาธิบดี เราอาจจะมองว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นโลกเสมือนที่จำลองเหตุการณ์ที่ ‘อาจเกิดขึ้นได้’ ในขณะที่ตอนนี้คุณอาจรู้สึกว่า – อ้าว มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว -ถึงแม้จะไม่ใช่แบบเดียวกันแบบเป๊ะๆ ก็ตาม”
Margaret Atwood ยังพูดถึงกระบวน ‘Normalization’ (หรือทำให้เป็นปกติ) ไว้อย่างน่าฟังว่า
“ผู้คนปรับตัวรับกับความเป็นจริงได้เสมอ เพราะนั่นเป็นเรื่องของการอยู่รอด ถ้าเราไม่มีความสามารถแบบนี้ เราอาจจะไม่รอดบนโลกนี้ตั้งนานแล้วก็ได้ ดังนั้น โดยทั่วไป ผู้คนก็มักจะทำอะไรก็ตามที่จะทำให้ผ่านสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญไปได้ เช่น ถ้าเรือของคุณกำลังจม คุณก็ต้องพุ่งไปหาชูชีพ ความ ‘ปกติ’ ของสถานการณ์ของคุณในตอนนั้น ก็คือ ความจริงที่ว่า ‘เรือคุณกำลังจม’ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ฉันคิดว่า ก็ใช่แหละ – นั่นเป็นเพียงการมองอย่างผิวเผินเท่านั้น
บนเปลือกผิว ผู้คนอาจปรับตัวเพื่อให้พวกเขาไม่ตกเป็นเป้าของสังคม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขา ‘ปรับใจ’ ไปด้วยหรอก มันไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจำไม่ได้ว่ารัฐที่เคยเป็นอิสระกว่านี้เป็นอย่างไร”
มีคำถามว่า เมื่อโลกเลวร้าย ทำไมเราจึงไขว่หานิยายดิสโทเปียหรือกระทั่งซีรีส์ดิสโทเปียมาเสพกันนัก
เป็นไปได้ไหมว่า นิยายดิสโทเปียเป็นเหมือนการออกกำลังทางสมอง เป็นเหมือนการ ‘ทดลอง’ ที่จะช่วยให้เราหาคำตอบว่าภายใต้ความจริงที่อาจเลวร้ายเช่นกัน เราจะหาทางออกจากสถานการณ์ที่เผชิญอยู่อย่างไร เราเรียนรู้ผ่านทางการลองผิดลองถูกของตัวละคร เรารู้ว่าการปฏิสัมพันธ์แบบใดจะนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างไร แน่ล่ะ ถึงมันเป็นเพียงโลกในจินตนาการ และเป็นผลลัพธ์ในจินตนาการ แต่อย่างน้อย เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ผิดแปลก – การมีอะไรให้ยึด ให้จับไว้ – ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย
The Handmaid’s Tale และออฟเฟร็ด ก็อาจกำลังบอกใบ้คำตอบที่ว่านี้ให้กับเราอย่างอ้อมๆ
The Handmaid’s Tale ฉายแล้วทาง HULU ซีซั่นแรกมี 8 ตอน และประกาศสร้างซีซั่นที่สองแล้ว – ซีรีส์มีการ ‘ขยาย’ โลกไปจากหนังสือ และเป็นไปได้ว่าจะมี ‘ตอนจบ’ ที่แตกต่างจากในหนังสือ
บทสัมภาษณ์ Margaret Atwood